การจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน
(Brain based Learning : BBL)
การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain-based
learning) ในศตวรรษที่ 21 เริ่มเด่นชัดและ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก
Brain based learning เป็นที่รู้จักในวงการการศึกษาไทย รวมไปถึงบรรดาพ่อแม่
ผู้ปกครองที่สรรหาความแปลกใหม่ทางการศึกษาสำหรับลูก แม้แต่กระทรวงศึกษา
ธิการเองก็มีนโยบายให้มีการจัดการศึกษาในแนวทางนี้เป็นแนวทางหลักที่ใช้ในโรงเรียน
คนเราจะเกิดมาฉลาดหลักแหลมหรือเป็นคนโง่ทึ่มนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดยังคงเป็น "สมอง"
เพราะสมองเป็นตัวที่จะรับรู้และสั่งการ ทำให้เรามีความคิดและการกระทำ
ถ้าปราศจากการสั่งการจากสมองแล้ว เราคงจะทำอะไรไม่ได้เลย การที่จะเลี้ยงลูกให้ฉลาดนั้น
จำเป็นจะต้องพัฒนาสมองของลูกไปให้ถูกทาง สร้างเสริมความรู้ประสบการณ์ให้เหมาะสมกับวัยเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของสมอง
จะเห็นได้ว่าศักยภาพของสมองมนุษย์มีอยู่มากมายมหาศาลและพลังของสมองนั้นไม่มีขอบเขตจำกัดหรือไม่มีที่สิ้นสุดนั้นเอง
ดังนั้น การนำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของสมองมาใช้ในการจัดการเรียนรู้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียน
รวมถึงเป็นการพัฒนาการจัดการศึกษาให้ดีขึ้นด้วย
ความหมายของการจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน
การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน
เป็นแนวความคิดของนักประสาทวิทยาและนักการศึกษา
กลุ่มหนึ่ง ที่สนใจการทำงานของสมองมาประสานกับการจัดการศึกษา
โดยนำความรู้ ความเข้าใจ
เกี่ยวกับสมองมาใช้เป็นเครื่องมือในการออกแบบการจัดการเรียนรู้
เพื่อพัฒนาศักยภาพสูงสุด
ในการเรียนรู้ของมนุษย์แต่ละช่วงวัย
สมองมนุษย์เป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดที่มนุษย์ต้องใช้ในการเรียนรู้
ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการต่างได้ให้นิยาม
หรือแนวทางที่แตกต่างกัน ดังนี้
เคน และเคน (Caine and Caine.
1989 : Web Site) อธิบายว่า การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ที่อยู่บนพื้นฐานของโครงสร้างและหน้าที่การทำงานของสมองหากสมองยังปฏิบัติตามกระบวนการทำงานปกติการเรียนรู้ก็ยังจะเกิดขึ้นต่อไป
ทฤษฎีนี้เป็นสหวิทยาการเพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีที่สุดซึ่งมาจากงานวิจัยทางประสาทวิทยา
อีริก (Eric Jensen. 2000) กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดการเชื่อมต่อไปยังสมอง
ไม่ว่าจะทางใดก็ตาม ถือเป็นการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน โดยเป็นการรวมสหวิทยาการต่าง
ๆ เช่น เคมี ชีวิวิทยา ระบบประสาทวิทยา จิตวิทยาสังคมวิทยา มาอธิบายกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์
โดยเฉพาะความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนรู้กับสมอง เพราะการเรียนรู้บนฐานสมองไม่ได้มุ่งเน้นการออกแบบการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมอง
หรือทาอย่างไรให้สมองเจริญเติบโต แต่หัวใจสำคัญของการเรียนรู้บนฐานสมองอยู่ที่จะออกแบบการเรียนการสอนอย่างไรให้สมองสามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุด
เรเนต นัมเมลา
เคน และ จอฟฟรี่ เคน
(Renate Nummela Caine and Geoffrey Caine) ได้ให้ความหมายการจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน
ว่า เป็นการที่ผู้เรียนได้รับประสบการที่หลากหลาย ทั้งที่เป็นจริงและวาดฝัน และหาวิธีการต่าง
ๆ ในการรับประสบการณ์เข้ามา ซึ่งหมายรวมถึงการสะท้อนความคิด การคิดวิจารณญาณและการแสดงออกในเชิงศิลปะซึ่งเป็นการสรุปความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้
(เยาวพา เดชะคุปต์. 2548 : 36 ; อ้างอิงมาจาก Renate Nummela Caine and Geoffrey
Caine. 1990 : 66-70)
สรุปได้ว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน
หมายถึง แนวการจัดการเรียนรู้ที่เน้น
ผู้เรียนเป็นสำคัญตามหลักการของสมองกับการเรียนรู้
การเรียนรู้ต้องใช้ทุกส่วนทั้งการคิด ความรู้สึก
และการลงมือปฏิบัติไปพร้อม
ๆ กัน ซึ่งเป็นการสรุปความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้
หลักการสำคัญของการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน
เคน และเคน (Caine and Caine.
1989 : Web Site) แนะนำว่า หลักการสำคัญของการการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานไม่ใช่ให้ใช้เพียงข้อเดียว
แต่ให้เลือกใช้ข้อที่ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นมากที่สุดและการเรียนการสอนบรรลุผลสูงสุดเท่าใดก็ได้
เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้สอนซึ่งหลักการสำคัญของการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานมี
12 ประการ ดังนี้
1. สมองเรียนรู้พร้อมกันทุกระบบ
แต่ละระบบมีหน้าที่ต่างกันและสมองเป็นผู้ดำเนินการที่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้หลายอย่างในเวลาเดียวกันโดยผสมผสานทั้งด้านความคิดประสบการณ์และอารมณ์รวมถึงข้อมูลที่มีอยู่หลากหลายรูปแบบ
เช่น สามารถชิมอาหารพร้อมกับได้กลิ่นของอาหาร การกระตุ้นสมองส่วนหนึ่งย่อมส่งผลกับส่วนอื่น
ๆ ด้วยการเรียนรู้ทุกอย่างมีความสำคัญ ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพจะทำให้การเรียนรู้ที่หลากหลาย
2. การเรียนรู้มีผลมาจากด้านสรีระศาสตร์ทั้งสุขภาพพลานามัย
การพักผ่อนนอนหลับ ภาวะโภชนาการ อารมณ์และความเหนื่อยล้า ซึ่งต่างส่งผลกระทบต่อการจดจำของสมองผู้สอนควรให้ความใส่ใจมิใช่สนใจเพียงเฉพาะความรู้สึกนึกคือหรือสติปัญญาด้านเดียว
3. สมองเรียนรู้โดยการหาความหมายของสิ่งที่ต้องการเรียนรู้
การค้นหาความหมายเป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่เกิด สมองจำเป็นต้องเก็บข้อมูลในส่วนที่เหมือนกันและค้นหาความหมายเพื่อตอบสนองกับสิ่งเร้าที่เพิ่มขึ้นมา
การสอนที่มีประสิทธิภาพต้องยอมรับว่าการให้ความหมายเป็นเอกลักษณ์แต่ละบุคคลและความเข้าใจของนักเรียนอยู่บนพื้นฐานของประสบการณ์แต่ละคน
4. สมองค้นหาความหมายโดยการค้นหาแบบแผน
(Pattern) ในสิ่งที่เรียนรู้การค้นหาความหมาย เกิดขึ้นจากการเรียนรู้แบบแผนขั้นตอนการจัดระบบข้อมูล
เช่น 2+2 = 4,5+5 = 10, 10+10 = 20 แสดงว่าทุกครั้งที่เราบวกผลของมันจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนเราสามารถเรียนรู้แบบแผนของความรู้ได้
และตรงกันข้ามเราจะเรียนรู้ได้น้อยลงเมื่อเราไม่ได้เรียนแบบแผนการสอนที่มีประสิทธิภาพต้องเชื่อมโยงความคิดที่กระจัดกระจายและข้อมูลที่หลากหลายมาจัดเป็นความคิดรวบยอดได้
5. อารมณ์มีผลต่อการเรียนรู้อย่างมาก
อารมณ์เป็นสิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้เราไม่สามารถแยกอารมณ์ออกจากความรู้ความเข้าใจได้และอารมณ์เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ความคิดสร้างสรรค์
การเรียนรู้ได้รับอิทธิพลจากอารมณ์ ความรู้สึกและทัศนคติ
6. กระบวนการทางสมองเกิดขึ้นทั้งในส่วนรวมและส่วนย่อยในเวลาเดียวกันหากส่วนรวมหรือส่วนย่อยถูกมองข้ามไปในส่วนใดส่วนหนึ่งจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ยาก
7. สมองเรียนรู้จากการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
การสัมผัสจะต้องลงมือกระทำจึงเกิดการเรียนรู้หากได้รับประสบการณ์ตรงจากสิ่งแวดล้อมมากเท่าใดจะยิ่งเพิ่มการเรียนรู้มากเท่านั้นการเรียนรู้จากการบอกเล่า
จากการฟังอย่างเดียวอาจทำให้มีปฏิสัมพันธ์ต่อสิ่งแวดล้อมน้อยส่งผลให้สมองเกิดการเรียนรู้น้อยลง
8. สมองเรียนรู้ทั้งในขณะรู้ตัวและไม่รู้ตัว
ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้จากการได้รับประสบการณ์และสามารถจดจำได้ไม่เพียงแต่ฟังจากคนอื่นบอกอย่างเดียว
นอกจากนี้ผู้เรียนยังต้องการ
เวลาเพื่อจะเรียนรู้ด้วย
รวมทั้งผู้เรียนจำเป็นต้องรู้ด้วยว่าจะเรียนรู้ได้อย่างไรเท่า ๆ กับจะเรียนรู้อะไร
9. สมองใช้การจำอย่างน้อย
2 ประเภทคือ การจำที่เกิดจากประสบการณ์ตรงและการท่องจำ การจัดการเรียนการสอนที่เน้นหนักด้านการท่องจำทำให้ผู้เรียนไม่เกิดการเรียนรู้ จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสและเรียนรู้โดยตรง ผู้เรียนจึงไม่สามารถให้รายละเอียดเพิ่มเติมจากสิ่งที่ท่องจำมาได้
10. สมองเข้าใจและจดจำเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้รับการปลูกฝังอย่างเป็นธรรมชาติเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์
การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพที่สุดเกิดจากประสบการณ์
11. สมองจะเรียนรู้มากขึ้นจากการท้าทายและการไม่ข่มขู่
บรรยากาศในชั้นเรียนจึงควรจะเป็นการท้าทายแต่ไม่ควรข่มขู่ผู้เรียน
12. สมองแต่ละคนเป็นลักษณะเฉพาะตัว
ดังนั้นรูปแบบการเรียนรู้และวิธีการเรียนรู้จึงเป็นเอกลักษณ์ส่วนบุคคล ในการสอนต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่ชอบบางคนชอบเรียน
เวลาครูพาไปดูของจริง แต่บางคนชอบนั่งฟังชอบจดบันทึก
บางคนชอบให้เงียบ ๆแล้วจะเรียนได้ดี
แต่บางคนชอบให้มีเสียงเพลงเบา
ๆ เพราะสมองทุกคนต่างกัน
สรุปว่า การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แบบสัมผัสโดยตรงและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น เพราะจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริงซึ่งมีส่วนส่งเสริมให้สมองสามารถรับรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เคน และเคน (Caine and Caine) ได้สรุปการเรียนรู้ของสมองไว้ 3 ลักษณะ ดังนี้
1. การเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน
เป็นการเรียนรู้เนื้อหา ข้อมูล ขั้นตอนและวิธีการต่าง ๆ
2. การเรียนรู้อย่างมีความหมาย
เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเรียนรู้โดยมีเป้าหมายสิ่งที่เรียนมีประโยชน์และมีคุณค่าสำหรับผู้เรียน
ผู้เรียนมีแรงบันดาลใจที่กระตุ้นให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้และผู้เรียนมีความศรัทธาต่อสิ่งที่เรียนรู้
3. การเรียนรู้แบบสัมผัสโดยตรง
เป็นการเรียนรู้ที่ผสมผสานการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานเข้ากับการเรียนรู้อย่างมีความหมาย
เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับจากประสบการณ์ตรงทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง
เคน และเคน (Caine and Caine) เสนอแนะให้ผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แบบสัมผัสโดยตรง เพราะจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ยังเสนอแนะไว้ว่า ผู้สอนควรจัดการเรียนรู้โดยคำนึงถึงหลักการเรียนรู้
12 ประการและองค์ประกอบการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานด้วย เนื่องจากจะช่วยให้การเรียนรู้ของสมองมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทฤษฎีการเรียนรู้ตามหลักการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน
วิโรจน์ ลักขณาอดิสร (2550 : เว็บไซต์) ได้เสนอทฤษฎีการเรียนรู้ตามหลักการเรียนรู้
โดยใช้สมองเป็นฐานไว้ดังนี้
ทฤษฎีที่ 1 การเรียนรู้อย่างมีความสุข
เด็กแต่ละคนต้องได้รับการยอมรับว่าเป็นมนุษย์ที่มีหัวใจ เด็กมีสิทธิ์ที่จะเป็นตัวของตัวเองไม่เหมือนใคร
1. เน้นการสอนด้วยการตั้งคำถามอธิบายด้วยคำถาม
2. เปิดโอกาสให้เด็กได้ลอง
แต่อาจจะมีสัญญาในการจำกัดความเสียหาย
3. เปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกแนวทางในการเรียนรู้ของตนเองตามความถนัดและความสนใจ
4. ทำให้สิ่งที่เรียนรู้เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันหรือสามารถเปรียบเทียบได้ในชีวิตประจำวัน
5. เรียนรู้จากง่ายไปหายาก
6. วิธีการเรียนรู้ต้องสนุกสนานไม่น่าเบื่อ
7. เน้นให้เด็ก
ๆ ได้ใช้ความคิด ทั้งคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์และใช้จินตนาการ
8. การประเมินผลต้องมุ่งประเมินผลในภาพรวมและให้เด็กได้ประเมินผลตนเอง
ทฤษฎีที่ 2 การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม
รูปแบบการถ่ายทอดความรู้
1. การเรียนรู้เป็นกลุ่ม
2. ใช้คำถามเป็นสื่อการเรียนรู้ให้คิด
3. การจำลองสถานการณ์
(What if ?)
4. เน้นให้เด็กทำกิจกรรมและสร้างผลงาน
5. เน้นให้เด็กใช้จินตนาการ
6. เน้นการเชื่อมโยงกับชีวิตจริง
7. เน้นการใช้กิจกรรมกลุ่ม
เกม การอภิปรายฯลฯ
8. การสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง
9. การประเมินผล
สนับสนุนให้เด็กไม่กลัวการแข่งขันด้วยการทดสอบบ่อย ๆ
การให้เด็กยอมรับผลการประเมินและวางแผนในการแก้ไขปรับปรุงด้วยตนเองการประเมินผล
จากผลงานของเด็กและพฤติกรรม
ทฤษฎีที่ 3 การเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด
1. การคิดเชิงวิเคราะห์
มีความสามารถในการจำแนก แยกแยะองค์ประกอบต่าง ๆ และหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้นเพื่อค้นหาสภาพความเป็นจริงหรือสิ่งสำคัญของสิ่งที่กำหนดให้
2. การคิดเปรียบเทียบ
มีความสามารถในการพิจารณาเปรียบเทียบได้สองลักษณะ คือ การเทียบเคียงความเหมือนและหรือความแตกต่างระหว่างสิ่งหนึ่งกับสิ่งอื่น
ๆตามเกณฑ์
3. การคิดสังเคราะห์
มีความสามารถในการรวบรวมส่วนประกอบย่อยต่าง ๆมาหลอมรวมได้อย่างผสมผสานจนกลายเป็นสิ่งใหม่
4. การคิดเชิงวิพากษ์
มีความสามารถในการพิจารณา ประเมินและตัดสินสิ่งต่าง ๆ หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่มีข้อสงสัยหรือข้อโต้แย้งโดยการพยายามแสวงหาคำตอบที่มีความสมเหตุสมผล
5. การคิดอย่างมีวิจารณญาณ
มีความสามารถในการคิดอย่างมีเหตุผลมีหลักเกณฑ์และหลักฐานอ้างอิงก่อนตัดสินใจเชื่อหรือไม่เชื่อ
6. การคิดเชิงประยุกต์
มีความสามารถทางสมองในการคิดนำความรู้มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม
7. การคิดเชิงมโนทัศน์
มีความสามารถในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของข้อมูลทั้งหมดโดยมีการจัดระบบ จัดลำดับความสำคัญของข้อมูล
เพื่อสร้างความคิดรวบยอด (Concept)
8. การคิดเชิงกลยุทธ์
มีความสามารถในการกำหนดวิธีการทำงานที่ดีที่สุดโดยใช้จุดแข็งที่ตัวเองมี มีความยืดหยุ่นพลิกแพลงได้ภายใต้สภาวการณ์
เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
9. การคิดเพื่อแก้ไขปัญหา
มีความสามารถในการขจัดสภาวะความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นโดยพยายามปรับตัวเองและสิ่งแวดล้อมให้กลับเข้าสู่สภาวะสมดุล
10. การคิดเชิงบูรณาการ
มีความสามารถในการเชื่อมโยงข้อมูลหรือแนวคิดหน่วยย่อย ๆ ทั้งหลายที่มีความสัมพันธ์เชิงเหตุผลเข้าด้วยกันกับเรื่องหลักได้อย่างเหมาะสมกลมกลืนเป็นองค์
รวมหนึ่งเดียวที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์
11. การคิดเชิงสร้างสรรค์
มีความสามารถในการขยายขอบเขตความคิดที่มีอยู่เดิมสู่ความคิดที่แปลกใหม่ โดยเป็นความคิดที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม
12. การคิดเชิงอนาคต
มีความสามารถในการคาดการณ์แนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างชัดเจนและสามารถนำสิ่งที่คาดการณ์นั้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมโดยจะต้องฝึกนักเรียนในสิ่งต่าง
ๆ ต่อไปนี้
12.1 ฝึกสังเกต
12.2 ฝึกบันทึก
12.3 ฝึกการนำเสนอ
12.4 ฝึกการฟัง
12.5 ฝึกการอ่าน การค้นคว้า
12.6 ฝึกการตั้งคำถามและตอบคำถาม
12.7 ฝึกการเชื่อมโยงทางความคิด
12.8 ฝึกการเขียนและเรียบเรียงความคิดเป็นตัวหนังสือ
ทฤษฎีที่ 4 การเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพและลักษณะนิสัย
ศิลปะ ดนตรีกีฬา โดยควรจะมีความสอดแทรกหลักการของความเหมือน หลักการของความแตกต่าง
หลักการของความเป็นฉัน
การผ่อนคลายทางอารมณ์ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น
ความสำคัญก็คือ การสร้างความสมดุลระหว่างความท้าทายอยากรู้กับความผ่อนคลาย มีระเบียบวินัยที่จากตนเองการใช้คำถามเพื่อให้ค้นหาคำตอบว่าทำไมต้องมีระเบียบวินัย
การผิดระเบียบและวินัยย่อมต้องมีเหตุผล แต่เหตุผลไม่ใช่ตัวตัดสินถูกผิด
ทฤษฎีที่ 5 การเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพและลักษณะนิสัย
การฝึกฝนกาย วาจา ใจ
1. สอนโดยใช้อุทาหรณ์แล้วตั้งคำถามให้เด็กตอบ
แล้วให้เด็กสรุปด้วยตัวเอง
2. สอนโดยใช้การแฝงสาระ
การพูดคุยถามความเห็นไม่ใช่ให้เด็กจำในสิ่งที่สั่งฟังในสิ่งที่พูด
จากแนวคิดพื้นฐานและทฤษฎีการเรียนรู้ตามหลักการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานตามที่กล่าวมาข้างต้น
สรุปได้ว่า การจัดการเรียนรู้ตามหลักการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน
หมายถึง แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามหลักการสมองกับการเรียนรู้บนความคิดพื้นฐาน 3 ด้าน
คือ อารมณ์เป็นส่วนสำคัญในการเรียนรู้ทุกขั้นตอน การเรียนรู้ต้องใช้ทุกส่วนทั้งการคิด
ความรู้สึกและการลงมือปฏิบัติไปพร้อม ๆ กันจึงเป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุดกระบวนการและลีลานำไปสู่การสร้างแบบแผนอย่างมีความหมาย
โดยใช้กระบวนการเรียนพัฒนาผลการเรียนรู้
ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน
วิมลรัตน์ สุนทรโรจน์ (วิมลรัตน์
สุมทรโรจน์. 2550 ; อ้างอิงมาจาก นิราศ จันทรจิตร. 2553 : 339-341) จึงได้เสนอกรอบในการจัดกิจกรรมตามลำดับขั้นตอนการเรียนรู้ ดังนี้
1. ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
เป็นขั้นที่ครูวางแผนในการสนทนากับนักเรียน เพื่อเตรียมความพร้อมให้เข้าใจในสิ่งที่จะเรียน
และสามารถเชื่อมโยงไปสู่เรื่องที่จะเรียนได้
2. ขั้นตกลงกระบวนการเรียนรู้
เป็นขั้นที่ครูและนักเรียนตกลงร่วมกันว่านักเรียนจะต้องทำกิจกรรมใดบ้าง อย่างไร และจะมีวิธีวัดและประเมินผลอย่างไร
3. ขั้นเสนอความรู้ใหม่
เป็นขั้นที่ครูจะต้องเชื่อมโยงประสบการณ์การต่าง ๆมาสร้างองค์ความรู้ใหม่ คือ การสอนหรือการสร้างความคิดรวบยอดให้แก่นักเรียน
จนเกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เรียน
4. ขั้นฝึกทักษะ
เป็นขั้นที่นักเรียนเข้ากลุ่มแล้วร่วมมือกันเรียนรู้ และสร้างผลงานในขั้นนี้คำว่า ฝึกทักษะ
หมายถึง การวิจัย การฝึกปฏิบัติการทดลอง การสังเกตจากสิ่งแวดล้อมแหล่งเรียนรู้ต่าง
ๆ การทำแบบฝึกการวาดภาพ และการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ จนประสบผลสำเร็จได้ผลงานออกมา
(ผลงานควรชัดเจนน่าสนใจ ไม่ใช่ใส่กระดาษ A4 หรือกระดาษแผ่นเล็ก
ๆ แต่ควรเป็นกระดาษขนาดใหญ่ เช่นกระดาษปรู๊ฟ ใช้นำเสนออาจเป็นการเขียนธรรมดาหรือแผนผังความคิด)
5. ขั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้
เป็นขั้นที่ตัวแทนแต่ละกลุ่มที่ได้จากการจับสลาก ออกมาเสนอผลงาน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
6. ขั้นสรุปความรู้
เป็นขั้นที่ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปความรู้แล้วให้นักเรียนทำใบงานเป็นรายบุคคล แล้วเปลี่ยนกันตรวจโดยครูและนักเรียนร่วมกันเฉลย
แล้วให้นักเรียนแต่ละคนปรับปรุงผลงานตนเอง ให้ถูกต้องครูรับทราบแล้วเก็บผลงานไว้ในแฟ้มสะสมงานของตนเอง
7. ขั้นกิจกรรมเกม
เป็นขั้นที่ครูจัดทำข้อสอบมาให้นักเรียนทำเป็นรายบุคคลโดยไม่ซักถามกัน ส่งเป็นกลุ่มแล้วเปลี่ยนกันตรวจเป็นกลุ่ม
โดยครูและนักเรียนร่วมกันเฉลยแล้วให้แต่ละกลุ่มหาค่าคะแนนเฉลี่ย บอกครูบันทึกไว้แล้วประกาศผลเกม
กลุ่มใดได้คะแนนเฉลี่ยสูงที่สุดเป็นกลุ่มชนะเลิศ
การจัดกิจกรรมทั้ง 7 ขั้นตอนนี้
เป็นกิจกรรมประสมประสานระหว่างการใช้กระบวนการกลุ่มแผนผังความคิด ใบงาน และเกม เป็นหลักการที่มุ่งให้ผู้เรียนได้ลงมือทำเองได้ฝึกฝนซ้ำในเรื่องเดิมทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้
และจดจำได้แม่นยำ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
และยังสอดคล้องกับหลักการเรียนของ BBL (Brain Based Learning)
คือการเรียนเรื่องเดิมโดยใช้กิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้
ได้แม่นยำ และจำได้นาน
นิราศ จันทรจิตร (2553 : 341–344) จึงได้เสนอกรอบในการจัดกิจกรรมตามลำดับขั้นตอนการเรียนรู้ ดังนี้
1. ขั้นการสร้างความสนใจหรือนำเข้าสู่บทเรียน
กิจกรรมในขั้นตอนนี้มีจุดประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อม สร้างความสนใจหรือแรงจูงใจในการที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่
ซึ่งอาจมีการตรวจสอบและทบทวนความรู้พื้นฐานของผู้เรียนไปพร้อมด้วย โดยผู้สอนอาจคิดหากิจกรรมมาใช้ประกอบในขั้นนี้เป็นกิจกรรมที่สร้างบรรยากาศในการเรียน
ไม่เคร่งเครียดจนเกินไป เป็นกิจกรรมที่กระตุ้นเร้าให้ผู้เรียนมีความพร้อมในทุกด้านในการเผชิญเหตุการณ์หรือสถานการณ์การเรียนรู้ที่จะตามมาในรูปแบบต่าง
ๆ ในลักษณะที่ง่ายไม่ซับซ้อน และน่าสนใจ ได้แก่ กิจกรรมเกม เพลง เรื่องเล่า การแสดงความคิดเห็น
การแสดงบทบาทท่าทาง การแข่งขัน ปริศนาข้อความ การตอบ คำถาม การอภิปรายเหตุการณ์เรื่องราวจากสื่อสิ่งพิมพ์
สื่อภาพเคลื่อนไหวหรือภาพนิ่ง สื่อวิซีดีหรือ สื่อของจริง หรือการตรวจสอบความรู้พื้นฐานด้วยวิธีการที่เหมาะสม
ซึ่งเป็นประเด็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบริบทของเนื้อหาสาระที่จะเรียนรู้ใหม่ ทั้งในรูปแบบของกลุ่มหรือผู้เรียนรายบุคคล
2. ขั้นนำเสนอความรู้ใหม่
หรือขั้นการสำรวจความรู้หรือการเรียนรู้เนื้อหาสาระใหม่จากการนำเสนอของครู จากสื่อการเรียนหรือจากการที่ผู้เรียนลงมือสำรวจศึกษา
ค้นหาคำตอบจากแหล่งความรู้ด้วยวิธีการที่หลากหลายน่าสนใจ และไม่ซับซ้อนหรือเป็นนามธรรมยากที่ทำความเข้าใจมากเกินไป
ซึ่งมีหลักการสำคัญของกิจกรรมในขั้นนี้ คือ จัดให้นักเรียนมีโอกาสทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันหรือรายบุคคล
รับรู้และทำความเข้าใจในเนื้อหาหรือบทเรียนใหม่ด้วยประสาทสัมผัสรับรู้ที่หลากหลายเป็นรูปธรรมมากกว่า
รวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์และการร่วมมือกันเรียนกับผู้อื่น การจัดลำดับขั้นตอนของเนื้อหาความรู้ที่เชื่อมโยงต่อเนื่องและมีเหตุผลอธิบายได้
การเรียนรู้จากสื่อที่น่าสนใจเหมาะกับเนื้อหาในบทเรียน ข้อมูลความรู้ที่จัดให้เรียนควรสอดคล้องกับวิถีชีวิตจริงของผู้เรียน
ดังนั้น กิจกรรมการเรียนในขั้นนี้จึงจำเป็นต้องใช้สื่อ กิจกรรม และวิธีที่หลากหลาย
ผู้เรียนมีโอกาสลงมือปฏิบัติและทำความเข้าใจด้วยตนเองให้มากที่สุด
3. ขั้นการวิเคราะห์และสรุปหรือสร้างความคิดรวบยอด
เป็นกิจกรรมการเรียนที่มุ่งให้ผู้เรียนนำข้อมูลความรู้ใหม่ที่ได้รับแต่ยังไม่มีการนำมาจัดระบบระเบียบให้เป็นความคิดรวบยอดหรือองค์ความรู้ใหม่ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
ดังนั้น จึงต้องจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนนำมาสังเคราะห์หรือสรุปเป็นความรู้ความคิดรวบยอดของบทเรียน
ซึ่งอาจใช้แผนภูมิกราฟิกหรือผังความคิดช่วยในการสังเคราะห์และสรุปความรู้ หากมีเวลาพออาจจัดกิจกรรมเริ่มจากนักเรียนแต่ละคนคิดสรุปของตนก่อนแล้วสังเคราะห์เชื่อมโยงไปยังกลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่โดยจัดเป็นกิจกรรมที่ใช้ทักษะการพูดการเขียนและการคิดควบคู่กันของสมาชิกในกลุ่ม
เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความแตกฉานในการแสดงความคิดเห็นรอบด้าน ก่อนำไปสู่การพิจารณาตัดสินลงความคิดเห็นในข้อมูลความรู้นั้นในขั้นต่อมา
4. ขั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขั้นการฝึกปฏิบัติ
ในกรณีที่การเรียนรู้ครั้งนั้นมีจุดประสงค์ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างหลากหลาย
และตัดสินใจหรือลงความคิดเห็นในข้อสรุปที่น่าเชื่อถือได้ และเกิดมุมมองทางความคิดที่แตกต่างกัน
จึงเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างให้ผู้เรียนเกิดความมั่นใจในความรู้นั้นมากขึ้น
ประกอบกับเมื่อผู้เรียนได้รับการฝึกปฏิบัติหรือฝึกทักษะอย่างต่อเนื่อง ก็น่าจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณค่าและมีความหมายต่อตนเองมากขึ้นด้วย
5. ขั้นประยุกต์ใช้ความรู้
เป็นกิจกรรมการเรียนที่สนับสนุนให้ผู้เรียนนำความรู้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ปัญหาที่เผชิญใหม่
เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับ
ซึ่งผู้เรียนที่มีวุฒิภาวะสูงอาจปรับใช้กิจกรรมประยุกต์ควบคู่กันการขยายหรือการองค์ความรู้ใหม่
เนื่องจากขั้นการขยายความรู้
เป็นขั้นกิจกรรมที่สนับสนุนให้ผู้เรียนใช้ประสบการณ์ความรู้เพิ่มเติมผนวกกับความคิดที่จะนำไปใช้ในสถานการณ์ปัญหาใหม่
เพื่อปรับเปลี่ยนและออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่นำไปสู่แนวคิด วิธีการปฏิบัติใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมในลักษณะสร้างสรรค์
เพราะการขยายความรู้จะมีความซับซ้อนมากกว่าเมื่อพิจารณาในบริบทของการประยุกต์ให้ความรู้
6. ขั้นการและประเมินผลการเรียน
เป็นกิจการตรวจสอบว่าผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างเข้าใจครอบคลุมบริบทเนื้อเนื้อหาของบทเรียน
และทำให้ผู้สอนรับรู้ว่าจุดประสงค์การเรียนรู้หรือตัวชี้วัดนั้นผ่านการณ์ตรวจสอบว่านักเรียนบรรลุหรือยังและบรรลุผลในระดับใด
ยังต้องการปรับปรุงเพื่อเติมในประเด็นใดบ้าง
เจนเซ่น (Jensen. 2000 :
200-201) ได้เสนอขั้นตอนการจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน
5 ขั้นตอน ดังนี้
1. Preparation เป็นการเตรียมสมองสำหรับการเชื่อมโยงความรู้ ผู้สอนอาจจะให้กำลังใจหรือกระตุ้นผู้เรียนด้วยการอภิปรายเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้เรียนได้เรียนรู้มาแล้วและสอบถามความต้องการของผู้เรียนว่าต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับอะไรในหัวข้อนั้นอีกบ้าง
2. Acquisition เป็นการเตรียมสมองเพื่อซึมซับข้อมูลใหม่ สมองจะเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลความรู้เพิ่มเติมกับข้อมูลใหม่ตามความเป็นจริงอย่างสร้างสรรค์
3. Elaboration ผู้เรียนจะเรียนรู้โดยการใช้ข้อมูลและข้อคิดเห็นเพื่อสนับสนุนเชื่อมโยงการเรียนรู้และเพื่อตรวจสอบแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาด
4. Memory Formation สมองจะทำงานภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยดึงข้อมูลจากการเรียนรู้รวมทั้งอารมณ์และสภาพทางร่างกายของผู้เรียนในเวลานั้นมาใช้แบบไม่รู้ตัวเป็นไปโดยอัตโนมัติ
การสร้างความจำเกิดขึ้นทั้งในขณะที่ผู้เรียนพักผ่อนและนอนหลับ
5. Functional Integration
ผู้เรียนจะประยุกต์ข้อมูลเดิมมาใช้กับสถานการณ์ เช่น ผู้เคยเรียนการซ่อมเครื่องมือ
อุปกรณ์ โดยการดูการซ่อมเตาอบที่บ้านพักมาแล้วเขาต้องสามารถประยุกต์ทักษะการซ่อมเตาอบไปซ่อมอุปกรณ์ชนิดอื่นได้ด้วย
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
1. การจัดการเรียนรู้ เรื่อง ปริมาตรและความจุของทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก โดยใช้การเรียนรู้ที่ใช้สมองเป็นฐาน สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ = Learning provision on volume and capacity of rectangular prism through brain-based learning for Prathom Suksa 5 students, The Prince Royal's College, Chiang Mai province / วัลลีย์ ครินชัย / 2555
4. การสอนอ่านจับใจความตามแนวการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานที่มีต่อความสามารถทางการเขียนสรุปความของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 = Teaching reading for main ideas based on brain-based learning on summary writing ability of Prathom Suksa 3 Students / มธุรดา ท่าช้าง / 2554
5. ความสามารถในการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบใช้สมองเป็นฐาน= Science communication ability of Prathom Suksa 5 Students learned through brain-based learning activities / อรพินท์ ตันเมืองใจ / 2556
เรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain based learning)
ตอบลบผู้เขียน: พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ นายกสมาคมนักวิจัยไทยเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว
การใช้สมองเป็นฐานเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการจัดการเรียนรู้ หากพ่อแม่หรือผู้เกี่ยวข้องเข้าใจลำดับขั้นพัฒนาการสมองของเด็กปฐมวัยแล้ว ก็จะสามารถฝึกฝนวิธีการกระตุ้นการทำงานของสมองเด็กได้ง่ายๆในชีวิตประจำวัน พูดง่ายๆคือ อยากให้ลูกฉลาด ก็ทำได้ไม่ยาก เพราะเมื่อแรกเกิด เซลสมองของเด็กมีจำนวน 1 แสนล้านเซล เท่ากับจำนวนดวงดาวของทางช้างเผือกทีเดียว แต่สมองแตกต่างจากอวัยวะอื่นก็คือ สมองไม่ได้สมบูรณ์มาแต่เกิด การที่สมองจะทำงานได้ เซลสมองจะต้องเริ่มติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงซึ่งกันและกันโดยการมีประสบการณ์ในชีวิตประจำวันทุกวัน ทีละเล็กละน้อย ยิ่งเซลสมองเชื่อมโยงกันมากเท่าไร สมองก็ยิ่งทำงานได้ดีมากเท่านั้น สมองของเด็กเจริญรวดเร็วมากเพียงอายุ 2 ปี เด็กจะสร้างระบบเชื่อมโยงภายในเป็น 2 เท่าของสมองผู้ใหญ่ เด็กจึงเรียนรู้ได้ดีกว่าผู้ใหญ่อย่างน้อย 2 เท่า
การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานมีความสำคัญอย่างไร?
ตอบลบจากข้อมูลของประเทศไทย ผนวกกับองค์ความรู้เรื่องการเรียนรู้ของสมองเด็ก เป็นภาพสะท้อนให้เห็นปัญหาของสังคมไทย โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยว่า ขาดการกระตุ้นอย่างเหมาะสมจากพ่อแม่ผู้เลี้ยงดู อันเนื่องจากผู้ใหญ่ไม่เข้าใจกระบวนการพัฒนาและการเรียนรู้ของเด็ก อีกทั้งยังมีแนวคิดแบบดั้งเดิมที่ฝากความหวังการพัฒนาสมองไว้กับโรงเรียนและครู โดยเข้าใจว่าเขาจะทำได้ดีกว่า จึงทำให้ช่วงวัยทองของสมองเด็ก (ก่อนอายุ 6 ปี) ถูกละเลยทอดทิ้ง อีกทั้งยังได้รับการกระตุ้นในทางที่อาจขัด ขวางพัฒนาการของสมอง คือ การใช้เวลากับการดูโทรทัศน์ หรือ เล่นเกมคอมพิวเตอร์มาก ครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กลดลงมาก และใช้โทรทัศน์ในการเลี้ยงดูเด็กทดแทนการมีปฏิสัมพันธ์แบบเดิม เช่น เล่น เล่านิทาน ปั้นวัวปั้นควาย โดย เฉพาะหลังอายุ 1 ปี พัฒนาการด้านภาษา การคิดสร้างสรรค์ จึงไม่ถูกกระตุ้นในเวลาที่เหมาะสม ดังนั้น ทิศทางการฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กไทย จึงจะต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการพัฒนาสมองของเด็ก เช่น ความแตกต่างระหว่างสมองของชายและหญิง มีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างสมองชายและหญิง จะพบส่วนที่แตกต่างกันอยู่เพียงไม่กี่ส่วนดังนี้
จำนวนเนื้อสมอง ผู้ชายมีจำนวนเซลสมองมากกว่าผู้หญิงประมาณ 4% และมีเนื้อสมองมากกว่าผู้หญิงประมาณ 1 ขีด แต่ผู้หญิงมีระบบการเชื่อมโยงของเซลสมองมากกว่าผู้ชาย แปลว่า แม้ผู้ชายจะมีเซลสมองมากกว่า แต่ก็มีข้อด้อยกว่าคือเรื่องระบบการเชื่อมโยงเซล จึงไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกัน เงื่อนไขหลักจึงอยู่ที่โอกาส และประสบการณ์ ว่า จะได้รับการเลี้ยงดู ปลูกฝัง ฝึกฝน จนเชี่ยวชาญชำนาญต่างกันเพียงไร รวมไปถึงค่านิยมของสังคม เช่น แต่ก่อน พ่อแม่ไม่นิยมส่งผู้หญิงเรียนหนังสือ จึงทำให้ผู้หญิงขาดโอกาสที่จะแสดงความสามารถในการทำงานระดับบริหารในองค์กรสังคม ไม่ได้แปลว่าผู้ หญิงทำงานบริหารไม่ได้เท่าผู้ชาย
ขนาดของสมอง ส่วนคอร์ปัส คัลโลซั่ม Corpus Callosum คือ มัดใยประสาทที่ทำหน้าที่เชื่อมการทำงานของสมองซีกซ้ายกับขวา ซึ่งในการเรียนรู้และทำงานทุกชนิด จะต้องใช้สมองทั้งสองซีกร่วมกัน เพราะถ้าเราใช้ด้านใดด้านหนึ่งมากเกิน ไป หรือไม่สมดุล ก็จะไม่เก่งเท่ากับการใช้สมองทั้งสองด้าน ในส่วนนี้ ผู้หญิงมีขนาดของมัดใยประสาทคอร์ปัส คัลโลซั่ม มากกว่า หมายความว่า ผู้หญิงมีความสามารถในการส่งข้อมูลระหว่างสมองซีกซ้ายกับขวา เร็วกว่าผู้ชาย ผู้ชายมักจะใช้สมองซีกซ้ายได้ดีกว่า แต่ผู้หญิงใช้ได้ดีทั้งสองข้าง
ภาษา ผู้ชายใช้สมองซีกซ้ายในการเรียนและใช้ภาษา ในขณะที่ผู้หญิงใช้สมองทั้งสองข้าง จะเห็นว่าเรื่องนี้ ผู้หญิงได้ เปรียบกว่าผู้ชายอย่างมาก เช่น หากเกิดมีการทำลายสมองซีกซ้าย ผู้หญิงยังสามารถใช้สมองซีกขวาในการสื่อสารได้ แต่ผู้ ชายทำไม่ได้หรือทำได้ช้ากว่ามาก
สิ่งสำคัญที่ต้องจดจำเสมอก็คือ เด็กเรียนรู้ได้ดีด้วยการฝึกฝนทักษะ การรับความรู้สึก รับรู้จากทุกส่วนประสานกัน พัฒนา การทางสติปัญญาก็เช่นเดียวกัน ต้องผ่านกระบวนการพัฒนา ความรู้สึก-กล้ามเนื้อ และเมื่อเด็กรู้จักใช้คำ (พัฒนาการภาษา) ในการทำความเข้าใจสิ่งรอบตัวและคิดได้ ก็จะต้องค่อยเรียนรู้ไปทีละขั้นตอน คือ ต้องทำความเข้าใจสิ่งที่เรียนรู้มาก่อน ขั้นต่อมามีประสบการณ์ใหม่เข้ามาก็จะทำความเข้าใจสิ่งต่างๆชั ดเจนขึ้น และการเรียนรู้ในขั้นตอนเดิมจะมีผลต่อการทำความเข้าใจสิ่งใหม่ๆที่เข้ามา แต่ละขั้นตอนก็จะช่วยให้เด็กสามารถทำความเข้าใจโลกของความคิด เด็กรวบรวมความคิดเข้าด้วย กัน และสามารถเกิดความคิดใหม่ๆขึ้นได้ ปัจจัยที่กระตุ้น “ความคิด” ของเด็ก คือ ความกระตือรือร้น เด็กทุกคนถูกกำหนดมาตั้งแต่เกิดให้กระตือรือร้นที่จะทำความเข้าใจโลก ผู้คน สิ่งของ และความคิด แต่ละขั้นตอนของการเติบโตเด็กจะสร้างทฤษฎีของเด็กเอง ซึ่งแม้ว่าจะอธิบายให้ผู้ใหญ่ฟังไม่ได้ แต่ผู้ใหญ่สามารถเข้าใจเด็กได้ด้วยการสังเกต เด็กจะเรียนรู้จากประสบการณ์ต่างๆ แล้วค่อยๆทิ้งทฤษฎีเก่า และสร้างทฤษฎีใหม่ขึ้นมา จนกว่าจะแน่ใจว่ามันเหมาะสมหรือถูกต้องกับการดำเนินชีวิตของตน สิ่งที่เด็กต้องการก็คือ “ผู้ใหญ่ที่เข้าใจและให้โอกาส” เข้าใจความรู้สึกของเขาในแต่ละขั้นของการเจริญ เติบโต ดังนั้น ผู้ใหญ่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ครูอาจารย์ แพทย์ ฯลฯ ก็สามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจเด็กได้
Brain-based learning มีหลักการสำคัญอย่างไร?
ตอบลบหลัก 12 ประการ ในการออกแบบการเรียนรู้จากการใช้สมองเป็นฐาน
1. Uniqueness สมองของแต่ละคนมีความเฉพาะของตน
2.ภาวะเครียด และอันตรายต่างๆ จะมีผลหยุดยั้ง สกัดกั้น การเรียนรู้ รวมไปถึงการทำลายเซลสมองด้วย
3.อารมณ์ความรู้สึกมีความสำคัญมากต่อการเรียนรู้ เพราะมันมีอิทธิพลในการสร้างแรงจูงใจ สมาธิ สุขภาพ การเรียนรู้ การตีความและการทำความเข้าใจ และ ความทรงจำ
4.ข้อมูลถูกเก็บและนำออกมาใช้ โดยกระบวนการความทรงจำหลายๆแบบ และความเชื่อมโยงของระบบประสาทหลายระบบในสมอง
5.การเรียนรู้ทุกชนิดอยู่บนพื้นฐานของ “จิตใจ-ร่างกาย” การเคลื่อนไหว อาหาร วงจรความสนใจ/สติ/สมาธิ ยาและสารเคมี ล้วนมีผลสำคัญต่อการกระตุ้นหรือขัดขวางการเรียนรู้
6.สมองเป็นอวัยวะที่ซับซ้อนและปรับตัวตลอดเวลา การจะเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องการระบบที่ซับซ้อน
7.รูปแบบและโครงสร้างต่างๆจะกระตุ้นและจัดระบบความเข้าใจของเรา – ความฉลาดคือความสามารถในการรับรู้ เก็บ จัดระบบ และสร้างข้อมูลต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ประโยชน์
8.Brain is meaning driven “ความหมาย” กระตุ้นความสนใจของสมองมากกว่า เนื้อหาของข้อมูลหรือข่าวสาร
9.การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เข้มข้น และเกิดขึ้นภายใต้จิตสำนึก (ไม่ค่อยรู้ตัว) เราจะจัดการกับสิ่งที่เรียนรู้ทั้งในลักษณะที่เป็นชิ้น และทั้งหมดอย่างต่อเนื่องเป็นกระบวนการเดียวกัน และอิทธิพลของสิ่งประกอบต่างๆมีผลอย่างมากต่อกระบวนการเรียนรู้
10.สมองจะพัฒนาได้ดีมากเมื่อมันมีปฏิสัมพันธ์กับสมองอื่นๆ หมายความว่า ความฉลาดจะมีคุณค่าในบริบทของการมีปฏิสัมพันธ์และอยู่ร่วมกันในสังคม
11.สมองพัฒนาการไปทีละขั้น แต่ละขั้นมีความจำเป็นต่อการพัฒนาในขั้นต่อไป
12.การทำนุบำรุงสมองเกิดขึ้นได้ทุกอายุ สมองพัฒนาให้ดีขึ้นได้ด้วยกิจกรรมที่ซับซ้อน สนุก ท้าทาย และการตอบกลับ พัฒนาการด้านความรู้ความเข้าใจ (สติปัญญา) จะดำเนินไปได้ดีกับดนตรีและการพัฒนาการและทักษะการใช้กล้ามเนื้อ
การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานมีลักษณะอย่างไร?
ตอบลบหลักการออกแบบกระบวนการเรียนรู้แบบ brain-based learning
สิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นความสนใจ กระตุ้นการเรียนรู้ - สี รูปทรง สถาปัตยกรรม สิ่งที่เด็กออกแบบกันเอง ไม่ใช่ครูออก แบบให้ เพื่อให้เด็กรู้สึกมีส่วนร่วมและมีความเป็นเจ้าของ
สถานที่สำหรับการเรียนรู้เป็นกลุ่มร่วมกัน ที่ว่างๆสำหรับรวมกลุ่มเล็ก ซุ้มไม้ โต๊ะที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้เป็นกลุ่ม หรือ ปรับที่ว่างสำหรับกลุ่มให้เป็นห้องนั่งเล่นที่กระตุ้นการมีปฏิสัมพันธ์
เชื่อมโยงสถานที่เรียนในร่มกับนอกห้อง บริเวณภายนอกห้อง การเคลื่อนไหว กระตุ้นให้สมองส่วนควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อกับสมองส่วนหน้า ให้สมองได้รับอากาศบริสุทธิ์
บริเวณเฉลียง ทางเชื่อมระหว่างตึก และสถานที่สาธารณะ ทำให้การเรียนรู้ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในขอบเขตของห้องเรียน โรงเรียน ทำให้เปิดสมองและการเรียนรู้ให้กว้างขวาง เรียนที่ไหนก็ได้
ความปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่างๆดยเฉพาะในชุมชนเมือง
จัดหาสถานที่หลากหลาย ที่มีรูปทรง สี แสง ร่อง รู ซอก
เปลี่ยนแปลงการจัดแสดงบ่อยๆ เพื่อให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายเปลี่ยนแปลงจะกระตุ้นการทำงานของสมอง โดยจัดให้มีสถานที่ที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นเวที ที่จัดนิทรรศการ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบต่างๆได้ง่าย
จัดให้มีวัสดุต่างๆที่กระตุ้นการเรียนรู้ พัฒนาการต่างๆของร่างกาย มากมาย หลากหลาย พร้อมสำหรับนำมาจัดทำสื่อประกอบการเรียนรู้เมื่อเกิดมีความคิดใหม่ๆโดยให้มีลักษณะบูรณาการ ไม่แยกส่วน จุดมุ่งหมายหลักคือ ให้เป็นแหล่งที่ทำหน้าที่หลากหลาย ระดมความคิดสร้างสรรค์ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ซึ่งกันและกัน
ยืดหยุ่น เป็นองค์ประกอบที่สำคัญและกระตุ้นการเรียนรู้ เพื่อให้เหมาะสมกับสมองที่แตกต่างกันของแต่ละคน และภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป
สถานที่สงบและสถานที่สำหรับทำกิจกรรม ทุกคนต้องการสถานที่สำหรับสงบ อยู่กับตนเอง เพื่อพัฒนาจิตของตนเอง ขณะเดียวกัน เช่นเดียวกับสถานที่ที่จะทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ซึ่งจะกระตุ้นพัฒนาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์
สถานที่ส่วนตัว อยู่บนฐานของแนวคิดที่ว่าสมองแต่ละคนมีความเฉพาะ จึงต้องเปิดโอกาสให้เด็กแสดงออกถึงเอก ลักษณ์ของตน จัดสถานที่ส่วนตัวของตน และสามารถแสดงความคิดสร้างสรรค์ของตนได้อย่างอิสระ
ชุมชน คือ สถานที่สำหรับเรียนรู้ ต้องหาวิธีที่จะใช้ชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ให้มากที่สุด ทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งการเรียนรู้สำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ใช้เทคโนโลยี การเรียนทางไกล ชุมชน ภาคธุรกิจ บ้าน ต้องเข้ามามีส่วนและเป็นทางเลือกในการเรียนรู้
พ่อแม่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานให้ลูกได้อย่างไร?
ตอบลบเมื่อพ่อแม่เข้าใจลำดับขั้นพัฒนาการสมองของเด็กปฐมวัยแล้ว ก็สามารถกระตุ้นการทำงานของสมองเด็กได้ในชีวิตประจำวัน ดังนี้
กิจกรรมง่ายๆ อาทิ ทักทายเด็กตั้งแต่ตื่นนอนเป็นประจำทุกวัน เช่น “สวัสดีจ้ะ ลูกน้อยของแม่ (พ่อ)” คำพูดเพียงเท่านี้จะกระตุ้นการรับรู้ โดยที่เสียงและน้ำเสียงจะถูกส่งผ่านระบบการเชื่อมโยงในเซลสมองทุกครั้ง ถ้าพ่อแม่ทักทายเด็กทุกเช้า จะช่วยกระตุ้นระบบการเชื่อมโยงของเซลสมองที่มีอยู่ และยังช่วยสร้างระบบการเชื่อมโยงใหม่ทุกวัน ยิ่งพูดทักทายพร้อมกับโอบกอด หอมแก้ม หยอกล้อไปด้วย จะยิ่งกระตุ้นสมองมากขึ้น
ในช่วง 3-4 เดือนแรกหลังคลอด เด็กจะเริ่มรับรู้ฉันทลักษณ์ของภาษาได้จากการรับรู้เสียงสูงเสียงต่ำ หมายความว่า เด็กจะเริ่มรับรู้และปรับเข้ากับความแตกต่างของอารมณ์จากน้ำเสียงของเรา ฉะนั้นใช้วิธีเล่นละคร หุ่นมือ ใช้เสียงสูงต่ำบ่อยๆ ในการเล่าเรื่อง ก็จะช่วยกระตุ้นการเชื่อมโยงของเซลสมองดีขึ้น ทั้งในระบบเดียวกันและข้ามระบบ
เล่านิทาน ใช้ได้ดีมากๆสำหรับกระตุ้นพัฒนาการทางภาษา การรับรู้ ความจำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระตุ้นให้เด็กมีส่วนร่วมในการเล่า จะช่วยเพิ่มพัฒนาการของสมอง
เมื่อเด็กเริ่มเข้าอนุบาล ให้เวลาเด็กเล่นกับเด็กอื่นๆ (โดยพ่อแม่เฝ้าดูเพื่อป้องกันอันตรายเท่านั้น) เพื่อกระตุ้นให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ ได้ยิน เห็นอะไรใหม่ๆจากเด็กด้วยกัน แม้แต่เด็กจะสร้างภาษาใหม่ๆของตัวเอง จะกระตุ้นให้เซลสมองมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น
สื่อสารกับเด็กซ้ำแล้วซ้ำอีก (ทั้งการพูด แสดงท่าทาง โอบกอด) กระตุ้นสมองด้วยการสื่อสารกับเด็กซ้ำๆ กระตุ้นหรือพาเด็กไปรู้จักเด็กกลุ่มใหม่ ผู้ใหญ่คนอื่นๆ เข้าไปในสถานที่เรียนรู้แปลกๆ
นอกจากนี้ความรู้เรื่องพัฒนาการของสมอง ทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมอันแปลกประหลาดของเด็กประถมที่ใกล้สู่วัยรุ่น และเห็นทางที่จะช่วยเหลือประคับประคองให้เจริญเติบโตไปในทิศทางที่ดี สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ สมองเรียนรู้จากการฝึกฝน ประสบการณ์ และความผิดพลาด พ่อแม่จึงจะต้องกำหนดกระบวนการพัฒนาลูกให้ชัดเจนเหมาะสม ได้แก่ มอบหมายงานที่ท้าทายหรือยากๆให้ทำ (แม้ลูกจะปฏิเสธและต่อต้าน) จัดเวลาการดำเนินชีวิต และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเปี่ยมด้วยความรัก เข้าอกเข้าใจ ให้อภัย และเปิดโอกาสพร้อมทั้งช่วยเหลือเขา ดังนี้
ยังไม่มีอะไรสายเกินแก้ พ่อแม่จำนวนมากเห็นว่า เมื่อลูกใกล้เข้าวัยรุ่นก็แก้ไขอะไรไม่ได้ ที่จริง การทำหน้าที่ของพ่อแม่ต้องดำเนินไปอย่างเคร่งครัด (กับตัวเองให้สอดคล้องกับสภาวะของวัยและสมองเด็ก) ต่อเนื่องจนกว่าเด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่เป็นตัวของตัวเอง
แสดงความรักโอบอุ้มเด็กได้ ไม่ต้องอาย เพียงต้องระวังอย่าให้เขาอายเพื่อน แม้วัฒนธรรมไทยจะทำให้พ่อแม่รู้สึกขัดเขินที่ต้องโอบกอดเด็กเมื่อเด็กโตแล้ว แต่อย่างน้อยเมื่ออยู่ระหว่างพ่อแม่ลูก ควรดำรงพฤติกรรมการแสดงความรักเช่นนี้ไว้ เพื่อให้เด็กมั่นใจว่า พ่อแม่รัก เห็นใจ และอยู่กับเขาเสมอ โดยเฉพาะเวลามีปัญหา
พ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมในชีวิตลูกต่อเนื่องไปจนโต อย่าคิดว่า เมื่อลูกเริ่มโตแล้ว ก็ปล่อยให้เขามีชีวิตของตัวเอง พ่อแม่ต้องพยายามรู้จักเพื่อนของลูก และมีส่วนในการช่วยเหลือแนะนำไม่ทอดทิ้ง โดยกระทำอย่างละมุนละม่อม ไม่ใช่บีบบังคับ และไม่ควรใช้ความรุนแรง
พ่อแม่เลี้ยงลูกอย่างฉลาด ปรับตัวให้เข้ากับวัยของลูก อะไรที่เคยทำได้ผลดีเมื่อยังเล็ก เมื่อลูกโตขึ้นก็อาจใช้ไม่ได้ผลแล้ว พ่อแม่ต้องปรับวิธีการดูแลลูกให้เหมาะสมกับวัย การสังเกตลูกอย่างต่อเนื่อง จะเป็นเครื่องมือช่วยให้พ่อแม่ทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของลูกได้อย่างต่อเนื่อง และทำให้ปรับตัวเข้ากับวัยของลูกได้ง่ายขึ้น
นอกจากความรัก ที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ การกำหนดขอบเขตให้เด็ก พ่อแม่ต้องวางกฎวินัยให้ลูก และเมื่อลูกแสดงความรับผิดชอบ และแสดงความเป็นผู้ใหญ่ จึงจะผ่อนคลายการควบคุมลงทีละเล็กละน้อย หากเห็นว่าลูกไม่สามารถจัดการกับเวลาและความเป็นอิสระของตัวเองได้ดี ก็ต้องกลับมากำหนดขอบเขตให้ใหม่ และค่อยๆพัฒนาเขาไปให้เป็นอิสระ รับ ผิดชอบตัวเอง
ส่งเสริมความเป็นตัวของตัวเอง และให้โอกาสที่เด็กวัยรุ่นจะมีความเป็นอิสระภายใต้การช่วยเหลือสนับสนุนของผู้ ใหญ่
พ่อแม่ต้องขยันที่จะอธิบายเหตุผลให้ลูกฟัง ว่าทำไมควรทำเช่นนั้น เช่นนี้ อย่าใช้คำพูดเพียงว่า “นี่เป็นคำสั่ง” หรือ พ่อ/แม่เห็นว่า “ลูกต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้” ต้องเคารพในความเป็นคนของเขา และให้ความเสมอภาคด้วยการอธิบายและเปิดโอกาสให้ลูกซักถาม โต้ตอบ เสนอความเห็นด้วยอยู่เสมอ จึงจะเป็นวิธีปลูกฝังการดำเนินชีวิตที่อิสระ เป็นประชาธิปไตย ให้เกียรติ เคารพสิทธิของผู้อื่น เห็นอกเห็นใจ ไม่เอาเปรียบ และทำตัวเป็นประโยชน์กับครอบครัวและสังคม
เกร็ดความรู้เพื่อครู
ตอบลบครูควรให้ความสนใจต่อตัวเด็กเป็นรายบุคคลในระหว่างที่เด็กเล่นรวมกันเป็นกลุ่ม จะกระตุ้นให้เด็กรื้อฟื้นความทรงจำในอดีต เข้ามาเชื่อมโยงกับสิ่งที่พบเห็นในปัจจุบัน ช่วยกระตุ้นการเชื่อมโยงของสมองที่จะเรียนรู้จากความทรงจำเดิม ทบเข้ากับความทรงจำใหม่
บรรณานุกรม
1. จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ และคณะ. (2551). รู้จัก kid รู้จิตเด็ก. กรุงเทพฯ. ฐานการพิมพ์.
2.--------------. (2549). คืนอิสระสู่สมองเด็กไทย ... แก้วิกฤตชาติ. กรุงเทพฯ. ซีเอ็ด.
3.--------------.(2546). เด็กไทยใครว่าโง่.. เปลี่ยนการเรียนรู้ของเด็กไทยให้ทันโลก. กรุงเทพฯ. ซีเอ็ด.
4.Jensen, Eric. (2005). Teaching with the brain in mind. Virginia: Association for supervision and curriculum development.
5.Call, Nicola and Featherstone, Sally. (2003) Thinking child – Brain-based learning for the foundation stage. Network Educational Press Ltd.