วิธีสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ (Role Playing)
การจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน ได้ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รู้และเข้าใจได้ด้วยตนเอง โดยเน้นกิจกรรมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ เป็นอีกวิธีสอนหนึ่งที่จะให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียน ให้ผู้เรียนได้แสดงออก ทั้งทางด้านความคิดและท่าทางการแสดง ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ได้เกิดความสนุกสนานและเพลิดเพลิน
ระวีวรรณ วุฒิประสิทธิ์ (2530 : 74) กล่าวถึงการสอนแบบการแสดงบทบาทสมมติ ว่าเป็นการสอนที่กำหนดให้ผู้เรียนแสดงบทบทตามที่สมมติขึ้นเทียบเคียงกับสภาพที่เป็นจริง ตามลักษณะที่ผู้แสดงบทบาทเข้าใจ เพื่อให้ผู้ดูเกิดความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น หลักสำคัญของการสอนแบบนี้คือ ผู้สอนจะสร้างปัญหาให้ผู้เรียนได้คิดและให้ผู้เรียนแก้ปัญหานั้นๆ ให้ได้ด้วยตนเอง ด้วยการแสดงที่ทำให้ได้ด้วยตัวเอง ด้วยการแสดงที่ทำให้ผู้ดูเห็นจริง วิธีสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติจึงนับว่าเป็นวิธีการฝึกการแก้ปัญหาและการตัดสินใจวิธีหนึ่ง เพราะในสถานการณ์ที่สมมติขึ้นมาและบทบาทที่สมมติขึ้นมาให้คล้ายคลึงกับสิ่งที่เป็นจริงนั้น มักจะมีปัญหาและข้อขัดแย้งต่าง ๆ แฝงมาด้วย การที่ให้ผู้เรียนได้เลือกที่จะแสดงบทบาทต่าง ๆ โดยไม่ต้องใดหรือเตรียมตัวมาก่อนนั้น ผู้แสดงจะต้องแสดงไปตามธรรมชาติโดยที่ไม่รู้ว่าผู้แสดงคนอื่นจะมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไรนั้น นับว่าเป็นการช่วยฝึกให้ผู้แสดงได้เรียนรู้ที่จะปรับพฤติกรรมและหาทางแก้ปัญหาตัดสินใจอย่างธรรมชาติ
ในบทนี้กล่าวถึง ความหมายของการสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ จุดมุ่งหมาย องค์ประกอบ ลักษณะสำคัญของการสอน ขั้นตอนการสอน บทบาทของผู้สอน เทคนิคข้อเสนอแนะที่ใช้ในการสอน และข้อดีและข้อจำกัดของการสอน พร้อมด้วยการสรุปท้ายบท กิจกรรมและคำถามท้ายบทด้วย
ความหมาย
ทิศนา แขมมณี (2550 : 358) กล่าวถึงวิธีสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ คือ กระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยการให้ผู้เรียนสวมบทบาทในสถานการณ์ซึ่งมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริง และแสดงออกมาตามความรู้สึกนึกคิดของตน และนำเอาการแสดงออกของผู้แสดง ทั้งทางด้านความรู้ ความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมที่สังเกตพบว่าเป็นข้อมูลใน การอภิปราย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์
สุพิน บุญชูวงศ์ (2544 : 67) กล่าวว่าวิธีสอนที่ใช้บทบาทที่สมมติขึ้นจากความเป็นจริงมาเป็นเครื่องมือในการสอนโดยที่ครูสร้างสถานการณ์สมมติและบทบาทขึ้นมาให้นักเรียนได้แสดงออกตามที่ตนคิดว่าควรจะเป็น มีการนำการแสดงออกทั้งทางด้านความรู้ความคิด และพฤติกรรมของผู้แสดงมาใช้เป็นพื้นฐานในการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้แก่นักเรียนในเรื่องความรู้สึกและพฤติกรรม และปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
อาภรณ์ ใจเที่ยง (2550 : 160) อธิบายถึง วิธีสอนโดยใช้บทบาทสมมติ หมายถึง วิธีสอนที่ผู้สอนสร้างสถานการณ์และบทบาทสมมติขึ้นจากความเป็นจริง มาให้ผู้เรียนได้แสดงออกตามที่ผู้เรียนคิดว่าควรจะเป็น ผู้สอนจะใช้การแสดงออกทั้งทางด้านความรู้ความคิด และพฤติกรรมของผู้แสดงมาเป็นพื้นฐานในการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ผู้เรียน อันจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาสาระของบทเรียนอย่างลึกซึ้ง และรู้จักปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
บุญชม ศรีสะอาด (2541 : 161) กล่าวถึงการสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติ (Role Playing) คือ เทคนิคการสอนที่ให้ผู้เรียนแสดงบทบาทในสถานการณ์ที่สมมติขึ้น นั่นคือ แสดงบทบาทที่กำหนดให้
อินทิรา บุณยาทร (2542 : 98) อธิบายการสอนด้วยบทบาทสมมติ หมายถึง วิธีสอนที่ผู้สอนสร้างสถานการณ์และบทบาทสมมติขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนได้แสดงออกตามที่ตนคิดว่าควรจะเป็น โดยแสดงออกทั้งทางด้านความรู้ ความคิด และพฤติกรรมเพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้
สรุปได้ว่า วิธีสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ หมายถึง การสอนที่ผู้สอนสร้างสถานการณ์และบทบาทสมมติขึ้นมาที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง โดยให้ผู้เรียนเป็นผู้แสดงบทบาทสมมตินั้นๆ ตามวัตถุประสงค์ที่ผู้สอนได้กำหนดไว้ เพื่อให้ผู้เรียนได้แสดงออกทางด้านความรู้ ความคิด ที่คิดว่าตนควรจะเป็น
จุดมุ่งหมายของการสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติ
ทิศนา แขมมณี (2550 : 358) กล่าวว่าวิธีสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ เป็นวิธีการที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เกิดความเข้าใจในความรู้สึกและพฤติกรรมทั้งของตนเองและผู้อื่นหรือเกิดความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับบทบาทสมมติที่ตนแสดง
สุพิน บุญชูวงศ์ (2544 : 67) อธิบายถึงความมุ่งหมายของการสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ ดังนี้
1. เพื่อฝึกให้นักเรียนทำงานร่วมกัน
2. เพื่อให้นักเรียนกล้าแสดงออกซึ่งความรู้สึก
3. เพื่อฝึกการแก้ปัญหา
สิริวรรณ ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 106) กล่าวถึงเป้าหมายการสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติว่า การแสดงบทบาทสมมติเป็นการนำเอาตัวอย่างพฤติกรรมของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในสังคมมาให้ผู้เรียนได้ศึกษา ซึ่งผลที่จะได้รับจากการศึกษาโดยวิธีการดังกล่าวจะทำให้
1. ผู้เรียนได้มีโอกาสสำรวจความรู้สึกของบุคคลอื่น ๆ และเมื่อสำรวจแล้วก็จะสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของบุคคลเหล่านั้นในเชิงเจตคติ
2. ผู้เรียนได้มีโอกาสในการศึกษาความสัมพันธ์และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่ม
3. ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกฝนวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่ม ในบุคคล หรือระหว่างบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ผู้เรียนได้มีโอกาสพัฒนาค่านิยมในเรื่องความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น
5. ผู้เรียนสามารถสำรวจเจตคติของตนเอง รวมทั้งแก้ไขข้อบกพร่องโดยการเรียนรู้จากเจตคติของผู้อื่นที่มีต่อตนเอง
อาภรณ์ ใจเที่ยง (2550 : 160) กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการแสดงบทบาทสมมติไว้ว่า
1. เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในพฤติกรรมและความรู้สึกของผู้อื่น
2. เพื่อให้ผู้เรียนได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่เหมาะสม
3. เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกการใช้ความรู้ความคิดในการแก้ปัญหา และการตัดสินใจ
4. เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงออก ได้เรียนด้วยความเพลิดเพลิน
5. เพื่อให้การเรียนการสอนมีความใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้น
อินทิรา บุณยาทร (2542 : 98-99) อธิบายถึงความมุ่งหมายของการสอน ดังนี้
1. เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในพฤติกรรมและความรู้สึกของผู้อื่น
2. เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกการใช้ความรู้ ความคิด ความสามารถในการแก้ปัญหาและ การตัดสินใจ
3. เพื่อให้การเรียนการสอนมีความใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด
4. เพื่อฝึกให้ผู้เรียนมีความกล้าที่จะแสดงออก
และ ระวีวรรณ วุฒิประสิทธิ์ (2530 : 74-75) อธิบายถึงจุดมุ่งหมายในการใช้บทบาทสมมติ ไว้ดังนี้
1. เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเจตคติ และความคิดต่าง ๆ ได้กว้างขวางขึ้น
2. เพื่อให้ผู้สอนทราบถึงเจตคติและความคิดของผู้เรียน
3. เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ของสังคมได้กว้างขวางยิ่งขึ้น
4. เพื่อเตรียมผู้เรียนในการปฏิบัติเทคนิคบางอย่างในสถานการณ์จริง
5. เพื่อช่วยในการทดสอบสมมติฐานสำหรับการแก้ปัญหา
6. เพื่อฝึกความเป็นผู้นำและทักษะอื่น ๆ ทางสังคมให้แก่ผู้เรียน
สรุปได้ว่า การสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ มุ่งฝึกการทำงานร่วมกัน กล้าคิด กล้าแสดงออกในการแก้ปัญหา การตัดสินใจ ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในเนื้อมากยิ่งขึ้น ลดความตึงเครียด เพราะเป็นการสอนที่ใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด
ลักษณะสำคัญของการสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติ
ลักษณะของบทบาทสมมติ (อาภรณ์ ใจเที่ยง, 2550 : 160-161) บทบาทสมมติที่ผู้เรียนแสดงออกแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
1. การแสดงบทบาทสมมติแบบละคร เป็นการแสดงบทบาทตามเรื่องราวที่มีอยู่แล้ว ผู้แสดงจะได้ทราบเรื่องราวทั้งหมด แต่จะไม่ได้รับบทที่กำหนดให้แสดงตามอย่างละเอียด ผู้แสดงจะต้องแสดงออกตามความคิดของตน และดำเนินเรื่องไปตามท้องเรื่องที่กำหนดไว้แล้วซึ่งมีลักษณะเหมือนละคร
2. การแสดงบทบาทสมมติแบบแก้ปัญหา เป็นการแสดงบทบาทสมมติที่ผู้เรียนได้รับทราบสถานการณ์หรือเรื่องราวแต่เพียงเล็กน้อยเท่าที่จำเป็น ซึ่งมักเป็นสถานการณ์ที่เป็นปัญหาหรือมีความขัดแย้งแฝงอยู่ ผู้แสดงบทบาทจะใช้ความคิดของตนในการแสดงออกและแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างเสรี
บุญชม ศรีสะอาด (2541 : 161) กล่าวถึง การแสดงบทบาทสมมติว่า แตกต่างจากเกมจำลองสถานการณ์ตรงที่ไม่มีกฎเกณฑ์และการแข่งขัน กล่าวคือ เป็นการสอนที่หยิบยกเอาเหตุการณ์ ประเด็นหรือปัญหาขึ้นมาให้ผู้เรียนศึกษา โดยวิธีการให้ผู้เรียนได้เข้าใจถึงสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น เข้าใจถึงปัญหาในเหตุการณ์นั้น ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจถึงสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น เข้าใจถึงปัญหาในเหตุการณ์นั้น ๆ ตลอดจนสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยนั้น
สิริวรรณ ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข ( (2540 : 105) ได้กล่าวว่าการแสดงบทบาทสมมติจะส่งเสริมผู้เรียนให้แสดงพฤติกรรมหรือบทบาทต่าง ๆ กันไปตามบทบาทที่กำหนดไว้ในเหตุการณ์ พฤติกรรมที่ผู้เรียนซึ่งเป็นผู้แสดงบทบาทแสดงออกมานั้นจะสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึก อารมณ์ เจตคติของผู้แสดงที่มีต่อบทบาทหรือพฤติกรรมที่ผู้แสดงสวมบทบาทนั้นอยู่ รวมทั้งเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้อื่นที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือปัญหานั้นด้วย
การที่จะให้ผู้เรียนเข้าใจว่าสิ่งนั้นดีสิ่งนั้นไม่ดี หรือบุคคลนั้นมีพฤติกรรมอย่างนั้น ทำไมไม่มีพฤติกรรมอย่างนี้ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บางครั้งจะสอนโดยตรงไม่ได้ ผู้เรียนจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าใช้การสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติ จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจพฤติกรรมของบุคคลที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์หรือปัญหานั้นได้ดีและกระจ่างยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ เสริมศรี ลักษณศิริ (2540 : 260-261) กล่าวว่าการใช้บทบาทสมมติในการเรียนการสอน บทบาทสมมติเป็นเครื่องมือและวิธีการอย่างหนึ่งที่ใช้ในการสอนเพื่อให้ผู้เรียนได้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องที่เรียน โดยที่ผู้สอนสร้างสถานการณ์สมมติและบทบาทสมมติขึ้น ให้ผู้เรียนได้แสดงออกมาตามที่ตนคิดว่าควรจะเป็น และถือเอาการแสดงออกทั้งทางความรู้และพฤติกรรมของผู้แสดงมาเป็นข้ออภิปรายเพื่อการเรียนรู้
การแสดงบทบาทสมติเป็นการฝึกให้ผู้แสดงได้ประสบการณ์จริงในสภาพของการสมมติขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนได้ทดลองและเรียนรู้ที่จะปรับพฤติกรรมของตนอย่างมีประสิทธิภาพในสภาวะต่างๆ ได้
ประเภทของการสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ
อินทิรา บุณยาทร (2542 : 98) กล่าวว่าการสอนแบบบทบาทสมมติ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.ผู้แสดงจะต้องแสดงบทบาทของคนอื่นตามที่ถูกกำหนด โดยละทิ้งแบบแผนพฤติกรรมของตนเอง เช่น แสดงบทบาทของผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ หรือบุคคลอื่น ๆ ที่ลักษณะเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองเป็นบุคคลสมมติ เช่น สมมติว่าเป็นชาวนา เป็นครู เป็นนายอำเภอ เป็นพ่อค้า ฯลฯ ผู้แสดงจะต้องพูด คิด ประพฤติ มีความรู้สึกเหมือนกับบุคคลที่สวมบทบาทนั้น ๆ
2.ผู้แสดงจะยังคงรักษาบทบาทและแบบแผนพฤติกรรมของตนเอง แต่กำหนดสถานการณ์ที่อาจพบในอนาคต เช่น การสมัครงาน การสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง การเป็น ผู้แนะแนวให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียน ฯลฯ บทบาทสมมติประเภทนี้เป็นประโยชน์ต่อการฝึกฝนทักษะเฉพาะอย่าง เช่น การแนะแนว การสัมภาษณ์ การสอน การจูงใจ
บุญชม ศรีสะอาด (2541 : 161) กล่าวถึง การแสดงบทบาทสมมติมี 2 ประเภท
ประเภทแรก ผู้แสดงบทบาทสมมติจะต้องแสดงบทบาทของคนอื่นโดยละทิ้งแบบแผนพฤติกรรมของตนเอง บทบาทของบุคคลอื่นอาจเป็นบุคคลจริง เช่น คนที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ เพื่อนร่วมห้อง หรือการเปลี่ยนบทบาทซึ่งกันและกันกับเพื่อน หรือเป็นบุคคลสมมติ เช่น สมมติว่าเป็นครูใหญ่ สมมติว่าเป็นชาวนา เป็นต้น ผู้แสดงบทบาทสมมติจะพูด คิด ประพฤติหรือมีความรู้สึกเหมือนกับบุคคลที่ตนสวมบทบาท
ประเภทที่สอง ผู้แสดงบทบาทจะยังคงรักษาบทบาทและแบบแผน พฤติกรรมของตนเอง แต่ปฏิบัติอยู่ในสถานการณ์ที่อาจพบในอนาคต เช่น การสมัครงาน สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง ผู้แนะแนวให้คำปรึกษาแก่นักเรียน บทบาทสมมติประเภทนี้เป็นประโยชน์ต่อการฝึกฝนทักษะเฉพาะ เช่น การแนะแนว การสัมภาษณ์ การจูงใจ การควบคุมความขัดแย้ง เป็นต้น
สิริวรรณ ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 105-106) กล่าวว่าการแสดงบทบาทสมตินั้น เป็นวิธีการสอนที่ครูใช้สอนกันมากในปัจจุบัน เพราะขั้นตอนของการสอนไม่ยากหรือซับซ้อนมากเท่าใดนัก โดยทั่วไปการแสดงบทบาทสมมติเพื่อนำมาปฏิบัติในห้องเรียนนั้นอาจแยกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. การแสดงบทบาทสมมติที่มีการเตรียมมาล่วงหน้า ผู้สอนจะผูกเรื่องหรือประเด็นเสียก่อน แล้วนำมาเล่าให้ผู้เรียนฟัง พร้อมกันนั้นก็จะกำหนดตัวผู้แสดงและบทละครอย่างคร่าว ๆ โดยอาจเพิ่มเติมรายละเอียดตามความเหมาะสมและตามความเห็นของผู้แสดงเอง
2. การแสดงบทบาทที่ไม่มีการเตรียมมาก่อน วิธีการนี้อาจใช้ระหว่างบทเรียนหรือเริ่มต้นบทเรียนเพื่อเร้าความสนใจของผู้เรียนเป็นต้นว่า ระหว่างผู้ที่สอนกำลังสอนเรื่องหน้าที่พลเมืองของบุคคลในอาชีพต่าง ๆ และความสำคัญของหน้าที่ที่มีต่อสังคม ผู้สอนอาจเรียกผู้เรียน 4-5 คน ออกไปแสดงบทบาทของบุคคลในอาชีพต่าง ๆ กัน หลังจากนั้นก็จะให้ผู้เรียนในชั้นวิจารณ์บทบาทที่แสดงไปแล้ว วิธีการสอนเช่นนี้ก็นับว่าเป็นวิธีการสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติเช่นกัน
การใช้บทบาทสมมติในการเรียนการสอนมี 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ (เสริมศรี ลักษณศิริ, 2540 : 262)
1. การใช้บทบาทสมมติแบบเตรียมไว้พร้อม
หมายความถึง การใช้บทบาทสมมติเข้าช่วยในการสอนโดยที่ผู้สอนได้เตรียมบทมาล่วงหน้าหวังจะให้ผู้เรียนได้เรียนไปตามแบบแผนและขั้นตอนที่เตรียมไว้ เช่น ครูเตรียมว่าจะใช้บทบาทสมมติช่วยในการสอนให้ผู้เรียนได้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ครูจะต้องเตรียมสถานการณ์สมมติมาล่วงหน้าและเตรียมบทบาทมาอย่างเรียบร้อย เมื่อเข้าสอนครูจะสอนและใช้บทบาทสมมติตามขั้นตอนที่เตรียมมา
2. การใช้บทบาทสมมติแบบไม่มีบทเตรียมไว้
หมายความถึง การใช้บทบาทสมมติเป็นเครื่องมือช่วยในการสอนตามวาระและโอกาสที่อำนวย ครูไม่ได้เตรียมบทบาทมาให้ผู้เรียนล่วงหน้า
นอกจากนี้ จำเริญ ชูช่วยสุวรรณ (2544 : 50-51) กล่าวถึงวิธีแสดงบทบาทสมมติทำได้ 3 วิธีคือ
1. การแสดงแบบละคร การแสดงแบบนี้ผู้แสดงจะต้องฝึกซ้อมก่อน เช่น อาจจะซ้อมท่าทาง ฝึกซ้อมบทพูด ตามบทบาทของตัวละครในเรื่องที่แสดง ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องบทเรียน วรรณคดี หรือบทเรียนประวัติศาสตร์ก็ได้
2. การแสดงทันทีทันใจ การแสดงแบบนี้ ผู้แสดงไม่ต้องเตรียมตัวฝึกซ้อม แต่เมื่อเรียนถึงเรื่องใดก็ให้นักเรียนแสดงได้ทันที เช่น แสดงเป็นตำรวจ แสดงเป็นบุรุษไปรษณีย์ แสดงเป็นพ่อ เป็นลูก ฯลฯ โดยให้นักเรียนแสดงไปตามความนึกคิดของนักเรียนเองให้เหมาะสมกับบทบาทที่รับมา
3. การแสดงโดยครูหรือนักเรียนช่วยกันกำหนดเรื่องให้การแสดงแบบนี้ผู้แสดงจะต้องแสดงไปตามเรื่องที่กำหนดแต่อาจจะแต่งเติมบทของตนเองเข้าไปบ้างก็ได้ตามความเหมาะสม
จากประเภทของการสอนโดยใช้การแสดงละครที่กล่าวมาแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า นักวิชาการได้แบ่งประเภทของการสอนไว้แตกต่างกัน ซึ่งพอจะสรุปได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. ผู้แสดงเป็นจะต้องเป็นผู้แสดงบทบาทตามที่ถูกกำหนดไว้ โดยไม่เกี่ยวข้องกับความรู้
ความรู้สึกส่วนตัว
2. ผู้แสดงจะต้องแสดบทบาทตามแบบแผนพฤติกรรมของตนเอง
3. การแสดงบทบาทที่ผู้แสดงจะต้องเตรียมตัวก่อนการแสดงละคร
4. การแสดงบทบาทที่ผู้แสดงต้องแสดงบทบาทโดยทันที ไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้า
องค์ประกอบของการสอนแบบบทบาทสมมติ
ทิศนา แขมมณี (2550 : 358) กล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญ (ที่ขาดไม่ได้) ของวิธีสอนแบบบทบาทสมมติ ไว้ดังนี้
1. มีผู้สอนและผู้เรียน
2. มีสถานการณ์สมมติและบทบาทสมมติ
3. มีการแสดงบทบาทสมติ
4. มีการอภิปรายเกี่ยวกับความรู้ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่แสดงออกของ ผู้แสดง และสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับ
5. มีผลการเรียนรู้ของผู้เรียน
สิริวรรณ ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 106) กล่าวถึงองค์ประกอบของการสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติ มีดังนี้
1. ผู้แสดงและผู้สังเกตการณ์
การแสดงบทบาทสมติ เมื่อนำมาปฏิบัติในห้องเรียนแล้วจะแยกกลุ่มผู้เรียนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้แสดงเป็นกลุ่มที่ได้รับมอบหมายบทบาทจากครูผู้สอนแล้ว จากการวางแผน การเรียนการสอนของผู้เรียนทั้งชั้นให้แสดงบทบาทต่าง ๆ กัน กับกลุ่มผู้ชมซึ่งจะเป็นกลุ่มสังเกตการณ์ โดยจะนำผลจากการสังเกตไปอภิปรายภายหลัง
2. เหตุการณ์ ประเด็น หรือปัญหา ซึ่งอาจจะหยิบยกจากในแบบเรียน หรือผู้สอนสร้างขึ้นใหม่เองตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ว่าจะให้ผู้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นั้น โดยทั่วไป ผู้สอนจะเป็นผู้กำหนดเหตุการณ์เอง และนำเหตุการณ์นั้น ๆ มาเสนอแก่ผู้เรียนเพื่อการแสดงต่อไป
3. ฉากและสื่อการสอน ฉากมีเพียงที่จำเป็นเท่านั้น หรืออาจไม่ใช้เลยก็ได้ ส่วนสื่อ การสอนก็เช่นกัน จำเป็นไม่มากนัก ทั้งนี้เพราะความสำคัญของการเรียนการสอนด้วยการแสดงบทบาทสมมติขึ้นอยู่กับบทบาทของผู้แสดงมากกว่าสิ่งใด
ขั้นตอนของการสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ
ทิศนา แขมมณี (2550 : 358-359) อธิบายขั้นตอนสำคัญของการสอนไว้ดังนี้
1. ผู้สอน / ผู้เรียน นำเสนอสถานการณ์สมมติและบทบาทสมมติ
2. ผู้สอน / ผู้เรียนเลือกผู้แสดงบทบาท
3. ผู้สอนเตรียมผู้สังเกตการณ์
4. ผู้เรียนแสดงบทบาท และสังเกตพฤติกรรมที่แสดงออก
5. ผู้สอนและผู้เรียน อภิปรายเกี่ยวกับความรู้ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่แสดงออกของผู้แสดง
6. ผู้สอนและผู้เรียนสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับ
7. ผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน
สุพิน บุญชูวงศ์ (2544 : 67) กล่าวถึงขั้นตอนในการสอนแบบบทบาทสมมติ ไว้ดังนี้
1. เลือกปัญหาที่นักเรียนส่วนมากในชั้นเรียนพบบ่อย ๆ หรือเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก จดจำยาก สับสน กล่าวตามสภาพจริง หรือได้ก็ไม่เหมาะสม
2. กำหนดตัวบุคคลให้เหมาะสมกับบทบาทนั้น ๆ เท่าที่ลักษณะของบุคคลเอื้ออำนวยให้กับสภาพความเป็นจริง
อาภรณ์ ใจเที่ยง (2550 : 161-163) อ้างใน กรมวิชาการ (2527 : 37 – 40) ได้เสนอขั้นตอนที่สำคัญของการสอนโดยใช้บทบาทสมมติมี 5 ขั้นตอน ในแต่ละขั้นตอนมีวิธีการสอน ดังนี้
1. ขั้นเตรียมการสอน เป็นการเตรียมใน 2 หัวข้อใหญ่ ได้แก่
1.1 เตรียมจุดประสงค์ของการแสดงบทบาทสมมติให้แน่ชัดและเฉพาะเจาะจงว่าต้องการให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจอะไรบ้างจากการแสดง
1.2 เตรียมสถานการณ์สมมติ เพื่อให้ผู้เรียนฟังโดยให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ การเตรียมสถานการณ์และบทบาทสมมตินี้อาจเตรียมเขียนไว้อย่างละเอียดเพื่อมอบให้แก่ผู้เรียน หรือเตรียมเฉพาะสถานการณ์เพื่อเล่าให้ผู้เรียนฟัง ส่วนรายละเอียดผู้เรียนต้องคิดเอง
2. ขั้นดำเนินการสอน จัดแบ่งย่อยได้ 7 ขั้นตอน ดังนี้
2.1 ขั้นนำเข้าสู่การแสดงบทบาทสมมติ เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจและกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกิจกรรม โดยผู้สอนอาจใช้วิธีโยงประสบการณ์ใกล้ตัวผู้เรียน เล่าเรื่องราว หรือสถานการณ์สมมติ ชี้แจงประโยชน์ของการแสดงบทบาทสมมติ และการร่วมกันช่วยกันแก้ปัญหา
2.2 เลือกผู้แสดง เมื่อผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกิจกรรมแล้วผู้สอนจะจัดตัวผู้แสดงในบทบาทต่าง ๆ ในการเลือกตัวผู้แสดงนั้นอาจใช้วิธีดังนี้
1) เลือกอย่างเจาะจง เช่น เลือกผู้ที่มีปัญหาออกมาแสดง เขาได้รู้สึกในปัญหาและเห็นวิธีแก้ปัญหา
2) เลือกผู้ที่มีบุคลิกลักษณะคุณสมบัติ มีความสามารถเหมาะสมกับบทบาทที่กำหนดให้
3) เลือกผู้แสดงโดยให้อาสาสมัคร เพื่อให้เสรีภาพแก่ผู้เรียนในการเรียน การตัดสินใจ
2.3 การเตรียมความพร้อมของผู้แสดง เมื่อเลือกผู้แสดงได้แล้ว ผู้สอนควรให้เวลา ผู้แสดงได้เตรียมตัวและตกลงกันก่อนการแสดง ผู้สอนควรช่วยให้กำลังใจ ช่วยขจัดความตื่นเต้นประหม่า และความวิตกกังวลต่าง ๆ เพื่อผู้แสดงได้แสดงอย่างเป็นธรรมชาติ
2.4 การจัดฉากการแสดง การจัดฉากการแสดงอาจจะจัดแบบง่าย ๆ คำนึงถึงความประหยัดทั้งเวลาและทรัพยากร เช่น อาจสมมติโดยการเลื่อนโต๊ะเพียงตัวเดียว เพราะการจัดฉากนี้เป็นเพียงส่วนประกอบย่อยของการแสดง
2.5 การเตรียมผู้สังเกตการณ์ ในขณะที่ผู้แสดงเตรียมตัว ผู้สอนควรได้ใช้เวลานั้นเตรียมผู้ชมด้วย โดยควรทำความเข้าใจกับผู้ชมว่าควรสังเกตอะไรจึงจะเป็นประโยชน์ต่อ การวิเคราะห์และอภิปรายในภายหลัง ผู้สอนอาจเตรียมหัวข้อการสังเกต หรือจัดทำแบบสังเกตการณ์เตรียมไว้ให้พร้อม แล้วเลือกผู้สังเกตการณ์ช่วยกันดู และบันทึกพฤติกรรมและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อย ๆ ไป
2.6 การแสดง เมื่อทุกฝ่ายพร้อมแล้วจึงเริ่มแสดง การแสดงนี้ควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ผู้สอนและผู้ชมไม่ควรเข้าขัดกลางคัน นอกจากในกรณีที่ผู้แสดงต้องการ ความช่วยเหลือ ในขณะที่แสดงผู้สอนควรสังเกตพฤติกรรมของผู้แสดงและผู้ชมอย่างใกล้ชิด
2.7 การตัดบท ผู้สอนหรือผู้กำกับควรตัดบทหรือหยุดการแสดงเมื่อการแสดงผ่านไปเป็นเวลาพอสมควร ไม่ควรปล่อยให้การแสดงเยิ่นเย้อเกินไปจะทำให้เสียเวลาและผู้ชมเกิด ความเบื่อหน่าย การตัดบทควรจะทำเมื่อ
1) การแสดงได้ให้ข้อมูลแก่กลุ่มเพียงพอที่จะนำมาวิเคราะห์และอภิปรายได้
2) ผู้ชมและผู้แสดงพอจะเล่าได้ว่า เรื่องราวจะเป็นอย่างไรถ้ามีการแสดงต่อไป
3) ผู้แสดงไม่สามารถแสดงต่อไปได้ เพราะเกิดความเข้าใจผิดบางประการหรือเกิดอารมณ์สะเทือนใจมากเกินไป
4) การแสดงยืดเยื้อไม่ยอมจบหรือจบไม่ลง และผู้ชมหมดความสนใจที่จะชมการแสดงจนจบเรื่อง
3. ขั้นวิเคราะห์และอภิปรายผลการแสดง (ขั้นประเมินผล) ขั้นนี้ถือเป็นขั้นที่สำคัญยิ่งในการสอน เพราะเป็นขั้นที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้สังเกตเห็นและนำมาวิเคราะห์อภิปรายจนเกิดเป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายสำหรับตนเอง ในขั้นนี้ครูควรจะเตรียมคำถามต่าง ๆ ไว้เป็นแนวทางสำหรับตนเอง ที่จะใช้กระตุ้นให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์และอภิปรายร่วมกัน โดยทั่ว ๆ ไปวิธีการที่ใช้ในการดำเนินการในขั้นนี้ มีดังนี้
3.1 ชี้แจงให้ทั้งผู้แสดงและผู้ชมเข้าใจว่า การอภิปรายจะเน้นที่เหตุผลและพฤติกรรมที่ผู้แสดงได้แสดงออกมาไม่ใช่เน้นที่ใครแสดงดีไม่ดีอย่างไร
3.2 สัมภาษณ์ความรู้สึกและความคิดผู้แสดง
3.3 สัมภาษณ์ความรู้สึกและความคิดของผู้สังเกตการณ์หรือผู้ชม
3.4 ให้กลุ่มผู้แสดงและผู้ชมวิเคราะห์เหตุการณ์ เสนอความคิดเห็นและอภิปรายร่วมกัน โดยครูอาจใช้คำถามต่าง ๆ กระตุ้นให้ผู้เรียนคิด
ข้อสำคัญข้อหนึ่งที่ครูพึงระวังในการดำเนินการอภิปรายก็คือ ครูควรแสดงความเป็นประชาธิปไตย ให้เสรีภาพแก่ผู้เรียนอย่างเต็มที่ในการคิด ตัดสินใจ ไม่ประเมินค่าตัดสิน ความคิดเห็นของผู้เรียน อันอาจทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่กล้าเปิดเผยความรู้สึก ที่แท้จริง
4. ขั้นแสดงเพิ่มเติม หลังจากการวิเคราะห์และอภิปรายผลการแสดงแล้ว กลุ่มอาจจะเสนอแนวทางใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาหรือการตัดสินใจ ครูอาจจะให้มีการแสดงเพิ่มเติมก็ได้ แต่ถ้าการแสดงเพิ่มเติมนี้ไม่จำเป็น ครูสามารถข้ามขั้นไปถึงขั้นที่ 5 เลยก็ได้
5. ขั้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสรุป หลังจากอภิปรายเกี่ยวกับการแสดงแล้วครูควรกระตุ้นให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่มีส่วนสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ได้ศึกษา แก่กันและกัน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์นี้จะช่วยให้ผู้เรียนได้แนวความคิดกว้างขวางขึ้น และส่งเสริมให้ผู้เรียนเห็นว่าสิ่งที่เรียนนั้นเกี่ยวข้องกับความจริง จะทำให้ผู้เรียนสามารถที่จะหาข้อสรุป หรือได้แนวความคิดรวบยอดที่ตนสามารถเข้าใจได้อย่างดี
จุไรรัตน์ นิพัทธ์สัจก์ (2529 : 139–146) อ้างใน เสริมศรี ลักษณศิริ (2540 : 263-266) กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นการใช้บทบาทสมมติแบบมีบทเตรียมไว้ หรือแบบไม่มีบทเตรียมไว้ มีขั้นตอนดังไปนี้
1. ขั้นที่ 1 ขั้นเตรียมการ แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ
1.1 การแจกแจงและกำหนดขอบเขตของปัญหา ในขั้นนี้ครูจะต้องวิเคราะห์แยกแยะสถานการณ์ออกมาให้ได้ว่า อะไรคือปัญหา หรือจุดที่ต้องการชี้ให้ผู้เรียนเป็นและเรียนเพื่อความเข้าใจ และกำหนดขอบเขตของปัญหาที่จะสอน
1.2 การกำหนดสถานการณ์สมมติและบทบาทสมมติ เมื่อได้ปัญหาที่ชัดเจนแล้วครูจะต้องกำหนดสถานการณ์สมมติที่ง่ายและชัดเจนขึ้น พร้อมทั้งเขียนบทบาทสมมติที่จะให้ผู้เรียนแสดงบทบาทสมมติที่เขียนขึ้นนี้ ควรจะสามารถช่วยให้ผู้เรียนได้ประสบปัญหาและข้อขัดแย้งเพื่อฝึกฝนการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ
2. ขั้นที่ 2 ขั้นแสดง แบ่งออกเป็น 7 ตอน คือ
2.1 การอ่านเรื่อง หมายถึง การนำผู้เรียนให้ไปสู่เรื่องที่จะศึกษาหรือปูพื้นให้ผู้เรียนมีความเข้าใจตรงกันในเรื่องที่จะเรียน ในขั้นนี้ครูอาจจะเล่าเรื่องราวหรือสถานการณ์สมมติให้ผู้เรียนฟัง การเล่าเรื่องอุ่นเครื่องนี้จะเป็นไปมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายและสถานการณ์ที่ตั้งไว้
2.2 การเลือกตัวผู้แสดง การเลือกตัวผู้แสดงอาจเป็นไปได้ใน 2 ลักษณะ คือ อาจจะเลือกตัวผู้แสดงที่มีลักษณะใกล้เคียงกับลักษณะตรงกันข้ามกับลักษณะของบทบาทที่มอบหมายให้ก็ได้ ในกรณีแรกการแสดงจะช่วยให้กลุ่มเข้าใจปัญหาได้ดี เพราะการแสดงจะช่วยให้ผู้แสดงและผู้ชมได้เข้าใจถึงบทบาทของผู้ที่มีลักษณะแตกต่างออกไป ดังนั้นการเลือกตัวผู้แสดงจึงขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการแสดงและการสอน เป็นต้น
2.3 การจัดฉากแสดง การจัดฉากนั้นก็เป็นการจัดฉากแบบสมมติขึ้นมา เพื่อให้ การแสดงนั้นดูใกล้เคียงกับความเป็นจริงนั้น การจัดฉากอาจจะเป็นไปในลักษณะแบบง่าย ๆ โดยการเลื่อนโต๊ะเพียงตัวเดียวไปจนถึงการจัดฉากแบบหรูหรา
2.4 การเตรียมผู้สังเกตการณ์ การใช้บทบาทสมมติในการเรียนนั้นช่วยให้การเรียนสนุกสนานมีชีวิตชีวาก็จริง แต่ครูจะต้องไม่ลืมว่าการเรียนนี้ไม่ใช่การเรียนเพื่อสนุกอย่างเดียว ครูควรช่วยให้นักเรียนหัดสังเกตและวิเคราะห์เหตุการณ์ ดังนั้น การเตรียมผู้ชมหรือผู้สังเกตการณ์จึงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่เช่นนั้นการอภิปรายและวิเคราะห์หลังการแสดงจะไม้ได้ผลเท่าที่ควร
2.5 การเตรียมความพร้อมก่อนแสดง การที่ผู้เรียนจะแสดงบทบาทสมมติให้เป็นไปอย่างธรรมชาติ ดังนั้นครูจำเป็นต้องช่วยขจัดความตื่นเต้นประหม่าและความวิตกกังวลของผู้แสดงออกไปด้วยวิธีการต่าง ๆ
2.6 การแสดง เมื่อผู้แสดงและผู้ชมพร้อมแล้ว ผู้แสดงก็เริ่มแสดงได้ การแสดงนี้ควรให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีการตัดกลางคัน นอกจากในกรณีที่ผู้แสดงต้องการความช่วยเหลือ ครูหรือผู้กำกับการแสดงอาจเข้าไปช่วยได้ตามโอกาส
2.7 การตัดบท เมื่อผู้แสดงได้แสดงเป็นไปเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ครูหรือผู้กำกับการแสดงควรตัดบทหรือหยุดการแสดง ไม่ควรปล่อยให้การแสดงเยิ่นเย้อไปจะทำให้เสียเวลาและผู้ชมเกิดความเบื่อหน่าย การตัดจะทำได้ในกรณีต่อไปนี้
2.7.1 เมื่อการแสดงนั้นได้ให้ข้อมูลเพียงพอแก่กลุ่มที่จะนำมาวิเคราะห์และอภิปรายได้
2.7.2 กลุ่มพอจะเดาได้ว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไรถ้าจะมีการแสดงต่อไป
2.7.3 ผู้แสดงไม่สามารถแสดงต่อไปได้เพราะเกิดความเข้าใจผิดบางประการ
2.7.4 การแสดงจบเรื่อง
3. ขั้นที่ 3 ขั้นวิเคราะห์และอภิปรายผลการแสดง
การวิเคราะห์การแสดงมักจะเป็นไปในรูปการอภิปรายร่วมกันระหว่างผู้แสดงผู้ชมหรือผู้สังเกตการณ์ การอภิปรายจะเป็นไปในรูปใดนั้นมักขึ้นกับวัตถุประสงค์ของการเรียน บางครั้งอาจจะมีการให้ผู้แสดงได้เปิดเผยความรู้สึกและเสนอความเห็นก่อนแล้ว จึงให้ผู้ชมหรือ ผู้สังเกตการณ์เสนอความคิดเห็นการอภิปรายนี้จะต้องเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา และเน้นที่เหตุผลของการแสดงออกและพฤติกรรมที่บทแสดงออกมา โดยปกติการอภิปรายจะไม่มุ่งถึงว่าใครแสดงดีไม่ดีอย่างไร นอกจากวัตถุประสงค์ของการแสดง คือ การฝึกทักษะการแสดง การเรียนรู้ทั้งหลายจะอยู่ตรงขั้นนี้เป็นสำคัญ ครูจะต้องช่วยกระตุ้นให้คิดและหาคำตอบโดยอาจใช้วิธีการตั้งคำถามช่วย
4. ขั้นที่ 4 ขั้นแสดงเพิ่ม
หลังจากการวิเคราะห์และอภิปรายผลการแสดงแล้ว กลุ่มอาจจะเสนอแนะแนวความคิดใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาหรือตัดสินใจ หรือถ้าหากการแสดงครั้งแรกยังได้ผลไม่เป็นที่พอใจ ครูอาจจะให้มีการแสดงซ้ำ หรือเพิ่มเติมก็ได้ เมื่อดูผลอีกครั้ง หากการแสดงใหม่นี้ไม่จำเป็นครูจะสามารถข้ามไปขั้นที่ 5 ได้เลย
5. ขั้นที่ 5 ขั้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสรุป
หลังจากการอภิปรายเกี่ยวกับการแสดงแล้ว ครูควรจะกระตุ้นให้ผู้เรียนได้อภิปราย ทั่ว ๆ ไป ซึ่งโดยมากจะเป็นการเล่าประสบการณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องที่เกี่ยวข้องให้กันและกันฟัง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์นี้จะช่วยให้ผู้เรียนได้แนวความคิดกว้างขวางขึ้นและส่งเสริมให้ผู้เรียนเห็นว่าสิ่งที่เรียนนั้นเกี่ยวข้องกับความเป็นจริงจะทำให้ผู้เรียนสามารถที่จะหาข้อสรุป หรือได้แนวความคิดรวบยอดที่ตนสามารถเข้าใจได้อย่างดี
ระวีวรรณ วุฒิประสิทธิ์ (2530 : 75) อธิบายขั้นตอนการใช้บทบาทสมมติ ไว้ดังนี้
1. ขั้นเตรียมการ มีดังนี้
1.1 กำหนดขอบเขตของปัญหาว่า จะใช้บทเรียนตอนใดให้ผู้เรียนเรียนโดยใช้บทบาทสมมติ อะไรคือ ปัญหาที่ต้องการเน้น ความคิดรวบยอดที่ต้องการคืออะไร บ่งออกมาให้ชัดเจน
1.2 กำหนดสถานการณ์และบทบาทที่จะแสดง สถานการณ์สมมติต้องให้ง่ายและชัดเจน โดยครูและผู้เรียนจะร่วมมือกันในการคัดเลือกตัวผู้แสดง ผู้กำกับการแสดง การจัดฉาก ตอลดจนการเขียนบทบาทสมมติขึ้น
2. ขั้นแสดง
ผู้แสดงจะต้องรู้บทบาทของตัวเอง แสดงให้เป็นไปตามธรรมชาติ คอรบคลุมเนื้อหาของบทเรียนเพียงพอแก่การนำมาวิเคราะห์และอภิปราย สรุป
3. ขั้นวิเคราะห์และอภิปราย
ครูและผู้เรียนช่วยกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้แสดงว่า ได้แสดงท่าทางได้ถูกต้องใกล้เคียงความจริงเพียงใด ได้เนื้อหาถูกต้องหรือไม่ และการแสดงนั้นมีข้อบกพร่องหรือปัญหาอะไรบ้าง และควรจะแก้ปัญหานั้น ๆ อย่างไร
4. ขั้นสรุป
เป็นขั้นที่ผู้เรียนสรุปแนวความคิดที่ได้ภายหลังจากการแสดงบทบาทสมมติทุกครั้ง ขั้นนี้จึงเป็นขั้นที่ช่วยให้ผู้เรียนมีแนวคิดที่กว้างขวางขึ้น
ไสว ฟักขาว (2544 : 124) กล่าวว่าวิธีสอนโดยใช้บทบาทสมมติเป็นวิธีจัดการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนจากเรื่องราวที่ครูสมมติขึ้นซึ่งผู้เรียนจะได้ฝึกคิด และแสดงความรู้สึกในสถานการณ์ที่ตนเองสวมบทบาทอยู่มีขั้นตอนการสอน ประกอบด้วย
ขั้นที่ 1 : ขั้นอุ่นเครื่อง
ครูจะบอกวัตถุประสงค์ และความคาดหวังจากการเรียนรู้จากบทบาทสมมติที่สร้างขึ้น
ขั้นที่ 2 : ขั้นคัดเลือกผู้แสดง
ครูคัดเลือกผู้แสดงที่เต็มใจและมีความกล้าแสดงออกและมีแววเป็นนักแสดงที่ดีแล้วให้ทำการฝึกซ้อม
ขั้นที่ 3 : ขั้นจัดฉาก
ครูจะให้ผู้เรียนช่วยกันออกแบบฉากให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง
ขั้นที่ 4 : ขั้นเตรียมผู้สังเกตการณ์
ครูจะบอกบทบาทของผู้ชมว่าควรสังเกตอะไรบ้าง เช่น การแสดงบทบาทของผู้แสดง ข้อคิด และข้อเสนอที่ได้จากการชม
ขั้นที่ 5 : ขั้นแสดงและการตัดการแสดง
ครูให้ผู้แสดง แสดงบทบาทสมมติเป็นนักศึกษาที่ฝึกสอนและนักเรียนตามเรื่องที่กำหนด และเมื่อเวลาผ่านไปพอสมควรเมื่อเห็นว่าผู้ชมได้ข้อมูลเพียงพอแล้วจึงสั่งให้ยุติการแสดง
ขั้นที่ 6 : ขั้นอภิปรายและประเมินผล
ครูให้นักเรียนร่วมกันอภิปรายอย่างเสนีจากเรื่องที่ได้ชมการแสดงทั้งเห็นด้วยและไม่เป็นด้วยในพฤติกรรมของผู้แสดง
ขั้นที่ 7 : ขั้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสรุป
ครูให้ผู้เรียนร่วมกันอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละคนในชีวิตจริงเพื่อให้ผู้เรียนมีแนวคิดที่กว้างขวางมากขึ้นและช่วยกันสรุปเป็นข้อความรู้ที่ได้จากการเรียน
ขั้นที่ 8 : ขั้นสรุปอ้างอิง
ครูมอบหมายให้ผู้เรียนคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทของแต่ละคนในสถานการณ์ใหม่ที่ใกล้เคียงกับเรื่องที่ได้เรียนไปแล้วเพื่อจะนำไปสู่การตัดสินใจที่จะปรับปรุงพฤติกรรมที่เหมาะสมในการปฏิบัติตน
อินทิรา บุณยาทร (2542 : 99-100) อธิบายถึงขั้นตอนการสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ ดังนี้
1. ขั้นเตรียมการ
1.1 กำหนดจุดประสงค์ให้แน่ชัดว่า ต้องการให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจอะไรจากการแสดง
1.2 เตรียมสถานการณ์ให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ โดยเขียนแล้วมอบให้ผู้เรียนหรือเล่าให้ผู้เรียนฟัง ส่วนรายละเอียดให้ผู้เรียนคิดเอง
2. ขั้นดำเนินการสอน
2.1 นำเข้าสู่การแสดงบทบาทสมมติโดยกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจ เช่น โยงประสบการณ์ใกล้ตัวผู้เรียนเข้ามาในบทเรียน เล่าเรื่องราว กำหนดสถานการณ์สมมติ ฯลฯ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการแสดง และร่วมกันหาทางแก้ปัญหา
2.2 เลือกผู้แสดง
- เลือกแบบเจาะจง เช่น เลือกผู้ที่มีปัญหาออกมาแสดง เพราะรู้ดีถึงปัญหาและวิธีแก้ไข
- เลือกผู้ที่มีบุคลิกลักษณะ คุณสมบัติเหมาะสม มีความสามารถตามบทบาทที่ต้องการ
- เลือกอาสาสมัครเพื่อให้เสรีภาพแก่ผู้เรียนในการเรียนและการตัดสินใจ
2.3 เตรียมความพร้อมของผู้แสดง เมื่อเลือกผู้แสดงได้แล้ว ผู้สอนต้องให้เวลา ผู้แสดงได้เตรียมตัว โดยให้กำลังใจ ขจัดความตื่นเต้นประหม่า ฯลฯ
2.4 เตรียมจัดฉากการแสดงซึ่งต้องเป็นไปอย่างง่าย ๆ ประหยัดทั้งเวลาและทรัพยากร
2.5 เตรียมผู้ชม โดยทำความเข้าใจกับผู้ชมว่า ควรจะสังเกตอะไรบ้างจึงจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน กำหนดเป็นหัวข้อหรือจัดทำแบบสังเกตการณ์เตรียมไว้ให้พร้อมเพื่อให้ผู้ชมบันทึกพฤติกรรมและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อง ๆ ไป
2.6 เมื่อทุกฝ่ายพร้อมก็ให้เริ่มแสดง การแสดงจะต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ขัดกลางคัน
2.7 การตัดบท ผู้สอนจะต้องตัดบทหรือหยุดการแสดงเมื่อการแสดงผ่านไปพอสมควร ไม่ปล่อยให้เยิ่นเย้อ วิธีการตัดบทควรทำเมื่อ
- การแสดงให้ข้อมูลแก้ผู้ชมเพียงพอที่จะนำมาวิเคราะห์และอภิปรายได้
- สามารถเดาเหตุการณ์ต่อไปได้ถูกต้อง
- ผู้แสดงไม่สามารถแสดงต่อไปได้ เพราะความเข้าใจผิดในบทบาทและอื่น ๆ
- การแสดงยืดเยื้อ ผู้ชมหมดความสนใจ
3. ขั้นวิเคราะห์และอภิปรายผลการแสดง
ขั้นนี้เป็นขั้นที่สำคัญยิ่งในการสอน เพราะจะช่วยรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ให้กับผู้เรียนตามที่ได้สังเกตเห็นเพื่อนำมาอภิปรายจนเกิดเป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายสำหรับตนเอง ขั้นนี้ผู้สอนจะต้องเตรียมคำถามไว้เป็นแนวทางสำหรับตนเองในการที่จะกระตุ้นผู้เรียนให้คิดและอภิปรายร่วมกัน โดยมีขั้นตอนดังนี้
3.1 ชี้แจงทั้งผู้แสดงและผู้ชมว่า การอภิปรายจะเน้นที่เหตุผลและพฤติกรรมที่แสดงออกมาไม่ใช่เน้นที่ใครแสดงดีไม่ดีอย่างไร
3.2 สัมภาษณ์ความรู้สึกและความคิดของผู้แสดง
3.3 สัมภาษณ์ความรู้สึกและความคิดของผู้ชมการแสดง
3.4 ให้กลุ่มผู้แสดงและกลุ่มผู้ชมวิเคราะห์เหตุการณ์ เสนอความคิดเห็นและอภิปรายร่วมกัน
4. ขั้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสรุป
เมื่อจบการอภิปรายผู้สอนจะต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่มีส่วนสัมพันธ์ หรือเกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังเรียน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์จะช่วยทำให้ผู้เรียนได้แนวความคิดกว้างขวางขึ้นและเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนเห็นว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปนั้นเป็นเรื่องจริง ก่อให้เกิดแนวความคิดรวบยอดที่สามารถเข้าใจบทเรียนดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ สิริวรรณ ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 107-109) ได้เสนอขั้นตอนการสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติ แบ่งออกเป็น 9 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 กำหนดปัญหาหรือประเด็นที่จะนำมาสู่การแสดง การกำหนดเหตุการณ์หรือปัญหานั้นควรเลือกปัญหาที่ไม่ซับซ้อนมากนัก และควรเกี่ยวข้องเฉพาะประเด็นหรือวัตถุประสงค์เดียวเท่านั้น การกำหนดเหตุการณ์ที่ซับซ้อนและการมีวัตถุประสงค์หลาย ๆ ข้อนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไร
การกำหนดปัญหาหรือประเด็นนั้น ครูเป็นผู้กำหนดส่วนใหญ่ ครูจึงควรเข้าใจเหตุการณ์ที่จะนำมาแสดงอย่างชัดเจนพอสมควร ส่วนข้อสรุปนั้นอาจไม่จำเป็น เพราะข้อสรุปหรือตอนจบของเรื่องเป็นเรื่องของผู้แสดงว่าจะแสดงออกอย่างไร
เมื่อได้ปัญหาแล้ว ครูก็จะนำปัญหานั้นมาเสนอให้แก่ผู้เรียน อาจวิธีเล่าเหตุการณ์หรือปัญหานั้น ๆ ด้วยตนเอง หรืออาจฉายภาพยนตร์ หรือการแสดงรูปภาพประกอบการเล่าเรื่องราวนั้น หน้าที่ของครูในชั้นนี้จะต้องทำให้ประเด็นที่เสนอมานั้นกระจ่างชัดเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจและต้องเป็นความเข้าใจที่รวมกันทั้งกลุ่มด้วย
เมื่อเข้าใจเหตุการณ์และปัญหาที่จะศึกษาตรงกันแล้ว ครูและนักเรียนจะช่วยกันตีความในเรื่องราวนั้น ๆ คือ เพิ่มรายละเอียดในเหตุการณ์นั้น ๆ นั่นเอง รวมทั้งสำรวจว่าอะไรคือปัญหาของเรื่อง
จากนั้นจะช่วยกันทำนายว่าเหตุการณ์นั้น ๆ น่าจะสิ้นสุดลงอย่างไร เช่น ปัญหาของนางสาวเรวดีในเหตุการณ์นี้คืออะไรและเรวดีควรทำอย่างไร การถามคำถามเหล่านี้จะเป็น การท้าทายให้ผู้เรียนสนใจติดตามเหตุการณ์ว่าจะลงเอยในรูปใด ซึ่งก็เป็นการกระตุ้นผู้เรียนให้สนใจต่อบทเรียนนั้นเอง
ขั้นที่ 2 เลือกผู้แสดง เมื่อเข้าใจเหตุการณ์และบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น ๆ ตลอด จนบทบาทของบุคคลในเหตุการณ์นั้น ก็จะมาถึงขั้นตอนการเลือกผู้แสดง ครูและนักเรียนอาจร่วมกันเลือกผู้แสดงว่าใครควรเล่นบทบาทใด อาจให้นักเรียนผู้อาสาสมัครเองก็ได้ หรือบางครั้งครูอาจมีเงื่อนไขในการเลือกผู้แสดงเพื่อความเหมาะสมทั้งนี้ต้องแล้วแต่ครูจะวินิจฉัยเองว่าอะไรควรหรือไม่ควร
ขั้นที่ 3 จัดฉากและกำหนดขอบเขตของบทบาท การแสดงบทบาทสมมติต้องการฉากเพียงเล็กน้อย ส่วนบทนั้นจะไม่มีการเตรียมบทสนทนาอย่างเป็นทางการ บทบาทนั้นถือว่าเป็นความอิสระของผู้แสดงที่จะแสดงอะไรก็ได้ตามที่เขาคิดว่าบุคคลในเหตุการณ์นั้น ๆ ควรแสดง
ขั้นที่ 4 เตรียมผู้สังเกตการณ์ ดังได้กล่าวแล้วว่า การแสดงบทบาทสมมตินั้น ผู้เรียนจะถูกแบ่งเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายที่เป็นผู้แสดงและฝ่ายที่เป็นผู้ชม การเตรียมผู้สังเกตการณ์ของผู้ชมนั้น ครูจะต้องมอบหมายกิจกรรมระหว่างการชมบทบาทสมมติแก่ผู้สังเกตการณ์ด้วย เพื่อให้การชมบทบาทสมมติมีเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้มิได้ชมไปเฉย ๆ
ขั้นที่ 5 แสดง เมื่อเตรียมการพร้อมแล้ว ผู้แสดงทุกคนแสดงตามบทที่ได้รับมอบหมายโดยการแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตนออกมาอย่างเต็มที่เหมือนเช่นตนเองอยู่ในเหตุการณ์นั้น จริง ๆ หรือสวมวิญญาณของบุคคลนั้นอยู่ การแสดงอารมณ์ ทัศนคติ การตัดสินใจ และอื่น ๆ อย่างจริงจังของผู้แสดงจะทำให้การเรียนได้ผลดี เพราะทั้งผู้แสดงและผู้ชมจะเข้าใจเหตุการณ์และการแสดงออกของบุคคลในเหตุการณ์มากขึ้น
ขั้นที่ 6 อภิปรายและการประเมินผล ถ้าปัญหาหรือเหตุการณ์ที่หยิบยกขึ้นมาแสดงเป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจ ตลอดจนผู้แสดงและผู้ชมก็เป็นกลุ่มผู้เรียนที่มีความสามารถและมีอารมณ์ร่วมในเหตุการณ์แล้วนั้น การอภิปรายจะได้ผลมาก โดยที่การอภิปรายนั้นส่วนใหญ่จะแบ่งเป็นกลุ่มย่อย โดยอาจแบ่งกลุ่มโดยให้ผู้แสดงทั้งหมดอยู่กลุ่มเดียวกันและผู้สังเกตการณ์อาจมีอีก 1 -3 กลุ่ม หรืออาจแบ่งโดยให้ทุกกลุ่มมีทั้งผู้แสดงและผู้สังเกตการณ์แต่จะมีทั้งหมดกี่กลุ่มแล้วแต่ความเหมาะสม และแสดงความคิดต่อบทบาทที่ผู้แสดงแสดงจบไปแล้ว อาจมีทั้งเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยทั้งนี้แล้วแต่เหตุผลของผู้อภิปราย ผู้แสดงก็มีโอกาสที่จะแสดงเหตุผล ทัศนคติของตนก็ได้ว่าทำไมจึงแสดงบทบาทหรือมีความรู้สึกเช่นนั้น การอภิปรายจะช่วยให้เกิดความคิดกว้างไกลขึ้น
ขั้นที่ 7 แสดงเพิ่มเติม ควรจะมีการแสดงเพิ่มเติมเพื่อให้เหตุการณ์นั้นมีทางออกนอกเหนือจากที่แสดงไปแล้ว เช่น บางครั้งเมื่ออภิปรายจบลง กลุ่มอภิปรายเห็นทางออกของเหตุการณ์นั้น หรือมีวิธีการแก้ปัญหาในแนวใหม่ อาจแสดงเพิ่มเติม เพื่อดูผลว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเป็นทางออกใหม่
ขั้นที่ 8 อภิปรายและประเมินผลอีกครั้ง เมื่อการแสดงเพิ่มเติมจบลง กลุ่มจะอภิปรายและประเมินผลอีกครั้งเกี่ยวกับการแสดงนั้น อาจมีการเปรียบเทียบผลที่ได้จากการแสดงครั้งแรกและครั้งหลังว่าต่างกันอย่างไร พร้อมกันนั้นก็จะหาข้อสรุป ซึ่งข้อสรุปดังกล่าวย่อมเป็นข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับ
ขั้นที่ 9 แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสรุปเป็นหลักการ ในขั้นนี้จะเป็นการสรุปเรื่องราวที่ได้ศึกษาไป โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อาจให้ผู้แทนแต่ละกลุ่มออกมาสรุปผลการอภิปรายของกลุ่มตนว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้จะทำให้ผู้เรียนกลุ่มอื่น ๆ มีความคิดกว้างขึ้น จากนั้นจะนำความคิดและข้อสรุปจากการศึกษาไปสัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่เป็นจริงอยู่ในสังคม อาจได้เป็นหลักการออกมา ซึ่งเป็นหลักการที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของบุคคลในสังคมนั่นเอง
เทคนิคและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในการใช้วิธีสอนโดยการใช้การแสดงบทบาทสมมติ
ให้มีประสิทธิภาพ
ทิศนา แขมมณี (2550 : 359-360) กล่าวถึงการสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติว่ามีเทคนิคและข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. การเตรียมการ ผู้สอนกำหนดวัตถุประสงค์เฉพาะให้ชัดเจน และสร้างสถานการณ์และบทบาทสมมติที่จะช่วยสนองวัตถุประสงค์นั้น สถานการณ์และบทบาทสมมติที่กำหนดขึ้นควรมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริง ส่วนจะมีรายละเอียดมากน้อยเพียงใดขึ้นกับวัตถุประสงค์ ผู้สอนอาจใช้บทบาทสมมติแบบละคร ซึ่งจะกำหนดเรื่องราวให้แสดงแต่ไม่มีบทให้ ผู้สวมบทบาทจะต้องคิดแสดงเอง หรืออาจใช้บทบาทสมมติแก้ปัญหา ซึ่งจะกำหนดสถานการณ์ที่มีปัญหาหรือความขัดแย้งและอาจให้ข้อมูลเพิ่มเติมมากบ้าง น้อยบ้าง ซึ่งผู้สวมบทบาทจะใช้ข้อมูลเหล่านั้นในการแสดงออกและแก้ปัญหาตามความคิดของตน
2. การเริ่มบทเรียน ผู้สอนสามารถกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนได้หลายวิธี เช่น โยงประสบการณ์ใกล้ตัวผู้เรียน หรือประสบการณ์ที่ผู้เรียนไดรับจากการเรียนครั้งก่อน ๆ เข้าสู่เรื่องที่จะศึกษา หรืออาจใช้วิธีเล่าเรื่องราวหรือสถานการณ์สมมติที่เตรียมมาแล้วทิ้งท้ายด้วยปัญหา เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากคิด อยากติดตาม หรืออาจใช้วิธีชี้แจงให้ผู้เรียนเห็นประโยชน์จาก การเข้าร่วมแสดง และช่วยกันคิดแก้ปัญหา
3. การเลือกผู้แสดง ควรเลือกให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของการแสดง เช่น เลือก ผู้แสดงที่มีลักษณะเหมาะสมกับบทบาท เพื่อช่วยให้การแสดงเป็นไปอย่างราบรื่นตามวัตถุประสงค์ได้อย่างรวดเร็ว หรือเลือกผู้แสดงที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับบทบาทที่กำหนดให้เพื่อช่วยให้ผู้เรียนคนนั้นได้รับประสบการณ์ใหม่ ได้ทดลองแสดงพฤติกรรมใหม่ ๆ และเกิดความเข้าใจในความรู้สึกและพฤติกรรมของผู้ที่มีลักษณะต่างไปจากตน หรืออาจให้ผู้เรียนอาสาสมัคร หรือเจาะจงเลือกคนใดคนหนึ่ง ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการช่วยให้บุคคลนั้นเกิดการเรียนรู้ เมื่อได้ ผู้แสดงแล้ว ควรให้เวลาผู้แสดงเตรียมการแสดง โดยอาจให้ฝึกซ้อมบ้างตามความจำเป็น
4. การเตรียมผู้สังเกตการณ์ หรือผู้ชม ผู้สอนควรเตรียมผู้ชม และทำความเข้าใจกับผู้ชมว่า การแสดงบทบาทสมมตินี้ จัดขึ้นมิใช่มุ่งที่ความสนุก แต่มุ่งที่จะให้เกิดการเรียนรู้เป็นสำคัญ ดังนั้นจึงควรชมด้วยความสังเกต ผู้สอนควรให้คำแนะนำว่าควรสังเกตอะไรและควรบันทึกข้อมูลอย่างไร และผู้สอนอาจจัดทำแบบสังเกตการณ์ให้ผู้ชมใช้ในการสังเกตด้วยก็ได้
5. การแสดง ก่อนการแสดงอาจมีการจัดฉากการแสดงให้ดูสมจริง ฉากการแสดงอาจเป็นฉากง่าย ๆ หรืออาจจะจัดให้ดูสวยงาม แต่ไม่ควรจะใช้เวลามาก และควรคำนึงถึงความประหยัดด้วย เมื่อทุกฝ่ายพร้อมแล้ว ผู้สอนให้เริ่มการแสดง และสังเกตการแสดงอย่างใกล้ชิด ไม่ควรมีการขัดการแสดงกลางคัน นอกจากกรณีที่มีปัญหาเมื่อการแสดงออกนอกทาง ผู้สอนอาจจำเป็นต้องให้คำแนะนำบ้าง เมื่อการแสดงดำเนินไปพอสมควรแล้ว ผู้สอนควรตัดบท ยุติ การแสดง ไม่ควรให้การแสดงยืดยาว เยิ่นเย้อจะทำให้ผู้ชมเกิดความเบื่อหน่ายการตัดบทควรทำเมื่อเห็นว่าการแสดงได้ให้ข้อมูลแก่กลุ่มเพียงพอที่จะนำมาวิเคราะห์และอภิปรายเพื่อให้เกิด การเรียนรู้ตรงตามวัตถุประสงค์ หรือตัดบทเมื่อการแสดงเริ่มยืดเยื้อ หรือเมื่อผู้ชมพอจะเดาได้ว่า เรื่องราวจะดำเนินต่อไปอย่างไร หรือในกรณีที่ผู้แสดงเกิดอารมณ์สะเทือนใจมากเกินไปจนแสดงต่อไปไม่ได้ ควรตัดบททันที
6. การวิเคราะห์อภิปรายผลการแสดง ขั้นนี้เป็นขั้นสำคัญมาก เพราะเป็นขั้นที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ชัดเจนตามวัตถุประสงค์ เทคนิคที่จำเป็นสำหรับการอภิปรายในช่วงนี้มีหลายประการ ที่สำคัญ คือ การสัมภาษณ์ความรู้สึกและความคิดของผู้แสดงและจดบันทึกไว้บนกระดานต่อจากนั้นจึงสัมภาษณ์ผู้ชมหรือผู้สังเกตการณ์ถึงข้อมูลที่สังเกตได้ผู้สอนควรจดบันทึกข้อมูลเหล่านี้บนกระดาน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเห็นประเด็นในการอภิปรายและสรุป ต่อจากนั้น จึงให้ทุกฝ่ายร่วมกันอภิปราย แสดงความคิดเห็น และสรุปประเด็นการเรียนรู้ สิ่งสำคัญมากที่ผู้สอนพึงคำนึงในการอภิปรายก็คือ การให้ผู้เรียนแสดงบทบาทสมมติเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะใช้บทบาทเป็นเครื่องมือในการดึงความรู้สึกนึกคิด การรับรู้ เจตคติ หรืออคติต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ในส่วนลึกของผู้แสดงออกมาเพื่อเป็นข้อมูลในการเรียนรู้ ดังนั้นการอภิปรายจึงต้องมุ่งเน้นและอภิปรายในเรื่องของพฤติกรรมที่ผู้สวมบทบาทแสดงออก และความรู้สึกที่เป็นเหตุผลักดันให้เกิดการแสดงพฤติกรรมนั้นออกมา การซักถาม จึงควรมุ่งประเด็นไปที่ว่าผู้แสดงได้แสดงพฤติกรรมอะไรบ้าง ทำไมจึงแสดงพฤติกรรมเช่นนั้น และพฤติกรรมนั้นก่อให้เกิดผลอะไรตามมา การอภิปรายไม่ควรมุ่งประเด็นไปที่การแสดงของผู้สมบทบาทว่า แสดงได้ดี – ไม่ดี เพียงใด เพราะนอกจากจะเป็นการอภิปรายที่ผิดกับวัตถุประสงค์แล้ว ยังอาจทำให้ผู้แสดงเสียความรู้สึกได้
ในกรณีที่การอภิปรายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และผู้เรียนเสนอแนะแนวคิดและแนวทางอื่น ๆ เพิ่มเติมแตกต่างไปจากที่ผู้สวมบทบาทแสดง ผู้สอนอาจให้มีการแสดงและ การอภิปรายเพิ่มเติม และสรุปบทเรียนอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ บุญชม ศรีสะอาด (2541: 62) ยังได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติ ไว้ดังนี้
1. ผู้สอนควรชี้แจงจุดประสงค์ของการแสดงบทบาทสมมติ และสิ่งที่ต้องการให้ผู้สังเกตการศึกษาจากการแสดงบทบาทสมมตินั้น
2. ผู้สอนต้องเตรียมสถานการณ์ และมีคำอธิบายสถานการณ์ให้ชัดเจนสำหรับผู้ที่ จะแสดงบทบาทแต่ละคน ซึ่งจะต้องจดจำสถานการณ์ที่ตนจะต้องแสดงบทบาทไว้ให้แม่นยำ มีความเข้าใจในบทบาทของตนอย่างรู้แจ้งสถานการณ์และบทบาทที่กำหนดมักพิมพ์ลงในแผ่นกระดาษเพื่อมอบให้ผู้แสดงบทบาทได้ศึกษา
3. ควรให้เวลาในช่วงสั้น ๆ สำหรับผู้ที่จะแสดงบทบาทสมมติได้ประมวลความคิดซักซ้อมและเตรียมการ
4. ในการแสดงบทบาทสมมติจะต้องมีบรรยากาศที่เสรีและความรู้สึกปลอดภัย
5. อาจมีการปรับปรุงและแสดงกิจกรรมบางตอนใหม่
6.หลังจากการแสดงบทบาทสมมติควรมีการอภิปรายถึงพฤติกรรมที่แสดง และประเมินผลการปฏิบัติของผู้เรียน โดยใช้คำถามต่อไปนี้
6.1 แต่ละคนแสดงบทบาทได้สมจริงเพียงใด
6.2 มีความแตกต่างของบทบาทที่แสดงในทางใด
6.3 การแสดงบทบาทเปลี่ยนแปลงความคิดของท่านเกี่ยวกับตัวละครที่แสดงอย่างไร
6.4 อะไรคือจุดประสงค์ของการแสดงบทบาทสำหรับบทเรียนนี้
ข้อดีและข้อจำกัดของวิธีสอนโดยใช้บทบาทสมมติ
นักวิชาการหลายท่านได้กล่าวว่าการสอนโดยใช้บทบาทสมมติเป็นวิธีสอนที่มีทั้งข้อดีและข้อจำกัดหลายประการด้วยกัน ซึ่งจะกล่าวไว้ดังนี้
บุญชม ศรีสะอาด (2541 : 61-62) กล่าวว่า การสอนโดยใช้บทบาทสมมติมีข้อดีและจำกัด ดังนี้
ข้อดี
1. ช่วยให้เกิดความเข้าใจว่าคนอื่นอาจคิด รู้สึก และปฏิบัติอย่างไร เห็นอกเห็นใจคนอื่น
2. ใช้ช่วยในการเปลี่ยนแปลงเจตคติ
3. ผู้เรียนได้รับการเตรียมสำหรับสถานการณ์จริงที่จะเผชิญ
4. กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
5. สามารถใช้พัฒนาทักษะทางสังคม
6. ใช้ในการสอนหรือประเมินผลการเรียนรู้ด้านจิตพิสัย หรือทั้งสองประการ
7. ผู้แสดงบทบาทเรียนรู้การจัดระบบความคิด และการตอบสนองโดยฉับพลัน
8. ฝึกการใช้ระบบสื่อสารจากการปฏิบัติมากกว่าจากการใช้ถ้อยคำ
ข้อจำกัดหรือจุดด้อย
1. ใช้เวลามาก
2. นักเรียนเก่งมักผูกขาดสถานการณ์
3. ผู้ที่ขาดทักษะที่จำเป็น เช่น เป็นคนขี้อาย พูดติดอ่าง จะรู้สึกไม่สบายใจและเป็นปัญหามาก
4. ผู้เรียนบางคนไม่สามารถแสดงบทบาทตามกำหนดได้
5. ถ้าไม่สามารถเชื่อมโยงการแสดงบทบาทสมมติกับบทเรียนให้กับผู้เรียนได้ก็จะทำกิจกรรมทั้งหมดนี้ด้อยคุณค่า
สามารถ คงสะอาด (2535 : 52) กล่าวถึงข้อดีและข้อจำกัดของการสอนแบบบทบาทสมมติ ไว้ดังนี้
ข้อดี
1. ฝึกให้นักเรียนได้แสดงออกในทางที่เหมาะสม
2. ช่วยให้นักเรียนมีทักษะมีไหวพริบ และกล้าที่จะตัดสินใจ
3. ช่วยให้นักเรียนมีใจกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นคนอื่น
4. ทำให้บทเรียนสนุกสนาน มีชีวิตชีวา
5. เป็นการเรียนที่นักเรียนได้มีส่วนร่วม
ข้อจำกัด
1. เนื่องจากการสอนแบบบทบาทสมมติจะต้องใช้ผู้แสดงนั้น ถ้าครูกำหนดนักเรียนไม่เหมาะกับบท ก็จะได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร หรือบางครั้งอาจจะเสียเวลามากเกินความจำเป็น เช่น ในกรณีที่เด็กขี้อายไม่กล้าแสดงนั้นครูจะต้องพิจารณาผู้แสดงด้วย
2. การวิจารณ์หลังการแสดง ถ้าครูไปวิจารณ์ตัวบุคคล จะทำให้นักเรียนเกิดความน้อยใจ และจะไม่กล้าแสดงในคราวต่อไป
อาภรณ์ ใจเที่ยง (2550 : 163) อธิบายถึงข้อดีและข้อจำกัดของวิธีสอนโดยใช้บทบาทสมมติ คือ
ข้อดี
1. ส่งเสริมให้บทเรียนน่าสนใจ และผ่อนคลายความเครียด
2. สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึก อารมณ์ และเจตคติของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี
3. สร้างเสริมความสามัคคี และช่วยให้เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้ดีขึ้น
4. ช่วยฝึกฝนแก้ปัญหาและการตัดสินใจของผู้เรียน
5. ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในสิ่งที่เรียนได้ลึกซึ้งขึ้น
6. ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการปรับหรือเปลี่ยนเจตคติและพฤติกรรม รวมทั้งปฏิบัติตนในสังคมได้เหมาะสม
ข้อจำกัด
1. วิธีสอนโดยใช้บทบาทสมมติต้องใช้เวลามาก โดยเฉพาะในขั้นอภิปราย ผู้สอนจึงควรวางแผนและเตรียมการให้รัดกุม
2. วิธีสอนโดยใช้บทบาทสมมติอาจพบปัญหาในเรื่องการควบคุมชั้น ห้องเรียนมักจะเกิดความวุ่นวายสับสนอันเนื่องมาจากการจัดกิจกรรมการแสดง ผู้สอนต้องวางแผนให้รัดกุม และพยายามฝึกระเบียบวินัยให้ผู้เรียนตั้งแต่ในระยะแรก
อินทิรา บุณยาทร (2542 : 100-101) กล่าวว่าข้อดีและข้อจำกัดของวิธีสอนแบบบทบาทสมมติ มีดังนี้
ข้อดี
1. ส่งเสริมบทเรียนให้สนุกสนานเพลิดเพลิน
2. ทำให้เข้าใจเรื่องราวรายละเอียดในเนื้อเรื่องได้ดี
3. ช่วยในการเปลี่ยนแปลงเจตคติ เกิดความคิดสร้างสรรค์
4. ช่วยฝึกฝนการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ
ข้อจำกัด
1. ใช้เวลามาก
2. ผู้เรียนบางคนไม่สามารถแสดงบทบาทตามที่กำหนดไว้
3. มีปัญหาในเรื่องคุมชั้นเรียน ผู้เรียนจะสับสนวุ่นวายในการจัดเตรียมกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้ผู้สอนมีภาระเพิ่มขึ้น
ทิศนา แขมมณี (2550 : 361) อธิบายถึงข้อดีและข้อจำกัดของวิธีสอนโดยใช้บทบาทสมมติ ไว้ดังนี้
ข้อดี
1. เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจความรู้สึกและพฤติกรรมของผู้อื่น ได้เรียนรู้การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง
2. เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจ และเกิดการเปลี่ยนแปลงเจตคติและพฤติกรรมของตน
3. เป็นวิธีสอนที่ช่วยพัฒนาทักษะในการเผชิญสถานการณ์ ตัดสินใจและแก้ปัญหา
4. เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้การเรียนการสอนมีความใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริง
5. เป็นวิธีสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนมาก ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน และการเรียนรู้มีความหมายสำหรับผู้เรียน เพราะข้อมูลมาจากผู้เรียนโดยตรง
ข้อจำกัด
1. เป็นวิธีสอนที่ใช้เวลามากพอสมควร
2. เป็นวิธีสอนที่ต้องอาศัยการเตรียมการและการจัดการอย่างรัดกุม หากจัดการไม่พอดี อาจเกิดความยุ่งยากสับสนขึ้นได้
3. เป็นวิธีสอนที่ต้องอาศัยความไวในการรับรู้ (sensitivity) ของผู้สอน หากผู้สอนขาดคุณสมบัตินี้ไม่รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนบางคน และไม่ได้แก้ปัญหาแต่ต้น อาจเกิดเป็นปัญหาต่อเนื่องไปได้
4. เป็นการสอนที่ต้องอาศัยความสามารถของครูในการแก้ปัญหา เนื่องจากการแสดงของผู้เรียนอาจไม่เป็นไปตามความคาดหมายของผู้สอน ผู้สอนจะต้องสามารถแก้ปัญหาหรือปรับสถานการณ์และประเด็นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้
นอกจากนี้ สุพิน บุญชูวงศ์ (2544 :67) ยังได้กล่าวถึงข้อดีของการสอนโดยใช้บทบาทสมมติ ไว้คือ
ข้อดี
1. ส่งเสริมบทเรียนให้สนุกสนานเพลิดเพลิน
2. ทำให้เข้าใจเรื่องราวรายละเอียดในเนื้อเรื่องได้ดี
3. ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ สังคม มีความรับผิดชอบร่วมกัน
สิริวรรณ ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 111) กล่าวไว้เฉพาะข้อจำกัดของการสอนโดยใช้บทบาทสมมติว่าการแสดงบทบาทบางครั้งใช้เวลามาก และครูต้องมีภาระเพิ่มขึ้น บางครั้งต้องมีการฝึกซ้อมเรียนแสดง ผู้เรียนย่อมเข้าใจความต้องการ อารมณ์ ความรู้สึก ผลประโยชน์ตลอดจนความขัดแย้งของกลุ่มบุคคลที่เขาสวมบทบาทนั้น ๆ อยู่
ปัญหาทางประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ปัจจุบัน เหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในอดีตหรือในปัจจุบันก็ตาม ซึ่งถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญ ๆ ถ้าผู้เรียนได้รับการสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติแล้วผู้เรียนจะเข้าใจว่าผู้วางนโยบาย นักการเมือง ข้าราชการ ตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้อง คิดอย่างไร ตัดสินใจอย่างไรต่อเหตุการณ์นั้น
นอกจากเหตุการณ์หรือปัญหาที่ยกมากล่าวบ้างแล้ว ยังมีเหตุการณ์หรือปัญหาอีกมากที่น่าสนใจแต่ทั้งนี้ผู้สอนต้องประเมินว่าเหตุการณ์นั้น ๆ จะส่งเสริมหรือพัฒนาเจตคติของผู้เรียนได้มากน้อยเพียงใด
บทบาทของผู้สอนในการสอนโดยใช้บทบาทสมมติ
สิริวรรณ ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 111) กล่าวถึงบทบาทของผู้สอนไว้ว่า ความสำเร็จของการสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติประการหนึ่งขึ้นอยู่กับผู้สอน ในฐานะที่ผู้สอนเป็นผู้จัดการ ในการวางแผนการเรียนการสอน บทบาทและหน้าที่ของผู้สอนในการทำให้การสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติมีประสิทธิภาพ คือ
1. กำหนดเหตุการณ์หรือปัญหา ซึ่งโดยทั่วไปเป็นหน้าที่ของผู้สอน เมื่อกำหนดปัญหาแล้วจะนำไปเสนอแก่ผู้เรียนรวมทั้งเลือกตัวผู้แสดงด้วย สำหรับกรณีนี้เป็นการแสดงบทบาทสมมติที่ต้องเตรียมตัวมาก่อน
2. เป็นผู้สรุปบทเรียน ภายหลังจากการอภิปรายสิ้นสุดลง
3. เป็นผู้คอยช่วยเหลือในระหว่างปฏิบัติกิจกรรมการเรียนการสอน
4. ผู้สอนจะต้องยอมรับพฤติกรรมหรือบทบาทที่ผู้เรียนแสดงออกไม่มีการประเมินกิริยาหรือบทบาทต่างๆ ซึ่งถือเป็นเสรีภาพของผู้แสดง
5. ช่วยผู้เรียนหาข้อสรุปและเลือกทางออก
6. ช่วยส่งเสริมและให้กำลังใจแก่ผู้เรียนในการหาทางออกหรือการแสดงบทบาทสมมติ
7. ช่วยชี้ประเด็นที่สำคัญ ๆ ในการเรียน
8. เสนอแนวทางการนำความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องที่เรียนไปแล้วกับเหตุการณ์ที่เกิดจริงในสังคม
การเรียนการสอนวิชาต่าง ๆ วิชาที่เหมาะสมสำหรับการสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติ ได้แก่ วิชาสังคมศึกษา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือวิชาที่ต้องการพัฒนาเจตคติให้แก่ผู้เรียน แต่อาจเลือกสอนเพียงบางบทเรียนที่เหมาะสมกับการใช้วิธีการนี้
ประโยชน์ของการสอนโดยใช้บทบาทสมมติ
เสริมศรี ลักษณศิริ (2540 : 261-262) อธิบายถึงประโยชน์ของการใช้บทบาทสมมติในการเรียนการสอนว่าบทบาทสมมตินับว่าเป็นเครื่องมือและวิธีการอย่างหนึ่งที่ช่วยในการสอนได้มาก โดยเฉพาะในด้านการสอนสังคมศึกษา และการอบรมระเบียบวินัย คุณธรรม ครูสามารถนำบทบาทสมมติไปช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ หลายด้าน ดังนี้
1. ช่วยให้ผู้เรียนได้เข้าใจว่าพฤติกรรมมีสาเหตุ การที่ให้ผู้เรียนได้แสดงบทบาทต่าง ๆ ที่ถูกจำกัดอยู่ในสภาพการณ์ต่าง ๆ จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจถึงสาเหตุต่าง ๆ ที่ผลักดันให้ต้องแสดงพฤติกรรมใด ๆ ออกไป ความเข้าใจนี้จะช่วยให้ผู้เรียนไม่ด่วนตัดสินใจอะไรง่าย ๆ ก่อนที่จะพิจารณาถึงสาเหตุ นอกจากนั้นยังจะช่วยให้ผู้เรียนได้แนวทางในการแก้ปัญหาให้ตรงจุดอีกด้วย
2. ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น การที่ให้ผู้เรียนได้สวมบทบาทของผู้อื่นจะช่วยให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ว่า ผู้อื่นมีความคิดและความรู้สึกอย่างไรความเข้าใจนี้จะช่วยให้ผู้เรียนรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา
3. ช่วยลดความรู้สึกตึงเครียดของผู้เรียน ในบางครั้งผู้เรียนอาจจะมีความรู้สึกรุนแรง ในใจหลายประการที่ไม่สามารถแสดงออกมาได้ ครูอาจใช้บทบาทสมมติเป็นเครื่องมือในการช่วยให้ผู้เรียนได้ระบายความรู้สึกนั้น ๆ ออกมาเป็นการช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของผู้เรียนลง ได้บ้าง
4. ช่วยให้ครูได้เรียนรู้ถึงความต้องการของผู้เรียน ในกรณีที่ผู้เรียนไม่สามารถจะบอกความต้องการของตนออกมาได้ ครูอาจจัดบทบาทสมมติให้ผู้เรียนได้แสดง ซึ่งผู้เรียนอาจจะเปิดเผยความต้องการของตนออกมาโดยไม่รู้ตัว
5. ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาความรู้สึกเกี่ยวกับตนเองในทางที่ดี การให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสำรวจตนเองและเรียนรู้เกี่ยวกับผู้อื่น โดยใช้บทบาทสมมติเป็นเครื่องมือจะช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจตนเองมากขึ้น และพัฒนาความรู้สึกที่ดีกับตนเอง สิ่งนี้นับว่าเป็นพื้นฐานของ ความเจริญงอกงามทางจิตใจอันจะช่วยให้บุคคลนั้นดำรงชีพอยู่อย่างปกติสุข และสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
6. ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสำรวจค่านิยมของตน และหาหลักยึดเหนี่ยวใน การดำรงชีวิตของตน ในขณะที่ผู้เรียนแสดงบทบาทสมมติอยู่นั้น ผู้เรียนจะมีพฤติกรรม การตัดสินใจที่แสดงให้เห็นถึงค่านิยมของตน การที่มีโอกาสได้แสดง อภิปราย และวิเคราะห์ถึงค่านิยมเหล่านั้นจะช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจในตนเองมากขึ้น
7. ช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามัคคีในกลุ่มให้ดีขึ้นในการทำงานร่วมกัน สมาชิกในกลุ่มมักจะมีปัญหาขัดแย้งกันอยู่บ้าง ความขัดแย้งนี้ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันและเกิดความแตกแยกกันในหมู่คณะ วิธีการบทบาทสมมตินี้สามารถนำมาใช้ทำให้คนในกลุ่มเกิดความเข้าใจกันและมีความสามัคคีปรองดองกัน
8. ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนในสังคม มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตนให้เหมาะสมในสังคมจึงเป็นสิ่งจำเป็น บทบาทสมมติจะช่วยให้การเรียนรู้นี้เป็นจริงและสนุกสนานยิ่งขึ้น
9. ช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ บทบาทสมมติแทบทุกบทบาทมักจะมีสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งแฝงอยู่ ผู้แสดงจะต้องใช้วิจารณญาณและไหวพริบใน การแก้ปัญหา จึงนับว่าวิธีการนี้ช่วยฝึกเรื่องการแก้ปัญหาและการตัดสินใจได้อย่างดี
การนำการสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติไปใช้
สิริวรรณ ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 110) กล่าวถึงการนำการสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องคำนึงถึง สิ่งต่อไปนี้
1. วัตถุประสงค์ การสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติจะมีประสิทธิภาพและได้ผลดีต่อผู้เรียน ถ้าผู้สอนต้องการให้ผู้เรียนได้พัฒนาในด้านเจตคติ เช่น เป็นบุคคลที่มีความเห็นใจผู้อื่น มีความเมตากรุณา ฯลฯ บทเรียนที่เหมาะสมกับการสอนดังกล่าวจะเป็นบทเรียนที่เกี่ยวกับปัญหาสังคม พฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม ฯลฯ ดังนั้น การวิเคราะห์วัตถุประสงค์ และเนื้อหาที่จะสอนในตอนแรกของผู้สอนจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะถ้าวัตถุประสงค์และเนื้อหาเอื้อต่อธรรมชาติของการสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติแล้ว การเรียนการสอนในบทเรียนจะมีความหมายต่อผู้เรียนมาก
2. การเลือกเหตุการณ์หรือปัญหา ความสำเร็จของวิธีการสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติขึ้นอยู่กับการเลือกเหตุการณ์หรือปัญหาที่จะนำมาศึกษา การเลือกเหตุการณ์หรือปัญหานั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เป็นต้นว่า
- อายุของผู้เรียน ผู้เรียนอายุต่าง ๆ กันย่อมมีระดับความเข้าใจและวิธีการแสดงบทบาทต่าง ๆ กันด้วย เช่น กลุ่มผู้เรียน อายุ 8 – 10 ปี ย่อมมีความเข้าใจไม่มากนักในบทบาทหรือพฤติกรรมของบุคคลประเภทที่เขาไม่มีประสบการณ์มาก่อน
- วัฒนธรรมและความเคยชิน เหตุการณ์ที่เลือกมาศึกษาควรเป็นเหตุการณ์ที่ผู้เรียนจะเข้าใจดีและมีความคุ้นเคย เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง หรือพฤติกรรมของกลุ่มคนในเมืองหลวงย่อมเป็นที่เข้าใจยากของผู้เรียนที่อยู่ในชนบท ความเหมาะสมข้อนี้อยู่ที่วิจารณญาณของผู้สอน
- ความยากง่ายของเหตุการณ์ ทั้งนี้พิจารณาความเหมาะสมของวัยและประสบการณ์ของผู้เรียน
- คุณค่าเชิงเจตคติ เหตุการณ์ที่เลือกมาศึกษานั้นต้องเป็นเหตุการณ์ที่ให้ข้อคิดหรือพัฒนาเจตคติของผู้เรียนมากพอสมควร ถ้าเหตุการณ์ที่เสนอไปอย่างไม่มีคุณค่าในด้านเจตคติเลย การเรียนการสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติย่อมไม่มีประโยชน์ต่อผู้เรียน
- ประสบการณ์ของผู้เรียนเกี่ยวกับวิธีการสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติ ถ้าเป็นกลุ่มผู้เรียนที่ไม่เคยได้รับการสอนแบบนี้มาก่อน ก็ควรเลือกเหตุการณ์ที่ไม่ซับซ้อนหรือเข้าใจยากมาศึกษาก่อน เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น เหตุการณ์ที่นำมาเสนออาจเพิ่มความยากหรือท้าทายให้คิดมากกว่าเดิมได้
ปัจจัยดังกล่าวจะเป็นแนวทางในการเลือกเหตุการณ์หรือปัญหาที่นำมาศึกษาได้อย่างเหมาะสม
สำหรับเหตุการณ์ที่นำมาศึกษานั้น ดังได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคม พฤติกรรมของบุคคลในสังคม นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับข้อต่อไปนี้ที่ควรนำมาพิจารณาเพื่อจะสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติอีกด้วย กล่าวคือ
1. ความขัดแย้งระหว่างบุคคล การแสดงบทบาทสมมติจะช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้เกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคล เข้าใจถึงพฤติกรรมของบุคคลนั้น เข้าใจถึงผลประโยชน์ที่บุคคลพิทักษ์และหวงแหนจนเกิดความขัดแย้งขึ้น และยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคของการขจัดความขัดแย้งนั้น ๆ ด้วย
2. ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างชนกลุ่มน้อยกับชนกลุ่มใหญ่ กลุ่มชาติพันธุ์นานา ที่ปรากฏในประเทศ ความสัมพันธ์ของกลุ่มชนอาจมีทั้งทางบวกและทางลบ การสอนให้ผู้เรียนเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมโดยวิธีการแสดงบทบาทสมมติจะเป็นวิธีการสอนที่เหมาะสมที่สุด
อาภรณ์ ใจเที่ยง (2550 : 164-165) กล่าวถึงการนำวิธีสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติไปใช้ ผู้สอนควรคำนึงถึงข้อต่อไปนี้
1. จุดประสงค์การสอนเป็นการสอนที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนในด้านเจตคติ เช่น การเห็นใจผู้อื่น การมีความเมตตากรุณา ฯลฯ บทเรียนที่เหมาะสมเป็นบทเรียนที่เกี่ยวกับพัฒนาสังคม พฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม ดังนั้น ผู้สอนจึงต้องวิเคราะห์จุดประสงค์และเนื้อหา ถ้าเข้าเกณฑ์นี้ การสอนโดยให้แสดงบทบาทสมมติจะมีความหมายต่อผู้เรียนมาก
2. ผู้สอน ผู้สอนต้องทำความเข้าใจให้กระจ่างกับขั้นตอนการสอน เพื่อให้การสอนมีคุณค่าต่อผู้เรียน เช่น การเลือกปัญหาหรือเหตุการณ์มาศึกษา การเตรียมสถานการณ์ การเขียนบทบาทสมมติ และการวิเคราะห์อภิปราย ถ้าผู้สอนขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง การสอนจะไม่บรรลุผลดังประสงค์
3. เวลา การสอนแบบนี้ต้องใช้เวลามาก ผู้สอนต้องวางแผนโดยอาจให้ผู้เรียนศึกษาเนื้อหามาก่อนจากบ้าน จะช่วยลดเวลาได้บ้าง
4. วิชา วิชาที่เหมาะสมกับการสอนแบบนี้ ได้แก่ กลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัยในระดับประถมศึกษา วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา หรือวิชาที่ต้องการพัฒนาเจตคติให้แก่ผู้เรียน โดยผู้สอนอาจเลือกเพียงบางบทเรียนที่เหมาะสมกับการใช้วิธีการนี้
5. วิธีสอนแบบนี้ใช้ได้กับผู้เรียนทุกระดับชั้น
สรุปท้ายบท
วิธีสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ หมายถึง การสอนที่ผู้สอนสร้างสถานการณ์และบทบาทสมมติขึ้นมาที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง โดยให้ผู้เรียนเป็นผู้แสดงบทบาทสมมตินั้นๆ ตามวัตถุประสงค์ที่ผู้สอนได้กำหนดไว้ เพื่อให้ผู้เรียนได้แสดงออกทางด้านความรู้ ความคิด ที่คิดว่าตนควรจะแสดงออก ซึ่งการสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ มุ่งฝึกการทำงานร่วมกัน กล้าคิด กล้าแสดงออกในการแก้ปัญหา การตัดสินใจ ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในเนื้อมากยิ่งขึ้น ลดความตึงเครียด เพราะเป็นการสอนที่ใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด
ลักษณะสำคัญของการสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติจะเป็นการสอนแบบที่กำหนดให้ผู้เรียนแสดงบทบาทตามที่สมมติขึ้นเทียบเคียงกับสภาพที่เป็นจริง ตามลักษณะที่ผู้แสดงบทบาทเข้าใจ เพื่อให้ผู้ดูเกิดความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น หลักสำคัญของการสอนแบบนี้ คือ ผู้สอนจะสร้างปัญหาเพื่อให้ผู้เรียนได้คิด และให้ผู้เรียนแก้ปัญหานั้น ๆ ให้ได้ด้วยตัวเอง ด้วยการแสดงที่ทำให้ผู้ดูเห็นจริง และเมื่อยุติการแสดงแล้วก็จะมีการอภิปรายโดยผู้สอนและผู้เรียนว่า การแก้ปัญหานั้นเหมาะสมหรือไม่ ถ้ายังไม่ดีไม่เหมาะสม ก็อาจหาผู้แสดงชุดใหม่เพื่อหาวิธีใหม่ และให้ได้คำตอบที่ถูกต้องและชัดเจนยิ่งขึ้น โดยบทบาทสมมติที่ผู้เรียนต้องแสดงออกนั้นมี 2 ลักษณะ คือ การแสดงบทบาทสมมติแบบละคร เป็นการแสดงบทบาทตามเรื่องราวที่มีอยู่แล้ว ผู้แสดงจะทราบเรื่องราวทั้งหมด และการแสดงบทบาทสมมติแบบแก้ปัญหา เป็นการแสดงบทบาทสมมติที่ผู้เรียนได้รับทราบสถานการณ์หรือเรื่องราวแต่เพียงเล็กน้อยเท่าที่จำเป็น
การสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติแบ่งประเภทออกเป็นหลายลักษณะ นักวิชาการบางท่านกล่าวว่าแบ่งจากความพร้อม บางท่านกล่าวว่าบ่างตามบทบาทการแสดง ซึ่งพอจะสรุปได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. ผู้แสดงเป็นจะต้องเป็นผู้แสดงบทบาทตามที่ถูกกำหนดไว้ โดยไม่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกส่วนตัว
2. ผู้แสดงจะต้องแสดงบทบาทตามแบบแผนพฤติกรรมของตนเอง
3. การแสดงบทบาทที่ผู้แสดงจะต้องเตรียมตัวก่อนการแสดงละคร
4. การแสดงบทบาทที่ผู้แสดงต้องแสดงบทบาทโดยทันที ไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้า
องค์ประกอบสำคัญของวิธีสอนแบบบทบาทสมมติ จะประกอบไปด้วย ผู้สอนและผู้เรียน สถานการณ์สมมติและบทบาทสมมติ การแสดงบทบาทสมติ มีการอภิปรายเกี่ยวกับความรู้ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่แสดงออกของ ผู้แสดง และสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับ และมีผลการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยขั้นตอนของการเรียนการสอนประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้
1. ขั้นเตรียม ผู้สอนเตรียมจุดประสงค์และสถานการณ์ในการแสดงบทบาทสมมติ
2. ขั้นดำเนินการสอน โดยผู้สอนจะต้องนำเข้าสู่บทเรียนโดยการกระตุ้นผู้เรียนเกิดความสนใจ ต่อจากนั้นต้องเลือกผู้แสดงบทบาท เตรียมผู้สังเกตการณ์การแสดงบทบาทสมมติ แล้วเตรียมความพร้อมในการจัดฉากและเตรียมการแสดงให้พร้อม
1. ขั้นวิเคราะห์และการอภิปรายผล ผู้เรียนรวบรวมข้อมูลแล้วนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์
และอภิปรายผล เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีความหมาย
2. ขั้นแสดงเพิ่มเติม หลังการอภิปรายสรุปผลการแสดงบทบาทสมมติแล้ว หากมี
ข้อบกพร่องหรือความไม่เข้าใจในเรื่องของการแสดงบทบาทสมมติ ผู้สอนอาจมีการแสดงเพิ่มเติมได้
3. ขั้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสรุปผล หลังจากอภิปรายเกี่ยวกับการแสดงแล้วครู
ควรกระตุ้นให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่มีส่วนสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ได้ศึกษา แก่กันและกัน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์นี้จะช่วยให้ผู้เรียนได้แนวความคิดกว้างขวางขึ้น และส่งเสริมให้ผู้เรียนเห็นว่าสิ่งที่เรียนนั้นเกี่ยวข้องกับความจริง จะทำให้ผู้เรียนสามารถที่จะหาข้อสรุป หรือได้แนวความคิดรวบยอดที่ตนสามารถเข้าใจได้อย่างดี
จึงเห็นได้ว่า การสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมตินี้ ผู้สอนจะต้องมีบทบาทในการ
เตรียมความพร้อมพอสมควร ตั้งแต่การกำหนดปัญหา เตรียมความพร้อมด้านผู้แสดง ผู้สังเกตการณ์ ต้องคอยช่วยเหลือผู้เรียนในขณะปฏิบัติ ยอมรับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นของผู้เรียน และช่วยสรุปบทเรียนและเลือกทางออกเพื่อเสริมกำลังใจในการเรียน การสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติจึงมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด ซึ่งในส่วนของข้อดี คือ ส่งเสริมให้บทเรียนมีความน่าสนใจ สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกอารมณ์ และเจตคติของผู้เรียน ช่วยฝึกฝนการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ ทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินในการเรียน และผู้เรียนยังได้เข้าใจรายละเอียดเนื้อเรื่องได้ดียิ่งขึ้น ส่วนของข้อจำกัดของการสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ คือ เป็นวิธีการสอนที่ใช้เวลามากพอสมควร ตั้งแต่การเตรียมการสอน การใช้เวลาแสดงบทบาทสมมติ และการวิเคราะห์สรุปอภิปรายผล ซึ่งจะทำให้มีปัญหาในการควบคุมชั้นเรียน อาจจะเกิดการสับสนวุ่นวาย และผู้สอนมีภาระเพิ่มขึ้น