ศูนย์ LifeVantage

ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ LifeVantage : Protandim Nrf1 / Nrf2 / ProBio / TrueScience ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ โทร ☎️ :: 084-110-5021 📍 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line ค่ะ

24 ตุลาคม 2553

การสอนแบบสืบสวนสอบสวน

การสอนแบบสืบสวนสอบสวน

 ความหมายของการสอนแบบสืบสวนสอบสวน
วิธีการสอนที่เรียกว่า Inquiry ได้มีนักการศึกษาหลายท่านเรียกชื่อต่างๆ กันออกไป เช่น ”การสืบเสาะหาความรู้" “การสืบเสาะ"  “การสืบสวนสอบสวน" “การสืบคิดค้น" เป็นต้น สำหรับการกล่าวถึงเกี่ยวกับ Inquiry ในที่นี้ผู้เขียนเลือกใช้คำว่า “การสืบสวนสอบสวน”
การสอนแบบสืบสวนสอบสวน เริ่มครั้งแรกที่มลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1957 อันเป็นระยะที่สหรัฐอเมริกากาลังตื่นตัว เนื่องจากรัสเซียมีความก้าวหน้าถึงขั้นส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศได้สาเร็จ จึงได้มีการปรับปรุงวิชาการด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์กันอย่างกว้างขวาง และได้มีผู้ทดลองวิจัยเกี่ยวกับการสอนแบบสืบสวนสอบสวนกันตลอดมา การวิจัยที่สำคัญ ได้แก่ การวิจัยของซัชแมน (Suchman. 1964: 1) ได้ตั้งโครงการวิจัยเกี่ยวกับการสอน แบบสืบสวนสอบสวนที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ โดยเน้นการสอนวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีให้นักเรียนตั้งคำถาม เพื่อให้นักเรียนค้นพบหลักการกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ด้วยตนเอง ในปี พ.ศ.2513 วีรยุทธ วิเชียรโชติ ได้ตั้งโครงการวิจัยการเรียนการสอนแบบสืบสวนสอบสวนขึ้นในประเทศไทยโดยได้รับทุนมูลนิธิเอเชีย วิธีการสอนได้ดัดแปลงมาจากการสอนแบบสืบสวนสอบสวนของ Suchman เพื่อให้เหมาะสมกับเด็กไทย ปี พ.ศ. 2515 รัฐบาลไทยได้จัดตั้งสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตร โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งนำวิธีการสอนแบบสืบสวนสอบสวนมาใช้ จึงทำให้การสอนแบบนี้เป็นที่รู้จักและกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวาง (สุระ สนั่นเสียง. 2536: 38)
กู๊ด (Good. 1973: 303) ได้ให้คำจากัดความของการสอนแบบสืบสวนสอบสวน มีลักษณะเป็นแบบเดียวกับการสอนโดยวิธีการแก้ปัญหา (Problem - Solving Approach) โดยระบุลักษณะสำคัญดังนี้
1. เป็นการเรียนจากกิจกรรมที่จัดขึ้น
2. นักเรียนใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการทำกิจกรรมนี้
คาริน และซันด์ (Carin ;& Sund.1985: 97-104) ได้ให้ความหมายของการสอนแบบสืบสวนสอบสวนเป็นการใช้กระบวนการทางสมองของตนเองค้นหาความรู้ในลักษณะการกระทำกิจกรรมเหมือนผู้ใหญ่ในการแก้ปัญหา โดยการระบุปัญหา การตั้งสมมติฐาน และออกแบบการทดลอง เพื่อหาวิธีการต่างๆ สืบสวนถึงปรากฏการณ์ความสัมพันธ์ของธรรมชาติและรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง ซึ่งความสำเร็จของการสอนแบบสืบสวนสอบสวนขึ้นอยู่กับสติปัญญาของนักเรียน
วีรยุทธ วิเชียรโชติ (2521: 1-5) ได้อธิบายความหมายของการสอนแบบสืบสวนสอบสวนว่าเป็นกระบวนการสืบแสวงหาความจริง เพื่อนำไปสู่การค้นพบตามธรรมชาติ คุณลักษณะต่างๆ ตลอดจนค้นพบกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ และนำกฎเกณฑ์ที่ค้นพบนั้นมาประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อควบคุมสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกของมนุษย์ สิ่งแวดล้อมภายในของมนุษย์คือโลกทางจิต สิ่งแวดล้อมภายนอกคือโลกสังคม
สุระ สนั่นเสียง (2536: 11) ได้อธิบายว่า การสอนแบบสืบสวนสอบสวนเป็นการสอนที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนคิดเพื่อค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง โดยการใช้คำถามเพื่อนำไปสู่คำตอบที่ต้องการครูผู้สอนจะต้องจัดกิจกรรมกระตุ้นให้ผู้เรียนใช้ความคิดร่วมอภิปราย เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้หรือผู้เรียนจะเรียนรู้ โดยการค้นหาคำตอบจากคำถามที่เตรียมไว้ในชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2537: 92) ได้ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับการสอนแบบสืบสวนสอบสวนในวิชาคณิตศาสตร์ว่า เป็นการเรียนการสอนที่ผู้สอนจะจัดสถานการณ์ที่เป็นปัญหาให้ผู้เรียน เกิดความสงสัย เมื่อผู้เรียนสังเกตจนพบปัญหานั้น ก็พยายามที่จะค้นหาสาเหตุด้วยการใช้คำถาม และรวบรวมข้อมูลมาอธิบาย เป็นการวิเคราะห์จากปัญหามาสาเหตุ ผู้เรียนจะใช้คำถามสืบสวนสอบสวนจนกระทั่งแก้ปัญหาหรือหาข้อสรุปได้
กรมวิชาการ (2540: 19) ได้กล่าวถึง การสอนแบบสืบสวนสอบสวนในวิชาคณิตศาสตร์ ว่าเป็นวิธีสอนที่เน้นการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางความคิดหาเหตุผลจนค้นพบความรู้หรือแนวทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องด้วยตนเอง โดยครูตั้งคาถามประเภทกระตุ้นให้นักเรียนใช้ความคิดหาวิธีการแก้ปัญหาได้เอง และสามารถนำการแก้ปัญหานั้นมาใช้ประโยชน์ ในชีวิตประจำวัน
สิริลักษณ์ วงศ์เพชร (2542: 13) ได้กล่าวว่า การสอนแบบสืบสวนสอบสวน หมายถึง การสอนที่ครูเป็นผู้สร้างสถานการณ์ที่ยั่วยุและกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสงสัย ทาให้นักเรียนต้องค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง โดยที่นักเรียนจะเป็นผู้หาวิธีการที่จะเรียนรู้ เมื่อนักเรียนสังเกตจนพบปัญหานั้นก็พยายามที่จะค้นหาสาเหตุด้วยการใช้คำถาม และการรวบรวมข้อมูลมาอธิบาย การหาเหตุผล การพยากรณ์และการทดลอง จนค้นพบความรู้หรือแนวทางในการแก้ปัญหาแล้วนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจาวัน
กรมวิชาการ (2544: 36) ได้กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนแบบสืบสวนสอบสวน หมายถึง การสอนที่เน้นการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยวิธีการฝึกให้นักเรียนรู้จักค้นคว้าหาความรู้โดยใช้กระบวนการคิดหาเหตุผล จนค้นพบความรู้หรือแนวทางแก้ปัญ หาที่ถูกต้องด้วยตนเอง โดยครูตั้งคำถามประเภทกระตุ้นให้นักเรียนใช้ความคิดหาวิธีการปัญหาและสามารถนาวิธีการแก้ปัญหานั้นมาแก้ปัญหาได้
ปรมาภรณ์ อนุพันธ์ (2544:12) ได้กล่าวว่า การสอนแบบสืบสวนสอบสวนเป็นการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และส่งเสริมให้ผู้เรียนได้คิด เพื่อค้นคว้าหาความรู้ความจริงด้วยตนเอง โดยครูเป็นผู้ตั้งคำถามประเภทกระตุ้นให้นักเรียนได้ค้นคว้าวิธีการแก้ปัญหาได้เอง
ไสว ฟักขาว (2544: 102) ได้กล่าวว่า วิธีการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry Method) เป็นวิธีการสอนที่เน้น การแสวงหาความรู้เพื่อการแก้ปัญหาโดยใช้คำถาม จัดเป็นวิธีการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน บทบาทของครูผู้สอนจะลดลง ผู้สอนจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน บทบาทของครูผู้สอนจะลดลง ผู้สอนจะเปิดโอกาส และชี้แนะให้ผู้เรียนได้ร่วมคิด ร่วมแสดงคามคิดเห็น ร่วมค้นคว้าและสรุปความรู้ด้วยตนเองจากการถามตอบ หรือครูและนักเรียนผลัดกันถามก็ได้ แต่รูปแบบที่ผู้เรียนเป็นผู้ถามจะสอดคล้องกับแนวการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมากที่สุด
กัลยา ทองสุ (2545: 6) ได้กล่าวว่า การสอนแบบสืบสวนสอบสวน หมายถึง การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและมุ่งให้นักเรียนค้นหาความรู้ด้วยตนเอง โดยมีครูมีหน้าที่ส่งเสริมช่วยเหลือและใช้คำถามกระตุ้นให้ผู้เรียนได้ค้นพบวิธีการแก้ปัญหานั้น ๆ
สุวิทย์ มูลคำ, และอรทัย มูลคำ (2545: 136) ได้กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน คือ กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยวิธีการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักศึกษาหาความรู้ โดยผู้สอนตั้งคำถามกระตุ้นให้ผู้เรียนใช้กระบวนการทางความคิดหาเหตุผลจนค้นพบความรู้ หรือแนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้องด้วยตนเอง สรุปเป็นหลักการกฎเกณฑ์ หรือวิธีการในการแก้ปัญหา สามารถนาไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการควบคุม ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมในสภาพการณ์ต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง
กรกช รุ่งหัวไผ่ (2547: 60) ได้กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน หมายถึง กระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียน ด้วยการฝึกให้นักเรียนรู้จักค้นคว้าหาความรู้ โดยในกระบวนการคิดหาเหตุผล จนค้นพบความรู้หรือแนวทางในการแก้ปัญหา ที่ถูกต้องด้วยตนเอง และสามารถนาวิธีการแก้ปัญหานั้นไปประยุกต์ใช้ได้

จากแนวความคิดของนักการศึกษาหลายๆท่าน สรุปได้ว่า การสอนแบบสืบสวนสอบสวน หมายถึง การสอนที่มีระบบการจัดการเรียนรู้ โดยครูผู้สอนจะทำหน้าที่สร้างสถานการณ์ที่น่าสนใจและท้าทาย เพื่อทำให้เกิดแรงกระตุ้นต่อผู้เรียน ผู้เรียนเห็นความสำคัญของปัญหาและเกิดการเรียนรู้ด้วยการสืบสวนสอบสวนจากข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อให้ได้พบคำตอบ เป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการสังเกต อธิบาย พยากรณ์ และนำไปใช้ เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างหลากหลาย
เป้าหมายของการสอนแบบสืบสวนสอบสวน
เฟอร์เดอริก เอช เบลล์ (Frederick H.Bell.1978: 342 ) ได้กล่าวว่า การสอนแบบสืบสวนสอบสวนทางคณิตศาสตร์มีจุดประสงค์ทั่วไป เพื่อให้ผู้เรียน
1. พัฒนาทักษะทางสมองในการค้นหาและพัฒนากระบวนการแสวงหาความรู้
2. เรียนหลักการต่างๆ ทางตรรกศาสตร์
3. เข้าใจเหตุและผลที่สัมพันธ์กัน
4. เรียนวิธีการถามหรือสืบสวนอย่างเป็นอิสระ
5. ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ ซึ่งนาไปสู่นัยทั่วไปทางคณิตศาสตร์
6. ให้คุณค่าแก่กลวิธีการสืบสวนสอบสวน เสมือนเป็นวิธีที่นาไปสู่การค้นพบและแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์
7. เข้าใจวิธีต่าง ๆ ของการพิสูจน์และการดำเนินการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์
8. ได้รับความเข้าใจดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และธรรมชาติของการเรียน
9. ค้นพบวิธีและหลักการทางคณิตศาสตร์
10.ได้วิธีทางคณิตศาสตร์ที่มีความเหมาะสม
วีรยุทธ วิเชียรโชติ (2521:143) ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนแบบสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ผู้เรียน
1. สามารถสังเกตและวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมด้วยประสาททั้งห้าอย่างละเอียดและถูกต้อง
2. สามารถอธิบายสาเหตุแห่งปัญหาในรูปของความสัมพันธ์เชิงเหตุผลเป็นสายโซ่
3. สามารถตั้งสมมติฐานเชิงทำนายจากทฤษฏีและสมมติฐานทั่วไปและสามารถออกแบบเพื่อทดสอบสมมติฐานเชิงทำนายนั้นได้ด้วยการทดลอง
4. สามารถนำหลักการและกฏเกณฑ์ที่เรียนรู้และค้นพบด้วยตนเองไปประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์ในการควบคุมสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกของมนุษย์
สุพิน บุญชูวงศ์ (2532: 58) ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการสอนแบบสืบสวนสอบสวน ดังนี้
1. กระตุ้นให้นักเรียนรู้จักทำการสืบสวนสอบสวนค้นคว้าความรู้ด้วยตนเอง
2. ฝึกให้นักเรียนคิดอย่างมีเหตุผล
3. ฝึกให้นักเรียนใช้ความคิดในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง

จากแนวความคิดของนักการศึกษาหลายๆท่าน สรุปได้ว่า เป้าหมายของการสอนแบบสืบสวนสอบสวน หมายถึง การวางจุดหมายที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนากระบวนการเรียนรู้การค้นหาความรู้ การแก้ปัญหา ตามแนวทาง ขั้นตอนแบบสืบสวนสอบสวนตามหลักการ วิธีการ จนเกิดองค์ความรู้ในด้านความคิดจากการสืบสวนสอบสวน โดยใช้คำถามนาสู่คาตอบที่ต้องการ เป็นการวิเคราะห์ปัญหามาจากสาเหตุ จนกระทั่งแก้ปัญหาหรือหาข้อสรุปได้อย่างมีเหตุผล และเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง
รูปแบบการสอนแบบสืบสวนสอบสวน
บรูเนอร์ (Bruner. 1966: 89) ได้เสนอกระบวนการสืบสวนสอบสวนไว้เป็น 4 ขั้น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ OEPC Techniques ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. ขั้นสังเกต (Observation - O) เป็นขั้นที่สาคัญที่สุดอันดับแรก ของกระบวนการแสวงหาความรู้ ขั้นสังเกตนี้ ครูจัดสถานการณ์ กิจกรรม หรือสาธิตการทดลองให้ผู้เรียนสังเกต จะทำให้ผู้เรียนเกิดปัญหาคับข้องใจ (Conflict) ผู้เรียนจะถาม เพื่อให้ได้ข้อมูล แล้วจดบันทึกข้อมูลเหล่านั้นไว้เป็นพื้นฐาน เพื่อจะนำมาประกอบการพิจารณาตั้งสมมติฐานต่อไป
2. ขั้นอธิบาย (Explanation - E) เมื่อใช้การสังเกต การเก็บรวบรวมข้อมูลในขั้นแรกแล้วต่อไปจะอธิบายสถานการณ์หรือปรากฏการณ์นั้นๆ ว่ามีอะไรเป็นสาเหตุ เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นโดยพยายามหาแนวทางในการอธิบายไว้หลายๆ แนวทางตามแบบการตั้งสมมติฐาน
3. ขั้นทำนายหรือคาดคะเน (Prediction - P) เมื่อทดลองสมมติฐาน เพื่ออธิบายว่า ปัญหาเหล่านั้นมีสาเหตุจากอะไร ผู้เรียนก็พอจับเค้าโครงของปัญหาได้แน่ชัดขึ้น ฉะนั้นจะสามารถคาดคะเนได้ว่า ถ้ามีสาเหตุเช่นเดียวกันอีก จะเกิดอะไรตามมา แม้ว่าจะไม่มีสถานการณ์เช่นนั้นปรากฎให้เห็นจริง ๆ
4. ขั้นนำไปใช้และสร้างสรรค์ (Control and Creativity - C) คือ ขั้นที่สามารถนาแนวคิดที่ได้รับไปใช้ในการแก้ปัญหากับสถานการณ์อื่นๆ ได้อย่างถูกต้อง
เบล (Bell.1978: 240-342) กล่าวถึงรูปแบบของการสอนแบบสืบสวนสอบสวนในวิชาคณิตศาสตร์แบ่งเป็น 4 ขั้นคือ ขั้นสังเกต ขั้นอธิบาย ขั้นพยากรณ์และทดลอง และขั้นนำไปใช้ ดังนี้
1. ขั้นสังเกต ผู้สอนจัดสถานการณ์ที่เป็นปัญหาให้ผู้เรียนเผชิญกับสถานการณ์ที่ฉงนสงสัย หรือพยายามค้นพบหลักการ โดยการสังเกต วิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ และตั้งคำถามผู้แก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพและนักคณิตศาสตร์ที่ประสบความสาเร็จมากที่สุด คือ บุคคลที่ตั้งคำถามดีที่สุด
คำถามที่ดีจะนำไปสู่หลักการที่มีประโยชน์และคำถามที่ดีจะมีผลในการแก้ปัญหาที่ยาก การหาสิ่งที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจในการสืบสวนสอบสวนทางคณิตศาสตร์ จะต้องดูว่าสิ่งที่กำหนดให้คืออะไร และสืบสวนสอบสวนโดยพิจารณาตามสิ่งที่กำหนดให้นั้น การสืบสวนสอบสวนมิได้ต้องการผลเพียงเท่านั้น ควรจะสืบสวนสอบสวนให้มากกว่าที่ต้องการ โดยการตั้งคำถาม ดังนี้
1. ทำไมวิธีการนี้จึงทำได้
2. ทำไมวิธีการนี้ได้คำตอบที่ไม่ถูกต้อง
3. มีวิธีที่ดีกว่าวิธีนี้ไหม
4. มีรูปแบบทั่วไปไหม
5. ทฤษฎีบทนี้ทำให้นึกถึงทฤษฎีบทอื่นไหม
6. ปัญหานี้เป็นปัญหาหนึ่งของปัญหาทั่วไปหรือไม่
7. จะสรุปรูปแบบทั่วไปได้ไหม
8. อะไรเป็นข้อแตกต่างระหว่างสถานการณ์ทั้งสองเหล่านั้น
9. มีอะไรคล้ายคลึงกันระหว่างระบบคณิตศาตร์เหล่านี้
10. จากตัวอย่างที่สังเกตได้นี้จะเป็นตัวแทนของกรณีทั่วไปได้หรือไม่
11. มีตัวอย่างคัดค้านหรือไม่
12. มีวิธีแก้ปัญหาดีกว่านี้ไหม
13. มีอะไรเกิดขึ้นกับสิ่งเหล่านี้
14. มีการไม่คงเส้นคงวาเกิดขึ้นหรือไม่
15. เรื่องราวหรือข้อมูลที่ได้นี้น่าจะยอมรับได้หรือไม่
16. หลักการที่หาได้จะขยายต่อไปได้อีกไหม
17. ตัวอย่างต่างๆ ที่แสดงมโนคติคืออะไร  ฯลฯ
2. ขั้นอธิบาย ผู้สอนกระตุ้นให้ผู้เรียนค้นหาคำตอบ เพื่อขจัดความสงสัยด้วยการใช้เหตุผลเป็นการวิเคราะห์จากปัญ หาสู่เหตุ ขั้นนี้จึงเป็นขั้นที่รวบรวมความรู้และข้อมูล เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาหรือสถานการณ์ต่างๆ ชึ่งมี 2 ประการ
ประการที่ 1 ในการที่จะแก้ปัญหานั้น ผู้แก้ปัญหาจะต้องมีเทคนิคในการแก้ปัญหาและรู้กระบวนการทางคณิตศาสตร์
ประการที่ 2 การแก้ปัญหาจะต้องรู้แหล่งความรู้ รู้จักวิเคราะห์สังเคราะห์ความรู้นั้น ตลอดจนรู้จักรวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงความรู้ให้มีระบบการตั้งคำถามที่นับว่าเป็นสิ่งสาคัญ ควรจะมีการตั้งคำถามดังตัวอย่างต่อไปนี้
1. มีข้ออ้างอิงที่เป็นมาตรฐานในเรื่องนี้หรือไม่
2. ข้ออ้างอิงนั้นหาได้จากไหน
3. แหล่งอื่นๆ ของความรู้คืออะไร
4. แหล่งความรู้เหล่านี้เชื่อถือได้เพียงใด
5. คุณภาพของความรู้ที่ได้รับนี้ดีเพียงใด
6. ความรู้นี้ใช้ประโยชน์ได้อย่างไร
7. ความรู้นี้เป็นหมวดหมู่และจัดระเบียบอย่างไร
8. มโนคติ หลักการ และวิธีการใดที่มีในแหล่งความรู้
9. ความรู้นี้สัมพันธ์กับปัญหาที่กาลังพิจารณา
10. ความรู้ที่นามาใช้สามารถแก้ปัญหาได้เพียงใด
11. ความรู้หรือวิธีดาเนินการเหล่านี้จะนาไปใช้กับสถานการณ์อื่นได้ไหม  ฯลฯ
3. ขั้นพยากรณ์และทดสอบ เป็นขั้นที่นำข้อมูลที่รวบรวมไว้มาอภิปรายปัญหาหรือข้อสมมติฐานที่ตั้งไว้ และพยากรณ์ผลหรือทำการทดลองเพื่อทดสอบสมมติฐานนำไปสู่ข้อสรุปเป็นขั้นซึ่งเกิดการค้นพบ การแก้ปัญหาขั้นนี้เป็นการสร้างหลักการและหาความสัมพันธ์ต่างๆ แยกแยะโครงสร้างและนำไปสู่ข้อสรุป
ผู้ที่เกี่ยวข้องในการทดสอบแบบสืบสวนสอบสวนควรจะมีความสามารถพิเศษ ที่จะวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตลอดจนรู้จักประเมินผลงาน กิจกรรมในช่วงนี้จะต้องรู้จักจัดข้อมูลเป็นหมวดหมู่ มองหาความสัมพันธ์ ค้นหารูปแบบ และสรุปเป็นนัยทั่วไป
4. ขั้นนำไปใช้ เป็นขั้นที่นาความรู้ที่ค้นพบไปใช้ให้เกิดประโยชน์ขั้นนี้ได้แก่การวิเคราะห์และประเมินกระบวนการสืบสวนสอบสวน ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจให้ดีขึ้นและปรับปรุงการสืบสวนสอบสวน ในขั้นนี้เป็นขั้นพิจารณากระบวนการสืบสวนสอบสวนเนื้อหาทางคณิตศาสตร์แต่ละเนื้อหาย่อมมีวิธีสืบสวนสอบสวนของมันเอง จุดประสงค์อันหนึ่งของผู้สืบสวนสอบสวนในแต่ละเนื้อหา คือการปรับปรุงกลไกการสืบสวนสอบสวนที่กระทำอยู่และรวบรวมกระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อนำไปพัฒนาและใช้กับเนื้อหาอื่นๆ ต่อไป
สิ่งที่จะต้องพิจารณา คือ กระบวนการสืบสวนสอบสวนตั้งแต่ต้นจนจบวิธีดาเนินการที่เหมาะสมในการที่จะใช้วิเคราะห์และประเมินกระบวนการสืบสวนสอบสวน ก็คือการถามและพยายามหาคำตอบ ตัวอย่างคำถามซึ่งจะนำมาใช้ในขั้นที่ 4 มีดังต่อไปนี้คือ
1. วิธีดาเนินการที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาเป็นอย่างไร
2. อะไรที่เป็นตัวกระตุ้นให้ค้นพบนัยทั่วไป
3. รูปแบบอะไรที่ค้นพบ
4. ความรู้และวิธีการที่จะนำไปสู่ค้นพบแบบไม่คงเส้นคงวาคืออะไร
5. แหล่งความรู้อะไรที่ใช้มากที่สุด
6. วิธีดำเนินการอะไรที่เคยทำและรวบรวมข้อมูลอย่างไร
7. ใช้รูปแบบการให้เหตุผลที่สมเหตุสมผลรูปแบบใดในการแก้ปัญหา
8. กระบวนการคิดอะไรที่นำมาใช้กระทั่งหาข้อสรุปได้
9. วิธีการแก้ปัญหานำไปใช้ได้ทั่วไปและประยุกต์ใช้กับการแก้ปัญหาอื่นๆ ได้ไหม
วีรยุทธ วิเชียรโชติ (2524: 5-7) ได้แบ่งขั้นของการเรียนการสอนแบบสืบสวนสอบสวนเป็น 5 ขั้น ดังนี้
1. ขั้น “สน” คือขั้นของการให้สังกัปแนวหน้าซึ่ง ได้แก่ การเตรียมความพร้อมทางการเรียนให้ผู้เรียน โดยการดึงเอาความรู้และประสบการณ์เดิมของผู้เรียนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะสอนให้มาสัมพันธ์กัน รวมทั้งการปูพื้นความรู้ใหม่ที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้เนื้อหาสาระใหม่ให้กับผู้เรียนและเป็นการจูงใจพร้อมที่จะเรียนคำถามประเภทสังกัปแนวหน้า (สน) มักจะขึ้นต้นหรือลงท้ายคาว่า “เกี่ยวข้องอย่างไร” สิ่งนี้หรือความรู้ข้อนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร” ซึ่งเป็นคำถามที่มุ่งดึงประสบการณ์เดิมให้มาสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ใหม่ หรือคำถามที่ว่า “ความรู้ข้อนี้มีอะไรเป็นพื้นฐาน” ซึ่งเป็นคำถามที่อาจจะนำไปสู่การสารวจว่าผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานเพียงพอหรือไม่ และถ้าหากพบว่าผู้เรียนยังขาดความรู้พื้นฐานสาหรับที่จะเรียนรู้ระดับความรู้สูงขึ้นต่อไป ครูก็อาจจะใช้คำถามให้ผู้เรียนค้นพบสังกัปและหลักการใหม่ๆ ที่จำเป็นสาหรับเป็นบันไดในการที่จะก้าวขึ้นไปสู่ความรู้ขั้นสูงต่อไป
2. ขั้น “ส” คือขั้นของการสังเกตสถานการณ์ที่เป็นปัญหาข้องจิต ในขั้นนี้จะสร้างสถานการณ์ที่เป็นปัญหาข้องจิตขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนได้สังเกตและวิเคราะห์องค์ประกอบและธรรมชาติของปัญหาอย่างละเอียด การเรียนรู้ที่สำคัญในขั้นนี้ก็คือการเรียนรู้สังกัปลักษณะร่วมของสถานการณ์ (ความหมายสรุปรวม) ขององค์ประกอบต่างๆ ในสถานการณ์ที่เป็นปัญหาข้องจิต  คำถามประเภทสังเกตมักจะขึ้นต้นหรือลงท้ายด้วยคาว่า “อะไร” “ใคร” “ที่ไหน” “อย่างไร” เป็นคำถามที่ผู้เรียนใช้สำรวจสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการของปรากฎการณ์ต่างๆ และมักจะเป็นคำถามเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ลักษณะคุณสมบัติ ธรรมชาติโครงสร้าง และกระบวนการของสิ่งต่างๆและเหตุการณ์ต่างๆ คำถามที่ขึ้นต้นหรือลงท้ายประโยคด้วยคำว่า “อะไร” หลักสาคัญในการพิจารณาว่าคำถามใดเป็นคำถามประเภทสังเกตหรือไม่ เราใช้เกณฑ์ที่ว่าคำถามนั้นเป็นผลของการสังเกตสถานการณ์ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าหรือไม่และถามเกี่ยวกับสิ่งที่สามารถสังเกตในขณะนั้นได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าหรือไม่ สรุปแล้วคำถามประเภทสังเกตเป็นการให้เกิดการเรียนรู้สังกัป (ความคิดรวบยอด) นั่นเอง
3. ขั้น “อ” คือขั้นของการอธิบายปัญหาข้องจิต โดยอาศัยความสามารถในการหาเหตุผลมาอธิบายถึงสาเหตุของปัญหาข้องจิต ส่วนมากการอธิบายมักจะอยู่ในรูปของความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผลแบบฟังก์ชั่น ขั้นนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความสามารถในการสร้างทฤษฎีขึ้นมาสาหรับอธิบายปรากฎการณ์ต่าง ๆ การเรียนที่สาคัญในขั้นนี้คือการเรียนรู้หลักว่า เมื่อผลปรากฎออกมาในรูปของปัญหาอย่างนี้ อะไรควรจะเป็นเหตุหรือสาเหตุของการเกิดผลอันนั้น
คำถามประเภทอธิบาย มักจะขั้นต้นประโยคด้วยคำว่า “ทำไม” “เพราะเหตุใด” “อะไรคือสาเหตุ” “เหตุใด” “หรือ” “อะไรเป็นเหตุปัจจัย” คำถามประเภทอธิบายเป็นคำถามที่แสวงหาสาเหตุของปัญหาข้องจิต เพื่อตั้งสมมติฐานทั่วไปอันจะนำไปสู่การสร้างทฤษฎีที่อาจใช้อธิบาย ปรากฎการณ์ต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง
คำถามประเภท “ทำไม” นี้เรามักจะพบมากในกรณีที่เราเกิดสงสัยในรูปของปัญหาข้องจิตซึ่งมักจะเกิดขึ้นได้ง่าย ในกรณีที่ส่งสัยสิ่งต่างๆ อย่างเปรียบเทียบหลักสำคัญในการพิจารณาว่า คำถามใดเป็นคำถามประเภทคำอธิบายหรือไม่ก็คือ การใช้เกณฑ์ว่า คำถามนั้นถามเกี่ยวกับสาเหตุของปัญหาหรือไม่ เป็นคำถามที่แสวงหาความสัมพันธ์ระหว่างผลกับเหตุหรือไม่ สรุปแล้วคำถามประเภทอธิบายเป็นการถามเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และหลักการ
4. “ท” คือขั้นของการทำนายผล เมื่อเราแปลเหตุเป็นขั้นของการตั้งสมมติฐานเพื่อทดสอบ ดูว่า คำอธิบายในขั้นที่ 3 นั้น ถูกต้องมากน้อยประการใด นอกจากนั้นยังเป็นการคาดคะเนผลของสาเหตุต่างๆ ทั้งนี้เพื่อฝึกให้ผู้เรียนคิดอย่างรอบคอบแนบ “คิดหน้า คิดหลัง” เสียก่อนแล้วจึงลงมือปฏิบัติ การเรียนที่สำคัญในขั้นนี้คือ การเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาโดยนำหลักการที่เรียนรู้ในขั้นที่ 3 มาใช้คำถามประเภททำนาย มักจะขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่า “ถ้า” “หาก” “แม้นว่า” และลงท้ายประโยคด้วย “ใช่ไหม” “หรือ” “อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง” คำถามประเภทนี้เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าและมักจะเป็นคำถามในรูปของสมมติฐานเชิงทำนายผลในเมื่อเราแปรเปลี่ยนเหตุใน อีกความหมายหนึ่งคำถามประเภททำนายนี้ใช้ในโอกาสที่เรานำกฎที่ค้นพบมาเป็นแนวทางในการทำนายปรากฎการณ์ใหม่ๆ  หลักสำคัญในการพิจารณาคำถามใดเป็นคำถามประเภททำนาย เราใช้เกณฑ์ที่ว่าคำถามนั้นเป็นการพยากรณ์ผลของเหตุปัจจัยหรือไม่ สรุปแล้วคำถามประเภททำนายเป็นคำถามที่เกิดการเรียนรู้วิธีตั้งสมมติฐาน และรู้วิธีแก้ปัญหาโดยหลักการหรือปรากฎการณ์กฎเกณฑ์ที่ค้นพบ
5. ขั้น “ค” คือขั้นของการควบคุมและสร้างสรรค์ทั้งสิ่งแวดล้อมภายนอกและสิ่งแวดล้อมภายใน เป็นขั้นที่นำผลของการแก้ปัญหามาปฏิบัติใช้ในชีวิตจริงเพื่อให้เกิดการควบคุมสิ่งแวดล้อมภายใน (ทางจิตใจ) ขั้นนี้ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ฉะนั้นการเรียนที่สำคัญในขั้นนี้คือการเรียนรู้วิธีสร้างสรรค์   คำถามประเภทควบคุมความคิดสร้างสรรค์ มักจะลงท้ายด้วยคำว่า “ได้อย่างไร” “ได้หรือไม่” คำถามประเภทนี้เป็นคำถามในกรณีเรานำเอาหลักการและกฎเกณฑ์ไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง ซึ่งอาจจะกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าเป็นคำถามแบบประยุกต์วิทยาที่มุ่งจะควบคุมตัวสาเหตุเพื่อให้เกิดผลตามที่เราต้องการและเป็นคำถามที่กระตุ้นให้เกิดความคิดที่จะแก้ปัญหาในลัษณะริเริ่มสร้างสรรค์  หลักการสำคัญในการพิจารณาว่าคำถามใด เป็นคำถามประเภทควบคุมและคิดสร้างสรรค์เราใช้เกณฑ์ที่ว่า คำถามนั้นเป็นคำถามที่นำเอาหลัการที่ค้นพบมาใช้ในการแก้ปัญหาหรือการแก้ไขปรับปรุงสภาพชีวิต ความเป็นอยู่อย่างเป็นจริงหรือไม่ และการนำเอาหลักการมาประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์หรือไม่ สรุปแล้วคำถามประเภทควบคุมและคิดสร้างสรรค์เป็นคำถามที่ทำให้เกิดการเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาโดยอาศัยหลักการอย่างสร้างสรรค์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2537: 96-97) ได้กล่าวถึงขั้นตอนในการสืบสวนสอบสวนในวิชาคณิตศาสตร์ได้ดังนี้ว่า
ขั้นที่ 1 สอนผู้เรียนว่าจะใช้วิธีการสอนแบบสืบสวนสอบสวนอย่างไร และจะเรียนคณิตศาสตร์โดยผ่านการสืบสอบ ก็คือ การอธิบาย และอภิปราย 4 ขั้นตอนของกระบวนการสืบสวนสอบสวน ผู้เรียนควรอภิปรายเกี่ยวกับการตั้งคำถามและกิจกรรม ซึ่งกำหนดให้ภายใต้กระบวนการสืบสวนสอบสวน ผู้เรียนควรรวบรวมคำถามและกิจกรรมเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในแต่ละขั้นของการสืบสวนสอบสวนให้ประสบความสำเร็จ
ในขั้นนี้ผู้เรียนควรได้รับการกระตุ้นให้ค้นหาแบบรูปทางคณิตศาสตร์ วิธีดำเนินการและสรุปนัยทั่วไป ความกระตือรือร้นเป็นลักษณะที่ดีในการเรียนคณิตศาสตร์ ครูควรใช้คำถามที่ต้องการ ให้ผู้เรียนตอบเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหา และหลักการทางคณิตศาสตร์
ขั้นที่ 2 ในขั้นนี้ผู้สอนควรจะแนะนำให้ผู้เรียนรู้จักแหล่งความรู้และวิธีรวบรวมข้อมูล เมื่อใช้ในการแก้ปัญหา ผู้สอนควรจะฝึกให้ผู้เรียนรู้จักการวิเคราะห์ สังเคราะห์ด้วยวิธีการ การฝึกตั้งคำถาม เพื่อให้มองเห็นแนวทางว่าจะรวบรวมข้อมูลอย่างไร
ขั้นที่ 3 เป็นขั้นที่จัดรวบรวมข้อมูลเพื่อหาแนวทางสรุปปัญหา ในขั้นนี้ผู้เรียนควรทำงานตามลำพังหรือเป็นกลุ่มย่อย ผู้สอนช่วยเหลือเพียงเล็กน้อย ผู้เรียนใช้คำถามเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา กระบวนการสืบสวนสอบสวนจึงเป็นไปอย่างช้าๆ ข้อสำคัญก็คือ ผู้สอนต้องหลีกเลี่ยงการแทรกแซงและบอกผู้เรียนว่าทำอย่างไร
ขั้นที่ 4 การวิเคราะห์และประเมินวิธีการสืบสวนสอบสวน เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของกระบวนการสืบสวนสอบสวน ในขั้นนี้ผู้เรียนจะตั้งคำถามว่าฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับอะไรบ้าง ผู้เรียนจะเข้าใจดียิ่งขึ้นโดยการประเมินด้วยตนเอง คำถามจะมีทั้งของครูผู้สอนและผู้เรียน ผู้เรียนควรตอบทุกคำถาม ผู้สอนอาจจะมีบทบาทมากขึ้นในการถามนำเพื่อให้ผู้เรียนได้วิเคราะห์และประเมินเมื่อสิ้นสุดการเรียนรู้ผู้เรียนควรจะถามตัวเองว่า “ฉันได้เรียนอะไรเกี่ยวกับคณิตศาสตร์และฉันเรียนรู้เกี่ยวกับการเรียนคณิตศาสตร์โดยใช้กลวิธีสืบสวนสอบสวนอย่างไร”

สมชาย ชูชาติ (2538: 82-83) ได้กล่าวถึงลาดับขั้นตอนของการสอนแบบสืบสวนสอบสวนได้ดังนี้
1. ขั้นการสังกัปแนวหน้า คือขั้นที่ครูปูพื้นฐานความพร้อมให้กับผู้เรียนทั้งในด้านความรู้และการสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนเกิดความกระหายใคร่จะแสวงหาความจริง
2. ขั้นสังเกต คือ ขั้นที่ครูสร้างสถานการณ์ให้นักเรียนสังเกต ส่วนใหญ่เป็นปัญหาหรือเป็นการแสดงละครปริศนา ในขั้นนี้ครูส่งเสริมให้นักเรียนฝึกการคิดวิเคราะห์
3. ขั้นอธิบาย เป็นขั้นที่ครูกระตุ้นให้นักเรียนหาคำอธิบายหรือสาเหตุของปัญหาข้องใจในรูปของเหตุผล ในขั้นนี้นักเรียนมีโอกาสฝึกการตั้งทฤษฎี ฝึกการคิดแบบมีเหตุผล และฝึกวิเคราะห์ระบบจากผลไปหาเหตุ หรือจากปัญหาไปหาสาเหตุ
4. ขั้นทำนายและทดลอง คือ ขั้นนี้ครูช่วยให้นักเรียนรู้หาวิธีพิสูจน์คำอิบายหรือทฤษฎีที่นักเรียนได้ร่วมกันสร้างขึ้น โดยฝึกให้รู้จักการทำนายผล เมื่อเราแปรค่าสาเหตุและฝึกให้รู้จักการแก้ปัญหาด้วยวิธีการตั้งสมมติฐานเชิงทำนาย ตลอดจนการทดสอบสมมติฐานนั้น
5. ขั้นควบคุมและการคิดสร้างสรรค์ คือ ขั้นที่ครูส่งเสริมให้นักเรียนสามารถนำเอาหลักการ กฎเกณฑ์และวิธีการแก้ปัญหาที่ค้นพบใช้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการควบคุม และสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมภายในและภายนอกของมนุษย์
จากแนวความคิดข้างต้นสามารถ สรุปได้ว่า รูปแบบการสอนที่มีระบบการจัดการเรียนรู้ โดยครูผู้สอนจะทำหน้าที่สร้างสถานการณ์ที่น่าสนใจและท้าทาย เพื่อทำให้เกิดแรงกระตุ้นต่อผู้เรียนเห็นความสำคัญของปัญหาและเกิดการเรียนรู้ด้วยการสืบสวนสอบสวนจากข้อมูลที่มีอยู่เพื่อให้ได้พบคำตอบ เป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการสังเกต อธิบาย พยากรณ์ และนำไปใช้ เป็นแนวทางในการแก้ปัญ หาด้วยตนเอง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างหลากหลาย

เบล (Bell. 1978: 240-342)  สรุปขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนแบบสืบสวนสอบสวนไว้  5 ขั้นตอน
1. ขั้นเตรียมความพร้อม คือ ขั้นที่ตระเตรียมและเกิดความพร้อมทางการสอนให้กับผู้เรียน โดยนำความรู้และประสบการณ์เดิมที่ผู้เรียนมีอยู่และมีความสัมพันธ์กับความรู้ใหม่ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ในสถานการณ์ที่พบปัญหา
2. ขั้นสังเกต คือ ขั้นที่เกิดจากครูผู้สอนจะเป็นผู้ดำเนินสถานการณ์ของปัญหาที่มีผลทำให้นักเรียนเกิดความสนใจในสถานการณ์และปัญหาที่พบเป็นการกระตุ้นความรู้สึกอันดับแรก คือการใช้การสังเกตและเก็บข้อมูลที่พบ เพื่อเป็นการส่งเสริมและเกิดแรงจูงใจให้ผู้เรียนได้ฝึกการคิดในรูปแบบต่างๆ จัดแนวความคิดเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับสภาพปัญหาและได้แนวทางการนำไปสู่ข้อเท็จจริง
3. ขั้นอธิบาย คือ ขั้นที่ผู้เรียนรวบรวมความรู้ที่ได้จากการสังเกต เป็นเหตุผลต่อกัน ในการอธิบายสาเหตุของปัญหาที่พบ เป็นส่วนที่ผู้เรียนสามารถฝึกการตั้งสมมติฐาน เพื่อคาดเดา และเป็นการคิดที่มีการวิเคราะห์จากระบบของผลไปหาเหตุ
4. ขั้นทำนายคือ ขั้นที่สามารถทำให้ผู้เรียนรู้จักแนวคิดแนวทางการที่จะพิสูจน์และสามารถทำนายผลที่เกิดได้ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญในการนำขั้นอธิบายมาแก้ปัญหา
5. ขั้นนำไปใช้และสร้างสรรค์ คือ ขั้นที่ส่งเสริมให้ผู้เรียน รู้จักการนำหลักการ กฎเกณฑ์และแนวทางวิธีที่จะแก้ปัญหา นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ปรับปรุงสภาพสถานการณ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งภายในจิตใจจะเกิดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ และแก้ปัญหาได้ไม่จำกัดกาลเวลา

บทบาทของครูในการสอนแบบสืบสวนสอบสวน
คาลลาฮาน และลีโอนาด (Callahan ;& Leonard. 1988: 261-262) ได้กล่าวถึง บทบาทของครูในการสอนแบบสืบสวนสอบสวน ซึ่งสรุปได้ ดังนี้
1. ครูมีหน้าที่ให้คำแนะนากับนักเรียนมากกว่าบอกให้นักเรียนทำตาม
2. ครูตั้งคำถามเลือกประเด็นที่น่าสนใจเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนคิดและพยายามค้นหาคำตอบ
3. ในขณะที่นักเรียนค้นหาคำตอบ ครูควรแนะนำในการค้นพบ โดยหาความชัดเจนของปัญหา
4. ครูพยายามสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนที่เป็นการส่งเสริม การสร้าง ข้อคาดเดา การตั้งข้อสงสัย และการคิดแก้ปัญหา
5. สนับสนุนให้นักเรียนตั้งสมมติฐาน เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ตรวจสอบสมมิตฐานด้วยตนเอง
6. ช่วยนักเรียนในการวิเคราะห์และประเมินความคิดของตนเอง โดยเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายในชั้นเรียน พยายามกระตุ้นให้นักเรียนคิด ไม่ข่มขู่เมื่อคำตอบไม่เป็นดังที่คาดหวัง

บราวน์ (Brown. 1997: 8-9) ได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของครูในการสอนแบบสืบสวนสอบสวน ซึ่งสรุปได้ ดังนี้
1. ครูเป็นผู้รับผิดชอบคอยส่งเสริมให้กำลังใจเป็นที่ปรึกษา เพื่อให้เขาได้บรรลุผลการเรียนที่คาดหวัง สามารถค้นพบคำตอบได้ด้วยตนเอง
2. ครูเป็นผู้วางแผนขั้นตอน การดำเนินการสอน การดูแลควบคุมกิจกรรมของผู้เรียนโดยกิจกรรมที่ทำต้องเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน
3. ครูควรมีการตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียน และจัดกิจกรรมให้เหมาะสม
4. ครูจะต้องจัดลำดับการทำกิจกรรมให้เหมาะสมกับเวลาที่วางแผนไว้ ให้คำแนะนำแก่ผู้เรียน เพื่อเป็นแนวทางของคำตอบ
5. ครูจะต้องสร้างบทเรียนให้สอดคล้องกับกิจกรรมพื้นฐานการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการตอบปัญหาทางคณิตศาสตร์ มิใช่เป็นผู้เฉลยคำตอบเพียงอย่างเดียว โดยครูเป็นผู้เริ่มต้นและแนะนำรายละเอียดของกิจกรรม ในขณะที่ผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมการเรียน ครูช่วยสรุปในตอนท้าย พร้อมแนะนำข้อบกพร่องเพื่อแก้ไขในครั้งต่อไป
6. ครูจะต้องทำการประเมินผลกิจกรรมทุกครั้งที่มีกิจกรรมการเรียน เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขและพัฒนาครั้งต่อไป

วีรยุทธ วิเชียรโชติ (2524: 33-34) ได้กล่าวถึงบทบาทของครูในการสอนด้วยการสอนแบบสืบสวนสอบสวน ซึ่งสรุปได้ ดังนี้
1. ครูเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการสืบสวนสอบสวน โดยสร้างสถานการณ์ยั่วยุให้เด็กตั้งคำถามสอบสวนตามลำดับขั้นของคำถามแบบสืบสวนสอบสวน
2. ครูเป็นเป็นกำลังหนุน เมื่อเด็กถามมาก็จะให้แรงหนุน ยอมรับในคำถาม กล่าวชมและช่วยปรับปรุงภาษาในคำถามเพื่อให้นักเรียนเข้าใจในคำถามให้กระจ่างดียิ่งขึ้น
3. ครูเป็นผู้ทานกลับ ครูจะผู้ทบทวนคำถามอยู่บ้างแต่ไม่มากนักเพื่อพิจารณาดูว่านักเรียน มีความเข้าใจอย่างไรบ้าง อาจตั้งคำถามถามนักเรียนเกี่ยวกับเนื้อหาที่ได้เรียนไปแล้วก่อนที่เรียนบทต่อไป
4. ครูเป็นผู้แนะนำและกำกับ ครูจะชี้ทางเพื่อให้เกิดความคิดตามแนวทางที่ถูกต้อง เป็นผู้กำกับควบคุมเมื่อเด็กออกนอกลู่นอกทาง
5. ครูเป็นผู้จัดระเบียบ ครูดำเนินการจัดชั้นเรียนให้เหมาะสมกับวิธีการเรียน
6. ครูเป็นผู้สร้างแรงจูงใจ ครูช่วยสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนมีกำลังใจการเรียน

รัศมี ภิบาลแทน (2524: 170) ได้กล่าวถึงบทบาทของครูในการเรียนการสอนแบบสืบสวนสอบสวน ดังนี้
1. ครูควรเป็นผู้เลือกบทเรียนและอุปกรณ์การสอน ควรเป็นผู้รู้ดีว่าปัญหาใดควรศึกษาหรือน่าสนใจ ผู้สอนต้องเตรียมตัวล่วงหน้าว่าจะดำเนินการสอนแบบใด แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้สอนต้องรู้คำตอบไว้ล่วงหน้า เพียงแต่มีขอบเขตอย่างกว้าง ๆ ว่าผลที่ได้เป็นอย่างไร
2. ครูควรให้ผู้เรียนได้มีส่วนในกิจกรรมการเรียนการสอนตลอดเวลา ครูต้องคอยกระตุ้นให้นักเรียนคิด ทำ และร่วมกันอภิปราย
3. ครูควรเลือกใช้คำถามให้เหมาะสมกับความสามารถของนักเรียน เพื่อส่งเสริมนักเรียนที่มีความสามารถสูง ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันที่ไม่ละเลยนักเรียนที่มีความสามารถต่ำ
4. ให้นักเรียนได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาวิธีการแก้ปัญหาหรือหาคำตอบตามความต้องการ ไม่แสดงความไม่พอใจหรือบังคับเคี่ยวเข็ญเมื่อนักเรียนตอบไม่ถูกใจ
5. ครูเป็นผู้ช่วยนักเรียนในการดำเนินการแก้ปัญหาและหาทางออกให้ เมื่อนักเรียนติดขัด การช่วยอะไรจะใช้วีการตั้งคำถามเพื่อให้เกิดแนวทางในการคิดจนได้ผลสรุป
6. ในการเรียนการสอนอาจมีโอกาสที่ครูไม่สามารถตอบคำถามที่นักเรียนซักได้ควรชี้แจงให้นักเรียนเข้าใจว่าครูไม่ใช่ผู้รอบรู้ปัญหาทุกอย่าง ดังนั้นครูและนักเรียนควรจะได้ช่วยกันค้นหาคำตอบนั้น
7. เมื่อนักเรียนถามอย่างตอบคำถามทันที ต้องพยายามให้คำแนะนำที่อาจเป็นทางช่วยให้นักเรียนตอบได้เอง
8. อย่าให้นักเรียนสรุปหลักการหรือแนวคิดเร็วจนเกินไป เมื่อยังมีข้อมูลไม่เพียงพอและแน่นอนที่จะเชื่อถือได้ ควรแนะให้พิสูจน์ซ้าอีกก่อนสรุป

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2537: 96 -97) ได้กล่าวถึง การสอนแบบสืบสวนสอบสวนในวิชาคณิตศาสตร์นั้นทั้งผู้เรียนและผู้สอนควรปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1 ในการสอนควรจะใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนอย่างไรกับผู้เรียน ควรให้ผู้เรียนใช้วิธีการอธิบายและการอภิปรายสี่ขั้นของกระบวนการสืบสวนสอบสวน ผู้เรียนควรอภิปรายเกี่ยวกับการตั้งคำถามและกิจกรรมซึ่งกำหนดให้ภายใต้ขั้นตอนของกระบวนการสืบสวนสอบสวน ผู้เรียนควรจะรวบรวมคำถามและกิจกรรมเพื่อใช้ในแต่ละขั้นของการสืบสวนสอบสวนให้ประสบผลสาเร็จ  ในขั้นนี้ผู้เรียนควรจะได้รับการกระตุ้นให้ค้นหารูปแบบทางคณิตศาสตร์ วิธีดำเนินการและการสรุปนัยทั่วไป ความกระตือรือร้นเป็นลักษณะที่ดีในการเรียนคณิตศาสตร์ ครูควรใช้คำถามที่ต้องการให้ผู้เรียนต้องการเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหาและหลักการทางคณิตศาสตร์ การให้การบ้านก็ควรจะให้รู้จักวิเคราะห์วิธีการ ควรจะถามให้ผู้เรียนเปรียบเทียบวิธีการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหา การถาม-ตอบ ควรเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนแบบสืบสวนสอบสวนและคำถามของผู้เรียนควรจะได้รับการอภิปราย ผู้สอนควรจะยกตัวอย่างให้ผู้เรียนยอมรับและชื่นชมเพื่อจะได้ตั้งคำถามต่อไป
ขั้นที่ 2 ในขั้นนี้ผู้สอนจะแนะให้ผู้เรียนรู้จักแหล่งความรู้และวิธีรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการแก้ปัญหา ผู้เรียนมักจะยึดหนังสือเรียนและผู้สอนเป็นประการแรก การอ่านหนังสือห้องสมุดก็มักจะไม่ค่อยทำ จึงไม่มีประสบการณ์ในการที่จะแยกแยะรวบรวมข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่ ผู้สอนควรจะฝึกผู้เรียนให้รู้จักวิเคราะห์ สังเคราะห์ ด้วยการฝึกตั้งคำถาม เพื่อให้มองเห็นแนวทางว่าจะรวบรวมข้อมูลอย่างไร
ขั้นที่ 3 เป็นขั้นที่จะจัดรวบรวมข้อมูลพื่อหาแนวทางสรุปปัญ หาในขั้นนี้ผู้เรียนควรทำงานตามลำพังหรือเป็นกลุ่มย่อย ผู้สอนช่วยเหลือเพียงเล็กน้อย ผู้เรียนจะใช้คำถามเพื่อนำไปสื่อในการแก้ปัญหา กระบวนการสืบสวนสอบสวนจึงเป็นไปอย่างช้าๆ ข้อสำคัญที่สุดผู้สอนต้องหลีกเลี่ยงการแทรกแซงและบอกผู้เรียนว่าจะให้ทำอะไร
ขั้นที่ 4 การวิเคราะห์และการประเมินวิธีการสืบสวนสอบสวนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของกระบวนการสืบสวนสอบสวน ในขั้นนี้ผู้ค้นคว้าหรือผู้เรียนควรจะตั้งคำถามว่าฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับอะไรบ้าง ผู้เรียนจะเข้าใจดียิ่งขึ้นโดยประเมินด้วยตนเอง คำถามดังที่กล่าวแล้วในกระบวนการสืบสวนสอบสวน ควรนำมาใช้มีทั้งคำถามทั้งของผู้สอนและผู้เรียน ผู้เรียนควรจะตอบทุกคำถาม ผู้สอนอาจจะมีบทบาทมากขึ้นในการถามเพื่อช่วยผู้เรียนในการวิเคราะห์และประเมิน เมื่อสิ้นสุดการเรียนผู้เรียนควรจะถามตนเองว่า “ฉันได้เรียนอะไรเกี่ยวกับคณิตศาสตร์และฉันเรียนรู้เกี่ยวกับการเรียนคณิตศาสตร์โดยกลวิธีสืบสวนสอบสวนอย่างไรบ้าง”
สุพิน บุญชูวงศ์ (2538: 57) ได้กล่าวถึงในการสอนแบบนี้ ครูเป็นผู้แนะแนวทาง คอยให้ความช่วยเหลือและสร้างสถานการณ์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ฉะนั้นครูควรมีบทบาท 3 ประการคือ
1. ป้อนคำถามนักเรียนเพื่อนำไปสู่การค้นคว้า ครูจะต้องรู้จักป้อนคำถาม จะต้องรู้ว่าถามอย่างไรนักเรียนจึงเกิดความคิด
2. เมื่อได้ตัวปัญหาแล้วให้นักเรียนทั้งชั้นอภิปรายวางแผนการแก้ปัญหา กำหนดวิธีแก้ปัญหาเอง
3. ถ้าปัญหาใดยากเกินไป นักเรียนไม่สามารถวางแผนการแก้ปัญหาได้ ครูกับนักเรียนอาจร่วมกันหาทางแก้ปัญหาต่อไป

กรมวิชาการ (2544: 36) ได้กล่าวถึง บทบาทของครูในการสอนแบบสืบสวนสอบสวนไว้ดังนี้
1. ครูจะต้องจัดสภาพแวดล้อม สถานการณ์หรือสิ่งเร้าต่างๆ ที่เป็นปัญหาให้นักเรียนได้ฝึกสังเกต เปรียบเทียบ จนเห็นปัญหาและเกิดความสงสัยใคร่รู้
2. ครูกระตุ้นให้นักเรียนหาสาเหตุของปัญหานั้นด้วยการตั้งคำถาม
3. ให้นักเรียนตั้งสมมติฐานเชิงทำนายแล้วพิสูจน์ แล้วให้นักเรียนช่วยกันสรุป
4. ครูส่งเสริมให้นักเรียนนำหลักการและกฎเกณฑ์ที่ค้นพบไปใช้ในการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดการควบคุมและสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมในสภาพการณ์ต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง

สุวิทย์ มูลคำ; และ อรทัย มูลคำ (2545:141) ได้กล่าวถึง บทบาทของผู้สอนในการจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน ไว้ดังนี้
1. กระตุ้นให้ผู้เรียนมีความสนใจ คิดปัญหาวางแผนและแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน มีเหตุผลด้วยตนเอง
2. กระตุ้นให้ผู้เรียนหาวิธีการแก้ปัญหาหลายๆ วิธี และใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ช่วยในการแก้ปัญหา
3. เสริมแรงหรือให้กาลังใจแก่ผู้เรียน
4. ช่วยเหลือ แนะนำ กำกับอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเป็นผู้อำนวยความสะดวก เพื่อให้กระบวนการเรียนรู้ดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อย
5. จัดเตรียมแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญให้แก่ผู้เรียน
6. จัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
7. เป็นผู้ให้ข้อมูลย้อนกลับทั้งข้อดีและข้อบกพร่องแก่ผู้เรียน

                    จากการศึกษาแนวความคิดของนักการศึกษาในบทบาทของครูในการสอนแบบสืบสวนสอบสวน สามารถสรุปได้ว่า ครูผู้สอนต้องเป็นผู้รับผิดชอบของสถานการณ์ที่จะกระตุ้นความสนใจของนักเรียนและมีคำถามในลักษณะที่ต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวน เป็นลำดับขั้นตอนที่ชี้ชวนให้เห็นถึงความสำคัญ สามารถนำไปสู่กิจกรรมของการเรียนการสอนตามรูปแบบการสืบสวนสอบสวน ในการขจัดปัญหาเพื่อให้ได้ผลของคำตอบ โดยอาศัยการวางแผน มีขั้นตอนที่เหมาะสม มีหลักการและเหตุผลที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา และมีผลส่งเสริมการพัฒนาผู้เรียนได้ใช้แหล่งความรู้ในการเรียนรู้ด้วยตนเองและเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีและพึงพอใจต่อการเรียนแบบสืบสวนสอบสวน
ข้อดีและข้อจำกัดของการสอนแบบสืบสวนสอบสวน

บราวน์ (Brown. 1997: 20-21) ได้สรุปข้อดีของการสอนแบบสืบสวนสอบสวนไว้ดังนี้
1. ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง จากการค้นพบคำตอบด้วยตนเอง เป็นการส่งเสริม
ความกระตือรือร้นการเอาใจใส่และการรับผิดชอบในกิจกรรม
2. เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองในการสืบสวนสอบสวน และต้องมีการปรึกษาข้อมูลต่อผู้เรียนด้วยกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเกิดการเรียนรู้อย่างหลากหลายและได้แนวทางการพัฒนาระบบความคิดได้มากขึ้น
3. ความรู้ที่ได้มาจากประสบการณ์จริง จากการทำกิจกรรม จะช่วยให้สามารถแก้ปัญหาจากเหตุการณ์จริง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองได้
4. ผู้สอนจะพบว่าการเรียนการสอนแบบสืบสวนสอบสวน จะดีกว่าที่ครูผู้สอนคอยบรรยาย
ความรู้เพียงอย่างเดียว เพราะจุดประสงค์การเรียนรู้ที่คาดหวังต้องการให้นักเรียนรู้จักการสืบค้นคว้าหาความรู้จากข้อมูล เป็นการเรียนรู้และการตัดสินใจของผู้เรียนเอง
5. การเรียนการสอนแบบสืบสวนสอบสวน เป็นการออกแบบกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จริง และปฎิบัติจริง จนเกิดการเรียนรู้ในการตัดสินใจที่ดี
6. หลักสูตรจะมีชุดการเรียนที่เหมาะสมกับผู้เรียนและสามารถพัฒนาความคิดของผู้เรียนได้ตลอดเวลาและเกิดประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
ข้อจากัดของการสอนแบบสืบสวนสอบสวนไว้ดังนี้
1. ข้อมูลที่มีอาจถูกจากัด และอยู่ในเวลาที่ระบุตามกิจกรรม
2. ผู้เรียนไม่สนใจศึกษาและแสดงความคิดเห็นเพราะไม่เข้าใจบทบาทของตนเอง
3. ผู้สอนต้องมีความรับผิดชอบสูงและสร้างความพึงพอใจต่อผู้เรียน
4. เกิดการเปรียบเทียบระหว่างการสอนแบบบรรยายและการสอนแบบสืบสวนสอบสวน ที่
ต้องแสดงความคิดในเวลาจำกัด
5. ผู้เรียนประสบปัญหาในด้านแนวความคิดและการเรียนรู้คำตอบ จากข้อมูล


ภพ เลาหไพบูลย์. (2537:126 ) ได้สรุปข้อดีของการสอนแบบสืบสวนสอบสวนไว้ดังนี้
1. นักเรียนมีโอกาสได้พัฒนาความคิดอย่างเต็มที่ ได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง จึงมีความอยากเรียนรู้ตลอดเวลา
2. นักเรียนมีโอกาสได้ฝึกความคิด ฝึกการกระทำ ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการจัดการระบบความคิดและวิธีเสาะแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ทำให้ความรู้คงทนและถ่ายโยงการเรียนรู้ได้ กล่าวคือทำให้สามารถจดจำได้นานและนำไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ได้อีกด้วย
3. นักเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน
4. นักเรียนสามารถเรียนรู้มโนมติ และหลักการได้เร็วขึ้น รวมทั้งมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
5. นักเรียนเป็นผู้ที่มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนการสอน
6. ส่งเสริมการค้นคว้าหาคาวมรู้และสร้างสรรค์ความเป็นประชาธิปไตยในตัวนักเรียน

ข้อจากัด
ข้อจำกัดของการสอนแบบสืบสวนสอบสวนไว้ดังนี้
1. ใช้เวลามากในการสอนแต่ละครั้ง
2.ถ้าสถานการณ์ที่ครูสร้างขึ้นไม่ทำให้น่าสงสัยแปลกใจ จะทำให้นักเรียนเบื่อหน่ายและถ้าครูไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ในการสอนนี้ มุ่งควบคุมพฤติกรรมของนักเรียนมากเกินไป จะทำให้นักเรียนไม่มีโอกาสสืบเสาะหาความรู้ด้วยตนเองได้
3. นักเรียนที่มีสติปัญญาต่ำและเนื้อหาวิชาค่อนข้างยาก นักเรียนอาจจะไม่สามารถศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองได้
4. นักเรียนบางคนที่ยังไม่เป็นผู้ใหญ่พอ ทำให้การจูงใจที่จะศึกษาปัญหาและนักเรียนที่ต้องการแรงกระตุ้นเพื่อให้กระตือรือร้นในการเรียนมากๆ อาจจะพอตอบคำถามได้ แต่นักเรียนจะไม่ประสบความสาเร็จในการเรียนด้วยวิธีนี้
5. ถ้าใช้การสอนแบบนี้อยู่เสมอจะทำให้ความสนใจในการศึกษาค้นคว้าลดลง

สมชาย ชูชาติ (2538: 82) ได้กล่าวถึง ข้อดีและข้อจำกัดของการสอนแบบสืบสวนสอบสวนไว้ดังนี้
ข้อดี
1. ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนการสอนเพราะเขาจะต้องกำกับการเรียนการสอนด้วยตนเอง ดังนั้นบทบาทของผู้เรียนจึงเป็นผู้ที่มีความกระฉับกระเฉงไม่เป็นผู้ที่เฉื่อยชาต่อไป
2. เป็นการเรียนโดยการเน้นที่ปัญหาจะมีประโยชน์ต่อผู้เรียนในแง่ที่ว่าฝึกให้เขาเป็นผู้รู้จักลักษณะวิธีการแก้ปัญหา
3. เป็นการเรียนที่ฝึกทักษะและความสามารถในการตัดสินใจ
4. บทบาทของครูผู้สอนเปลี่ยนจากผู้บอกมาเป็นผู้ถาม ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะทาให้ผู้เรียนกระตือรือร้นมากขึ้น
5. เป็นการยอมรับเจตคติของผู้เรียนแต่ละคนโดยเฉพาะในเรื่องค่านิยมและเจตคติของผู้เรียน เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาค่านิยมและเจตคติไปในด้านที่ดีด้วย
6. บทบาทของครูผู้สอนเปลี่ยนไป ไม่เป็นผู้คุมการเรียนการสอน กลายเป็นผู้เรียนไปกับนักเรียนด้วย
7. ไม่ส่งเสริมการเรียนในเชิงแข่งขันเพื่อคะแนน แต่ผู้เรียนสามารถเรียนไปโดยมุ่งที่จะบรรลุเป้าหมายของตนเอง

ข้อจากัด
1. ในกรณีที่นำการสอนแบบสืบสวนสอบสวนมาใช้กับกลุ่มผู้เรียนที่มิใช่รายบุคคลแล้วผู้เรียนอาจไม่มีโอกาสร่วมกิจกรรมทุกคน มีผู้เรียนเพียงบางคนเท่านั้นที่มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็น การตัดสินใจ
2. การสอนแบบสืบสวนสอบสวนนั้นเป็นวิธีการที่มุ่งให้นักเรียนคิดอย่างมีเหตุผล วิธีการดังกล่าวต้องให้เวลามากพอสมควร แต่การสอนในชั้นเรียนส่วนใหญ่ ผู้สอนมักมีแนวโน้มที่จะเร่งรัดคำตอบหรือข้อโต้ตอบของผู้เรียนเสมอ
3. ในบางครั้งผู้เรียนเกิดความรู้สึกว่าปัญหาหรือประเด็นที่ผู้สอนหยิบยกขึ้นมาเพื่อการสืบเสาะหาความรู้นั้น แท้จริงแล้วผู้สอนมีคำตอบอยู่ในใจไว้ก่อนซึ่งดูเหมือนว่าผู้เรียนถูกตะล่อมให้เป็นไปตามสิ่งที่ผู้สอนคิดไว้แล้ว

สุวิทย์ มูลคำ; และ อรทัย มูลคำ (2545:142) ได้กล่าวถึง ข้อดีและข้อจำกัดของการจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน ไว้ดังนี้
ข้อดี
1. ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีการค้นคว้าหาความรู้และการแก้ปัญหาด้วยตนเอง
2. ความรู้ที่ได้มีคุณค่า มีความหมายสำหรับผู้เรียน เป็นประโยชน์และจดจำได้นานสามารถเชื่อมโยงความรู้และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
3. เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้ มีความอิสระ มีชีวิตชีวา และสนุกสนานกับการเรียนรู้
ข้อจำกัด
1. ใช้เวลามากในการเรียนรู้แต่ละครั้ง บางครั้งอาจได้สาระการเรียนรู้ไม่ครบถ้วนตามที่กำหนด
2. ถ้าปัญหาหรือสถานการณ์ง่ายหรือยากเกินไป ไม่เร้าใจหรือไม่น่าสนใจ จะทำให้ผู้เรียนเบื่อหน่ายไม่อยากเรียน
3. เป็นวิธีการที่มีการลงทุนสูง ซึ่งบางครั้งอาจได้ผลไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
4. ผู้สอนต้องใช้เวลาในการวางแผนมาก

จากการศึกษา สรุปได้ว่าการนำข้อดีของการสืบสวนสอบสวนมาขยายผลการใช้อย่างเต็มที่เพื่อลดข้อด้อยให้มีน้อยสุดย่อมเกิดคุณค่าและมีประโยชน์สูงสุดเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้เรียน คือ
1. ได้รู้จักการคิดการฝึกทักษะ แสดงออกถึงความสามารถทางความคิดอย่างอิสระและถูกต้อง ซึ่งสามารถแสดงออกถึงการพัฒนาของสภาพผู้เรียนอย่างแท้จริง
2. เกิดทักษะองค์ความรู้ในการประกอบกิจกรรมที่มีขั้นตอนของการสืบสวนสอบสวน
3. การสร้างให้ผู้เรียนมีวิธีการตัดสินใจในการแก้ปัญหาได้อย่างชาญฉลาดและรวดเร็ว
4. ส่งเสริมบทบาทผู้เรียนได้แสดงศักยภาพในการพัฒนาด้านการเรียนการแก้ปัญหาด้วยตนเองมีเหตุผล สอดคล้องกับความสัมพันธ์ของการค้นคว้าหาความรู้กับการค้นพบคำตอบด้วยตนเอง
5. สามารถนำประโยชน์ของทักษะกระบวนการเรียนการสอนนี้ไปใช้ในสถานการณ์ปัญหาอื่นๆ ได้
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น