ศูนย์ LifeVantage

ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ LifeVantage : Protandim Nrf1 / Nrf2 / ProBio / TrueScience / TrueRenew ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ โทร ☎️ :: 084-110-5021 📍 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line ค่ะ

14 พฤษภาคม 2557

พระบรมราโชวาท พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว



ความเจริญของประเทศชาติ เป็นความเจริญส่วนรวม ซึ่งเกิดจากผลงานหรือผลของการกระทำของคนทั้งชาติ ถือได้ว่าทุกคนแบ่งหน้าที่กันทำประโยชน์ให้แก่ชาติ ตามความถนัดและความสามารถ และเกื้อกูลกันและกัน ไม่มีผู้ใดจะอยู่ได้และทำงานให้แก่ประเทศชาติได้โดยลำพังตนเอง
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (1)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10 กรกฎาคม 2513)
บ้านเมืองของเรากำลังต้องการการปรับปรุงและการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ ทางที่เราจะช่วยกันได้ก็คือ การที่ทำความคิดให้ถูกและแน่วแน่ ในอันที่จะยึดถือประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่หมาย ต้องเพลาการคิดถึงประโยชน์เฉพาะตัว และความขัดแย้งกันในสิ่งที่มิใช่สาระลง
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (2)
(พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2543)
ถ้าทุกคนสนใจในความรักประเทศชาติ รักษาความดีเอาไว้ ไม่ต้องไปตามอย่างในสิ่งที่เราเห็น ว่าไม่น่าที่จะเจริญไม่น่าจะพัฒนา เราต้องรักษาแนวทางความคิดตามที่เรามีอยู่ แม้จะเป็นสิ่งที่ตกทอดมาแต่โบราณกาลจากปู่ย่าตายายของเรา แต่เป็นระเบียบการหรือเป็นวิธีการที่ดี จะไม่ล้าสมัย
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (3)
(ในโอกาสเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร 13 มีนาคม 2514)
การมีเสรีภาพนั้น เป็นของที่ดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้ จำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง และควมรับผิดชอบ มิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่นที่เขามีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเท้อนถึงสวัสดิภาพและความเป็นปกติสุขของส่วนรวมด้วย
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (4)
(พระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ 9 กรกฎาคม 2514)
ในการปฏิบัติราชการนั้น ขอให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ อย่านึกถึงบำเหน็จรางวัลหรือผลประโยชน์ให้มาก ขอให้ถือว่าการทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ เป็นทั้งรางวัลและประโยชน์อย่างประเสริฐ จะทำให้บ้านเมืองไทยของเราอยู่เย็นเป็นสุขและมั่นคง
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (5)
(เนื่องในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน 1 เมษายน 2533)
คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (6)
(พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย 4 ธันวาคม 2541)
การดำเนินชีวิตโดยใช้วิชาการอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยความรู้รอบตัวและหลักศีลธรรมประกอบด้วย ผู้ที่มีความรู้ดีแต่ขาดความยั้งคิด นำความรู้ไปใช้ในทางมิชอบ ก็เท่ากับเป็นบุคคลที่เป็นภัยแก่สังคมของมนุษย์
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (7)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 18 กันยายน 2504)
ความคิดนั้นเป็นแม่บทใหญ่ของการพูดและการกระทำ เพราะกิจที่จะทำคำที่จะพูดทุกอย่างล้วนสำเร็จมาจากความคิด การคิดก่อนพูดและก่อนทำจึงช่วยให้หบุคคลสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควร หยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (8)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10 กรกฎาคม 2540)
คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (9)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 12 กรกฎาคม 2522)
การดำรงชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทนเป็นที่ตั้ง ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทน ก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้ว ไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ๆ
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (10)
(พระราชทานแก่ครูและนักเรียน โรงเรียนจิตรลดา 27 มีนาคม 2523)
สัจจวาจา นั้นเป็นรากฐานของการทำงาน หรือการดำรงชีวิตที่ดีที่งามที่มีความก้าวหน้า มีความสำเร็จ “สัจ” เป็นการตั้งใจ ตั้งจิตใจ “วาจา” เป็นคำพูดออกมา แสดงถึงคำพูดนั้นต้องออกมาจากใจ คือเป็นการตั้งใจที่จะทำอะไรเพื่อความสำเร็จในงานนั้น
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (11)
(ในโอกาสที่ผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรมเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ 18 มีนาคม 2525)
ผู้หนักแน่นในสัจจะ พูดอย่างไรทำอย่างนั้น จึงจะได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธา เชื่อถือ และความยกย่องสรรเสริญจากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือพูดจริงทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (12)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10 กรกฎาคม 2540)
การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (13)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 25 กรกฎาคม 2506)
ประเพณีทั้งหลายย่อมมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของแต่ละคน เรามีประเพณีของชาติไทยเป็นสมบัติ เราควรจะยินดีอย่างยิ่งและช่วยกันส่งเสริมรักษาไว้ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (14)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 21 เมษายน 2503)
โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถานทั้งหลายเป็นของมีคุณค่า และจำเป็นแก่การศึกษาค้นคว้าในทางประวัติศาสตร์ศิลปะโบราณคดี เป็นการแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติไทย ที่มีมาแต่อดีต ควรสงวนรักษาไว้ให้คงทนถาวร เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (15)
(ในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 26 ธันวาคม 2504)
การสร้างงานศิลปะทุกอย่างทุกประเภท นอกจากจะต้องใช้ความฝึกหัดชัดเจนในทางปฏิบัติ ประกอบกับวิธีการที่ดีอย่างเหมาะสมแล้ว ศิลปินจำต้องมีความจริงใจและความบริสุทธิ์ใจในงานที่ทำด้วย จึงจะได้ผลงานที่มีค่าควรแก่การยอมรับนับถือ
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (16)
(ในพิธีเปิดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 21 8 กันยายน 2515)
งานด้านการศึกษาศิลปะและวัฒนธรรมนั้น คืองานสร้างสรรค์ความเจริญทางปัญญาและทางจิตใจ ซึ่งเป็นทั้งต้นเหตุทั้งองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของความเจริญด้านอื่นๆทั้งหมด และเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เรารักษาและดำรงความเป็นไทยไว้ได้สืบไป
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (17)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศิลปากร 12 ตุลาคม 2513)
ภาษาไทยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือเป็นทางสำหรับแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งสวยงามอย่างหนึ่ง เช่น ในทางวรรณคดีเป็นต้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ให้ดี
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (18)
(ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 29 กรกฎาคม 2505)
สามัคคี คือการเป็นแก่บ้านเมือง และช่วยกันทุกวิธีทาง เพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองให้เข้มแข็ง ด้วยการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแย่งตรงไปตรงมา นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมนั้นคือความมั่นคงของบ้านเมือง
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (19)
(ในพิธีประดับยศนายตำรวจชั้นนายพล 15 มกราคม 2519)
การที่คนสมัยใหม่บอกว่าคนสมัยเก่ามีความรู้น้อยก็อาจเป็นจริง แล้วคนสมัยใหม่ดูถูกหรือเหยียดหยามคนสมัยเก่าก็มีสิทธิ์ แต่ถ้าพูดตามความจริงแล้ว สิทธิ์ที่จะเหยียดหยามคนรุ่นเก่าไม่ควรจะมี ด้วยเหตุว่าคนรุ่นเก่านี้เองทำให้คนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาได้
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (20)
(พระราชทานแก่ คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2531)

สามัคคีหรือการปรองดองกัน ไม่ได้หมายความว่าคนหนึ่งพูดอย่างหนึ่ง คนอื่นต้องพูดเหมือนกันหมด ลงท้ายชีวิตก็ไม่มีความหมาย ต้องมีความแตกต่างกัน แต่ต้องทำงานให้สอดคล้องกัน แม้จะขัดกันบ้างก็ต้องสอดคล้องกัน
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (21)
(พระราชทานแก่ คณะบุคคลต่างๆในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2536)
ในการปฏิบัติงานนั้น ย่อมมีปัญหาต่างๆเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นต้องแก้ไข อย่าทิ้งไว้พอกพูนลุกลามจนแก้ยาก ขอให้ทุกคนระลึกว่าปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไขได้ ถ้าแก้คนเดียวไม่ได้ก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้หลายๆคนหลายๆทาง ด้วยความร่วมมือปรองดองกัน
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (23)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 13 กรกฎาคม 2533)
การทำงานใหญ่ๆ ทุกอย่างต้องการเวลามากกว่าจะทำสำเร็จ ผู้ที่เริ่มโครงการอาจไม่ทันทำให้สำเร็จโดยตลอดด้วยตนเองก็ได้ ต้องมีผู้อื่นรับทำต่อไป ดังนั้นไม่ควรยกเอาเรื่องใครเป็นผู้ริเริ่มงาน ใครเป็นผู้รับช่วงงาน ขึ้นเป็นข้อสำคัญนัก จะต้องถือผลสำเร็จที่จะเกิดจากงานเป็นใหญ่
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (22)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศิลปากร 14 ตุลาคม 2514)
การจะทำงานให้มีประสิทธิผลและให้ดำเนินไปได้โดยราบรื่น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำด้วยความรับผิดชอบอย่างสูง ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือนจุดประสงค์ที่แท้จริงของงานสำคัญที่สุดต้องเข้าใจความหมายของคำว่า ความรับผิดชอบ ให้ถูกต้อง
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (24)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 16 กรกฎาคม 2519)
ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำเฉพาะหน้าที่นั้น เพราะว่าถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัวโดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกันจะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นแต่ละคนจะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่นแล้วช่วยกันทำ
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (25)
(พระราชทานแก่ คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2533)
ถ้าทำงานด้วยความตั้งใจที่จะให้เกิดผลอันยิ่งใหญ่ คือความเป็นปึกแผ่นของประเทศชาติ ด้วยความสุจริตและด้วยความรู้ความสามารถด้วยจริงใจ ไม่นึกถึงเงินทองหรือนึกถึงผลประโยชน์ใดๆก็เป็นการทำหน้าที่โดยตรงและได้ทำหน้าที่โดยเต็มที่
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (26)
(พระราชทานแก่ ศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ 13 ธันวาคม 2511)
การที่จะให้งานประสานกันนั้นมีหลักสำคัญอยู่ว่า ทุกฝ่ายจะต้องไม่แบ่งแยกกัน ไม่แย่งประโยชน์ ไม่แย่งความชอบกัน แต่ละฝ่ายแต่ละคนต้องทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งหวังผลสำเร็จในการทำงานเป็นใหญ่ยิ่งกว่าสิ่งอื่น
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (27)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ 10 กุมภาพันธ์ 2522)
เมื่อมีโอกาสและมีงานให้ทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้หรือเงื่อนไขอันใดไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆนั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใดย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยันซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (28)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา 8 กรกฎาคม 2530)
ขอให้ทุกคนระลึกว่าปัญหาทุกอย่างมีทางที่จะแก้ไขได้ ถ้าแก้คนเดียวไม่ได้ก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้หลายๆคน หลายๆ ทางด้วยความร่วมมือปรองดองกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นจักได้ไม่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวาง และบั่นทอนทำลายความเจริญและความสำเร็จของการงาน
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (29)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 13 กรกฎาคม 2533)
ธรรมชาติแวดล้อมของเรา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเล และอากาศ มิได้เป็นเพียงสิ่งสวยๆ งามๆ เท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของเรา และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเราไว้ให้ดีนี้ ก็เท่ากับเป็นการปกปักรักษาอนาคตไว้ให้ลูกหลานของเราด้วย
พระราชดำรัสของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ... (30)
สุขภาพอนามัยนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ดังคำกล่าวที่ว่า “จิตใจที่แจ่มใส ย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง” หากประชาชนมีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะมีสติปัญญาเล่าเรียน ประกอบสัมมาอาชีพ สร้างสรรค์ความเจริญต่างๆ ให้แก่ชาติบ้านเมือง ดังนั้นถ้าจะกล่าวว่า “พลเมืองที่แข็งแรง ย่อมสามารถสร้างชาติที่มั่นคง” ก็คงจะไม่ผิด
พระราชดำรัสของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ... (31)
คนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ชาวนา หรือมีอาชีพใด อยู่สารทิศใด คนไทยมีความละเอียดอ่อนและฉับไวต่อการรับศิลปะทุกชนิด ขอเพียงแต่ให้มีโอกาสได้เรียนรู้และฝึกฝน ก็จะแสดงความสามารถออกมาให้เห็นได้
พระราชดำรัสของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ... (32)
เกษตรกรไทยเป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงประเทศมาตั้งแต่อดีตอันยาวนานจนถึงปัจจุบัน แม้พลเมืองของชาติจะทวีขึ้นมากเพียงใด เกษตรกรก็ผลิตอาหารได้เพียงพอเสมอ ซ้ำยังสามารถส่งออกไปเลี้ยงพลโลกได้อีกเป็นจำนวนมาก การที่ชาติของเราเลี้ยงตนเองได้นี้ เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เพราะไม่ว่าเกิดภาวะการณ์เช่นไร เราจะอยู่รอดได้เสมอ เนื่องจากคนไทยเป็นผู้ผลิต ไม่ใช่จะเป็นเพียงผู้บริโภคเท่านั้น
พระราชดำรัสของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ... (33)
ที่พูดกันว่า ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลนั้น ความจริงเป็นฝีมือมนุษย์นั่นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเราให้สภาพธรรมชาติกลับคืนมาเหมือนเดิม มีแม่น้ำลำธาร มีน้ำจืด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อชีวิตมนุษย์ และการพัฒนาประเทศชาติ พวกเราต้องเข้าใจและช่วยกันรักษาป่า เพื่อที่เราจะได้มีอนาคตและความหวังร่วมกัน
พระราชดำรัสของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ... (34)
“หนังสือ” เป็นเสมือนคลังที่รวบรวมเรื่องราว ความรู้ ความคิด วิทยาการทุกด้านทุกอย่าง ซึ่งมนุษย์ได้เรียนรู้ ได้คิดอ่าน และเพียรพยายามบันทึกภาษาไว้ด้วยลายลักษณ์อักษร หนังสือแพร่ไปถึงที่ใด ความรู้ความคิดก็แพร่ไปถึงที่นั่น หนังสือจึงเป็นสิ่งมีค่า และมีประโยชน์ที่จะประมาณมิได้ในแง่ที่เป็นบ่อเกิดการเรียนรู้ของมนุษย์
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (35)
คุณธรรม 4 ประการ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ประกอบด้วย
ประการแรก คือการรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเอง รู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง ประพฤติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
ประการที่สอง คือการรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจ ความดี
ประการที่สาม คือการอดทน อดกลั้น และอดออม ไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด
ประการที่สี่ คือการรู้จักและวางความชั่ว ความทุจริต
คุณธรรม 4 ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดังประสงค์
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (36)
คนไทย รักษาชาติ รักษาแผ่นดิน เป็นปึกแผ่นมั่นคงมาได้ ด้วยสติปัญญาความสามารถ และด้วยคุณความดี อิสรภาพ เสรีภาพ ความร่มเย็นเป็นสุข ตลอดจนความเจริญ ทุกอย่างที่มีอยู่บัดนี้ เราทั้งหลายในปัจจุบัน จึงต้องถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบอย่างสำคัญ ในอันที่จะรักษาคุณความดี พร้อมทั้งจิตใจที่เป็นไทยไว้ให้มั่นคงตลอดไป
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (37)
(ในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธี เฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค.2521)
ชาติบ้านเมือง คือ ชีวิต เลือดเนื้อ และสมบัติของเราทุกคน และการดำรงรักษาชาติประเทศนั้น มิใช่หน้าที่ของบุคคลผู้ใดหมู่ใด โดยเฉพาะ หากแต่เป็นหน้าที่ของทุกๆ ฝ่ายทุกๆคน ที่จะต้องร่วมมือกระทำ พร้อมกันไปโดยสอดคล้องเกื้อกูลกัน
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (38)
(ในพิธีตรวจพลสวนสนาม เนื่องในโอกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก 8 มิ.ย.2514)
ความจงรักภักดีต่อชาตินั้น คือความสำนึกตระหนักในคุณของแผ่นดิน อันเป็นที่เกิดที่อาศัย ซึ่งทำให้บุคคลเกิดความภูมิใจในชาติกำเนิด และมุ่งมั่นที่จะธำรงรักษา ประเทศชาติไว้ ให้เป็นอิสระมั่นคงตลอดไป
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (39)
(ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนาม ของทหารรักษาพระองค์ ณ ลานพระราชวังดุสิต 3 ธ.ค.2529)
บรรพชนไทย เป็นนักต่อสู้ ผู้มีชีวิตจิตใจผูกพันปรองดอง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สามัคคีพร้อมเพรียงกันทุกเมื่อ ไม่ว่าจะทำการสิ่งใด บ้านเมืองไทยจึงมีเอกราชอธิปไตย และมีความสุขความสมบูรณ์ทุกอย่างมาจนกระทั่งทุกวันนี้

(ในพิธีสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ 3 ธ.ค.2522 ณ ลานพระราชวังดุสิต)
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (40)

ความสามัคคีปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กับความรักใคร่เผื่อแผ่ช่วยเหลือกันฉันญาติพี่น้อง สองประการนี้ คือคุณลักษณะสำคัญของไทย ที่ช่วยให้ชาติบ้าน เมืองอยู่รอดเป็นอิสระ และเจริญมั่นคง มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (41)
(พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2532)
ความสามัคคี เป็นคุณสมบัติประจำตัวของคนไทย ที่ได้อบรมสืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษโดยไม่ขาดสาย ทั้งนี้ เพราะคนไทย ทราบตระหนักว่า หมู่คณะที่มีความ สามัคคีแน่นแฟ้นสมบูรณ์ ย่อมมีกำลังกล้าแข็งทั้งในการคิดและการปฏิบัติ
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (42)
(พระราชทานในการประชุมใหญ่ สามัคคีสมาคม 26 ก.ค.2534)
บ้านเมืองไทย สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆได้โดยดี เพราะว่าจิตใจสามัคคีและแสดงออกซึ่งสามัคคี ถ้าตราบใดเรารักษาความสามัคคี ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ไว้ได้ เราก็จะอยู่ได้อย่างมีความสุขตราบนั้น
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (43)
(พระราชทานแก่คณะประชาชน จ.ราชบุรี พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 26 พ.ย.2531)
ผู้ที่จะรักษาความเป็นไทยได้มั่นคงที่สุด ดี และเหมาะสมที่สุด ไม่มีใครอื่นนอกจากคนไทย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะอยู่ ณ แห่งใด คนไทยมีหน้าที่ต้องรักษาความเป็นไทย เสมอ
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (44)
(พระราชทานแก่สมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่น 27 ก.พ. 2537)
ชาติบ้านเมืองประกอบด้วยนานาสถาบัน อันเปรียบได้กับอวัยวะทั้งปวง ที่ประกอบกันขึ้นเป็นชีวิตร่างกาย ชีวิตร่างกายดำรงอยู่ได้ เพราะอวัยวะใหญ่น้อยทำงานเป็นปรกติพร้อมกันอย่างไร ชาติบ้านเมืองก็ดำรงอยู่ได้ เพราะสถาบันต่างๆตั้งมั่นและปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยพร้อมมูลอย่างนั้น
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (45)
(พระราชทานแก่ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และ อาสาสมัครพลเรือนในพิธีตรวจพลสวนสนาม เนื่องในโอกาสงานพระราชพิธีรัชดาภิเษก 8 มิ.ย.2514)
การจะพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างให้เจริญนั้นจะต้องสร้างและเสริมขึ้นจากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนทั้งสิ้น ถ้าพื้นฐานไม่ดีหรือคลอนแคลนบกพร่องแล้ว ที่จะเพิ่มเติมเสริมต่อให้เจริญขึ้นไปอีกนั้น ยากนักที่จะทำได้ จึงควรจะเข้าใจให้แจ้งชัดว่า นอกจากจะมุ่งสร้างความเจริญแล้ว ยังต้องพยายามรักษาพื้นฐานให้มั่นคง ไม่บกพร่อง พร้อมๆ กันไปด้วย
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (46)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาฯ 10 ก.ค.2523)
ความสามัคคีและความถือตัวว่าเป็นไทยนี้ เป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุด เพราะเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษของเรา และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรารวมกันอยู่ได้ ให้เราดำรงชาติประเทศและเอกราชสืบมาได้ ทุกคนควรจะได้พยายามรักษาความเป็นไทย และความสามัคคีนี้ไว้ให้มั่นคงในที่ทุกแห่ง อย่ายอมให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดมาทำลายได้
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (47)
(พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในงานชุมนุมประจำปี ของสมาคมนักเรียนไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน 1 ก.ย.2526)
การดำเนินชีวิตโดยใช้วิชาการอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยความรู้รอบตัวและหลักศีลธรรมประกอบด้วย ผู้ที่มีความรู้ดี แต่ขาดความยั้งคิด นำความรู้ไปใช้ในทางมิชอบก็เท่ากับเป็นบุคคลที่เป็นภัยแก่สังคมของมนุษย์
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (48)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 18 ก.ย.2504)
คุณธรรมข้อหนึ่งที่ยังมีอยู่อย่างบริบูรณ์ในจิตใจของคนไทยก็คือ การให้ การให้นี้ไม่ว่าจะให้สิ่งใด แก่ผู้ใด โดยสถานใดก็ตาม เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญระหว่างบุคคลกับบุคคล และให้สังคมมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นด้วยสามัคคีธรรม
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (49)
(เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 31 ธ.ค.2545)
การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเอง และครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (50)
(เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 31 ธ.ค.2502)

วิถีทางดำเนินของบ้านเมืองและประชาชนโดยทั่วไป มีความเปลี่ยนแปลงมาตลอดเนื่องจากความวิปริตผันแปรของวิถีแห่งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่นๆ ของโลก ยากยิ่งที่เราจะหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ จึงต้องระมัดระวัง ประคับประคองตัวเรามากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการเป็นอยู่ โดยประหยัดเพื่อที่จะอยู่ให้รอดและก้าวหน้าต่อไปได้โดยสวัสดี
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (51)
(เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 31 ธ.ค.2521)
ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึง ความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญหรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ... (52)
(ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกทรงครองราชย์ครบ 50 ปี)
การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ... (53)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 20 ธ.ค. 2516)
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มซะด้วยซ้ำไป
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ... (54)
(จากวารสารชัยพัฒนา ประจำเดือนสิงหาคม 2542)
สังคมใดก็ตาม ถ้ามีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน สังคมนั้นย่อมเต็มไปด้วยไมตรีจิต มิตรภาพ มีความร่มเย็นเป็นสุข น่าอยู่
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ... (55)
(เพื่ออัญเชิญลงพิมพ์ในนิตยสารที่ระลึกครบ 36 ปี ของสโมสรไลออนส์กรุงเทพฯ 31 มี.ค.38)
การงานทุกอย่างทุกอาชีพ ย่อมจะมีจรรยาบรรณของตนเอง จรรยาบรรณนั้นจะบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม แต่เป็นสิ่งที่ยึดถือกันว่าเป็นความดีงาม ที่คนอาชีพนั้นพึงประพฤติปฏิบัติหากผู้ใดล่วงละเมิด ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งแก่บุคคล หมู่คณะ และส่วนรวมได้
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ... (56)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยมหิดล ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร 4 ก.ค. 40)
ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพชอบ เป็นหลักสำคัญ ผู้ที่จะสามารถประพฤติชอบและหาเลี้ยงชีพชอบได้ด้วยนั้น ย่อมจะมีทั้งวิชาความรู้ ทั้งหลักธรรมทางศาสนา เพราะสิ่งแรกเป็นปัจจัยสำหรับใช้กระทำการทำงาน สิ่งหลังเป็นปัจจัยสำหรับส่งเสริมความประพฤติ และการปฏิบัติงานให้ชอบ คือให้ถูกต้องและเป็นธรรม
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ... (57)
(พระราชทานแก่ครูโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม 4 จังหวัดภาคใต้ จ. ปัตตานี 24 ส.ค. 19)
การทำงานใหญ่ ๆ ทุกอย่าง ต้องการเวลามากกว่าจะทำสำเร็จ ผู้ที่เริ่มโครงการอาจทำไม่สำเร็จโดยตลอดด้วยตนเองก็ได้ ต้องมีผู้อื่นรับทำต่อไป ดังนั้นไม่ควรยกเอาเรื่องใครเป็นผู้เริ่มงาน ใครเป็นผู้รับช่วงงานขึ้นเป็นข้อสำคัญ จะต้องถือผลสำเร็จที่จะเกิดจากงานเป็นใหญ่ยิ่งกว่าสิ่งอื่น
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ... (58)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยศิลปากร 14 ต.ค. 14)
การมีเสรีภาพนั้นเป็นของดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้ จำเป็นจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและความรับผิดชอบ มิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น ที่เขามีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเทือนถึงสวัสดิภาพและความเป็นปกติสุขของส่วนรวมด้วย มิฉะนั้น จะทำให้มีความยุ่งยาก จะทำให้สังคมและชาติประเทศต้องแตกสลายจนสิ้นเชิง
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (59)
(แถลงการณ์ สภาการวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพีง (สวชพ.) เรื่อง “การใช้เสรีภาพเพื่อความปรองดองสมานฉันท์” เนื่องในวันนักข่าว 5 มีนาคม
การกีฬานั้น นอกจากจะให้ความสนุกสนานและความสมบูรณ์แก่ร่างกายแล้วยังให้ผลดีทางจิตใจได้อย่างมากมาย นักกีฬาที่ได้รับการฝึกหัดอบรมอย่างดีแล้วย่อมมีใจแน่วแน่ ตัดสินใจได้รวดเร็ว มีความเพียรพยายามไม่ท้อถอย และมีความหนักแน่นรู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักให้อภัย ผู้มีใจเป็นนักกีฬา จึงเป็นผู้ที่มีประโยชน์ต่อสังคม และน่าคบหาสมาคมด้วยอย่างยิ่ง
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (60)
(ในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประจำปี 2507 ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ กรมพลศึกษา วันศุกร์ 27 พ.ย.2507)


ความเข้มแข็งในจิตใจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องฝึกฝนแต่เล็กเพราะว่าต่อไป ถ้ามีชีวิตที่ลำบาก ไปประสบอุปสรรคใดๆ ถ้าไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีความรู้ ไม่มีทางที่จะผ่านอุปสรรคนั้นได้ เพราะว่าถ้าไปเจออุปสรรคอะไร ก็ไม่มีอะไรที่จะมาช่วยเราได้แต่ถ้ามีความรู้ มีอัธยาศัยที่ดี และมีความเข้มแข็ง ในกาย ในใจ ก็สามารถที่จะผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ นั้นได้
พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (61)
(พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนราชวินิต วันศุกร์ 31 ต.ค.2518)
วิถีชีวิตมนุษย์นั้น จะให้มีแต่ความปรกติสุขอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีทุกข์ มีภัยมีอุปสรรค ผ่านเข้ามาด้วยเสมอ ยากจะหลีกเลี่ยงพ้น ข้อสำคัญอยู่ที่ ทุกๆคนจะต้องเตรียมกายเตรียมใจ และเตรียมการไว้ให้พร้อมทุกเวลา เพื่อเผชิญและแก้ไขความไม่ปรกติเดือดร้อน(ทั้ง)นั้นด้วยความไม่ประมาท ด้วยเหตุผล ด้วยหลักวิชา และด้วยสามัคคีธรรม จึงจะผ่อนหนักให้เป็นเบาและกลับร้ายให้กลายเป็นดีได้
พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (62)
(พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2528 วันจันทร์ 31 ธ.ค.2527)
ถ้าถูกแดดถูกฝน อนามัยแข็งแรงก็ไม่เป็นอะไร ทำให้แข็งแกร่งจิตใจก็เหมือนกัน เมื่อประสบอุปสรรคและสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา เราก็ขุ่นหมองแต่ถ้าจิตใจเราแข็งแรง แข็งแกร่งดี อุปสรรคนั้นจะทำให้สามารถที่จะทำให้มีอำนาจจิตดีขึ้นมีกำลังใจมากขึ้น สิ่งที่เป็นอุปสรรค สิ่งที่ทำให้เราขุ่นเคืองใจ ไม่เป็นผลร้ายต่อตัวเรากลับทำให้ใจเราแข็งแกร่งแข็งแรง
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (63)
(ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทรงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ ณ หอประชุม มธ. วันเสาร์ 7 มี.ค.2513)
ความสงบหนักแน่นเป็นเครื่องผ่อนปรนระงับความรุนแรง ความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจในกันและกันได้ทุกกรณี โดยเฉพาะความสงบหนักแน่นในจิตใจนั้น ทำให้เกิดความยั้งคิดพิจารณาตามเหตุตามผล จึงช่วยให้สามารถขบคิดวินิจฉัยเรื่องราวปัญหาและกระทำได้ถูกต้องพอเหมาะพอดี มีประสิทธิผล
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (64)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันพฤหัสบดี 2 ก.ค.2535)
จิตใจและความประพฤติที่สะอาดและมีระเบียบ เป็นรากฐานสำคัญของชีวิตทั้งจิตใจทั้งความประพฤติดังนั้นใช่จะเกิดมีขึ้นเองได้ หากแต่จำต้องฝึกหัดอบรมและสนับสนุนส่งเสริมกันอย่างจริงจังสม่ำเสมอ นับตั้งแต่บุคคลเกิด ดังที่มนุษย์ไม่ว่าชาติใดภาษาใด ได้เฝ้าพยายามกระทำสืบต่อกันมาทุกยุคทุกสมัย ทั้งนี้เพื่อให้สามารถรักษาตัวและมีความสุข ความสำเร็จในการครองชีวิต ทั้งให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ด้วยความผาสุกสงบ
พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (65)
(พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดสัมมนาเรื่อง การพัฒนาสังคมในด้านศีลธรรมและจิตใจ ซึ่งสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยจัดให้มีขึ้
การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญยิ่งของมนุษย์ คนเราเมื่อเกิดมาก็ได้รับการสั่งสอนจากบิดามารดา อันเป็นความรู้เบื้องต้น เมื่อเจริญเติบโตขึ้น ก็เป็นหน้าที่ของครูและอาจารย์สั่งสอนให้ได้รับวิชาความรู้สูงและอบรมจิตใจให้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม เพื่อจะได้เป็นพลเมืองดีของชาติสืบต่อไป
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (66)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา วันพฤหัสบดี 13 ธ.ค.2505)
สังคมและบ้านเมืองใด ให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วน ล้วนพอเหมาะกันทุกๆด้าน สังคมและบ้านเมืองนั้น ก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถธำรงรักษาความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปได้โดยตลอด ผู้มีหน้าที่จัดการศึกษาทุกๆคนจึงต้องถือว่า ตัวของท่านมีความรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมืองอยู่อย่างเต็มที่ในอันที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เที่ยงตรง ถูกต้อง สมบูรณ์โดยเต็มกำลัง จะประมาทหรือละเลยมิได้
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (67)
(พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนที่ได้รับพระราชทานรางวัลฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย วันจันทร์ 27 ก.ค.2524)
หลักของคุณธรรม คือการคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ก่อนจะพูดจะทำสิ่งไร จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อน เพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่น และให้จิตสว่างแจ่มใส ซึ่งเมื่อฝึกหัดจนคุ้นเคยชำนาญแล้ว จะกระทำได้คล่องแคล่ว ช่วยให้สามารถแสดงความรู้ ความคิด ในเรื่องต่างๆ ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย ได้ชัด ไม่ผิดทั้งหลักวิชาทั้งหลักคุณธรรม
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (68)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันศุกร์ 10 ก.ค.2535)
การศึกษาด้านศิลปะวัฒนธรรม เป็นการศึกษาที่สำคัญ และควรจะดำเนินควบคู่กันไปกับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เพราะความเจริญของบุคคล ตลอดจนถึงความเจริญของประเทศและของโลกโดยส่วนรวมด้วยนั้น มีทั้งทางวัตถุและจิตใจ ความเจริญทั้งสองทางนี้ จะต้องมีประกอบกัน เกื้อกูลและส่งเสริมกันพร้อมมูล จึงจะเกิดความเจริญที่แท้จริงได้ประเทศทั้งหลายจึงต่างพยายามส่งเสริมการศึกษาด้านศิลปะวัฒนธรรมนี้ พร้อมกันไปกับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (69)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวันศุกร์ 10 ก.ค.2535)
การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยาก และเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (70)
(ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรีฯ รร.นายร้อยตำรวจฯ วันจันทร์ 10 มี.ค.2529)


ความจริงใจต่อผู้อื่นเป็นคุณธรรมสำคัญมากสำหรับผู้ที่ต้องการความสำเร็จและความเจริญ เพราะช่วยให้สามารถขจัดปัดเป่าปัญหาได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาอันเกิดจากความกินแหนงแคลงใจและเอารัดเอาเปรียบกัน นอกจากนั้น ยังทำให้ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ และความร่วมมือสนับสนุนจากทุกคนทุกฝ่าย ที่ถือมั่นในเหตุผลและความดี ผู้มีความจริงใจจะทำการสิ่งใดก็มักสำเร็จได้โดยราบรื่น
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (71)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกร์มหาวิทยาลัย วันเสาร์ 11 ก.ค.2535)
การมีวินัย มีความสามัคคี และรู้จักหน้าที่ ถือกันว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญประจำตัวของคนทุกคน แต่ในการสร้างเสริมคุณสมบัติ 3 ข้อนี้ จะต้องไม่ลืมว่า วินัย สามัคคี และหน้าที่นั้น เป็นได้ทั้งในทางบวกและทางลบ ซึ่งย่อมให้คุณหรือให้โทษได้มากเท่าๆ กัน ทั้ง 2 ทาง เพราะฉะนั้น เมื่อจะอบรม จำเป็นต้องพิจารณาให้ถ่องแท้แน่ชัดก่อนว่า เป็นวินัยสามัคคีและหน้าที่ดีคือ ปราศจากโทษ เป็นประโยชน์ เป็นธรรม
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้อยู่หัว... (72)
(พระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ วันอังคาร 12 ก.ค.2526)
ความรู้ในวิชาการ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ และทำให้เป็นคนที่มีเกียรติ เป็นคนที่สามารถ เป็นคนที่จะมีความพอใจได้ในตัวว่า ทำประโยชน์แก่ตนเองและแก่ส่วนรวม นอกจากวิชาความรู้ ก็จะต้องฝึกฝนในสิ่งที่ตัวจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับสังคม สอดคล้องกับสมัยและสอดคล้องกับศีลธรรมที่ดีงาม ถ้าได้ทั้งวิชาการ ทั้งความรู้รอบตัว และความรู้ในชีวิต ก็จะทำให้เป็นคนที่ครบคน ที่จะภูมิใจได้
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (73)
(พระราชทานเนื่องในโอกาสวันปิดภาคเรียนของโรงเรียนจิตรลดา วันเสาร์ 25 มี.ค.2515)
ความคิดนั้นสำคัญมาก ถือได้ว่าเป็นแม่บทใหญ่ของคำพูดและการกระทำทั้งปวง กล่าวคือ ถ้าคนเราคิดดี คิดถูกต้อง ทั้งตามหลักวิชาและคุณธรรม คำพูดและการกระทำก็เป็นไปในทางที่ดีที่เจริญ แต่ถ้าคิดไม่ดีไม่ถูกต้อง คำพูดและการกระทำก็อาจก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งแก่ตัวเองและส่วนรวมได้ ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่บุคคลจะพูดจะทำสิ่งใด จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อนว่า กิจที่จะทำ คำที่จะพูดนั้น ผิดหรือถูก เป็นคุณประโยชน์หรือเป็นโทษเสียหาย เป็นสิ่งที่ควรพูด ควรกระทำ หรือควรงดเว้น เมื่อคิดพิจารณาได้ดังนี้ ก็จะสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควร หยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง พูดและทำแต่สิ่งที่จะสัมฤทธิ์ผลเป็นคุณ เป็นประโยชน์ และเป็นความเจริญ
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (74)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์วิทยาลัย วันพุธ 9 ก.ค.2540)
ในการดำเนินชีวิตและการประกอบกิจการงาน ย่อมจะต้องมีปัญหาต่างๆ เป็นอุปสรรค ขัดขวางความสำเร็จอยู่เสมอ ยากที่ผู้ใดหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะหลีกเลี่ยงพ้นได้ คนก็มีปัญหาของคน สังคมก็มีปัญหาของสังคม ประเทศก็มีปัญหาของประเทศ แม้กระทั่งโลกก็มีปัญหาของโลก ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตและกิจการงานจึงเป็นเรื่องธรรมดา ข้อสำคัญเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จะต้องแก้ไขให้ลุล่วงไปโดยไม่ชักช้า ผู้ใดมีสติปัญญาคิดได้ดี ปฏิบัติได้ถูก ผู้นั้นก็มีหวังบรรลุถึงเป้าหมาย มีความสำเร็จสูง ถ้าเป็นตรงกันข้าม ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จสมหวังได้
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (75)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันพุธที่ 31 ก.ค.2539)
งานทุกอย่างมีบุคคลซึ่งมีชีวิตจิตใจ มีความนึกคิดเป็นผู้กระทำ ถ้าผู้ทำมีจิตใจไม่พร้อมจะทำงานเช่น ไม่ศรัทธาในงาน ไม่สนใจผูกพันกับงาน ผลงานที่ทำก็ย่อมบกพร่อง ไม่คงที่ ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติมีศรัทธา เข้าใจซึ้งถึงประโยชน์ของงาน พร้อมใจและพอใจที่จะขวนขวายปฏิบัติงานโดยเต็มกำลังความสามารถ งานจึงจะดำเนินไปได้โดยราบรื่น และบรรลุผลตามที่มุ่งหมาย
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (76)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันเสาร์ 10 ก.ค.2536)
การรู้จักประมาณตน ได้แก่ การรู้จักและยอมรับว่าตนเองมีภูมิปัญญาและความสามารถด้านไหน เพียงใด และควรจะทำงานด้านไหน อย่างไร การรู้จักประมาณตนนี้ จะทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้ถูกต้อง เหมาะสมกับงาน และได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้ และเพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้ยิ่งสูงขึ้น
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (77)
(พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันเสาร์ 18 ก.ค.2541)
การทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้น ที่จะให้เป็นไปโดยราบรื่น ปราศจากปัญหาข้อขัดแย้ง ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะคนจำนวนมากย่อมมีความคิดความต้องการที่แตกต่างกันไป มากบ้างน้อยบ้าง ท่านจะต้องรู้จักอดทนและอดกลั้น ใช้ปัญญา ไม่ใช้อารมณ์ ปรึกษากัน และโอนอ่อนผ่อนตามกันด้วยเหตุผล โดยถือว่าความคิดที่แตกต่างกันนั้น มิใช่เหตุที่จะทำให้เป็นข้อขัดแย้ง โต้เถียง เพื่อเอาแพ้เอาชนะกัน แต่เป็นเหตุสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความกระจ่างแจ้ง ทั้งในวิถีทางและวิธีการปฏิบัติงาน
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (78)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น วันพฤหัสบดี 17 ธ.ค.2541)
เป็นความจริงอยู่โดยธรรมดา ที่บุคคลในสังคมนั้นย่อมมีอัชฌาสัยจิตใจแตกต่างเหลื่อมล้ำกันเป็นหลายระดับ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานภูมิธรรมของตน บางคนก็มีความคิดจิตใจสูง มีความประพฤติปฏิบัติดีงาม เป็นคุณเป็นประโยชน์อยู่แล้วเป็นปกติ แต่บางคนก็ไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้ เพราะยังไม่เห็นคุณค่าของการปฏิบัติดี จึงมักก่อปัญหาให้เกิดแก่สังคมคนเรานั้น สำคัญอยู่ที่ควรจะได้ปรารภปรารถนาที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเป็นลำดับ เพื่อให้ชีวิตเป็นสุข และเจริญรุ่งเรือง
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (79)
(พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ ครั้งที่ 16 วันเสาร์ 30 พ.ค.2524)
ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อม อันเนื่องมาจากมลพิษ หรือความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในที่หนึ่งที่ใดก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงที่อื่นๆ ด้วยเหตุนี้ทุกคนทุกประเทศในโลกจึงย่อมมีส่วนรับผิดชอบอยู่ด้วยกัน ทั้งในการแก้ไข ลดปัญหา และปรับปรุงสร้างเสริมสภาวะแวดล้อมให้กลับคืนมาสู่สภาพอันจะเอื้อต่อการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขของตนเองและเพื่อนมนุษย์
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (80)
(พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก ในพิธีรับมอบเรือขจัดคราบน้ำมัน ซึ่งรัฐบาลเดนมาร์กน้อมเกล้าฯ ถวาย วันพุธ 20 พ.ย.2539)


ทุกวันนี้ ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญ เราต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่ระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชา เหตุผล และความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (81)
(ในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันศุกร์ 5 ธ.ค. 2529)
คนเราอยู่คนเดียวไม่ได้ จะต้องอยู่เป็นหมู่คณะ และถ้าหมู่คณะนั้นมีความสามัคคี คือเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือในทุกเมื่อ ช่วยกันคิดว่าสิ่งใดสมควร สิ่งใดไม่สมควร สิ่งใดที่จะทำให้นำมาสู่ความเจริญ ความมั่นคง ความสุขก็ทำ สิ่งใดที่นำมาซึ่งหายนะหรือเสียหายก็เว้น และช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ทางกายทั้งหน้าที่ทางใจ
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (82)
(พระราชทานในพิธีพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน จ.สระบุรี วันศุกร์ที่ 16 เม.ย.2519)
การที่ในประเทศใดมีประชาชนทั้งหมดอยู่ร่วมกันโดยสันติ ก็เป็นสิ่งที่ปรารถนาของทุกคน ไม่มีใครอยากให้มีความวุ่นวายในหมู่คณะในประเทศชาติ เพราะว่าถ้ามีความวุ่นวายนั้นเป็นความทุกข์ ทุกคนต้องการความสุข หากความสุขนั้นก็จะมาจากความปรองดอง และความที่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปโดยยุติธรรม
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (83)
(ในโอกาสที่รองประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำกระทรวงเข้าเฝ้าฯ วันพุธที่ 21 ธ.ค.2537)
ความสามัคคีนั้น อาจหมายความถึงเห็นชอบเห็นพ้องกันโดยไม่แย้งกัน ความจริงงานทุกอย่างหรือการอยู่เป็นสังคมย่อมต้องมีความขัดแย้งกัน ความคิดต่างกัน ซึ่งไม่เสียหาย แต่อยู่ที่จิตใจของเรา ถ้าเราใช้หลักวิชาและความปรองดองด้วยการใช้ปัญญา การแย้งต่างๆ ย่อมเป็นประโยชน์ ถ้ามีรากฐานของความคิดอย่างเดียวกัน รากฐานของความคิดนั้นคือ แต่ละคนจะต้องทำให้บ้านเมืองมีความสุขมีความเป็นปึกแผ่น
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (84)
(พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ วันอังคาร 29 ต.ค.2517)




ที่มา   ::   news.ch7.com/speech/22/พระบรมราโชวาท.html



1 ความคิดเห็น:


  1. ความจริงงานทุกอย่างถ้าทำด้วยน้ำใจรัก ย่อมมีทางสำเร็จได้ผลดี เมื่อพบอุปสรรคใดๆ อย่าเพิ่งท้อแท้จะหมดกำลังใจง่ายๆ จงตั้งใจทำให้ดี คิดหาทางที่จะแก้ไขผ่อนคลายอุปสรรคต่างๆ ด้วยเหตุผลและหลักวิชา ไตร่ตองด้วยความสุขุมรอบคอบและเยือกเย็น งานจะลุล่วงไปด้วยดี การทำงานด้วยน้ำใจรักต้องหวังผลงานนั้นเป็นสำคัญ
    (พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๖)







    การทำงาน อย่างใหัมีคุณภาพ ให้ได้ผลบริบูรณ์ จะทำอย่างไรเบื้องต้น ต้องทำความเห็นให้ถูกต้องในงานที่จะทำเสียก่อนโดยใช้ปัญญาไตร่ตรองให้เห็นเหตุที่แท้ ผลที่แท้ ที่ถูกต้องตรงตามเป้าหมายที่พึงมุ่งหวัง แล้ววางแผนการอันแน่นอนที่จะดำเนินการต่อไป ด้วยหลักวิชา ด้วยความร่วมมือปรองดองกัน และสำคัญที่สุด ต้องมีความพากเพียร ไม่ย่อหย่อนในอันที่จะกระทำต่อไปจนกว่าจะเป็นผลสำเร็จ(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๖)




    อันการทำงานนั้น กล่าวโดยสรุป ขึ้นอยู่กับความสามารถสองอย่างเป็นสำคัญ คือความสามารถในการใช้วิชาการอย่างหนึ่ง กับความ สามารถในการสัมพันธ์ติดต่อและประสานกับผู้อื่น ไม่ว่าจะในวงงานเดียวกันหรือต่างวงงานกัน อีกอย่างหนึ่ง ทั้งสองประการนี้ ย่อมดำเนินควบคู่ไปด้วยกันและจำเป็นที่จะต้องกระทำด้วยจิตใจที่ใสสะอาดปราศจากอคติ ต้องกระทำด้วยความคิดความเห็นที่อิสระ เป็นกลาง ถูกต้องตามหลักเหตุผล จึงจะมีความกระจ่างแจ่มแจ้งเกิดขึ้น(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒสงขลา : ๑๙ สิงหาคม ๒๕๑๗)






    แต่การทำงานใดก็ตาม แต่ละคนควรจะศึกษางานและสภาพทั่วไปให้ทั่วถึงก่อน เพื่อจะได้ทราบว่า จะร่วมงานนั้นๆ อย่างไร เพราะโดยทั่วไป สภาพการณ์และอุปกรณ์ต่างๆ มักไม่เหมือนที่คาดหมายไว้ จะต้อง ทราบว่า สภาพของผู้ทำงานในระยะศึกษากับผู้ทำงานในระยะ ปฏิบัติงานจริงๆ ย่อมแตกต่างกัน จำเป็นต้องใช้ไหวพริบดัดแปลงตัวเอง ให้เข้ากับสภาพในปัจจุบัน(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น : ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙)





    ตอบลบ