แบบฝึกทักษะการเรียนรู้ภาษาจีนกลางขั้นพื้นฐาน (Chinese writing practice - Basic learning) |
แบบฝึกทักษะการเรียนรู้ภาษาจีนกลางขั้นพื้นฐาน (Chinese writing practice - Basic learning) |
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก.ค.ศ. ได้เผยแพร่ แผนภาพอธิบายวิทยฐานะ ช่วงเปลี่ยนผ่าน จากเกณฑ์เก่าไป PA ล่าสุด 29 ม.ค.2564 ดังภาพค่ะ
การประเมินวิทยฐานะครูช่วงเปลี่ยนผ่านจากเรียนเก่าสู่ระบบ PA หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครู
ข้าราชการทุกคนเริ่มทำข้อตกลงในการพัฒนางานจีพีเอกับผู้อำนวยการสถานศึกษาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไปเป็นประจำทุกปีงบประมาณ
รอบการประเมิน PA คือ รอบปีงบประมาณซึ่งหมายถึงวันที่ 1 ตุลาคมถึง 30 กันยายนของปีถัดไป
โดยผลการประเมิน PA ในแต่ละรอบการประเมินให้นำไปใช้ดังนี้
1.ใช้ในการพิจารณาเลื่อนเงินเดือน
2.ใช้ในการประเมินคงวิทยาฐานะตามมาตรา 55
3.ใช้เป็นคุณสมบัติหนึ่งในการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ
ซึ่งจากแผนภาพด้านล่างคุณครูจะเห็นไทม์ไลน์ของการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ใหม่ยกตัวอย่างดังนี้
วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ก.ค.ศ ประกาศใช้หลักเกณฑ์ใหม่จากนั้นวันที่ 1 ตุลาคม 2564 คุณครูทุกคนต้องเริ่มทำเกณฑ์ PA โดยรอบการประเมิน
รอบที่ 1 จะอยู่ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565
รอบการประเมินรอบที่ 2 จะอยู่ระหว่างวันที่ 30 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566
รอบการประเมินรอบที่ 3 จะอยู่ระหว่างวันที่ 30 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567
รอบการประเมินรอบที่ 4 จะอยู่ระหว่างวันที่ 30 กันยายน 2567 ถึง 30 กันยายน 2568
ซึ่งกรณีมีคุณสมบัติตามเกณฑ์จะต้องมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งวิทยฐานะ 4 ปี และมี PA ที่ผ่านเกณฑ์ 3 รอบการประเมินกรณีเป็นไปตามเงื่อนไขการลดระยะเวลาจะมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งวิทยฐานะ 3 ปีและมี PA ที่ผ่านเกณฑ์ 2 รอบการประเมินนั่นเองค่ะ
การยื่นคำขอตามหลักเกณฑ์ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ตัวอย่าง กรณี 4 ปี
เริ่มวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ประกาศใช้หลักเกณฑ์ใหม่ วันที่ 1 ตุลาคม 2564 คุณครู ทุกคนเริ่มทำ PA จากนั้น เราจะประเมิน PA รอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 ซึ่งเมื่อถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นการสิ้นสุดเกณฑ์เก่า ว.17และ ว.21แต่หากคุณครูเก็บงาน ในเกณฑ์เก่ามาก่อน จะสามารถ นำมาใช้ในการประเมิน PA รอบที่ 2 คือ ในระหว่างวันที่ 30 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ซึ่งจะหมายความว่าในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 คุณครูประเมินPAรอบที่ 1 + ผลงานเกณฑ์เดิม ดูในตารางนะคะ
จากนั้นวันที่ 30 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 คุณครูจะประเมินPA รอบที่ 3 หมายความว่าในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 จะมี PA รอบที่ 1 รอบที่ 2 รวมกับผลงานเกณฑ์เดิม
จากนั้นวันที่ 30 กันยายน 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 คุณครูจะทำการประเมิน PA รอบที่ 4 นั่นหมายความว่าวันที่ 1 ตุลาคม 2567 คุณครูจะส่งผลงานPA รอบที่ 1 รอบที่ 2 และรอบที่ 3
ซึ่งคุณครูสามารถดูรายละเอียดการส่งผลงานเดิมที่นำมานำเสนอในตาราง โดยจะมีบอกว่าวันยื่นขอปีงบประมาณ คุณครูยื่นขอปีงบประมาณใดและต้องส่งผลงานใดบ้างเช่น ผลงานด้านที่ 3 ส่วนที่ 1 ตามว. 17 /2552 จำนวน 2 ปีการศึกษา หรือหากคุณครูเก็บผลงานเดิมตามว21 จะส่งผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ 2 ตามเกณฑ์ว 21/2560 และจะบอกว่าผลงานที่ต้องมี จากการพัฒนางานตามข้อตกลง PA ตามหลักเกณฑ์ใหม่จะส่งในรอบไหนบ้าง
และ ตัวอย่างการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะตามเกณฑ์เดิม ในช่วงเปลี่ยนผ่าน คุณครูสามารถดูได้จากแผนภาพเลยค่ะ
ข้าราชการครูที่อยู่ระหว่างขอทบทวนมติ ก.ค.ศ. ตามว. 13 /56 จะยื่นคำขอตามว. 17/5 2 หรือว.21/60 สามารถยื่นได้ภายใน 30 กันยายน 2565 ทั้งนี้ผู้ที่ยื่นคำขอตาม ว.17/5 2 ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่กำหนดไว้ตามหลักเกณฑ์ ว.21/60 ซึ่งกำหนดให้ยื่นได้ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่มีคุณสมบัติครบหรือได้รับแจ้งมติไม่อนุมัติหากกำหนดเวลา 1 ปีดังกล่าวเกิน 30 กันยายน 2565 ต้องยื่นคำขอตามหลักเกณฑ์ใหม่สำหรับผู้ที่ได้ใช้สิทธิ์ขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะตามว.17/52 ช่วงเปลี่ยนผ่านไปแล้วไม่สามารถยื่นขอรับการประเมิน ว.17/52 ได้อีก
ผู้ที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไปและต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูจะสามารถยื่นขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใหม่นี้ได้เมื่อคุณสมบัติครบถ้วน
ที่มา : ข้อมูล จาก ก.ค.ศ. , ครูอัพเดตดอทคอม
กุมภาพันธ์ เป็นเดือนที่อบอวลไปด้วยความสุขของการแสดงความรัก ความห่วงใยถึงคนที่เราปรารถนาดีและอยากให้เขามีความสุข เป็นที่รับรู้กันทั่วโลกว่าวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็น "วันแห่งความรัก" หรือ Valentine's Day และวันนี้ยังมีคิวปิด หรือกามเทพ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของวันวาเลนไทน์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คิวปิดเป็นบุตรของวีนัสและมาร์ส แต่ชาวกรีกเรียกคิวปิดว่า อีรอส ภาพของคิวปิดที่มนุษย์โลกปัจจุบันได้รู้จักก็คือภาพเด็กน้อยที่ถือคันธนูและลูกศร มีหน้าที่ยิงศรรักให้ปักใจคน ปัจจุบันคิวปิดและธนูของเขากลายมาเป็นเครื่องหมายแห่งความรักที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด ภาพจำของคิวปิดคือการยิงศรรักระหว่างหัวใจสองดวงให้รักกัน เรียกกันว่า ศรรักคิวปิด และวันนี้เราจึงอยากจะมาเล่าสู่กันฟังถึงประวัติความเป็นมาและความสำคัญของวันแห่งความรักกันค่ะ
เทศกาลวาเลนไทน์ (Valentine's Day) เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ยุคที่จักรวรรดิโรมันเรืองอำนาจ ในยุคนั้น วันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี ถูกจัดให้เป็นวันหยุดเพื่อเป็นเกียรติแต่เทพเจ้าจูโน ผู้เป็นจักรพรรดินีแห่งเทพเจ้าโรมัน นอกจากนี้แล้วพระองค์ยังทรงเป็นเทพเจ้าแห่งอิสตรีเพศและการแต่งงาน และในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เป็นวันเริ่มต้นเทศกาลเฉลิมฉลองแห่งลูเพอร์คาร์เลีย การดำเนินชีวิตของหนุ่มสาวจะถูกตัดขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง
ในรัชสมัยของจักรพรรดิคลอดิอัสที่ 2 (Emperor Claudius II) แห่งกรุงโรม พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีใจคอดุร้าย และทรงนิยมการทำสงครามนองเลือด ได้ทรงตระหนักว่าเหตุที่ชายหนุ่มส่วนมากไม่ประสงค์จะเข้าร่วมในกองทัพ เนื่องจากไม่อยากจากคู่รักและครอบครัวไป จึงทรงมีพระราชโองการสั่งห้ามมิให้มีการจัดพิธีหมั้นและแต่งงานกันในโรมโดยเด็ดขาด ทำให้ประชาชนทุกข์ใจเป็นอย่างยิ่ง
และขณะนั้นมีนักบุญรูปหนึ่งนามว่า เซนต์วาเลนไทน์ หรือวาเลนตินัส ซึ่งอาศัยอยู่ในโรมได้ร่วมมือกับเซนต์มาริอัส จัดพิธีแต่งงานให้กับชาวคริสต์หลายคู่ และด้วยความปรารถนาดีนี้เองจึงทำให้วาเลนไทน์ถูกจับ และระหว่างนั้นเขาก็ยังคงส่งคำอวยพรวาเลนไทน์ของเขาเองขณะที่เขาเป็นนักโทษ เชื่อกันว่าวาเลนไทน์ได้ตกหลุมรักหญิงสาวที่เป็นลูกสาวของผู้คุมที่ชื่อจูเลีย ซึ่งได้มาเยี่ยมเขาระหว่างที่ถูกคุมขัง ในคืนก่อนที่วาเลนไทน์จะสิ้นชีวิตโดยการถูกตัดศีรษะ เขาได้ส่งจดหมายฉบับสุดท้ายถึงจูเลีย โดยลงท้ายว่า "From Your Valentine"
หลังจากนั้นศพของเขาได้ถูกเก็บไว้ที่โบสถ์พราซีเดส (Praxedes) ณ กรุงโรม จูเลียได้ปลูกต้นอามันต์ หรืออัลมอลต์สีชมพู ไว้ใกล้หลุมศพของวาเลนตินัสผู้เป็นที่รักของเธอ โดยในทุกวันนี้ ต้นอามันต์สีชมพูได้เป็นตัวแทนแห่งรักนิรันดรและมิตรภาพอันสวยงาม ถึงแม้ว่าเบื้องหลังความเป็นจริงของวาเลนไทน์จะเป็นตำนานที่มืดมัว แต่ยังคงแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกสงสาร ความกล้าหาญและที่สำคัญที่สุดเป็นเครื่องหมายของความโรแมนติค จึงไม่น่าประหลาดใจเลยว่าในช่วงยุคกลาง วาเลนไทน์นับเป็นนักบุญที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในอังกฤษและฝรั่งเศส
ต่อมานักบวชในนิกายโรมันคาทอลิกจึงเลือกให้ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นวันเฉลิมฉลองเทศกาลวันแห่งความรัก และดูเหมือนว่ายังคงเป็นธรรมเนียมที่ชายหนุ่มจะเลือกหญิงสาวที่ตนเองพึงใจในวันวาเลนไทน์ (Valentine's Day) สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้
วันวาเลนไทน์ หรือ Valentine's Day ในแต่ละประเทศจะมีประเพณีหรือการปฏิบัติที่แตกต่างกันบ้าง แต่โดยรวมแล้วจะมีการเฉลิมฉลองและเป็นการแสดงถึงความรักที่มีระหว่างกัน ต่อมาเมื่อมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทางด้านการพิมพ์ จึงมีการพิมพ์บัตรอวยพรแทนที่จดหมายที่เขียนด้วยลายมือ และปัจจุบันก็มีการส่งบัตรอวยพรทางออนไลน์เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ช่วยให้คนที่ต้องการแสดงความรักความห่วงใยถึงคนที่รักได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
ประวัติวันวาเลนไทน์นี้เป็นเรื่องที่เล่าต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน เท่าที่ค้นหามาได้นี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ เรื่องเท่านั้น แต่ไม่ว่าประวัติที่แท้จริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้เราได้ถือว่าวันวาเลนไทน์เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว คุณสามารถส่งดอกไม้ ขนม และการ์ด เพื่อบอกความนัยให้แก่คนพิเศษของคุณ วันนี้จะเป็นวันที่เราส่งความรู้สึกดีๆ ให้แก่กัน...
เมื่อวันแห่งความรักหรือวันวาเลนไทน์เวียนวนมาอีกครั้ง หันไปทางไหนก็มีแต่คนรักกัน แต่ถึงอย่างนั้นวันวาเลนไทน์ก็ควรจะเป็นวันดีๆ ที่มีแต่เรื่องดีๆ ใช่ไหมล่ะ จึงขอนำเสนอ 20 เรื่องที่ควรจะรู้ไว้เกี่ยวกับวันวาเลนไทน์ เพื่อให้ทุกๆ คนทำวันวาเลนไทน์ของเราให้เป็นวันวาเลนไทน์ที่มีคุณค่ามากกว่าวันที่เสียเงินซื้อของขวัญ หรือแสดงออกว่ารักกันแบบที่ไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของความรัก ว่าแล้วเราก็มาดูกันเลย
1. วันวาเลนไทน์เกิดขึ้นเพื่อระลึกถึงนักบุญเซนต์วาเลนไทน์ (Saint Valentine) ผู้รับโทษประหารในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 270 เพราะในยุคนั้นมีกฎหมายห้ามไม่ให้มีการแต่งงานของพวกคริสเตียน แต่เซนต์วาเลนไทน์ยังแอบจัดงานแต่งงานให้กับคู่รักคริสเตียนจนถูกจับขังและรับโทษ โดยในขณะที่ถูกคุมขังนั้น เขาก็พบรักกับสาวตาบอดซึ่งเป็นลูกสาวของผู้คุม ด้วยความรักและคำอธิษฐานของเขา พระเจ้าได้ทรงโปรดให้ตาของสาวคนรักหายเป็นปกติ แต่เมื่อความนี้ล่วงรู้ถึงหูกษัตริย์ เซนต์วาเลนไทน์จึงถูกประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ ต่อมาเมื่อคนทั่วไปทราบเรื่องราวจึงเกิดความประทับใจและยึดถือเอาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น วันแห่งความรัก นั่นเอง
2. คนที่ฟ้าส่งมาให้รักเรามากที่สุดคือ พ่อแม่ เป็นรักไม่มีวันหมดอายุ ไม่มีเงื่อนไข เพราะต่อให้เราอ้วน น่าเกลียด พิการ ทำตัวงี่เง่ายังไง พ่อแม่ก็ยังรักและพร้อมจะเสียสละเพื่อเราเสมอ ดังนั้นในวันวาเลนไทน์ จึงอยากให้คุณๆ ทำดีต่อคุณพ่อคุณแม่ให้มากๆ นะคะ
3. คนที่ไม่มีแฟนไม่ใช่คนอาภัพน่าสงสารในวันวาเลนไทน์ เพราะคนโสดก็มีความรักได้ และคนที่น่าสงสารที่สุดก็คือคนที่ไม่มีความรักในหัวใจต่างหากล่ะ อีกอย่าง...คนที่มีแฟน แต่แฟนห่วยแตก ชีวิตเหมือนถูกขังให้ทรมานไปวันๆ น่าสงสารกว่าคนโสดเป็นไหนๆ
4. จากการสำรวจพบว่าในวัยเรียน เด็กคอซอง คนที่ให้ของขวัญบอกรักกันมากที่สุดในวันวาเลนไทน์ ไม่ใช่ คู่รัก แต่เป็น เพื่อน ดังนั้นอย่าเครียดไปเลยที่แม้ว่าจะยังไม่มีแฟนมาควงแขนอวดใครในวันวาเลนไทน์ เพราะถึงยังไง เราก็ยังมีเพื่อนมากมายที่มอบความรักต่อกันได้อยู่นะ
5. กุหลาบราคาแพงไม่ได้แสดงว่าเขารักเรามากจริงๆ ดังนั้นอย่าไปเชื่อคำพูดของใครว่า รักเรามาก เพียงเพราะเขาให้ดอกกุหลาบราคาแพงหูฉี่ เรื่องแบบนี้อยู่ที่ใจล้วนๆ
6. ครูที่ปรึกษาหลายท่านร้องไห้ด้วยความซาบซึ้ง เมื่อลูกศิษย์ประจำห้องมอบดอกกุหลาบวันวาเลนไทน์ให้ท่านคนละดอก ลองวางแผนเซอร์ไพรส์ครูดูไหมล่ะ ให้เพื่อนๆ เอาดอกไม้ไปไหว้ครูพร้อมๆ กัน ได้เห็นครูน้ำตาร่วงเพราะซึ้งใจชัวร์ดิ
7. เมื่อเธอมองรอบตัวจะพบสิ่งมีชีวิต ลองเป็นผู้ให้ความรักแก่พวกเขา มีเมตตาแก่พวกเขาดู แล้วเธอจะเต็มอิ่มไปด้วยรักในหัวใจ
8. คนที่ได้ดอกกุหลาบมากที่สุด ไม่ได้หมายความว่าจะมีความรักที่น่าอิจฉาที่สุด ตรงกันข้าม คนที่ไม่ได้ของขวัญวาเลนไทน์สักชิ้น อาจจะมีรักที่น่าอิจฉาที่สุดเลยก็เป็นได้
9. ของขวัญวาเลนไทน์ที่มีค่าที่สุด อาจลงทุนน้อยที่สุด เช่น การ์ดที่ตั้งใจทำกับมือ ดาวกระดาษที่พับมาเป็นเดือนๆ หรือของราคาถูกแต่ตั้งใจหาซื้อมาด้วยใจ เพราะฉะนั้น อย่าตีค่าความรักของใครด้วยราคาของขวัญที่เขาให้ เราดูที่การกระทำดีกว่านะ ก็มีค่ายิ่งใหญ่สุดๆ แล้ว
10. เดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นเดือนแห่งความรัก กลับเป็นเดือนที่มีวันน้อยที่สุดของปี บอกให้เรารู้ว่า ความรักจะสั้นหรือยาวไม่ได้อยู่ที่วันเวลาที่คบกันมา แต่อยู่ที่การทำทุกนาทีให้มีค่าร่วมกัน
11. วันวาเลนไทน์ไม่ใช่วันเสียตัวแห่งชาติ เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะกลายเป็นแฟชั่นแปลกๆ ไปแล้วว่าวาเลนไทน์โรงแรมม่านรูดจะต้องเต็ม! ไม่เวิร์คเลย เพราะที่สุดแล้ว คนที่จะต้องมานั่งเสียใจในภายหลังก็คือเราคนเดียวเท่านั้น การมีอะไรกันไม่ได้บ่งบอกว่ารักกันเสมอไป ควรมีเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น
12. วันวาเลนไทน์ แม้จะตื่นเต้นยังไง ก็ยังต้องเรียนหนังสือ ไม่ใช่เอาแต่เหม่อมองรอคอยใครมาให้ดอกไม้ หรือร่าเริงโดดเรียนไปเที่ยวซะงั้น บางคนพอถึง วันวาเลนไทน์ สติแตก เอาแต่วางแผนว่าจะเซอร์ไพรส์แฟนยังไง ทำอะไรบ้าง สรุปวันนี้สอบตกเพราะไร้สติโดยสิ้นเชิงล่ะ
13. คนโสดก็มีวาเลนไทน์ที่อบอุ่นได้แค่เพียงรักตัวเอง ขอให้จำไว้เลยว่า แค่เพียงเราใช้วันวาเลนไทน์เป็นวันที่เราดูแลสุขภาพร่างกาย มอบความรักให้ตัวเอง เราก็จะเป็นคนที่น่าอิจฉาที่สุดได้อยู่แล้ว
14. อย่าเสียเงินไปซื้อดอกไม้หรือตุ๊กตามาเดินถือ เพียงเพราะกลัวขายหน้าที่ยังไม่มีใครให้ของขวัญวาเลนไทน์ มันเป็นอะไรที่ไร้สาระมากๆ เพราะการเดินมือเปล่าในวันวาเลนไทน์ไม่ใช่เรื่องน่าอายซักกะหน่อย ถ้ารวยนักละก็ เอาเงินไปบริจาคให้เด็กยากจนดีกว่านะ
15. ถ้าอยากให้ของขวัญวาเลนไทน์ที่อยู่นานๆ ต้นไม้ในกระถางก็น่ารักดี ดีกว่าดอกไม้ราคาแพงหูฉี่ แต่สามวันเน่า ลองไปหาซื้อไม้ใบ ไม้ดอกสวยๆ เอามามอบให้กัน ราคาถูกกว่า แถมอยู่ได้นานกว่าด้วย อีกอย่างมันก็มีความหมายเป็นนัยว่า รักของเราจะมั่นคงยาวนาน เหมือนต้นไม้ที่เติบโตและไม่เหี่ยวเฉาง่ายๆ ถ้าได้รับการดูแลอย่างดี
16. ผู้ชาย 55 เปอร์เซ็นต์มองว่าการให้ดอกไม้วาเลนไทน์เป็นเรื่องไร้สาระ บางคนถือว่าการให้ดอกไม้ผู้หญิงเป็นพวกเชยระเบิด ถ้าจะต้องทำเซอร์ไพรส์ให้เราวันวาเลนไทน์ เพราะความรักของเขาอาจจะไม่ได้โฟกัสที่ตรงจุดนั้น
17. สิ่งที่จะทำให้ผู้ชายซึ้งใจและรักเรามากคือความเข้าใจ ไม่ใช่ของขวัญวาเลนไทน์ราคาแพง เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นเลยที่เราจะต้องอดข้าว อดน้ำเพื่อซื้อของราคาแพงเกินตัวให้เขา ถ้าเขารักเราจริง เขาคงไม่สบายใจที่เห็นเราต้องทรมานตัวเองแบบนั้นหรอกนะ ความเข้าใจในตัวของเขาและอยู่กับเขาโดยสร้างความสุขให้กันได้ทุกวันสำคัญสุดแล้ว
18. โลกของเราก็อยากได้ของขวัญวาเลนไทน์ ลองหันมารักโลก ทำสิ่งดีๆ ให้โลกกันดูไหม เช่น ปลูกต้นไม้ สัญญากับตัวเองว่าจะลดการใช้ถุงพลาสติก ประหยัดไฟ ประหยัดน้ำ ฯลฯ แบบนี้ก็ดีเหมือนกันนะ
19. ความสำคัญของการมีแฟนไม่ได้อยู่ที่มีคนเดินด้วยในวันวาเลนไทน์เท่านั้น ฉะนั้น อย่าคิดโง่ๆ แค่ว่าอยากมีแฟนเพราะจะได้มีคนมาเดินข้างๆ ในวันวาเลนไทน์ จนต้องรีบควานหาเอาใครก็ได้มาเคียงคู่ เพียงเพราะว้อนท์อยากมีแฟนใจจะขาด แบบนั้นเธอเสี่ยงจะเจอรักคุดหรือรักสุดแย่ได้
20. เราสามารถมีวันวาเลนไทน์ได้ทุกวัน แค่เพียงทำทุกวันให้เป็นวันแห่งความรัก ดูแลกันและกันทุกวัน ใส่ใจกันทุกวัน แล้วเธอก็จะพบว่า ไม่ว่าวันไหน โลกก็เป็นสีชมพูได้ แค่เพียงยังมีกันและกันอยู่เสมอ
ที่มา :: https://www.sanook.com/campus/931822/
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 1/2564
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 1/2564 ในวันจันทร์ที่ 25 มกราคม 2564 โดยมีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สำคัญ ดังนี้
1. เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา
สืบเนื่องจาก ก.ค.ศ. ได้มีมติเห็นชอบเกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ. (ว 23/2563) และได้แจ้งเวียนให้กับส่วนราชการทราบและถือปฏิบัติ พร้อมทั้งแจ้ง คปร. เพื่อทราบแล้วนั้น ต่อมาสพฐ. ได้มีหนังสือขอชะลอการบังคับใช้เกณฑ์อัตรากำลังฯ มายัง ก.ค.ศ. โดยขอเริ่มบังคับใช้ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เนื่องจาก สพฐ. ได้จัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการฯ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตและสำนักริหารงานการศึกษาพิเศษ โดยพิจารณาจากความขาดอัตรากำลังข้าราชการครูในสถานศึกษา ตามเกณฑ์อัตรากำลังฯ เดิม ประกอบกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ได้ดำเนินการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูในสถานศึกษา โดยพิจารณาตามเกณฑ์อัตรากำลังฯ เดิม ทั้งในส่วนของการสรรหา และการพิจารณาย้ายข้าราชการครูในสถานศึกษาลงในตำแหน่งว่าง ซึ่ง ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่า สพฐ. ได้ดำเนินการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตและสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ นำไปจัดสรรอัตราว่าง จากการเกษียณอายุราชการฯให้สถานศึกษาในสังกัด โดยพิจารณาจากข้อมูลความขาดอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ตามเกณฑ์อัตรากำลังฯ เดิม ประกอบกับเจตนารมณ์ของ ก.ค.ศ. ในการกำหนดเกณฑ์อัตรากำลังฯ ใหม่ (ว 23/2563) คือ เพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่งมีอัตรากำลังที่เหมาะสมกับบริบท สามารถจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีคุณภาพ และเพื่อยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กให้สูงขึ้น มีครูครบชั้น ครบวิชา
ซึ่ง ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อประโยชน์ของทางราชการและคุณภาพการศึกษาของประเทศ จึงให้ สพฐ. ดำเนินการบริหารอัตรากำลังในสถานศึกษาซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการตามเกณฑ์อัตรากำลังฯ เดิม จนถึงสิ้นปีการศึกษา 2563 และให้บริหารอัตรากำลังในสถานศึกษาตามเกณฑ์อัตรากำลังฯ ใหม่ ที่ ก.ค.ศ. กำหนด ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป
2. อนุมัติ บรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ได้รับการคัดเลือกและผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้งฯ ให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 ราย แบ่งเป็น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 6 ราย และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 1 ราย
3. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู
สืบเนื่องจาก ก.ค.ศ. ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ได้เห็นชอบการกำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกตำแหน่งและทุกวิทยฐานะ สำหรับตำแหน่งครู ซึ่งเป็นการได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบใหม่ ให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงกับการจัดการศึกษาในปัจจุบัน และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งกำหนดลักษณะงานที่ปฏิบัติ 3 ด้าน คือ ด้านการจัดการเรียนรู้ ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ และด้านการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามโมเดลการศึกษายกกำลังสอง ของกระทรวงศึกษาธิการ ”ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง” จึงเป็นที่มาของการจัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ซึ่งได้มีการศึกษา การระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการ มีผลการวิจัยเป็นฐานในการดำเนินการ รวมถึงได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ใหม่นี้ ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์กับผู้เรียน สถานศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับวิชาชีพครู เพื่อให้ครูได้พัฒนาตนเองให้มีศักยภาพสูงขึ้นตามระดับวิทยฐานะ และทำให้กระบวนการพัฒนาผู้เรียนเกิดขึ้นจากกระบวนการจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน ทำให้ครูมีแนวทางในการพัฒนาตนเองที่ชัดเจน สามารถนำผลการพัฒนามาใช้ในการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน นอกจากนี้ ผู้บริหารสามารถเข้าถึงครู และห้องเรียนมากยิ่งขึ้นจะทำให้ได้รับทราบปัญหา และสามารถนำมากำหนดแผนพัฒนาสถานศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน และยังเป็นการลดกระบวนการและขั้นตอน โดยการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเป็นการลดภาระ ในการจัดทำเอกสารและงบประมาณเกี่ยวกับการประเมิน เกิดการเชื่อมโยง บูรณาการในระบบการประเมินวิทยฐานะ การประเมินผลการปฏิบัติงาน การเลื่อนเงินเดือน และการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ โดยใช้ตัวชี้วัดเดียวกัน ทำให้ลดความซ้ำซ้อน และมี Big data ในการบริหารงานบุคคลสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการฯ ใหม่นี้ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. กำหนดให้ข้าราชการครูทุกคนทำข้อตกลงในการพัฒนางานกับผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นประจำทุกปี ประกอบด้วย 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 ข้อตกลงในการพัฒนางานตามมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ
ส่วนที่ 2 ข้อตกลงในการพัฒนางานที่เสนอเป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน
โดยมีรอบการประเมินปีงบประมาณละ 1 ครั้ง โดยผลการประเมินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการบริหารงานบุคคล ได้แก่ ใช้เป็นคุณสมบัติในการขอรับการประเมินเพื่อให้มีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะใช้เป็นผลการประเมิน เพื่อคงวิทยฐานะ (มาตรา 55) และใช้เป็นองค์ประกอบในการประเมินเพื่อพิจารณาเลื่อนเงินเดือน
สำหรับการยื่นคำขอ ให้ยื่นได้ตลอดปี ภาคเรียนละ 1 ครั้ง โดยหากยื่นไว้แล้ว ต้องได้รับแจ้งมติไม่อนุมัติก่อน จึงจะยื่นในวิทยฐานะเดิมได้
2. คุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอ
1) ต้องมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง/วิทยฐานะ 4 ปีติดต่อกัน หรือมีคุณสมบัติเป็นไปตามเงื่อนไขที่ ก.ค.ศ. กำหนด กรณีลดระยะเวลาจะต้องมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง/วิทยฐานะ 3 ปีติดต่อกัน
2) มีการพัฒนางานตามข้อตกลง ในช่วงระยะเวลาย้อนหลัง 3 รอบการประเมิน ผ่านเกณฑ์
3) ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย/จรรยาบรรณที่หนักกว่าภาคทัณฑ์ ในช่วง 4 ปีย้อนหลัง
4) สำหรับผู้ขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ/ครูเชี่ยวชาญพิเศษ ต้องมีผลงานทางวิชาการ
3. การประเมิน กำหนดให้มีการประเมิน 2 ด้าน
ด้านที่ 1 ด้านทักษะการจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน พิจารณาจาก
1) แผนการจัดการเรียนรู้ ที่ใช้จัดการเรียนรู้
2) ไฟล์วีดิทัศน์ที่แสดงให้เห็นถึงสภาพปัญหา ที่มาหรือแรงบันดาลใจในการจัดการเรียนรู้ตามข้อ 1)
ด้านที่ 2 ด้านผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน
สำหรับวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญและครูเชี่ยวชาญพิเศษ จะมีการประเมินด้านที่ 3 คือ ด้านผลงานทางวิชาการด้วย
4. การยื่นคำขอ ให้ยื่นคำขอและหลักฐานประกอบการประเมินผ่านระบบการประเมินวิทยฐานะดิจิทัล (Digital Performance Appraisal : DPA)
5. เกณฑ์การตัดสิน ในแต่ละด้านต้องได้คะแนนจากกรรมการแต่ละคน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 สำหรับการขอมีวิทยฐานะครูชำนาญการ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ร้อยละ 75 และร้อยละ 80 สำหรับการขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ ครูเชี่ยวชาญ และครูเชี่ยวชาญพิเศษ ตามลำดับ
โดยหลักเกณฑ์และวิธีการฯ นี้ จะประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564
ทั้งนี้ ผู้ที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์เดิม (ว 17 , ว 21) สามารถดำเนินการคู่ขนานโดยยื่นคำขอตามหลักเกณฑ์เดิมได้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 และผู้ที่ประสงค์จะยื่นประเมินตามหลักเกณฑ์ใหม่ สามารถยื่นได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป