พระบรมราโชวาท และกระแสพระราชดำรัส
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ปี พ.ศ. 2551-2552
|
ปี 2551 |
Download >>
| ||
งานราชการนั้น คืองานของแผ่นดิน ข้าราชการจึงต้องสำเหนียก ตระหนักอยู่ตลอดเวลา ถึงฐานะและหน้าที่ของตน แล้วตั้งใจปฏิบัติงานทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ ด้วยความสุจริตเที่ยงตรง และด้วยความมีสติยั้งคิด รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควรกระทำ สิ่งใดควรงดเว้น เพื่อให้งานที่ทำ ปราศจากโทษเสียหาย และบังเกิดผลประโยชน์ที่แท้ คือความเจริญมั่นคงของประเทศชาติและประชาชน
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2551 |
ปี 2552 |
Download >>
| ||
การปฏิบัติงานทุกอย่างของข้าราชการ มีผลเกี่ยวเนื่องถึงประโยชน์ส่วนรวมของบ้านเมือง และประชาชนทุกคน. ข้าราชการทุกฝ่ายทุกระดับ จึงต้องทำความเข้าใจในความสำคัญข้อนี้ให้ถ่องแท้ แล้วเพียรพยายามปฏิบัติงานของตนด้วยความตั้งใจ จริงใจ และด้วยความรับผิดชอบอย่างสูง เพื่อให้งานที่ทำบังเกิดผลประโยชน์เป็นความเจริญมั่นคงแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒ |
ปี พ.ศ. 2541-2550
|
ปี 2541 |
Download >>
| ||
“…ขอให้ท่านทั้งหลาย ตั้งความหวัง ตั้งความเพียรอันมั่นคงไว้ ที่จะช่วยตัวช่วยชาติให้หนักแน่นยิ่งขึ้น ทั้งด้วยการขะมักเขม้นทำงานให้เต็มกำลังความสามารถ ทั้งด้วยการดำเนินชีวิตอย่างระมัดระวังและเป็นอยู่อย่างพอเหมาะพอสม จะประพฤติปฏิบัติการใด ก็ยึดมั่นในประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติเป็นเป้าหมายสูงสุด…”
พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2541
วันพุธ ที่ 31 ธันวาคม พุทธศักราช 2540 |
Download >>
| |||
การปฏิบัติงานทุกอย่างของข้าราชการ มีผลเกี่ยวเนื่องถึงประโยชน์ส่วนรวมของบ้านเมือง และประชาชนทุกคน เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นที่ข้าราชการทุกคนจะต้องทำหน้าที่ทุกๆ ประการให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ โดยเต็มกำลังสติปัญญา ความรู้ ความสามารถ เพื่อผลการปฏิบัติราชการทุกอย่างจักได้บรรลุความสำเร็จอย่างสูงและบังเกิดประโยชน์อย่างดีที่สุดแก่ตน แก่หน้าที่ และแก่แผ่นดิน.
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันที่ 30 มีนาคม พุทธศักราช 2541 |
Download >>
| |||
Self-Sufficiency นั้น หมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง (พึ่งตนเอง) ....... บางคนแปลจาก ภาษาฝรั่งว่า ให้ยืนบนขาตัวเอง คำว่ายืนบนขาตัวเองนี่ มีคนบางคน พูดว่าชอบกล ใครจะมายืนบนขา คนอื่นมายืนบนขาเรา เราก็โกรธ แต่ตัวเองยืนบนขาตัวเองก็ต้องเสียหลักหกล้มหรือล้มลง อันนี้ก็ เป็นความคิดที่อาจจะเฟื่องไปหน่อย แต่ว่าเป็นตามที่เขาเรียกว่ายืน บนขาของตัวเอง (ซึ่งแปลว่าพึ่งตนเอง) หมายความว่า สองขาของ เรานี่ ยืนบนพื้น ให้อยู่ได้ไม่หกล้ม ไม่ต้องไปขอยืนขาของคนอื่นมา ใช้สำหรับยืน...
ให้ปฏิบัติเพียงครึ่งเดียว คือไม่ต้องทั้งหมด หรือ แม้จะเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ หมายความว่า ถ้าทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ของประเทศก็จะพอ ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง ะทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ก็ พอนั้น ไม่ได้แปลว่าเศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่เศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำ
“คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข”
“ความพอเพียงนี้ ก็แปลว่า ความพอประมาณและความมีเหตุผล”
“พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา : 4 ธันวาคม 2541
|
Download >>
| |||
“…เป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายปีแล้ว ที่วิถีทางดำเนินของบ้านเมืองและของประชาชนทั่วไปมีความเปลี่ยนแปลงมาตลอด เพราะความผันแปรเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่น ๆ ที่เกิดจากเหตุปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ในปีใหม่นี้ สถานการณ์ของประเทศโดยส่วนรวมยังไม่แจ่มใสนัก ซึ่งหมายความว่า เราทุกคนต้องขับเคี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาด้านการครองชีพหนักขึ้น น่าพอใจยินดีที่พวกเราเป็นอันมาก ยอมรับรู้ความจริงข้อนี้ แล้วระวังตั้งใจเผชิญกับปัญหาและสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยความสงบอดทน และด้วยความมีสติรู้เท่าสถานการณ์ ทำให้ผ่านสภาวการณ์ไม่ปรกติต่าง ๆ มาได้เรียบร้อยพอสมควร และหวังได้ว่าจะประคับประคองตัวให้อยู่รอดและก้าวต่อไปได้โดยสวัสดี…”
พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2542
วันพฤหัสบดี ที่ 31 ธันวาคม พุทธศักราช 2541 |
ปี 2542 |
Download >>
| ||
ความเจริญของประเทศชาติเป็นความเจริญส่วนรวม ซึ่งเกิดจากผลงานหรือผลของการกระทำของคนทั้งชาติ. ข้าราชการผู้ปฏิบัติบริหารงานของแผ่นดินควรจะได้คำนึงในข้อนี้ให้มาก พิจารณาให้เห็นความสำคัญของผู้อื่น ให้รู้จักนับถือผู้อื่น ใช้ความมีเหตุผลและความร่วมมือกัน ในการปฏิบัติบริหารงานทั้งปวง เพื่อสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตนเอง และจรรโลงประเทศชาติของเราให้ดำรงมั่งคงอยู่ตลอดไป.
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันที่ 30 มีนาคม พุทธศักราช 2542 |
Download >>
| |||
ที่บอกว่าพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อแปลแล้วเป็นภาษาอังกฤษก็ไม่เข้าใจความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง ก็เลย บอกแล้วว่า ถ้าไม่เข้าใจจะอธิบายใหม่ ก็ได้อธิบายใหม่ เมื่อปีที่แล้ว วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ก็ได้อธิบาย ก็รู้สึกว่าได้อธิบายอย่างแจ่มแจ้ง ยืดยาว ก็ดูใครต่อใครก็พยักหน้าว่าเออดี ทำไปทำมาก็ถามกันว่า จะทำอย่างไรสำหรับเศรษฐกิจพอเพียงพระเจ้าอยู่หัว ก็มีการสัมมนากัน มีรายการวิทยุ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนถามกันไปถามกันมาว่า เศรษฐกิจพอเพียงงพระเจ้าอยู่หัวนี่เป็นอย่างไร เขาบอกว่า ....... ดี จะทำให้ประเทศชาติรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ได้ บางคนก็คัดค้าน บอกว่าไม่ดี ไม่ใช่ว่าผู้ที่กล่าวถึง เศรษฐกิจพอเพียง เป็นคล้ายๆ เป็นทฤษฎีใหม่ จะน้อยใจไม่น้อยใจ ดีใจที่ท่านผู้ที่เป็นนักเศรษฐกิจ ผู้ที่เป็นอาจารย์เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง เขาอุตส่าห์ อ้างถึงเอ่ยถึงเศรษฐกิจพอเพียงพระเจ้าอยู่หัว ถ้าเขาไม่เห็นว่า มีดี เขาไม่พูดเลย ถ้าพูดเดี๋ยวหาว่ามาติเตียนพระเจ้าอยู่หัวไม่ดี ….. มีคนหนึ่งพูด เป็นดอกเตอร์ เขาพูดว่า เศรษฐกิจพอเพียง นี่ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร แหมคันปากอยากจะพูดที่จริงที่คันปากที่จะพูดเพราะว่าตอบแล้ว อย่างที่เห็นในทีวีรายการใหญ่ เขาพูดถามโน่นถามนี่ เราดูแล้วรำคาญเพราะว่าตอบแล้ว ตอบเสร็จแล้วก็ถามใหม่เมื่อ ตอบอีกก็บอกว่าทำไมพูด คราวนี้เราฟังเขา แล้วเขาถามว่าภาษาอังกฤษจะแปลเศรษฐกิจพอเพียง่าอย่างไร ก็อยากจะตอบว่า มีแล้วใน หนังสือ ในหนังสือไม่ใช่หนังสือตำราเศรษฐกิจในหนังสือพระราชดำรัส ที่อุตส่าห์พิมพ์ และนำมาปรับปรุงดูให้ฟังได้ และแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพราะว่าคนที่ฟังภาษาไทย บางทีไม่เข้าใจภาษาไทย ก็ต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ และเน้นว่า เศรษฐกิจพอเพียง แปลว่า Sufficiency Economy โดยเขียนเป็นตัวหนาในหนังสือ เสร็จแล้ว เขาก็มาบอกว่า คำว่า Sufficiency Economy ไม่มีในตำรา เศรษฐกิจ จะมีได้อย่างไร เพราะว่าเป็นทฤษฎีใหม่ เป็นตำราใหม่ ถ้ามีอยู่ในตำราก็หมายความว่าเราก๊อปปี้มา เราลอกเขามา เราไม่ได้ลอก ไม่อยู่ในตำราเศรษฐกิจ เป็นเกียรติที่เขาพูดอย่างที่เขาพูดอย่างนี้ว่า Sufficiency Economy นั้นไม่มีในตำรา การที่พูดว่าไม่มีในตำรานี่ ที่ว่าเป็นเกียรตินั้นก็หมายความว่า เรามีความคิดใหม่ โดยที่ท่านผู้เชี่ยวชาญสนใจ ก็หมายความว่า เราก็สามารถที่จะคิดอะไรได้ จะถูก จะผิดก็ช่างแต่ว่าเขาสนใจ แล้วก็ถ้าเขาสนใจ เขาก็สามารถที่จะไปปรับปรุงหรือไปใช้หลักการ เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจของประเทศ และของโลกพัฒนาดีขึ้น ..... เศรษฐกิจพอเพียงก็มีเป็นขั้นๆ แต่ว่าต้องดูว่าเศรษฐกิจพอเพียงที่จะมาบอกว่าให้พอเพียงเฉพาะตัวเอง ๑๐๐ % เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน ถ้ามีการช่วยกันแลกเปลี่ยนไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง้ว แต่ว่า พอเพียงในทฤษฎีหลวงนี้คือสามารถที่จะดำเนินงานได้ เมืองไทยไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้ตำหนิ ไม่เคยพูด นี่เพิ่งพูดวันนี้ พูดเวลานี้ ขณะนี้ว่า ประเทศไทยไม่ใช้เศรษฐกิจพอเพียงค่อนข้างจะแย่ เพราะว่าจะทำให้ล่มจม เศรษฐกิจพอเพียง ที่หมายถึงนี้ คือว่า อย่างคนที่ทำธุรกิจก็ย่อมต้องไปกู้เงิน เพราะว่าธุรกิจหรือกิจการอุตสาหกรรมสมัยใหม่ คนเดียวไม่สามารถที่จะรวบรวมทุนมาสร้างกิจกรรมที่ใหญ่ เช่นเรื่องเขื่อนป่าสักคนเดียวทำไม่ได้ หรือแม้หน่วยราชการหน่วยเดียวทำไม่ได้...........ถ้านับดูปีนี้น่าจะมีความเสียหาย หมื่นล้านไม่ต้องเสีย และที่ไม่ต้องเสียนี้ก็ทำให้เกิดมีผลผลิต โดยเฉพาะอย่างเกษตรเขาก็มีผลผลิตได้ แม้จะปีนี้ซึ่งเขื่อนยังไม่ได้ทำงาน ในด้านชลประทาน ก็ทำให้ป้องกันไม่ให้มีน้ำท่วม ทำให้เกษตรกรเพาะปลูกได้ ก็เป็นเงินหลายพันล้านเหมือนกัน ฉะนั้นในปีเดียว เขื่อนป่าสักนี้ได้คุ้มแล้ว คุ้มค่าที่ได้สร้าง 2 หมื่นล้านนั้น ก็หมายความว่ากิจการเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน แต่ว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ก็พอเพียงเพราะว่าถ้าทำแล้ว คนอาจจะเกี่ยวข้องกับกิจการนี้มากมาย แต่ว่าทำให้ส่วนรวมได้รับประโยชน์และจะทำให้เจริญ ....... แต่ว่าถ้ากิจการที่ทำไม่มีนโยบายที่แน่วแน่ ที่สอดคล้องกัน มัวแต่ทะเลาะกัน ไม่สำเร็จ ก็ถือว่าไม่ได้ประโยชน์จากกิจการที่คิด เมื่อไม่มีประโยชน์ จากกิจการที่คิด ป่านนี้เราจะจนลงไป เงินสองหมื่นล้านที่ไปลงในการสร้างนั้น เงินสองหมื่นล้านก็หมดไปแล้ว หมดไปโดยไม่มีประโยชน์ หมดไปโดยได้ทำลาย เพราะว่าเดือดร้อน เกษตรกรเดือดร้อน ชาวกรุงเดือดร้อน ฉะนั้นก็ต้องมีเหมือนกันโครงการต่างๆ หรือเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่ต้องมีการสอดคล้องกันดี ที่ไม่ใช่เพียงแต่เหมือนทฤษฎีใหม่ ๑๕ ไร่ ๑๕ ไร่ แล้วก็สามารถที่จะปลูกข้าวพอกิน ไอ้นี่มันใหญ่กว่า แต่อันนี้ก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงมือนกันคือ คนที่ไม่เข้าใจว่า กิจการใหญ่ๆ เหมือนสร้างเขื่อนป่าสัก เขานึกว่าเป็นเศรษฐกิจ สมัยใหม่ เป็นเศรษฐกิจที่ไกลจากเศรษฐกิจพอเพียง นี่เราวัด ได้ว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียง อันนี้เป็นตัวอย่างในทางบวก...........เศรษฐกิจพอเพียงีกอย่างหนึ่งไม่ค่อยอยากพูด เช่นการแลก เปลี่ยนเงิน ค่าแลกเปลี่ยน นี่ได้พูดมา 2 ปี บอกว่าขอให้เงิน ค่าของเงิน จะสูงจะต่ำเท่าไหร่ ก็ไม่ค่อยขัดข้อง แต่ว่าถ้าไม่สมดุลมันไม่ดี
*****
“ถ้าพอมีพอกิน คือพอมีพอกินของตัวเองนั้นไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเศรษฐกิจสมัยหิน.สมัยหินนั้นเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกันแต่ว่าค่อยๆพัฒนาขึ้นมา ต้องมีการ แลกเปลี่ยนกัน มีการช่วยระหว่างหมู่บ้านหรือระหว่างจะเรียกว่าอำเภอ จังหวัด ประเทศจะต้องมีการแลกเปลี่ยน มีการไม่พอเพียงจึงบอกว่าถ้ามีเศรษฐกิจพอเพียงเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็จะพอแล้ว จะใช้ได้.”
*****
“ถ้าไม่มีเศรษฐกิจพอเพียง เวลาไฟดับ...จะพังหมด จะทำอย่างไร ที่ที่ต้องใช้ไฟก็ต้องแย่ไป ...หากมีเศรษฐกิจพอเพียงแบบไม่เต็มที่ ถ้าเรามีเครื่องบั่นไฟ ก็ใช้ปั่นไฟ หรือถ้าขั้นโบราณกว่า มือก็จุดเทียน คือมีทางที่จะแก้ปัญหาเสมอ ...ฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ก็มีเป็นขั้นๆ แต่จะบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ให้พอเพียงเฉพาะตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ นี่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน ...พอเพียงในทฤษฎีหลวงนี้ คือให้สามารถที่จะดำเนินงานได้”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา: 23 ธันวาคม 2542
|
ปี 2543 |
Download >>
| ||
“…เวลานี้ บ้านเมืองของเรากำลังต้องการการปรับปรุงและการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ ทางที่เราจะช่วยกันได้ก็คือ การที่ทำความคิดให้ถูกและแน่วแน่ ในอันที่จะยึดถือประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่หมาย ต้องเพลาการคิดถึงประโยชน์เฉพาะตัวและความขัดแย้งในสิ่งที่มิใช่สาระลง ต้องหันหน้าปรึกษากันด้วยความรู้คิด ด้วยความเป็นญาติเป็นมิตร และเป็นไทยด้วยกัน ผู้ใดมีภาระหน้าที่อันใดอยู่ ก็เร่งกระทำให้สำเร็จลุล่วงไป ให้ทันการณ์ ทันเวลา ผลงานของแต่ละคน แต่ละฝ่าย จักได้ประกอบส่งเสริมกันขึ้น เป็นความสำเร็จและความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ..”
พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2543
วันศุกร์ ที่ 31 ธันวาคม พุทธศักราช 2542 |
Download >>
| |||
ข้าราชการผู้ปฏิบัติบริหารงานของแผ่นดิน จะต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่โดยเต็มกำลังความสามารถ ด้วยอุดมคติ ด้วยความเข้มแข็งเสียสละ และระมัดระวังให้การทุกอย่างในหน้าที่เป็นไปอย่างถูกต้อง และเที่ยงตรงเป็นกลาง ด้วยความระลึกรู้ตัวอยู่เสมอว่า การปฏิบัติตัวปฏิบัติงานของตนมีผลเกี่ยวเนื่องถึงประโยชน์ส่วนรวมของบ้านเมืองและของประชาชนทุกคน.
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันที่ 30 มีนาคม พุทธศักราช 2543 |
Download >>
| |||
แต่ว่าเมื่อตะกี้ เมื่อเข้ามานี้ มีคนพูดแทน ก็หวังว่าเป็นการพูดแทน ของประชาชนจริงๆ เพราะเค้าบอกว่าเค้า พูดในนามของประชาชน คนไทย ว่าจะทำตามเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัว อันนี้ไม่ทราบว่าเค้า รู้เรื่องดีอย่างไร ถึงว่าเศรษฐกิจพอเพียง ของพระเจ้าอยู่หัวคืออะไร แต่ก็ ควรจะรู้ หรืออย่างน้อยที่สุด ท่านผู้ใหญ่ที่นั่งอยู่ ข้างในนี้ ก็น่าจะรู้ น่าจะเข้าใจ เพราะว่าจำนวนมากส่วนใหญ่ ได้ฟังพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง และ ทฤษฎีใหม่มาหลายต่อหลายครั้ง แล้วไม่ได้คัดค้านว่าใช้ไม่ได้ ทำไม่ได้ มีบางคนพูดบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียง นี้ไม่ถูก ทำไม่ได้ ไม่ดี ได้ยินคนเค้าพูด แต่ว่าส่วนใหญ่บอกว่าดี แต่พวกส่วนใหญ่ที่บอกว่าดีนี้ เข้าใจแค่ไหนก็ไม่ทราบ แต่ยังไงก็ตาม เศรษฐกิจพอเพียงนี้ ขอย้ำว่า เป็นการทั้งเศรษฐกิจ หรือ ความประพฤติ ที่ทำอะไรเพื่อให้เกิดผลโดยมีเหตุและผล คือเกิดผลมันมาจากเหตุ ถ้าทำเหตุที่ดี ถ้าคิดให้ดีให้ผลที่ออกมา คือสิ่งที่ติดตามเหตุ การกระทำ ก็จะเป็นการกระทำที่ดี และผลของการกระทำนั้น ก็จะเป็นการกระทำที่ดี ดีแปลว่ามีประสิทธิผล ดีแปลว่ามีประโยชน์ ดีแปล ว่าทำให้มีความสุข
*****
ทั้งหมดนี้พูดอย่างนี้ก็คือเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเอง เศรษฐกิจพอเพียงที่ได้ย้ำแล้วย้ำอีกแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า sufficiency economy ใครต่อใครก็ ต่อว่า ว่าไม่มี sufficiency economy แต่ว่าเป็นคำใหม่ของเราก็ได้ก็หมายความว่า ประหยัด แต่ไม่ใช่ขี้เหนียว ทำอะไร ด้วยความอะลุ้มอล่วยกัน ทำอะไรด้วยเหตุและผล จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง แล้วทุกคนจะมีความสุข แต่พอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่ ปฏิบัติยากที่สุดเพราะว่าคนหนึ่งนั่งอยู่ที่นี้ อีกคนอยากจะนั่งเก้าอี้เดียวกัน นั่งได้ไหม ไอ้นี่ก็พูดมามาหลายปีแล้ว ก็ แต่ละคนก็สั่นหัวว่านั่งไม่ได้ เพราะว่าเดือดร้อนเบียดเบียน
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : 4 ธันวาคม 2543
|
ปี 2544 |
Download >>
| ||
การปฏิบัติราชการนั้น นอกจากมุ่งกระทำเพื่อให้งานสำเร็จไปโดยเร็วและมีประสิทธิภาพแล้ว ยังจะต้องกระทำด้วยสติรู้ตัวและปัญญารู้คิดว่าสิ่งใดเป็นความเจริญ สิ่งใดเป็นความเสื่อม อะไรเป็นสิ่งที่ต้องทำ อะไรเป็นสิ่งที่ต้องละเว้นหรือกำจัด. ผลที่เกิดขึ้นจึงจะเป็นประโยชน์ที่แท้และยั่งยืนทั้งแก่ตนเองและส่วนรวม.
วังไกลกังวล
วันที่ 30 มีนาคม พุทธศักราช 2544 |
Download >>
| |||
ทั่วประเทศ มีสิ่งที่ทำแล้วบกพร่อง ถ้าบกพร่อง จนกระทั่งทำให้ที่ตรงนั้น เจริญขึ้นไม่ได้ แต่ก็ ก็เจริญได้พอสมควร ก็เพราะว่ามีคนไปช่วย แต่ก็ยังไงก็ตาม ก็ได้ให้นักเรียนได้เห็นว่า ในที่ที่แร้นแค้น มันไม่เจริญึ้นมาได้ อย่างที่ควรจะเกิดเจริญ เพราะว่าไปทำอะไร ที่ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกหลักวิชา อันนี้ อะไรก็ตาม ทั้งนี้ก็อยากให้ เด็กเขาได้ทราบ ได้เห็น ก็เข้าใจว่า เขารู้ เขาได้เห็น และก็ได้เกิดความรู้ขึ้นมา และเขาจะต้
องหาความรู้เองต่อไป ไม่ใช่ว่าจะไปบอก เราต้องทำอย่างนั้นๆ แล้วก็ เขาก็ทำ แล้วก็ได้ผล แต่นี่เขาให้เห็นกับตัว ตัวเขาเองได้เห็นว่า ในภูมิประเทศที่แร้นแค้น มันทำได้ เพิ่มขึ้น เพิ่มความเจริญ แต่ว่าที่ ที่คนไม่ค่อยอยากทำ มันก็เจริญ่ได้ หรือเจริญช้า ถ้าเจริญช้า ก็เท่ากับว่าถอยหลัง ทั่วประเทศก็เป็นอย่างนี้
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : 4 ธันวาคม 2544
|
ปี 2545 |
Download >>
| ||
“…ประเทศของเราต้องประสบกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี แต่ด้วยความรู้เท่าทันและความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกคน ที่ช่วยกันประคับประคองแก้ไข บ้านเมืองของเราจึงยังมั่นคงเป็นปรกติอยู่ ใครจะไปไหนมาไหนก็ยังทำได้สะดวก การทำมาหากินก็ยังไม่ถึงกับฝืดเคืองนัก ทำให้มั่นใจได้ว่า หากจะมีอุปสรรค ปัญหา หรือเหตุไม่ปรกติใด ๆ เกิดขึ้น คนไทยเราจะร่วมกันคิดอ่าน และช่วยกันปฏิบัติ แก้ไขให้ทุกสิ่งทุกอย่างคลี่คลายลุล่วงไปได้อย่างแน่นอน…”
พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2545
วันอังคาร ที่ 31 ธันวาคม พุทธศักราช 2544 |
Download >>
| |||
ที่ทำงานให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม ย่อมเป็นคุณแก่ตนด้วย. ผู้ที่ทำงานโดยเห็นแก่ตัวเบียดเบียนประโยชน์ส่วมรวม ย่อมบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติและที่สุดก็จะเอาตัวไม่รอด. ข้าราชการทุกคนจึงต้องทำงานทุกอย่าง ด้วยสติสำนึกถึงหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติเพื่อส่วนรวมอยู่เสมอ.
วังไกลกังวล
วันที่ 30 มีนาคม พุทธศักราช 2545 |
Download >>
| |||
...เมืองไทยเนี่ยมีทรัพยากรดี ๆ ไม่ทำไม่ใช้ เดี๋ยวต้องไปกู้เงินอะไรที่ไหนมา มาพัฒนาประเทศ จริงสุนัขฝรั่งก็ต้องซื้อมา ต้องมี แต่ว่าเรามีของทรัพยากรที่ดี เราต้องใช้ ไม่ใช่สุนัขเท่านั้น อื่น ๆ ของอื่นหลายอย่าง แล้วก็ที่นายกฯ พูดถึงทฤษฎีใหม่ พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง ไอ้เนี่ยเราไม่ได้ซื้อจากต่างประเทศ แต่ว่าเป็นของพื้นเมือง แล้วก็ไม่ได้ อาจจะอ้างว่า เป็นความคิดของพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่ทำมานานแล้ว ทั้งราชการ ทำราชการ ทั้งพลเรือน ทั้งทหาร ทั้งตำรวจ ได้ใช้เศรษฐกิจพอเพียงมานานแล้ว อย่างตำรวจไปเปิดโรงเรียนที่บนภูเขา ใช้เศรษฐกิจพอเพียงแท้ โรงเรียนสร้างโรงเรียนใช้ไม้ผุ ๆ พัง ๆ ก็ไปเลือกมา แล้วก็คนที่เป็นครู ก็เป็นตำรวจ ๒ คน ได้เลี้ยงดู สอนเด็ก ๑๐ คน ๑๕ คน แล้วก็นอกจากเลี้ยงดู ยังเป็นบุรุษพยาบาลด้วย ดูผู้ที่เป็น เออ มาลาเรียตรวจเลือด ตำรวจพวกนี้เขาตรวจเลือดแล้วก็เมื่อเป็นยังไง เขาก็ส่งผู้ที่ป่วย ช่วยชีวิตเด็กและผู้ใหญมากมาย แต่อย่างนี้ถือว่า เถื่อน หาว่าเถื่อน หาว่าตำรวจป่าเนี่ย เขาเรียกว่า ตำรวจป่า พวกตำรวจชายแดนนี่ ตำรวจป่า เขา คนอื่นในกรุง หาว่าเป็นตำรวจป่า แต่ที่จริง ตำรวจป่าเนี่ยเขาช่วยชีวิตคนมากมาย มากหลาย...
*****
ยังไงก็ขอบใจท่านทั้งหลายที่มา แล้วก็มาให้พร แล้วมาคึกครื้นกัน ขอให้มีสุขภาพอนามัยที่แข็งแรง อย่าเครียดเกินไป คือ ว่าเครียดแล้วก็สุขภาพไม่ดี ก็ให้สุขภาพดี ๆ งานให้เรียบร้อย ได้สามารถที่จะปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ โดยที่ไม่ทะเลาะกันมากเกินไป คือ สังเกตดูหมู่นี้คนหนึ่งพูดอย่าง คนหนึ่งพูดอีกอย่าง มันทะเลาะกัน ทะเลาะกันไม่มีประโยชน์ คิดแต่ดี ๆ แล้วก็บ้านเมืองก็จะเรียบร้อย ถ้าบ้านเมืองเรียบร้อย ทุกคนก็มีความสุข ก็ขอให้ทุกคนทำงาน ทำการ ทำอะไรมีความสำเร็จเรียบร้อย ทุกคนมีความสุข บ้านเมืองเจริญ ก็ขอให้ได้มีความสำเร็จทุกประการ
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : 4 ธันวาคม 2545
|
ปี 2546 |
Download >>
| ||
“…ในขวบปีที่แล้ว มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา แต่มีเรื่องหนึ่งที่ควรกล่าวถึงเป็นพิเศษก็คือ การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยเมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ ที่คนไทยทุกคน ทุกองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างร่วมมือร่วมใจกันโดยพร้อมพรัก ทำให้ผู้ที่ได้พบเห็น แม้เป็นชาวต่างชาติต่างภาษา ก็พากันชื่นชมยกย่อง ข้าพเจ้าเองก็มีความปิติ เต็มตื้นใจที่ได้เห็นน้ำใจของทุกคนเช่นนี้ เพราะเป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงคุณธรรมข้อหนึ่ง ที่ยังอยู่อย่างบริบูรณ์ในจิตใจของคนไทย ก็คือ การให้ การให้นี้ ไม่ว่าจะให้สิ่งใด แก่ผู้ใด โดยสถานใด ก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญ ระหว่างบุคคลกับบุคคล และทำให้สังคมมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นด้วยสามัคคีธรรม นอกจากนั้น การให้ ยังเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขอีกด้วย กล่าวคือ ผู้ให้ก็มีความสุขมีความอิ่มเอิบใจ ผู้รับก็มีความสุข มีกำลังใจ สังคมส่วนรวมตอลดถึงประทศชาติ ก็มีความผาสุกมีความร่มเย็น…”
*****
คุณธรรมข้อหนึ่ง ที่ยังมีอยู่อย่างบริบูรณ์ในจิตใจของคนไทย ก็คือ การให้ การให้นี้ ไม่ว่าจะให้สิ่งใดแก่ผู้ใด โดยสถานใดก็ตาม เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญ ระหว่างบุคคลกับบุคคล และทำให้สังคมมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น ด้วยสามัคคีธรรม
พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2546
วันอังคาร ที่ 31 ธันวาคม พุทธศักราช 2545 |
Download >>
| |||
ข้าราชการ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด ระดับไหน มีหน้าที่อย่างไร ล้วนแต่มีส่วนสำคัญอยู่ในงานของแผ่นดินทั้งสิ้น ทุกคน ทุกฝ่าย จึงไม่ควรจะถือตัวแบ่งแยก หากต้องยกย่องนับถือ ให้เกียรติกัน สมัครสมาน ร่วมมือร่วมความคิดกัน ให้การปฏิบัติ บริหารงานของแผ่นดิน ดำเนินไปอย่างมีเอกภาพ และได้ผลที่พึงประสงค์สมบูรณ์ พร้อมทุกส่วน"
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ 30 มีนาคม พุทธศักราช 2546
|
Download >>
| |||
วิธีปลูกข้าวไม่เหมือนของเรา เราเพิ่งพบวิธีปลูกข้าวในพรุ ทำให้นราธิวาสมีกินแล้วขายได้ อันนี้นี้หมายความว่า ต้องสอนให้เด็กๆ มีจินตนาการ ตอนนี้ฝ่ายมลายูเขาก็มีเทคโนโลยีสูง เราก็ชื่นชมรัฐบาลมาเลเซียเขาเก่ง มีความสามารถ ฉลาด แต่ตอนนั้นเขาปลูกข้าวไม่เป็น ต้องเอาคนไทยไปสอน แต่ที่เราสอนได้ จากคนที่มีความรู้แล้วเรียนเกี่ยวกับการเกษตร แล้วมาพลิกแพลงให้สามารถทำให้ดินมีผลิตผลได้ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ สามารถเลี้ยงตัวได้ถึงมาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่ก้าวหน้าไม่ใช่เพียงแต่ปลูกพอกินอย่างนั้น มันต้องมีพอที่จะตั้งโรงเรียน แม้แต่ศิลปะเกิดขึ้น ประเทศชาติถือว่าประเทศไทยเจริญในทุกทาง ไม่หิว มีกิน คือไม่จน มีกิน มีอาหารใจ หรืออะไรอื่นๆ ให้มากๆ
*****
ต้องพัฒนาอาชีพความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอาชีพไม่ใช่เพียงแต่ ปลูกผัก ถั่ว งาให้หลานเฝ้า แต่เป็นเรื่องของความอยู่ดีกินดี ความรู้การศึกษาที่กล่าวว่า ต้องช่วยให้การศึกษาดีขึ้น เพราะถ้าการศึกษาไม่ดี คนไม่สามารถทำงาน การศึกษาต้องได้ทุกระดับ
|
Download >>
| |||
ความสะดวกจะสามารถสร้างอะไรได้มาก นี่คือเศรษฐกิจพอเพียง สำคัญว่าต้องรู้จักขั้นตอน ถ้านึกจะทำอะไรให้เร็วเกินไปไม่พอเพียง ถ้าไม่เร็ว ช้าไปก็ไม่พอเพียง ต้องให้รู้จักก้าวหน้า โดยไม่ทำให้คนเดือดร้อน อันนี้เศรษฐกิจพอเพียงคงได้ศึกษามาแล้ว เราพูดมาแล้ว ๑๐ ปี ต้องปฏิบัติด้วย ที่ประหลาดที่สุดเริ่มที่สระบุรี มงคลชัยพัฒนา เริ่มต้น ๑๕ ปีแล้ว ก่อนถึงอายุ ๖๐ ไปสร้างแล้ว ก่อนมีมูลนิธิชัยพัฒนาด้วยซ้ำ ไม่ใช้เงินงบประมาณ ใช้เงินในศาลาดุสิดาลัย มีเพื่อนฝูงถามเอาไหมไปซื้อที่ ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ บาท ไปจัดการที่ตรงนั้น ๑๕ ไร่ เศรษฐกิจพอเพียงเริ่มตรงนั้น จนกระทั่งไปทั่วประเทศ จนรัฐบาลสนใจ ไม่ใช่รัฐบาล เป็นพวกที่นักเศรษฐกิจเก่งๆ สนใจเดี๋ยวนี้ไม่ต้องโฆษณาแล้ว นักเศรษฐกิจที่มีความรู้เขาเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็สบายใจ มาถวายพระพรก็สบายใจ อันนี้ที่พูดที่ทำอะไร เข้าใจเป็นพรที่ดีที่สุด ก็พอใจเรื่องอื่น ที่ไม่ใช่เรื่องข้าว เรื่องปกครองทั้งหลาย ด้านวิชาการมันก็มีพอเพียงมือนกัน พูดถึงรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ก็มีรัฐศาสตร์พอเพียงมือนกัน ไม่งั้นจะทำให้เละเทะไปหมด ที่พูดนี่ตะล่อมให้เข้าใจว่า ให้พอเพียง่ใช่เศรษฐกิจ เป็นความคิด ให้สามารถทำอะไรอยู่ได้ แม้แต่กองทัพ ซึ่งกองทัพทำอะไรพอเพียงอะแยะ ช่วยหลายอย่าง ทำได้ อย่างทหารเรือ เรือ ต.๙๑เศรษฐกิจพอเพียง เดี๋ยวนี้ ต.๙๑ พังแล้วรับราชการมาพอสมควร ต้องพูดเพราะว่า นายกฯ มาพูดเมื่อวานนี้ ที่สนามหลวงแล้วถือธง ชนะๆ ไชโย นี่แหละ ทราบดีว่านายกฯไม่ค่อยชอบให้เตือน ใครเตือนเรามันเคือง แต่จะเล่าให้ฟัง เตือนนี่ สมเด็จพระบรมราชชนนี แม่เราอายุ ๔๐-๕๐ แล้ว ท่านชมเก่ง ทำนี่แม่ชอบ แต่ท่านต้องต่อว่า อย่าลืมตัว ท่านว่าอย่างนั้นทุกครั้ง ท่านพูดว่าอย่าลอย ท่านใช้คำว่าปอดลอย ขาต้องอยู่ติดดิน กับดิน ชื่อลูกภูมิพล ต้องเหยียบดิน ไอ้การลอยไม่เหยียบดินใช้ไม่ได้ ภูมิพลเหยียบดิน ถึงเดินไปบนภูเขาก็เดินบนดิน เหาะเฮลิคอปเตอร์ลงมาก็มาเดินบนดิน ท่านเตือนเสมอว่าห้ามไม่ให้ลอย จนอายุเกือบ ๖๐ ถึงหยุด ท่านไม่เตือนแล้ว ท่านว่าแม่ชอบ ถ้าทำอะไรดีให้รู้ว่าดี อย่าไปเหิม ต้องระวัง
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : 4 ธันวาคม 2546
|
ปี 2547 |
Download >>
| ||
ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ถึงวาระที่จะขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดีมาอวยพรแก่ท่านทุกๆ คน ทั้งขอขอบใจในน้ำใจไมตรีของทุกท่านเป็นอย่างมาก ที่ได้ให้ความร่วมมือ สนับสนุนข้าพเจ้า ในภารกิจทั้งปวงด้วยดีเสมอมา
ในขวบปีที่แล้ว บ้านเมืองเรามีสิ่งที่ดี ที่ควรแก่การชื่นชมเกิดขึ้นหลายอย่าง อย่างแรกก็คือ การที่นานาประเทศเขาเชื่อถือ ไว้วางใจให้ประเทศของเรา จัดการประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ ๑๑ ขึ้นนั้น ข้อนี้ต้องนับเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีของประเทศ
ทุกคนต่างก็ทราบ ตระหนักเป็นอย่างดี จึงยินดีร่วมมือร่วมงานกัน ด้วยความเต็มใจเสียสละ ทำให้งานครั้งนั้น ผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อย และงดงาม สิ่งที่ดีอีกอย่างหนึ่งที่ควรกล่าวถึงก็คือ เป็นเวลาหลายปีติดต่อกันมา ที่เราต้องประสบกับเหตุไม่ปกติต่างๆ หลายเรื่อง จนทำให้หลายๆ คน เกิดความวิตกห่วงใยในอนาคตของตนเอง และของบ้านเมืองเป็นอย่างมาก
แต่ด้วยเหตุที่ส่วนใหญ่มีสติรู้เท่าทัน มีความรู้ความสามารถ จึงต่างขวนขวายช่วยตัวเอง และร่วมมือ ร่วมความคิดกัน ปฏิบัติแก้ไขอย่างจริงจัง จนบัดนี้อาจจะกล่าวได้ว่า สถานการณ์ต่างๆ ได้ผ่อนคลายลง และมีความหวังว่าจะดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม เรายังจะต้องพยายามปฏิบัติตน ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังต่อไปอีกมาก ในปีใหม่นี้ ทุกคนจึงชอบที่จะตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท ไม่ว่าจะคิดจะทำสิ่งใด ก็ขอให้คิดให้ดี ให้รอบคอบ ทำให้ดี ให้ถูกต้อง ผลของการคิดดี ทำดี ทำถูกต้องนั้น จะได้ส่งเสริมให้แต่ละคน ตลอดจนประเทศชาติ ดำเนินก้าวหน้าต่อไปด้วยความมั่นคงสวัสดี
ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยเคารพบูชา จงอภิบาลรักษาท่านทุกคน ให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากโรค ปราศจากภัย ให้มีความสุขกาย สุขใจ และประสบแต่ความสำเร็จสมหวัง ตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน
พระราชดำรัส พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2547
วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2546 |
Download >>
| |||
ผู้ปฏิบัติราชการ จำเป็นต้องรู้วิทยาการ รู้งาน และรู้ดีรู้ชั่วอย่างกระจ่างชัด จึงจะสามารถปฏิบัติบริหารงานในความรับผิดชอบให้ถูกตรงตามเป้าหมาย และสัมฤทธิ์ผลที่เป็นประโยชน์ เป็นความเจริญที่แท้จริงและยั่งยืน ทั้งแก่ตนเองและส่วนรวม
พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
วันที่ 30 มีนาคม พุทธศักราช 2547 |
Download >>
| |||
"....ในปัจจุบัน การศึกษาวิจัยด้านพันธุศาสตร์มีความเจริญก้าวหน้ามาก และมีการนำผลที่ได้ไปปรับใช้ในกิจการด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง. ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าจึงใคร่จะปรารภกับทุกท่านว่า ความรู้ต่างๆ เหล่านั้น แม้จะมีประโยชน์มากก็จริง แต่ถ้าใช้ไม่ถูกเรื่องถูกทางโดยไม่พิจารณาให้ดีให้รอบคอบแล้ว ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายแก่ชีวิตความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงได้เช่นกัน. เหตุนี้ ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาจำเป็นจะต้องศึกษาให้รู้เท่าและรู้ทัน. จึงเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ มาประชุมปรึกษาหารือกัน ร่วมกันนำเสนอผลงานการศึกษาวิจัย เกี่ยวกับเรื่องวิวัฒนาการของพันธุศาสตร์และผลกระทบต่อโลก ทำให้หวังได้ว่า การนำความรู้ด้านพันธุศาสตร์ไปปรับใช้ในกิจการด้านต่างๆ จะเป็นไปด้วยความระมัดระวังรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุดแก่มวลมนุษยชาติ..."
จากพระราชดำรัส ในพิธีการเปิดประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ ๕ เรื่องวิวัฒนาการของพันธุศาสตร์และผลกระทบต่อโลก วันที่ 16 สิงหาคม 2547 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา
|
Download >>
| |||
ข้าพเจ้าปรารถนาอย่างยิ่ง ที่จะให้ทุกคนเล็งเห็นและเข้าใจในสถานการณ์บ้านเมืองตามความเป็นจริง ว่าเวลานี้บ้านเมืองของเรากำลังต้องการการปรับปรุงและพัฒนาอย่างมีประสิทธิ ภาพโดยเร่งรีบ เพื่อให้ได้รับประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย จากทรัพยากรในพื้นภูมิประเทศของเรา และจากกำลังงานกำลังปัญญาของคนไทยทุกคน จะลังเลหน่วงเหนี่ยวให้ชักช้าด้วยเหตุผลใด ๆ ไม่ได้ เพราะจะทำให้เสียประโยชน์ที่จะพึงได้ไปเปล่า ๆ ซึ่งในยามนี้จะต้องถือเป็นความเสียหาย ทางที่เราจะช่วยกันได้ ก็คือการทำความคิดความเห็นให้ถูก และแน่วแน่ ในอันที่จะยึดถือประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นที่หมาย ต้องเพลาการคิดถึงประโยชน์เฉพาะตัวและความขัดแย้งกันในสิ่งที่มิใช่สาระลงให้ได้ ผู้ใดมีภาระหน้าที่อันใดอยู่ ก็เร่งกระทำให้สำเร็จลุล่วงไปโดยเต็มกำลังความรู้ ความคิด และความสามารถ ด้วยความจริงใจ ด้วยความเมตตาปรองดอง และความมุ่งดีปรารถนาดีต่อกัน ผลงานของทุกคนจักได้ประมวลกันนี้เป็นประโยชน์สุข ความมั่นคง และความวัฒนาถาวรของประเทศชาติ ซึ่งเป็นจุดหมายอันสูงสุดของเรา
กระแสพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
5 กันยายน พ.ศ. 2547 |
ปี 2548 |
Download >>
| ||
ข้าราชการผู้ปฏิบัติบริหารงานของแผ่นดิน จะต้องรู้ตระหนักแน่ในการสละ อันได้แก่การสละสำคัญสองประการ คือสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่ยิ่งใหญ่และเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตัวประการหนึ่ง กับสละความคิดจิตใจที่ต่ำทรามต่างๆ อีกประการหนึ่ง จึงจะเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของคนทั้งปวงและสามารถดำรงตำแหน่งหน้าที่อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีและมีความเจริญมั่นคงตลอดไป.
พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล วันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2548
|
ปี 2549 |
Download >>
| ||
ข้าราชการผู้ปฏิบัติบริหารงานของแผ่นดิน จะต้องมุ่งปฏิบัติภาระทั้งปวง ด้วยความอุตสาหะเพ่งพินิจ ใช้ความรู้ความคิด ความเฉลียวฉลาด และความรู้ผิดชอบชั่วดี เป็นเครื่องวิจัยวิจารณ์ ปรับปรุงตัวปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพเสมอ. งานที่ทําจึงจะสําเร็จผลสมบูรณ์ และก่อเกิดประโยชน์ ที่พึงประสงค์ เป็นความเจริญมั่นคง ทั้งแก่ตน แก่งาน และแก่ส่วนรวมพร้อมทุกส่วน.
พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
วันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2549 |
ปี 2550 |
Download >>
| ||
งานของแผ่นดิน เป็นงานส่วนรวม มีผลเกี่ยวเนื่องถึงความเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงของบ้านเมือง และสุขทุกข์ของประชาชนทุนคน ข้าราชการผู้ปฏิบัติบริหารงานแผ่นดิน จึงต้องสำนึกตระหนักในความรับผิดชอบที่มีอยู่ และตั้งใจพยายามปฏิบัติหน้าที่โดยเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความเข้มแข็งสุจริต และด้วยปัญญารู้คิดพิจารณา ว่าสิ่งใดเป็นความเจริญ สิ่งใดเป็นความเสื่อม อะไรเป็นสิ่งที่ต้องทำ อะไรเป็นสิ่งที่ต้องละเว้นและกำจัด อย่างชัดเจน ถูกต้อง ตรง
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2550 |
ปี พ.ศ. 2531-2540
|
ปี 2531 |
Download >>
| ||
เกียรติและความสำเร็จเกิดจากผลการปฏิบัติงานและการปฏิบัติตัวของแต่ละคน ที่สามารถปฏิบัติงานในความรับผิดชอบให้ได้ผลสมบูรณ์ตรงตามวัตถุประสงค์และปฏิบัติตัวให้สุจริต เที่ยงตรง พอควรพอดีแก่ตำแหน่งหน้าที่ที่ดำรงอยู่.
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2531 |
Download >>
| |||
"...วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้าง ความเจริญของบ้านเมือง จึงควรสนับสนุนให้ มีการค้นคิดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับภาวะ แลหะความต้องการของประเทศ ขึ้นใช้เองอย่างจริงจังถ้าสามารถค้นคิดได้ มากเท่าไหร่ จะเป็นการประหยัดและช่วยให้สามารถ นำไปใช้ในงานต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง ยิ่งขึ้นเท่านั้น..."
พระราชดำรัส พระราชทานเนื่องในงานสัปดาห์วิทยาสตร์แห่งชาติ 1 สิงหาคม 2531
| |||
ปี 2532 |
Download >>
| ||
เมื่อทำงาน ต้องมุ่งถึงจุดหมายที่แท้ของงาน งานจึงจะสำเร็จได้รับประโยชน์ครบถ้วน ทั้งประโยชน์ของงานและประโยชน์ของผู้ทำ ถ้าทำงานเพื่อจุดมุ่งหมายอื่นๆ เช่นเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แม้จะได้ผลมากมายเพียงใด งานก็ไม่สำเร็จ แต่ทำให้เสียทั้งงานเสียทั้งคน.
พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
วันที่ 9 มีนาคม พุทธศักราช 2532 |
ปี 2533 |
Download >>
| ||
ในการปฏิบัติงานนั้นขอให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ อย่านึกถึงบำเหน็จรางวัลหรือผลประโยชน์ให้มาก. ขอให้ถือว่าการทำหน้าที่ได้สมบูรณ์เป็นทั้งรางวัลและประโยชน์อย่างประเสริฐ จะทำให้บ้านเมืองไทยของเราอยู่เย็นเป็นสุขและมั่นคง.
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันที่ 19 มีนาคม พุทธศักราช 2533 |
Download >>
| |||
“…การแก้ปัญหานั้น ถ้าไม่ทำให้ถูกเหตุถูกทาง ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง มักจะกลายเป็นการเพิ่มปัญหาให้มากและยุ่งยากขึ้น แต่ละฝ่ายจึงควรจะตั้งใจพยายามทำความคิดความเห็นให้กระจ่างและเที่ยงตรง เพื่อจักได้สามารถเข้าใจปัญหาและเข้าใจกันและกันอย่างถูกต้องความเข้าใจที่ถูกต้องแน่ชัดนี้ จะช่วยให้เล็งเห็นแนวทางปฏิบัติแก้ไขอันเหมาะสม ซึ่งจะนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกประการหนึ่งอันเป็นข้อสำคัญ ทุกฝ่ายจะต้องตระหนักในใจเสมอ ว่าประโยชน์ส่วนรวมนั้นเป็นประโยชน์ที่แต่ละคนพึงยึดถือเป็นเป้าหมายหลัก ในการปฏิบัติตนและปฏิบัติงาน เพราะเป็นประโยชน์ที่ยั่งยืนแท้จริงซึ่งทุกคนมีส่วนได้รับทั่วถึงกัน…”
พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2533
วันอาทิตย์ ที่ 31 ธันวาคม พุทธศักราช 2532 |
ปี 2534 |
Download >>
| ||
ต้องแบบคนจน เราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้ แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก เราไม่อยากจะเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก ก็จะมีแต่ถอยหลัง ประเทศเหล่านั้น ที่เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมก้าวหน้า จะมีแต่ถอยหลัง และถอยหลังอย่างน่ากลัว แต่ถ้าเริ่มมีการบริหารที่เรียกว่า แบบคนจน แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างมีสามัคคีนี่แหละ คือเมตตากัน ก็จะอยู่ได้ตลอดไป คนที่ทำงานตามวิชาการจะต้องพึ่งตำรา เมื่อพลิกไปถึงหน้าสุดท้ายแล้ว ในหน้าสุดท้ายนั้นเขาบอก “อนาคตยังมี” แต่ไม่บอกว่าให้ทำอย่างไร ก็ต้องปิดเล่มคือปิดตำรา ปิดตำราแล้วไม่รู้จะทำอะไร ลงท้ายก็ต้องเปิดหน้าแรกใหม่ เปิดหน้าแรก ก็เริ่มต้นใหม่ ถอยหลังเข้าคลอง แต่ถ้าเราใช้ตำราแบบคนจน ใช้ความอะลุ่มอล่วยกันตำรานั้นไม่จบ เราจะก้าวหน้า “เรื่อยๆ”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2534
|
Download >>
| |||
การปฏิบัติราชการให้ดีนั้น กล่าวอย่างสั้น ง่ายและตรงที่สุด คือทำให้สำเร็จทันการ และให้ได้ผลเป็นประโยชน์แต่ทางเดียว ซึ่งจะทำได้เมื่อบุคคลมีวิชาความสามารถ และมีปัญญาความรู้คิดพิจารณา เห็นสิ่งที่เป็นคุณเป็นโทษ เป็นประโยชน์ มิใช่ประโยชน์อย่างชัดเจน ถูก ตรง.
ภูพิงคราชนิเวศน์
วันที่ 19 มีนาคม พุทธศักราช 2534 |
ปี 2535 |
Download >>
| ||
“…บ้านเมืองไทยของเราดำรงมั่นคงมาช้านาน เพราะคนไทยมีความพร้อมเพรียงกันเข็มแข็ง ถึงจะมีความเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นบ้างตามกาลตามสมัย ก็เป็นไปตามความปารถนาของพวกเราเอง ที่จะทำให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า การทำนุบำรุงบ้านเมืองนั้น เป็นงานส่วนรวมของคนทั้งชาติ จึงเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่จะต้องมีความขัดแย้งเกิดขึ้นบ้าง จะให้ทุกคนทุกฝ่ายมีความคิดเห็นสอดคล้องต้องกันตลอดทุก ๆ เรื่องไป ย่อมเป็นการผิดวิสัย เพราะฉะนั้น แต่ละฝ่ายแต่ละคนจึงควรจะคำนึงถึงจุดประสงค์ร่วมกัน คือความเจริญไพบูลย์ของชาติเป็นข้อใหญ่ ทุกฝ่ายชอบที่จะทำใจให้เที่ยงตรงเป็นกลาง ทำความคิดเห็นให้กระจ่างแจ่มใส ทำความเข้าใจอันดีในกันและกันให้เกิดขึ้น แล้วนำความคิดเห็นของกันและกันนั้น มาพิจารณาเทียบเคียงกัน โดยหลักวิชาเหตุผล ความชอบธรรม และความเมตตาสามัคคีให้เห็นแจ้งจริง ทุกฝ่ายจะสามารถปรับเปลี่ยนความคิดและวิธีปฏิบัติ ให้สอดคล้องเข้ารูปเข้ารอยกันได้ทุกเรื่อง…”
พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2535
วันอังคาร ที่ 31 ธันวาคม พุทธศักราช 2534 |
Download >>
| |||
ความรู้ที่ถูกต้องแม่นยำ ทั้งทางลึกและกว้างประการหนึ่ง ความคิดเห็นที่เป็นสัมมาทิฐิ ถูกต้องด้วยเหตุผลหลักวิชาและความชอบธรรม ประการหนึ่งความสามารถในการปฏิบัติกิจการงานให้สำเร็จผลตรงตามจุดมุ่งหมาย อีกประการหนึ่ง เป็นปัจจัยสำคัญของการทำงาน. ผู้ปฏิบัติราชการโดยอาศัยปัจจัยสามส่วนนี้โดยครบถ้วนสม่ำเสมอ จะประสบความสำเร็จและความเจริญรุ่งโรจน์ ทั้งจะทำให้ราชการและชาติบ้านเมืองพัฒนาก้าวหน้าไปได้ด้วยความมั่นคงสวัสดี.
ภูพิงคราชนิเวศน์
วันที่ 6 มีนาคม พุทธศักราช 2535 |
ปี 2536 |
Download >>
| ||
ข้าราชการที่มีหน้าที่สำคัญส่วนหนึ่ง ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติต่อบุคคลทั้งปวงด้วยความสุจริตจริงใจ วางตัวให้พอเหมาะพอสมกับฐานะตำแหน่ง พร้อมกับรักษาความสุภาพอ่อนโยนไว้ให้เหนียวแน่นสม่ำเสมอ. นอกจากนั้น ยังจะต้องมีความเสียสละ อดทน รู้จักเกรงใจ ให้อภัย ทั้งโอนอ่อนผ่อนตามกันและกันด้วยเหตุผล. และสำคัญที่สุด จะต้องหัดทำใจให้กว้างขวางหนักแน่น รู้จักรับฟังความคิดความเห็นแม้กระทั่งคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่นอย่างฉลาด เพราะการรู้จักรับฟังอย่างฉลาดนั้นแท้จริงคือ การระดมสติปัญญาและประสบการณ์อันหลายหลาก มาอำนวยประโยชน์ในการปฏิบัติบริหารงานให้ประสบความสำเร็จที่สมบูรณ์นั่นเอง.
ภูพิงคราชนิเวศน์
วันที่ 1 มีนาคม พุทธศักราช 2536 |
Download >>
| |||
"...การปลูกป่า ไม่ควรนำเอาพื้นที่ที่ราษฎร์อาศัยอยู่ก่อนแล้ว มาปลูกป่าและป่าที่ปลูกขึ้นก้ควรจะมีสภาพที่เป็นป่าอย่างแท้จริงจึงควรปลูกไม้หลายประเภทคละกันโดยเฉพาะไม้พื้นเมืองที่เหมาะสม กับท้องถิ่นและกล้าไม้ที่จะนำไปปลูกจะต้องมีความทนทานพอ สมควร..."
พระราชดำรัส พระราชทานแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และ สหกรณ์
ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศ์น 14 มีนาคม 2536 |
Download >>
| |||
"...ถ้า น้ำ มีไม่พอทั้งในด้านการบริโภคหรือใช้ เพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรมแล้ว ประเทศชาติไม่มีทางที่จะเจริญได้...
พระราชดำรัส ประราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิตาลัย 4 ธันวาคม 2536 |
Download >>
| |||
“...ตามปกติคนเราชอบดูสถานการณ์ในทางดี ที่เขาเรียกว่าเล็งผลเลิศ ก็เห็นว่าประเทศไทย เรานี่ก้าวหน้าดี การเงินการอุตสาหกรรมการค้าดี มีกำไร อีกทางหนึ่งก็ต้องบอกว่าเรากำลังเสื่อมลงไปส่วนใหญ่ ทฤษฎีว่า ถ้ามีเงินเท่านั้นๆ มีการกู้เท่านั้นๆ หมายความว่าเศรษฐกิจก้าวหน้า แล้วก็ประเทศก็เจริญมีหวังว่าจะเป็นมหาอำนาจ ขอโทษเลยต้องเตือนเขาว่า จริงตัวเลขดี แต่ว่าถ้าเราไม่ระมัดระวังในความต้องการพื้นฐานของประชาชนนั้นไม่มีทาง...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 4 ธันวาคม 2536 |
ปี 2537 |
Download >>
| ||
ข้าราชการเป็นผู้มีหน้าที่การงานกว้างขวางต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก และการเกี่ยวข้องประสานประโยชน์กันนั้นต้องอาศัยมิตรจิตและความเข้าใจอันดีต่อกันเป็นพื้นฐาน. ผู้ฉลาดจึงควรปรับปรุงการกระทำความคิดของตัวให้สุจริตผ่องใส พยายามสร้างเสริมความเข้าใจและความรู้สึกที่ดีต่อผู้อื่นให้สมบูรณ์ ทั้งพึงระลึกอยู่เสมอด้วยว่า ผู้อื่นเขาก็มีความมุ่งหวังที่จะสร้างสรรค์ความดีความเจริญเช่นเดี่ยวกันกับเรา. ถ้าหากทุกฝ่ายทุกคนมีความเข้าใจดีต่อกัน การร่วมมือประสานงานย่อมจะเป็นไปได้โดยสะดวก และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การแก้ปัญหาของบ้านเมือง.
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันที่ 18 มีนาคม พุทธศักราช 2537 |
ปี 2538 |
Download >>
| ||
การปฏิบัติราชการให้สำเร็จผลที่พึงประสงค์นั้น นอกจากจะอาศัยความรู้ความสามารถในทางวิชาการแล้วแต่ละบุคคลยังจะต้องมีรากฐานทางจิตใจที่ดี คือความหนักแน่นมั่นคงในสุจริตธรรม และความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้จนเสร็จ ทั้งต้องมีกุศโลบายหรือวิธีการอันแยบคายในการปฏิบัติงานประกอบกันพร้อมด้วย จึงจะสัมฤทธิ์ผลที่แน่นอนและบังเกิดประโยชน์อันยั่งยืนทั้งแก่ตนเองและแผ่นดิน.
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2538 |
ปี 2539 |
Download >>
| ||
"...ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และวิชาการต่างๆ ทำให้โลกของเราทุกวันนี้แคบลง และประเทศต่างๆ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ความร่วมมือระหว่างประเทศ ไม่ว่าใหญ่หรือน้อยโดยอาศัยความเคารพไว้วางใจและเข้าใจดีต่อกันเป็นรากฐาน ย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าจึงเชื่อแน่ว่า ด้วยความร่วมมือซึ่งกันและกันอย่างจริงจังเท่านั้น จะเป็นผลให้โลกมีสันติสุขอันถาวร และมนุษยชาติทั้งมวลประสบความเจริญรุ่งเรือง..."
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันพุธที่ 4 ธันวาคม 2539
|
Download >>
| |||
...คนดีทำให้คนอื่นดีได้ หมายความว่าคนดี ทำให้เกิดความดีในสังคม คนอื่นก็ดีไปด้วย. ความเลวนั้นจะทำให้คนดีเป็นคนเลวก็ยาก แต่เป็นไปได้.ถ้าคนดีเข้มแข็งในความดี จะทำให้คนเลวมาทำให้คนดีเป็นคนเลวยาก.สำคัญอยู่ที่ความเข้มแข็งของคนดี...
คัดตัดตอนจากพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันพุธที่ 4 ธันวาคม 2539
|
Download >>
| |||
"...ผู้มีปัญญาและความรู้ดี เพราะมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนมามากว่าผู้อื่น ย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบเป็นพิเศษ ที่จะต้องทำตัวทำงานให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน. การที่จะกระทำให้ได้ผลประโยชน์ดังนั้น จำเป็นที่แต่ละคนจะต้องรู้ซึ้งถึงประโยชน์ที่แท้เป็นเบื้องต้นก่อน. ประโยชน์ที่แท้นั้นมีอยู่ ๒ อย่าง คือ ประโยชน์ส่วนตัว ที่ทุกคนมีสิทธิ์จะแสวงหาและได้รับ แต่ต้องด้วยวิถีทางที่สุจริตและเป็นธรรม กับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นประโยชน์ของชาติที่แต่ละคนมีส่วนร่วมอยู่. การทำงานทุกอย่างจะต้องให้ได้ประโยชน์แท้ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ประโยชน์นั้นจึงจะสมบูรณ์และมั่นคงถาวร เป็นผลดีแก่ชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง..."
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 5 กรกฎาคม 2539
|
Download >>
| |||
"...งานของชาตินั้นมีมากมายหลายด้าน ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม การเมือง การปกครอง และจำเป็นจะต้องมีผู้มีความรู้ความสามารถในแต่ละสาขาวิชามาปฏิบัติบริหารให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีในทุกๆ ด้าน. ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นชัด ก็ขอเปรียบเหมือนวงดนตรีวงหนึ่ง ซึ่งจะต้องประกอบด้วยเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ มีเครื่องดีด สี ตี เป่า เป็นต้น และมีผู้ชำนาญในเครื่องดนตรีนั้นๆ เป็นผู้ปฏิบัติให้กลมกลืนไพเราะ และถูกต้องตามจังหวะจะโคน จึงจะเป็นวงดนตรีที่สมบูรณ์ได้. เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาความสามารถไม่ว่าจะทำงานใดด้านใด เป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ ง่ายยาก จะต้องถือว่างานทุกอย่างมีความสำคัญเท่าเทียมกัน และต้องตั้งใจกระทำให้ดีที่สุด ด้วยความรับผิดชอบ และด้วยความอุตสาหะวิริยะโดยมุ่งถึงความสำเร็จของงานเป็นจุดหมายสำคัญ..."
คัดตัดตอนจากพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาและอนุปริญญาบัตรของ
จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย วันที่ 10 กรกฏาคม 2539 |
Download >>
| |||
การยึดมั่นในผลประโยชน์ของแผ่นดิน และความถูกต้องเป็นธรรม เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการเพราะการยึดมั่นดังกล่าว จะทำให้มีจิตใจมั่นคงเด็ดเดี่ยวในอันที่จะพากเพียรปฏิบัติหน้าที่ให้จนบรรลุผลสำเร็จ และสามารถป้องกันความผิดพลาดเสียหายอันจะเกิดแก่ตนแก่งานได้อย่างแท้จริง.
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2539 |
ปี 2540 |
Download >>
| ||
งานของชาตินั้นเป็นงานที่กว้างขวาง ประกอบด้ยงานทุกด้านทุกระดับอันสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องถึงกันหมด โดยแต่ละอย่างต่างต้องอาศัยและเกื้อกูลสนับสนุนกันอย่างสอดคล้องพอเหมาะพอดี จึงจะสัมฤทธิ์ผลที่ทำให้ชาติบ้านเมืองมั่นคงและเจริญก้าวหน้าไปได้. ดังนั้นข้าราชการผู้ปฏิบัติบริหารงานของแผ่นดิน จึงต้องพยายามปฏิบัติงานให้สัมพันธ์ประสานกับบุคคลอื่น ฝ่ายอื่นให้ได้.
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันที่ 28 มีนาคม พุทธศักราช 2540 |
Download >>
| |||
"...ความคิดนั้นเป็นแม่บทใหญ่ของคำพูดและการกระทำ เพราะกิจที่จะทำ คำที่จะพูดทุกอย่างล้วนสำเร็จจากความคิด การคิดก่อนพูดและคิดก่อนทำจึงช่วยให้บุคคลสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควร หยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง พูดและทำแต่สิ่งที่จะสัมฤทธิ์ผลเป็นประโยชน์และเป็นความเจริญ..."
*****
"...ผู้หนักแน่นในสัจจะ พูดอย่างไร ทำอย่างนั้น จึงจะได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธาเชื่อถือ และความยกย่องสรรเสริญจากคนทุกฝ่าย. การพูดแล้วทำ คือพูดจริงทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด และสร้างเสริมความดี ความเจริญ ให้เกิดขึ้นทั้งแก่บุคคลและส่วนรวม..."
คัดตัดตอนจากพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม 2540 |
Download >>
| |||
"...คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ..."
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ 12 กรกฎาคม 2540 |
Download >>
| |||
ถ้าเรามาใช้ของไทย ซื้อของไทย เที่ยวเมืองไทย กินข้าวไทย อันนี้จะได้ประโยชน์ แต่ว่าก็ยังไม่แก้ปัญหา ปัญหามีอยู่ว่าผู้ที่ทำกลองนี้ เขามีบริษัทที่นำเข้าสินค้าที่เขาขาย เขาบอกว่าแย่ เขานำสินค้ามา และขายในราคาเดิม เพราะมีการตกลงราคาขายอยู่แล้ว เมื่อของเข้ามา ก็จะต้องเสียเงินแพง เขาบอกว่าขาดทุน แต่เขามีความคิดอยู่ เขาสามารถที่จะผลิตกลองนี้ และส่งนอกส่งไปที่อเมริกาส่วนหนึ่ง ส่งไปที่ยุโรปส่วนหนึ่ง การสั่งของจากต่างประเทศ ก็มีความจำเป็นบ้างในบางกรณี แต่ว่าสามารถที่จะส่งออกนอก ซึ่งผลิตผลที่ทำในเมืองไทย ก็จะดีกว่า
*****
อันนี้เคยบอกว่า ความพอเพียงไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้ แต่ขายในที่ ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก
*****
คนอื่นเขาต้องมีการเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่าเป็นเศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียงยรู้สึกว่า ไม่หรูหรา แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่า ผลิตให้พอเพียงได้
*****
เศรษฐกิจแบบค้าขาย ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า “Trade Economy” ไม่ใช่ “แบบพอเพียง” ซึ่งฝรั่งเรียก “Self Sufficient Economy” คือเศรษฐกิจแบบพอเพียงกับตัวเอง เราก็อยู่ได้ ไม่ต้องเดือดร้อน
*****
"...คำว่าพอเพียงมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่าพอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง..."
"...พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอแม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ..."
"...Self - Sufficiency นั้นหมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตัวเอง..."
"...คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิดคิด-อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข..."
*****
“การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ”
*****
“อันนี้เคยบอกว่า ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก”
*****
“...มีเงินเดือนเท่าไร จะต้องใช้ภายในเงินเดือน...การทำแชร์นี้เท่ากับเป็นการกู้เงิน การกู้เงินนี้นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงิน และทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือนร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ...
กู้เงินนั้น เงินจะต้องให้เกิดประโยชน์ มิใช่กู้สำหรับไปเล่น ไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์...”
*****
“ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่า การจะเป็นสื่อนั้นไม่สำคัญ สำคัญที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน . แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ ให้พอมีพอเพียงกับตัวเอง. อันก็เคยบอกว่าความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารขอตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง . อย่างนั้นก็เกินไปแต่ว่าหมู่บ้านในอำเภอใหญ่ จะต้องมีความพอเพียงอย่างสมควร”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2540
|
Download >>
| |||
...ในยามที่สถานการณ์ของบ้านเมืองเรา และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคส่วนนี้ของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ท่านทั้งหลายต้องควบคุมสติให้มั่น ไม่หวั่นไหวไปกับวิกฤต ทำความคิดจิตใจให้หนักแน่น และเที่ยงตรงเสมอเหมือนกันแล้วมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความรู้ความสามารถ ด้วยความเฉลียวฉลาดรอบคอบและความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน. ก็จะร่วมกันปฏิบัติบริหารงานทุกด้านได้อย่างเข้มแข็งเหนียวแน่น และประสบความสำเร็จอันงดงามตามเป้าหมาย..
*****
"...ประโยชน์ที่แท้นั้นมีอยู่ ๒ อย่าง คือ ประโยชน์ส่วนตัวที่ทุกคนมีสิทธิจะแสวงหาและได้รับ แต่ต้องด้วยวิถีทางที่สุจริตและเป็นธรรมกับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นประโยชน์ของชาติที่แต่ละคนมีส่วนร่วมอยู่ การทำงานทุกอย่างจะต้องได้ประโยชน์แท้ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ประโยชน์นั้นจึงจะสมบูรณ์และมั่นคงถาวร เป็นผลดีแก่ชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง..."
คัดตัดตอนจากพระราชดำรัสในการเสด็จออกมหาสมาคมในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๔๐
วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม 2540 |
Download >>
| |||
ในการสร้างตัวสร้างฐานะนั้นจะต้องถือหลักค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและความพอเหมาะพอดี ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง หรือทำด้วยความเร่งรีบ เมื่อมีพื้นฐานแน่นหนารองรับพร้อมแล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญก้าวหน้าในระดับสูงขึ้น ตามต่อกันไปเป็นลำดับผลที่เกิดขึ้นจึงจะแน่นอน มีหลักเกณฑ์ เป็นประโยชน์แท้และยั่งยืน
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันที่ 18 ธันวาคม 2540 |
ปี พ.ศ. 2521-2530
|
ปี 2521 |
Download >>
| ||
"...ถ้าประเทศทั้งปวงจะยกย่องนับถือกันโดยบริสุทธิ์ใจ และช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันโดยพร้อมพรักแล้ว ก็เชื่อได้ว่าจะเกิดความเข้าใจในกันและกันอย่างแท้จริง พร้อมทั้งความร่วมมือกันฉันมิตรอย่างแน่นแฟ้นขึ้นได้ แล้วความสงบสุข อิสรภาพ เสถียรภาพอันเสมอหน้าและถาวร ก็จะเกิดมีขึ้นทุกแห่งหนในโลก ดังที่ทุกคนปรารภปรารถนา..."
คัดตัดตอนจากพระราชดำรัสตอบคณะทูตในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันพุธที่ 6 ธันวาคม 2521 |
Download >>
| |||
คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไป และเดี๋ยวนี้ด้วยเมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 20 เมษายน 2521
|
Download >>
| |||
การสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทุกด้านทุกระดับต้องใช้เทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อความรวดเร็วและถูกต้องมั่นคง บัณฑิตที่เรียนสำเร็จออกไป จึงนับว่า จะได้เป็นกำลังและเป็นหลักในงานพัฒนาประเทศและชุมชนในทุกๆ วงการ การใช้เทคโนโลยีนั้นย่อมกระทำได้หลาย แง่หลายมุม แง่หนึ่งที่ควรเพ่งเล็งเป็นพิเศษ ก็คือใช้ให้เกิดประโยชน์ ในด้านประหยัด เพราะการประหยัดเป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง ในที่ทุกแห่งและในกาลทุกเมื่อเท่าที่ปรากฏแล้ว เทคโนโลยีช่วยให้ประหยัดได้อย่างดีเลิศ ในการสร้างเครื่องมืออิเลคโตรนิคส์ แต่ก่อนเครื่องมืออิเลคโตรนิคส์ทำได้ยากยิ่งและมีราคาสูงมาก คนส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากเครื่องมือดังกล่าว แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยให้สร้างและผลิตได้โดยง่ายและสะดวกด้วยราคาต่ำ อย่างเครื่องรับวิทยุทรานซิสเตอร์ เวลานี้ใช้กันได้อย่างแพร่หลาย ทำให้คนทั่วไปได้รับประโยชน์ในด้านข่าวสารและการบันเทิงโดยทั่วถึง ในด้านอื่นๆ เช่น เกษตรกรรม อุตสาหกรรม แม้จะเป็นเพียงงานระดับชาวบ้าน เทคโนโลยีก็อาจช่วยได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่าง เช่นการทำยางพารา ถ้าทำตามแบบพื้นบ้าน ซึ่งทำกันตามมีตามเกิด ขาดความระมัดระวัง ในความสะอาดเรียบร้อยก็มักได้ยางแผ่นที่มีคุณภาพต่ำ ทำให้ขายไม่ได้เต็มราคา แต่ถ้านำเทคโนโลยีอย่างง่ายๆ มาใช้ ให้มีการใช้กรรมวิธีที่ถูกต้องและแน่นอนสม่ำเสมอ ก็จะได้ยางแผ่นที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ขายได้เต็มราคา การใช้ความระมัดระวัง และกรรมวิธีที่ละเอียดแน่นอนเพียงเล็กน้อย โดยมิทำให้ต้องสิ้นเปลืองเกินกว่าปรกติ แล้วได้ผลประโยชน์เพิ่มสูงขึ้นเช่นนี้ นับว่าเป็นการประหยัดด้วยอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็น ประโยชน์แก่ชาวสวนยางมาก ในการที่ท่านทั้งหลายจะออกไปทำ หน้าที่ต่างๆ ทางด้านเทคนิคต่อไป ขอให้คำนึงถึงผลได้ที่เกิดขึ้นจาก การประหยัดนี้ให้มาก
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า 30 ตุลาคม 2521
|
ปี 2522 |
Download >>
| ||
"...การที่จะให้งานประสานกันนั้นหลักสำคัญอยู่ว่า ทุกฝ่ายจะต้องไม่แบ่งแยกกัน ไม่แย่งประโยชน์ไม่แย่งความชอบกัน แต่ละฝ่ายแต่ละคนต้องทำงานด้วยบริสุทธิ์ใจ มุ่งหวังผลสำเร็จในการงานเป็นใหญ่ยิ่งกว่าสิ่งอื่น..."
คัดตัดตอนจากพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผุ้สำเร็จการศึกษาสาขาวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ ครั้งที่ ๒ ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ วันศุกร์ที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒
|
Download >>
| |||
เทคโนโลยีนั้น โดยหลักการคือการทำให้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดเป็นสิ่งที่นำ มาใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น เทคโนโลยีที่ดี ที่สมบูรณ์แบบ จึงควรจะ สร้างสิ่งที่จะใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า และมีความสูญเปล่าหรือความเสียหายเกิดขึ้นน้อยที่สุด แม้แต่สิ่งที่เป็นของเสีย เป็นของที่เหลือทิ้งแล้ว ก็ควรจะได้ใช้เทคโนโลยีแปรสภาพให้เป็นของใช้ได้ ..... โดยทาง ตรงข้ามเทคโนโลยีใดที่ใช้การได้ไม่คุ้มค่าก่อให้เกิดความสูญเปล่า และความเสียหายได้มาก จัดว่าเป็นเทคโนโลยีที่บกพร่อง ไม่สมควรนำมาใช้ว่าในกรณีใด ท่านทั้งหลายจะเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีในการสร้างสรรค์ต่างๆ เพื่อพัฒนาสภาพบ้านเมืองและฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนต่อไป ควรหัดเป็นคนช่างสังเกตในการปฏิบัติงานของตนเอง นอกจากเทคโนโลยีที่ใหญ่โตระดับสูงสำหรับใช้ในงานใหญ่ๆที่ต้องการผลมากๆแล้ว แต่ละคนควรจะคำนึงถึงและค้นคิดเทคโนโลยีอย่างง่ายๆ ควบคู่กันไป เพื่อช่วยให้กิจการที่ใช้ทุนรอนน้อยมีโอกาสนำมาใช้ได้โดยสะดวกและได้ผลด้วย ก่อนที่ท่านทั้งหลายจะออกไปมีหน้าที่การงานช่วยบ้านเมืองและประชาชนนี้ จึงใคร่จะขอให้ตั้งใจให้ แน่วแน่ที่จะนำเอาวิชาความสามารถของตัวไปใช้ด้วยความสุจริต บริสุทธิ์ใจ และด้วยความฉลาดรอบคอบให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ ทุกอย่างโดยถูกต้องเหมาะสม ไม่ว่าจะกระทำร่วมกับผู้อื่น หรือกระทำโดยลำพังตนเอง บ้านเมืองเราจักได้อยู่รอดและวัฒนาสภาพตลอดไป
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
18 ตุลาคม 2522 |
ปี 2523 |
Download >>
| ||
"...ดินนั้นพัฒนาขึ้นมาได้โดยไม่ยากนักดินจะเค็มจะเปรี้ยวจะ จืดอะไรก็ตามสามารถที่จะทำให้ดีขึ้นได้ภายในไม่กี่ปีโดยใช้เทคนิค แบบโบราณคือใช้ปุ๋ยหมักหรือใช้ตะกอนที่ลงมาตามลำห้วย มาพัฒนาดินอันนี้เป็นวิธีที่ง่าย..."
พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาในการวางแผนการใช้ที่ดิน ณ โรงแรมรินคำ จังหวัดเชียงใหม่
7 มกราคม 2523 |
Download >>
| |||
"...ธนาคารโคและกระบือ คือ การรวบรวมโคและ กระบือ โดยมีบัญชีควบคุม โลรักษา แจกจ่ายให้ยืม เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตรและเพิ่มปริมาณโคและ กระบือ ตามหลักการของธนาคาร..."
พระราชดำรัส พระราชทานแก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ณ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
14 พฤษภาคม 2523 |
ปี 2524 |
Download >>
| ||
"...จะพูดถึงวิธีปฏิบัติงานโดยแยบคายต่อไป ข้อแรก จะต้องสร้างศรัทธาให้มีขึ้นก่อน เพราะศรัทธา หรือความเชื่อมั่นในประโยชน์ของงานนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติ คือทำให้มีการปฏิบัติด้วยใจในทันที แม้ก่อนที่จะลงมือทำ ดังนั้นไม่ว่าจะทำการใดๆ จึงต้องสร้างสร้างศรัทธาขึ้นก่อน และการสร้างศรัทธานั้น จำเป็นต้องทำให้ถูกต้องด้วย ศรัทธาที่พึงประสงค์จะต้องไม่เกิดจากความเชื่อง่าย ใจอ่อนปราศจากเหตุผล หากจะต้องเกิดขึ้นจากความเพ่งพินิจ พิจารณา ใคร่ครวญแล้วด้วยความคิดจิตใจที่หนักแน่นสมบูรณ์ด้วยเหตุผล จนเห็นถ่องแท้ถึงคุณค่าและประโยชน์อันแท้จริงในผลของการปฏิบัติที่จะบังเกิดตามมา ศรัทธาลักษณะนี้ เมื่อบังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมน้อมนำฉันทะ ความพอใจ ความกระตือรือร้น ความพากเพียรขวนขวาย ตลอดจนความฉลาดริเริ่มให้เกิดขึ้นเกื้อกูลกันอย่างพร้อมเพรียง แล้วสนับสนุนส่งเสริมให้การปฏิบัติงานดำเนินก้าวหน้าไปโดยราบรื่นจนสำฤทธิ์ผล..."
คัดตัดตอนจากพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
วันที่ 12 มีนาคม 2524 |
ปี 2525 |
Download >>
| ||
"...คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติ มีอยู่สี่ประการ. ประการแรก คือการรักษาสัจ ความจริงใจต่อตัวเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติ แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม. ประการที่สอง คือการรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติอยู่ในความสัจ ความดีนั้น. ประการที่สาม คือการอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด. ประการที่สี่ คือการรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง. คุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดังประสงค์..."
พระราชดำรัส ในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า
วันที่ 5 เมษายน 2525 |
ปี 2526 |
Download >>
| ||
"...ความผิดพลาดล้มเหลวของบุคคลหรือภารกิจต่างๆ นั้น ส่วนมากเกิดจากมูลเหตุข้อใหญ่คือความหลอกตัวเอง หลอกกันและกัน. และเมื่อทำการงานโดยไม่อาศัยความจริงเป็นหลัก การดำเนินงานและการปรับปรุงแก้ไขก็ผิดพลาด ไม่อาจทำให้งาน ให้ตนเอง ประสบผลสำเร็จที่ดีได้. นักปฏิบัติงานเพื่อความสำเร็จและความเจริญจึงต้องยอมรับความจริง และยึดมั่นในความจริง มีความจริงใจต่อตัวเองและต่อกันและกันอย่างมั่นคงตลอดเวลา. แต่ละคนจึงจะปฏิบัติตัวปฏิบัติงานได้อย่างสะดวกใจมั่นใจ ถูกต้องเที่ยงตรง ตามเป้าหมาย และพอเหมาะพอดี แก่ฐานะ แก่หน้าที่ แก่โอกาส พร้อมทุกอย่างได้ ยังผลให้การสร้างสรรค์ความดีความเจริญบรรลุศุภผลอันพึงประสงค์..."
คัดตัดตอนจากพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ 15 กรกฎาคม 2526 |
ปี 2527 |
Download >>
| ||
"...คนทำงานดีคือคนมีระเบียบ ได้แก่ระเบียบในการคิดและในการทำ ผู้ไม่ฝึกระเบียบไว้ ถึงจะมีวิชา มีเรี่ยวแรง มีความกระตือรือร้นอยู่เพียงไร ก็มักทำงานให้สำเร็จดีไม่ได้ เพราะความคิดอ่านสับสนว้าวุ่น ทำอะไรก็ไม่ถูกลำดับขั้นตอน มีแต่ความลังเล และขัดแย้ง ทั้งในความคิด ทั้งในการปฏิบัติงาน.."
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน
วันที่ 1 เมษายน 2527 |
Download >>
| |||
"...ทรัพยากรด้านประมงจะต้องจัดเป็นระเบียบ ความสำคัญไม่ ได้อยู่ที่ว่าปล่อยพันธุ์ปลาให้ดี หรือเลี้ยงปลาให้เติมโต ความสำคัญอยู่ที่ด้านบริหารการจับปลาเพื่อให้ ประชาชนได้ประโยชน์ จริงๆ ..."
พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ณ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
3 กุมภาพันธ์ 2527 |
Download >>
| |||
คนทำงานดีคือคนมีระเบียบ ได้แก่ระเบียบในการคิดและในการทำ. ผู้ไม่ฝึกระเบียบไว้ ถึงจะมีวิชา มีเรี่ยวแรง มีความกระตือรือร้นอยู่เพียงไร ก็มักทำงานให้สำเร็จดีไม่ได้ เพราะความคิดอ่านสับสนว้าวุ่น ทำอะไรก็ไม่ถูกลำดับขั้นตอน มีแต่ความลังเลและขัดแย้งทั้งในความคิด ทั้งในการปฏิบัติงาน ข้าราชการจึงจำเป็นต้องฝึกระเบียบในตนเองขึ้น. ระเบียบนั้นจักได้ช่วยประคับประคองส่งเสริมให้ทำตนทำงานได้ดีขึ้น และประสบความเจริญมั่นคงในราชการ.
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันที่ 26 มีนาคม พุทธศักราช 2527 |
ปี 2528 |
Download >>
| ||
การทำงานให้สำเร็จขึ้นอยู่กับความสามารถสองอย่างเป็นสำคัญ คือสามารถในการใช้วิชาความรู้อย่างหนึ่ง สามารถในการประสานสัมพันธ์กับผู้อื่นอีกอย่างหนึ่ง. ทั้งสองประการนี้ ต้องดำเนินคู่กันไป และจำเป็นต้องกระทำด้วยความสุจริตกาย สุจริตใจ ด้วยความคิดความเห็นที่เป็นอิสระปราศจากอคติ และด้วยความถูกต้องตามเหตุตามผลด้วย จึงจะช่วยให้งานบรรลุจุดหมายและประโยชน์ที่พึงประสงค์โดยครบถ้วยแท้จริง.
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2528 |
ปี 2529 |
Download >>
| ||
"...ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้ง ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งสามารถนำมา ใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์และเสถียรภาพอัน ถาวรของบ้าน เมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ..."
พระราชดำรัส ในการเสด็จออกมหาสมาคม พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2529
|
Download >>
| |||
“...เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาของเศรษฐกิจ การที่ต้องใช้รถไถต้องไปซื้อ เราต้องใช้ต้องหาเงินมาสำหรับซื้อน้ำมันสำหรับรถไถ เวลารถไถเก่าเราต้องยิ่งซ่อมแซม แต่เวลาใช้นั้นเราก็ต้องป้อนน้ำมันให้เป็นอาหาร เสร็จแล้วมันคายควัน ควันเราสูดเข้าไปแล้วก็ปวดหัว ส่วนควายเวลาเราใช้เราก็ต้องป้อนอาหาร ต้องให้หญ้าให้อาหารมันกิน แต่ว่ามันคายออกมา ที่มันคายออกมาก็เป็นปุ๋ย แล้วก็ใช้ได้สำหรับให้ที่ดินของเราไม่เสีย...”
พระราชดำรัส เนื่องในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 9 พฤษภาคม 2529 |
Download >>
| |||
"...รัฐบาลนั้น เป็นสถาบันหนึ่งในสถาบันสำคัญของ ประเทศ จึง ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยถือว่าชาติ บ้านเมืองเป็นหมายสำคัญ และความ อยู่ดีกินดีของประชาชนเป็นสื่งที่ปรารถนา ด้วย การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความ ตั้งใจจริง ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และขยันหมั่นเพียร..."
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะรัฐมนตรีที่เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 14 สิงหาคม 2529 |
Download >>
| |||
ผู้เป็นข้าราชการพึงสำเหนียกตระหนักเป็นนิตย์ถึงความรับผิดชอบ ที่จะต้องปฏิบัติงานของตัวร่วมกับงานของผู้อื่น และประสานประโยชน์กับทุกฝ่ายให้ได้ผลสมบูรณ์ทุกส่วน เพื่อนำพาประเทศชาติให้ก้าวไปถึงความเจริญมั่นคง ซึ่งเป็นจุดประสงค์แท้จริง
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2529 |
ปี 2530 |
Download >>
| ||
ข้าราชการที่สามารถต้องมีความรู้ครบสามส่วน คือ ความรู้วิชาการ ความรู้ปฏิบัติการ และความรู้คิดอ่านตามเหตุผลตามความเป็นจริง ต้องมีความจริงใจ และความบริสุทธิ์ใจในงาน ในผู้ร่วมงาน ในการรักษาระเบียบแบบแผน ความดีงาม ความถูกต้องทุกอย่างในแผ่นดิน ต้องมีความสงบและหนักแน่นทั้งในกาย ในใจ ในคำพูด ต้องสำรวจดูความบกพร่องของตนเองอยู่สมำเสมอ และปฏิบัติแก้ไขเสียโดยเร็ว ไม่ปล่อยให้เจริญงอกงาม ทำความเสียหายให้แก่การกระทำ ความคิดและการงาน.
พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
วันที่ 2 มีนาคม พุทธศักราช 2530 |
Download >>
| |||
"...การทำงานใดๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ควรอย่างยิ่งที่จะตั้งเป้าหมาย ขอบเขตและหลักการไว้ให้แน่นอน เพราะจะช่วยให้สามารถปฏิบัติมุ่งเข้าสู่ผลสำเร็จได้โดยตรงและถูกต้องพอเหมาะพอดี เป็นการป้องกันและขจัดความล่าช้า ความสิ้นเปลือง ความเสียเปล่าทุกอย่างได้สิ้นเชิง. และเมื่อปฏิบัติดำเนินงานสู่เป้าหมายนั้น ผู้มีการศึกษาต้องไม่ละทิ้งหลักวิชา ไม่ละทิ้งความคิดพิจารณาตามเหตุผลและความชอบธรรมถูกต้อง..."
คัดตัดตอนจากพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม2530 |
ปี พ.ศ. 2513-2520
|
ปี 2513 |
Download >>
| ||
"...ถ้าประชาชนไม่มีที่พึ่ง ไม่มีผู้ใดเอาใจใส่ พอ พึ่งทางราชการ ไม่ได้ ก็ต้องหันไปพึ่งผู้กว้างขวาง ผู้มีอิทธิพลจึงเป็นหน้าที่ของทาง ราชการที่จะปฏิบัติงาน เพื่อให้การบริการของ ราชการได้เข้าถึงประชาชน โดยทั่วถึงและทำด้วยความสุจริต..."
พระบรมราโชวาท เนื่องในโอกาสพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ข้าราชการ
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 31 กรกฎาคม 2513 |
ปี 2515 |
Download >>
| ||
"...มีทฤษฏีเกิดขึ้นอย่างหนึ่ง ถือว่าการทำลายเพื่อสร้างสิ่งใหม่ขึ้นนั้น เป็นวิธีการสร้างสรรค์ของผู้มีปัญญา ทฤษฎีนี้น่าจะนำมาศึกษาวิจัยกันว่าควรรับไว้ได้เพียงใดหรือไม่ เพราะการล้มล้างของเก่าเพื่อสร้างขึ้นใหม่นั้น อาจทำให้สิ่งดีที่มีอยู่แล้วต้องทำลายไปด้วย และทำให้ความเจริญต่างๆ ต้องหยุดชะงักลง การสร้างสรรค์ควรกระทำได้ด้วยวิธีการที่แยบคายกว่านั้น โดยร่วมกันคิดแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น และสร้างสิ่งที่ยังขาดอยู่ให้สมบูรณ์ขึ้นมา..."
"...การล้มเลิกทำลายทุกสิ่งทุกอย่างด้วยวิธีการอันรุนแรงนั้น ย่อมทำความปั่นป่วนและแตกร้าวให้เกิดขึ้นทั่วไป ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อชีวิตและประเทศชาติ กล่าวคือ การทำลายนั้นจะทำให้ความต่อเนื่องของโครงงานต่างๆ ขาดตอนลง ความแตกร้าวจะทำให้เสียกำลังคนดีที่จะมาร่วมงานเป็นประโยชน์ ในที่สุด กำลังทั้งปวงของส่วนรวมจะลดถอยจนเสื่อมสลายไป..."
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันศุกร์ที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๑๕ |
ปี 2516 |
Download >>
| ||
“การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยวิธีการใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป”
พระราชดำรัสเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพิธีพระราชทานปริญญา บัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
20 ธันวาคม 2516 |
Download >>
| |||
การทำงาน อย่างใหัมีคุณภาพ ให้ได้ผลบริบูรณ์ จะทำอย่างไรเบื้องต้น ต้องทำความเห็นให้ถูกต้องในงานที่จะทำเสียก่อนโดยใช้ปัญญาไตร่ตรองให้เห็นเหตุที่แท้ ผลที่แท้ ที่ถูกต้องตรงตามเป้าหมายที่พึงมุ่งหวัง แล้ววางแผนการอันแน่นอนที่จะดำเนินการต่อไป ด้วยหลักวิชา ด้วยความร่วมมือปรองดองกัน และสำคัญที่สุด ต้องมีความพากเพียร ไม่ย่อหย่อนในอันที่จะกระทำต่อไปจนกว่าจะเป็นผลสำเร็จ
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 19 กรกฎาคม 2516
|
Download >>
| |||
การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทน เสียสละ แต่สำคัญที่สุดคือความอดทนคือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง คือดูมันควรทำดีนี่ แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดีควรต้องมีความอดทน เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอนในความอดทนของตนเอง
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครู และอาจารย์ในโอกาสเข้าเฝ้าฯวันที่ 27 ตุลาคม 2516
|
ปี 2517 |
Download >>
| ||
ถ้าท่านทั้งหลายช่วยกันคิด ช่วยกันทำ – แม้จะมีการเถียงกันบ้างก็เถียงกัน แต่เถียงด้วยรากฐานของเหตุผล และเมตตาซึ่งกันและกัน – และสิ่งที่สูงสุดก็คือประโยชน์ร่วมกัน คือความพอมีพอกิน พออยู่ ปลอดภัยของประเทศชาติ ทั้งนี้ถ้าทำไปตามที่ว่านี้ก็เป็นของขวัญวันเกิด ที่ล้ำค่า
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2517
|
Download >>
| |||
"...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอดี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะเศรษฐกิจชั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป
หากแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับภาวะของประเทศ และของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ที่อารยประเทศหลายประเทศ กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่ในเวลานี้..."
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ 18 กรกฎาคม 2517
|
ปี 2518 |
Download >>
| ||
“ถ้าเราสะสมเงินให้มาก เราก็สามารถที่จะใช้ดอกเบี้ย ใช้เงินที่เป็นดอกเบี้ยโดยไม่แตะต้องทุนแต่ถ้าเราใช้มากเกินไปหรือเราไม่ระวัง เรากินเข้าไปเป็นทุน ทุนมันก็น้อยลงๆจนหมด”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2518
|
Download >>
| |||
"...ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึงความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยแก่งแย่งเบียดเบียนมาจากผู้อื่น ความเจริญที่แท้นี้มีลักษณะเป็นการสร้างสรรค์ เพราะอำนวยประโยชน์ถึงผู้อื่นและส่วนรวมด้วย ตรงกันข้ามกับความเจริญอย่างเท็จเทียม ที่เกิดขึ้นมาด้วยความประพฤติไม่เป็นธรรมของบุคคล ซึ่งมีลักษณะเป็นการทำลายล้าง เพราะให้โทษบ่อนเบียนทำลายผู้อื่นและส่วนรวม การบ่อนเบียนทำลายนั้น ที่สุดก็จะกลับมาทำลายตน ด้วยเหตุที่เมื่อส่วนรวมถูกทำลายเสียแล้ว ตนเองก็จะยืนตัวอยู่ไม่ได้ จะต้องล่มจมลงไปเหมือนกัน..."
คัดตัดตอนจากพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาและอนุปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
วันที่ 10 กรกฏาคม 2518 |
ปี 2519 |
Download >>
| ||
แต่การทำงานใดก็ตาม แต่ละคนควรจะศึกษางานและสภาพทั่วไปให้ทั่วถึงก่อน เพื่อจะได้ทราบว่า จะร่วมงานนั้นๆ อย่างไร เพราะโดยทั่วไป สภาพการณ์และอุปกรณ์ต่างๆ มักไม่เหมือนที่คาดหมายไว้ จะต้อง ทราบว่า สภาพของผู้ทำงานในระยะศึกษากับผู้ทำงานในระยะ ปฏิบัติงานจริงๆ ย่อมแตกต่างกัน จำเป็นต้องใช้ไหวพริบดัดแปลงตัวเอง ให้เข้ากับสภาพในปัจจุบัน
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 19 กุมภาพันธ์ 2519
|
ปี 2520 |
Download >>
| ||
"...การเลี้ยงโคนมแลหะกิจการโคนมนี้เป็นสิ่งที่ยาก เพราะว่าผลิตผลที่เรามุ่งที่จะทำ เป็นผลิตผลที่ถ้าไม่จำหน่ายทันที ก็อาจจะเสียไปเสียประโยชน์ไปและทำให้ล่มจมขาดทุนได้ ฉะนั้น กิจการ นี้จึงต้องศึกษามากและเกี่ยวข้องกับวิชาการหลายด้าน..."
พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ณ โครงการเกษตรสวนจิตรลดา 12 พฤษภาคม 2520
|
ปี พ.ศ. 2500-2510
|
ปี 2500 |
Download >>
| ||
“…ขอให้ท่านทั้งหลาย ตั้งปณิธานร่วมกันด้วยว่า จะประพฤติตนเป็นพลเมืองดีของชาติ ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และบทกฎหมายของบ้านเมือง ประกอบอาชีพด้วยความสุจริตขยันหมั่นเพียร ให้บังเกิดประโยชน์ในการที่จะช่วยสร้างตนเองและครอบครัวให้ผาสุกสมบูรณ์ ก่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่นมั่นคงในทางเศรษฐกิจของชาติ นำสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศชาติอันเป็นที่รักของเราสืบไป…”
พระกระแสพระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2500
|
Download >>
| |||
...ชาติบ้านเมือง จะเจริญก้าวหน้าอาณาประชาราษฏร์ จะได้รับ ความผาสุขเพียงไรหรอไม่ย่อมอาศัยการที่ท่านทั้งหลายจะสมัครสมาน สามัคคีกัน ปฏิบัติหน้าที่โดนสุจริต หวังประโยชน์ส่วนรวม เป็นที่ตั้ง และส่งเสริมประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง..."
พระราชดำรัส ในพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม 14 มีนาคม 2500
|
ปี 2501 |
Download >>
| ||
“…ในขวบปีที่ล่วงมา ได้มีเหตุการณ์ต่าง ๆ อันมีความสำคัญแก่ชาติบ้านเมือง ดังที่ได้ทราบกันอยู่แล้ว นับได้ว่าประชาชาติของเราได้ผ่านหัวเลี้ยวสำคัญชั้นหนึ่งแล้ว ต่อไปนี้ จึงเป็นหน้าที่ของเราทั้งปวง ที่จะต้องช่วยกันประคับประคองให้กิจการงานของชาติบ้านเมืองดำเนินไปด้วยดี เพื่อความเจริญผาสุกของประเทศชาติ ในการนี้ความสามัคคีประนีประนอมซึ่งกันและกันเป็นสิ่งจำเป็นและพึงปรารถนายิ่งนัก ข้าพเจ้าขอแสดงความหวังว่า ชาวไทยทุก ๆ คนคงจะพยายามรักษาความสามัคคีกลมเกลียวกันดังว่านั้น และตั้งใจปฏิบัติภารกิจหน้าที่ของแต่ละคนให้เป็นไปอย่างดีที่สุดที่จะพึงทำได้ ทั้งนี้เพื่อช่วยกันสร้างเสริมความเจริญรุ่งเรืองแก่ประเทศชาติของเราสืบไป…”
กระแสพระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชานชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2501
|
ปี 2502 |
Download >>
| ||
“…ภาระในการบริหารนั้นจะประสบผลด้วยดี ย่อมต้องอาศัยความรักชาติ ความซื่อสัตย์สุจริต ความสมัครสมานกลมเกลียวกัน ประกอบกับความร่วมมือของประชาชนพลเมืองทั่วไป ข้าพเจ้าจึงหวังว่า ท่านทั้งหลายคงจะพยายามปฏิบัติการกรณียกิจในส่วนของแต่ละท่านด้วยใจบริสุทธิ์ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้เพื่อได้มาซึ่งความร่วมเย็นเป็นสุขของประชาชนทั่วไป อันเป็นยอดปรารถนาด้วยกันทั้งสิ้น…”
กระแสพระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2502
|
Download >>
| |||
การใช้จ่ายโดยประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ประหยัดเท่านั้น ยังจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 31 ธันวาคม 2502
|
ปี 2503 |
Download >>
| ||
“…ในภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ข้าพเจ้าใคร่จะได้กล่าวถึงความสำคัญของการประหยัด ซึ่งรัฐบาลได้ชักชวนให้แต่ละคนปฏิบัติ คงจะได้ตระหนักอยู่แล้วทั่วกันว่า การใช้จ่ายโดยประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้ จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ประหยัดเท่านั้น ยังจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย…”
กระแสพระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2503
|
Download >>
| |||
เศรษฐกิจของประเทศไทยเราขึ้นอยู่กับการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นท่านต้องระลึกถึงภาระอันสำคัญยิ่งนี้อยู่เสมอ และช่วยกันฟื้นฟูเกษตรกรรมของประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปโดยรวดเร็ว
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ 18 เมษายน 2503
|
ปี 2504 |
Download >>
| ||
“…ด้วยความร่วมมือร่วมกำลังความคิดจากบรรดาข้าราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้ชำนาญการในสาขาต่าง ๆ รัฐบาลได้วางแผนและโครงการ เพื่อฟื้นฟูการเศรษฐกิจและปรับปรุงการศึกษาของชาติขึ้นใหม่แล้ว ซึ่งจะเริ่มใช้ปฏิบัติกันในปีพุทธศักราช 2504 นี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า แผนและโครงการนี้ จะมีประโยชน์สำหรับบ้านเมือง แต่ข้อสำคัญก็อยู่ที่การปฏิบัติตามแผนและโครงการนั้นโดยพร้อมเพรียงกันทุกฝ่าย จึงจะเป็นผลแก่ประเทศชาติได้ หวังว่าท่านทั้งหลายจะให้ความร่วมมือแก่ทางราชการในการนี้ต่อไป…”
กระแสพระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2504
|
ปี 2506 |
Download >>
| ||
ความจริงงานทุกอย่างถ้าทำด้วยน้ำใจรัก ย่อมมีทางสำเร็จได้ผลดี เมื่อพบอุปสรรคใดๆ อย่าเพิ่งท้อแท้จะหมดกำลังใจง่ายๆ จงตั้งใจทำให้ดี คิดหาทางที่จะแก้ไขผ่อนคลายอุปสรรคต่างๆ ด้วยเหตุผลและหลักวิชา ไตร่ตองด้วยความสุขุมรอบคอบและเยือกเย็น งานจะลุล่วงไปด้วยดี การทำงานด้วยน้ำใจรักต้องหวังผลงานนั้นเป็นสำคัญ
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 24 กรกฎาคม 2506
|
ปี 2507 |
Download >>
| ||
ท่านจะทำงานอะไรก็ตาม ขอให้ระลึกไว้ว่า งานเกษตรกรรมนี้ กว้างขวางมาก ตั้งแต่การผลิตรวมทั้งการค้นคว้าเพื่อการผลิต การจัดกิจการ จนกระทั่ง การจำหน่ายผลผลิต แต่ละคนจงพยายามทำงานให้สุดความสามารถ ความรู้ความชำนาญของตัว และร่วมมือ กันทุกๆ ฝ่ายการเกษตรจึงจะก้าวหน้าเป็นผลดีถึงส่วนรวมได้ ….
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ 9 กรกฎาคม 2507
|
ปี 2510 |
Download >>
| ||
สมัยนี้ เป็นสมัยพัฒนาประเทศ เรากำลังร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ อย่างเร่งรีบ และได้รับผลดีจากโครงการเหล่านั้นแล้ว อย่างน่าพอใจ หลายประการ ความเจริญของประเทศ นั้นหมายถึง ความเจริญของประชาชนเป็นส่วนรวม สม่ำเสมอทั้งประเทศ
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 20 กรกฎาคม 2510
|
ปี พ.ศ. 2494-2499
ปี 2494 |
Download >>
| ||
“…ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้ปรากฏตลอดมาว่าชาติใดเสื่อมสูญย่อยยับอับปางไป ก็เพราะประชาชาติขาดสามัคคีธรรม แตกแยกเป็นหมู่คณะ เป็นพรรคเป็นพวก คอยเอารัดเอาเปรียบ ประหัสประหารซึ่งกันและกัน บางพรรคบางพวก ถึงกับเป็นไส้ศึกให้ศัตรูมาจู่โจมทำลายชาติของตนดังนี้ ข้าพเจ้าจึงขอชักชวนพี่น้องชาวไทยทั้งหลาย ให้ระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษ ซึ่งได้กอบกู้รักษาบ้านเกิดเมืองนอนของเรามานั้นให้จงหนัก แล้วถือเอาความสามัคคี ความยินยอมเสียสละส่วนตัวเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ของประเทศชาติเป็นคุณธรรมประจำใจอยู่เนืองนิจ จึงขอให้พี่น้องชาวไทยทั้งหลาย จงบำเพ็ญกรณีกิจของตนแต่ละคน ด้วยซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร อดทนและกล้าหาญ แล้วอุทิศความเสียสละส่วนตัว ความเหน็ดเหนื่อยลำบากยากแค้น เป็นพลีบูชาบรรพบุรุษ ผู้ซึ่งได้ก่อสร้างชาติเป็นมรดกตกทอดมาถึงพวกเราชาวไทยจนบัดนี้”
กระแสพระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2494
|
ปี 2495 |
Download >>
| ||
“…อันสถานการณ์ของโลกทั่วไปและของบ้านเมืองเราเป็นอย่างไร ก็ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว ทางที่จะช่วยให้ประเทศเราผ่านพ้นภัยพิบัติ มีความวัฒนาถาวรไปได้ ก็โดยที่เราชาวไทยทุกคนมีน้ำใจรักชาติอย่างแท้จริง ไม่ถือเอาประโยชน์ของตนและพรรคพวกแต่ฝ่ายเดียว มุ่งบำเพ็ญกรณียกิจหน้าที่ด้วยความสุจริต ขยันหมั่นเพียร เพื่อคุณประโยชน์ส่วนร่วมของประเทศชาติ และพร้อมที่จะเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม เมื่อเป็นดังนี้แล้ว สามัคคีก็ย่อมจะแผ่ขยายกว้างขวางออกไปในระหว่างพี่น้องชาวไทยด้วยกัน ทำให้กำลังของชาติส่วนต่าง ๆ ประสานกันเป็นบึกแผ่น สิ่งที่เคยยากก็จะกลายเป็นง่าย และสิ่งที่ไม่เคยทำได้ก็กลับจะบรรลุผลสำเร็จอย่างงดงาม ด้วยอานุภาพแห่งความสามัคคี เพราะฉะนั้นขอให้พวกเราชาวไทย จงยึดมั่นในศีลธรรม ซึ่งบิดามารดาและครูบาอาจารย์ได้พร่ำสอนเรามาแต่เล็กแต่น้อย และพยายามประพฤติปฏิบัติตามในอันจะส่งเสริมสามัคคีธรรมให้มั่นคงแผ่ขยายในระหว่างพี่น้องไทยทั้งปวง เพื่อความวัฒนาถาวรของประเทศชาติสืบไป…”
กระแสพระราชปราศรัยแด่ประชาชนในวันปีใหม่ พ.ศ.2495
|
ปี 2496 |
Download >>
| ||
“…ในขวบปีที่ผ่านมา แม้บ้านเมืองของเราต้องประสบภัยทางธรรมชาติบ้างและแวดล้อม ด้วยสถานการณ์อันเคร่งเครียดของโลกทั่วไป แต่ก็นับว่าได้สามารถผ่านสถานการณ์เหล่านั้นมาด้วยดี ทั้งนี้ย่อมเป็นนิมิตหมายว่า เราจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคข้างหน้าต่อไปอีก จริงอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างจะให้ดีขึ้นทันอกทันใจสมดังที่ต้องการทีเดียวนั้น ย่อมไม่ได้ ย่อมต้องการเวลา เปรียบประดุจการเยียวยารักษาไข้ ซึ่งย่อมต้องการเวลาเช่นกัน ข้าพเจ้าจึงมีความหวังเป็นอย่างมากว่า อาศัยความสามัคคีร่วมมือร่วมใจของเราท่านทั้งมวล ประเทศชาติของเราจะเข้าสู่ฐานะเจริญก้าวหน้าสืบไปด้วยดี…”
กระแสพระราชปราศรัยแด่ประชาชนในวันปีใหม่ พ.ศ.2496
|
Download >>
| |||
“ในการดำรงตนในภายหน้านั้น ท่านจะต้องประพฤติให้ดีให้เหมาะสมแก่ฐานะรู้จักผิดและชอบ ประกอบอาชีพโดยสัมมาอาชีวะ ไม่เสเพล และไม่ปล่อยตนให้เป็นทาสแห่งอบายมุขต่างๆ ดังนี้แล้ว ท่านก็จะสามารถเป็นที่พึ่งแก่ตนเองและครอบครัวของท่าน และจะเป็นที่นับถือของบุคคลอื่น ”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: ๒๕ มิถุนายน ๒๔๙๖
|
ปี 2497 |
Download >>
| ||
“…พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่า บุคคลใดประกอบความดี คุณความดีนั้นย่อมต้องสนองตอบ ข้าพเจ้าจึงขอชักชวนแต่ละท่าน ให้พยายามบำเพ็ญความดีด้วยน้ำใจอันบริสุทธิ์ แม้บางโอกาสอาจจะต้องเสียสละบ้าง ก็จงมานะอย่าท้อถอย จงสมัครสมานสามัคคีร่วมใจกันให้มั่นคงด้วยดี ทั้งนี้ เพื่อความสุขสวัสดีของท่านและเพื่อความวัฒนาถาวรของประเทศชาติอันเป็นที่รักของเราทั้งหลาย…”
พระราชดำรัสในโอกาสขึ้นปี พุทธศักราช 2497
|
ปี 2498 |
Download >>
| ||
“…ถ้าหากชาวไทยทั้งหลายต่างได้ประกอบกิจหน้าที่การงานของตนด้วยความสุจริต มีความซื่อตรงต่อหน้าที่ ต่อตนเอง มีศีลธรรมอันดีและความสามัคคีกันแล้ว จักเป็นทางช่วยให้ประเทศชาติได้มีความสงบสุข และสามารถเผชิญเหตุการณ์ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ซึ่งอาจมีมาในอนาคตได้ดี ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า ถ้าทุกคนต่างยึดมั่นในคุณธรรมที่ว่ามาข้างต้น และต่างบำเพ็ญกรณียกิจหน้าที่การงานของตน โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมแล้ว ประเทศชาติของเราก็จะรุ่งเรืองวัฒนาถาวร…”
พระราชดำรัสในโอกาสขึ้นปี พุทธศักราช 2498
|
ปี 2499 |
Download >>
| ||
“…ขอทุกฝ่ายจงตั้งจิตร่วมใจกัน สร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติ ยึดมั่นในอุดมคติ ที่จะปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มุ่งต่อประโยชน์ส่วนร่วม เพื่อประเทศของเราจะได้เจริญวัฒนาสถาพรสืบไป...”
พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชานชาวไทย ในศุภวารสมัยขึ้นปีใหม่ 2499
|
ขอขอบคุณที่มา :: http://www.stou.ac.th/cdlearnse/main/speech/royal.asp
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น