ศูนย์ LifeVantage

ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ LifeVantage : Protandim Nrf1 / Nrf2 / ProBio / TrueScience / TrueRenew ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ โทร ☎️ :: 084-110-5021 📍 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line ค่ะ

04 มกราคม 2557

วิจัยแบบผสม (Mixed Method)

วิจัยแบบผสม (Mixed Method)







ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่
 

ระเบียบวิธีการวิจัยแบบผสม (Mixed Method)

 





 
 
ความหมายของการวิจัยแบบผสานวิธี

วิธีการวิจัยแบบผสานวิธี นักวิจัยมักเรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษในหลายลักษณะต่าง ๆ   เช่น  mixed  methodology,  mixed  methods,  mixed  methods  research  หรืออีกหลาย ๆชื่อ  แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาความหมายจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน  คือ  เป็น วิธีการวิจัยที่ผู้วิจัยใช้เทคนิค  แนวทาง วิธีการ ความคิดรวบยอด  หรือภาษา ผสมผสานร่วมกันระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพในการวิจัยเรื่องเดียวกัน

จุดมุ่งหมายของกาวิจัยแบบผสานวิธี
จากการศึกษาว่าเพราะเหตุใดต้องใช้วิธีการวิจัยแบบผสานวิธีคำตอบที่เป็นเหตุผลหลักของทุกสำนักและทุกคน ที่ใช้ระเบียบวิธีแบบผสานวิธี (Mixed Methods) คือ  เป็นการแก้จุดอ่อนของแต่ละวิธีด้วยการเสริมจุดแข็ง  โดยมีจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายประการดังนี้ (วิโรจน์  สารรัตนะ. 2545 : 13,  สุชาติ  ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ และ กรรณิการ์  สุขเกษม.  2547: 285-286)   คือ  1)  เพื่อเป็นการตรวจสอบสามเส้า (triangulation) ให้เพิ่มความเชื่อมั่นในผลของการวิจัย    2)  เพื่อเป็นการเสริมให้สมบูรณ์หรือเติมให้เต็ม  (complementarity)  เช่น ตรวจสอบประเด็นที่ซ้ำซ้อนหรือประเด็นที่แตกต่างของปรากฏการณ์ที่ศึกษา เป็นต้น  3)  เพื่อเป็นการริเริ่ม (initiation)เช่นค้นหาประเด็นที่ผิดปกติ  ประเด็นที่ผิดธรรมดา  ประเด็นที่ขัดแย้งหรือทัศนะใหม่ ๆ   เป็นต้น   4)  เพื่อเป็นการพัฒา (development)    เช่น  นำเอาผลจากการศึกษาในขั้นตอนหนึ่งไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับในอีกขั้นตอนหนึ่ง  เป็นต้น  และ  5)  เพื่อเป็นการขยาย (expansion) ให้งานวิจัยมีขอบข่ายที่กว้างขวางมากขึ้น

ความสำคัญของการวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Methods Research)

การวิจัยแบบผสานวิธี  (Mixed Methods Research) มีความสำคัญตามแนวคิดของ Geene and others (1989)  Trocim (2002)  Creswell (2003) Punch (2003) และ Punch (2005)  ดังนี้  คือ 1)  ผลการวิจัยจากวิธีการวิจัยแบบผสานวิธีสามารถเสริมต่อกันโดยใช้ผลการวิจัยจากวิธีหนึ่งอธิบายขยายความผลการวิจัยอี กวิธีหนึ่ง ช่วยให้การตอบคำถามการวิจัยได้ละเอียดชัดเจนมากกว่าการใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพเพียงรูปแบบเดียว  2)  การใช้ผลการวิจัยจากวิธีหนึ่งไปช่วยพัฒนาการวิจัยอีกวิธีหนึ่งหรือการใช้ผลการวิจัยวิธีหนึ่งไปตั้งคำถามการวิจัยอีกวิธีหนึ่ง   3)  การวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพต่างก็มีจุดเด่นในตนเอง สามารถนำจุดเด่นมาใช้ในการแสวงหาความรู้ความจริงได้ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น   4)  การวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพต่างก็มีจุดด้อยในตนเอง ผู้วิจัยสามารถใช้จุดเด่นของการวิจัยเชิงปริมาณมาแก้ไขจุดด้อยของการวิจัยเชิงคุณภาพ ขณะเดียวกันอาจใช้จุดเด่นของการวิจัยเชิงคุณภาพมาใช้แก้ไขจุดด้อยของการวิจัยเชิงปริมาณ และ  5)  สามารถนำผลผลิตจากการวิจัยแบบผสานวิธีมาสร้างความรู้ความจริงที่สมบูรณ์สำหรับใช้ในการปรับเปลี่ยนทฤษฎีหรือการปฏิบัติงาน

วิวัฒนาการของการวิจัยแบบผสานวิธี

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีการถกเถียง(debate) ทางความคิดเกี่ยวกับกระบวนทัศน์(paradigm) การวิจัยด้านสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ ระหว่างกลุ่มปฏิฐานนิยมหรือประจักษ์นิยม (positivist)  ที่นิยมระเบียบวิธีเชิงปริมาณ  (Quantitative methods) และกลุ่มโครงสร้างนิยมหรือปรากฏการณ์นิยม (constructivit)  ที่นิยมระเบียบวิธีเชิงคุณภาพ (Qualitative methods)  ต่างฝ่ายต่างโต้แย้งว่าทฤษฎีของตนถูกต้อง  และพยายามโจมตีฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้ฝ่ายตนเหนือกว่า  จนกระทั่งได้เกิดบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งขึ้นมาที่ระยะต่อมาเรียกว่า นักปฏิบัตินิยม  (Pragmatists) ได้มีการจัดรวมทั้ง 2  กระบวนทัศน์เข้าด้วยกันเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการวิจัย เรียกว่า  ระเบียบวิธีแบบผสานวิธี (mixed methods)  โดยจำแนกได้เป็น  3 ยุคใหญ่  ได้แก่   1)   ยุคระเบียบวิธีเดี่ยวหรือยุคนักวิจัยบริสุทธิ์ (monomethod or purist  era)   2)   ยุคระเบียบวิธีผสม (emergence  of  mixed methods)  3)  ยุคการวิจัยรูปแบบผสานวิธี  (emergence  of  mixed model studies)


รูปแบบของการผสานวิธีกันระหว่างวิธีการเชิงปริมาณและวิธีการเชิง
คุณภาพ

รูปแบบหลักของการวิจัยในปัจจุบันมี  3  รูปแบบ  คือการวิจัยเชิงปริมาณ  (Quantitative Research)  การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และการวิจัยแบบผสานวิธี (mixed methods research)   โดย mixed methods  เป็นเทคนิควิธีวิจัยทางสังคม-ศาสตร์แบบผสานวิธีระหว่างวิธีการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเข้าด้วยกัน จุดมุ่งหมายของการผสานวิธีก็เพื่อการแก้ไขข้อจำกัดของแต่ละวิธีให้สามารถตอบคำถามการวิจัยได้สมบูรณ์ยิ่ง ขึ้น รูปแบบที่นิยมทำทั้งไทยและต่างประเทศ คือ ใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณเป็นตัวตั้งก่อนแล้วตามด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ   ยกเว้นกรณีที่เป็นอุบัติการณ์ หรือเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น จึงจะใช้การวิจัยเชิง
คุณภาพเป็นตัวตั้งแล้วค่อยมาตรวจสอบสมมติฐานหรือทฤษฎีด้วยวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ   ลักษณะการผสมผสาน  จำแนกออกเป็น  2  ลักษณะ คือ ระเบียบวิธีแบบผสานวิธี ( mixed methods  ) และรูปแบบผสานรูปแบบ  (mixed model)   ในการผสานวิธีกันระหว่างการวิจัย 2 รูปแบบนั้น อาจเป็นการผสมผสานแบบครึ่งต่อครึ่ง  การผสานแบบมีรูปแบบหลักร่วมกับรูปแบบรอง  หรือแบบผสมผสานทุกขั้นตอน  โดยมีวิธีออกแบบดังนี้  (ผ่องพรรณ  ตรัยมงคลกูล  และสุภาพ  ฉัตราภรณ์.  2549)
1.  การวิจัยแบบ  2  ภาค  ( two-phase  design)  เป็นการวิจัยในรูปแบบที่แยกการดำเนินการเป็น  2  ขั้นตอนอย่างชัดเจนด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน  (การวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพครึ่งต่อครึ่ง)  แล้วนำเสนอผลการวิจัยแบ่งออกเป็น  2  ตอนโดยเอกเทศ  แต่ละตอนตอบคำถามวิจัยต่างประเด็นกันโดยมีบทสรุปเป็นตัวเชื่อมโยงการวิจัยทั้งสองตอนเข้าด้วยกัน  
2.  การวิจัยแบบนำ-แบบรอง  (dominant – less  dominant design )  เป็นการวิจัยที่ดำเนินการด้วยวิธีการวิจัยหลักแนวทางใดแนวทางหนึ่ง  แล้วเสริมด้วยอีกแนวทางหนึ่ง  เช่นใช้การวิจัยเชิงปริมาณเป็นหลัก  และใช้วิธีการบางอย่างของการวิจัยเชิงคุณภาพมาเสริม  เช่น  เพื่อขยายความ  เพื่อตรวจสอบยืนยัน  หรือเพิ่มความลึกของข้อมูล   ในทางตรงกันข้ามอาจใช้การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นหลักเสริมด้วยการวิจัยเชิงปริมาณ
3.  การวิจัยแบบผสมผสาน  (mixed-methodology  design  หรือ  integrated  approach)  รูปแบบนี้เป็นการผสานทั้งระดับมหภาคและจุลภาคระหว่าง 2  กระบวนทัศน์และแนวทางการวิจัย  รูปแบบการวิจัยนี้จัดว่าเป็นการวิจัยลูกผสม  (hybrids)  ในทางปฏิบัติเป็นการวิจัยที่ดำเนินการได้ยาก  เนื่องจากต้องมีการผสมผสานทุกขั้นตอนของการวิจัยตั้งแต่นำเสนอปัญหา  (ในบทนำของการวิจัย)  จนถึงบทสรุปของการวิจัย  ซึ่งในบางขั้นตอนอาจมาสามารถผสมผสานกันได้เต็มที่ด้วยข้อจำกัดของความแตกต่างในกระบวนทัศน์การวิจัยระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปริมาณ

ขั้นตอนการวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed  Methods  Research Process )

การวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed  Methods  Research)  ประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดคำถามการวิจัย ผู้วิจัยอาจจะตั้งคำถามการวิจัยเพียงหนึ่งคำถามซึ่งมีลักษณะที่เป็นทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ  หรือจะตั้งคำถามการวิจัยหลายคำถามซึ่งอาจจะแยกเป็นคำถามเชิงปริมาณและคำถามเชิงคุณภาพ
ขั้นตอนที่ 2 การกำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัย ผู้วิจัยสามารถตั้งวัตถุประสงค์ของการศึกษาไว้ข้อเดียวหรือหลายข้อ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำถามการวิจัย
ขั้นตอนที่ 3 การเลือกระเบียบวิธีในการวิจัย ผู้วิจัยต้องพิจารณาเลือกรูปแบบการวิจัยที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการตอบคำถามการวิจัย ให้ถูกต้อง แม่นยำน่าเชื่อถือ และมีความเป็นไปได้ในการปฏิบัติงานวิจัย โดยคำนึงถึงองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ เวลาที่เหมาะสม  การให้ค่าน้ำหนักของข้อมูลเชิงปริมาณหรือคุณภาพ  การผสมผสานวิธีการ ความลึกซึ้งในทฤษฎีหรือวิธีการเปลี่ยนแปลงไป
ขั้นตอนที่ 4 การเก็บรวบรวมข้อมูล
ขั้นตอนที่ 5 การวิเคราะห์ข้อมูล
ขั้นตอนที่ 6การตีความหรือแปลผลข้อมูล
ขั้นตอนที่ 7 การกระทำข้อมูลให้ถูกต้อง
ขั้นตอนที่ 8 การสรุปผลและการจัดทำรายงานการวิจัย

ข้อจำกัดในการใช้วิธีการวิจัยแบบผสานวิธี

ในทางปฏิบัติ  พบว่าการวิจัยแบบผสานวิธีมีข้อพึงระวังและมีข้อจำกัดบางประการ  คือ วิธีการวิจัยเชิงปริมาณนั้นเป็นวิธีการที่เข้มงวด เป็นระบบและเป็นแบบแผน  ส่วนวิจัยเชิงคุณภาพนั้นเป็นวิธีการ
ที่แนบเนียน  ละเอียดอ่อน และยืดหยุ่น  เมื่อนำวิธีทั้งสองมาใช้ในการวิจัยเรื่องเดียวกันจะต้องใช้ให้เหมาะสม  อย่าปล่อยให้ความรู้สึกนึกคิดเชิงคุณภาพไปผ่อนคลายความเข้มงวดและความเป็นแบบแผนของวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ  ในขณะเดียวกันก็อย่าปล่อยให้ความรู้สึกนึกคิดเชิงปริมาณมีอิทธิพลทำให้วิธีการเชิงคุณภาพกลายเป็นการสำรวจหาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างฉาบฉวย  ซึ่งจะเป็นผลทำให้คุณภาพของงานวิจัยชิ้นนั้นลดลง
นอกจากนี้ยังพบว่า  งานวิจัยแบบผสานวิธีมีข้อจำกัดที่สำคัญ  คือ  1) นักวิจัยโดยเฉพาะหัวหน้าโครงการวิจัยต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการทำวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพคนที่ถูกต้องตามหลักวิธี  ไม่เช่นนั้นจะได้งานวิจัยที่ไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร  2)ในการวิจัยแบบผสานวิธี  จะต้องใช้เวลาและทรัพยากรในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมากกว่าการทำวิจัยเชิงเดี่ยว  ดังนั้นโครงการที่ถูกจำกัดด้วยเวลาและงบประมาณจึงไม่สามารถใช้กลยุทธ์โดยวิธีผสานวิธีได้  ยกเว้นเป็นข้อมูลเสริมบางส่วน  3)  อาจมีการใช้การวิจัยแบบผสานวิธีตามสมัยนิยม  โดยเป็นการใช้แบบผิดๆ  ตามที่ตนเข้าใจหรือใช้โดยมักง่าย  เช่น  นักวิจัยเชิงปริมาณเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบผิวเผิน หรือนักวิจัยเชิงคุณภาพคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยการสุ่มตามหลักสถิติโดยไม่พิจารณาหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม  เป็นต้น

บรรณานุกรม
 
โกศล  มีคุณ.  “การวิจัยเชิงปริมาณที่เสริมด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ”  วารสารพัฒนาสังคม.  10(1)  2551. หน้า 27-40  
 
ดุจเดือน  พันธุมนาวิน  และอัมพร  ม้าคะนอง.  การฝึกอบรมจิตลักษณะและทักษะแบบบูรณาการที่มีต่อพฤติกรรมการพัฒนานักเรียนของครูคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น.  โครงการวิจัยแม่บท: การวิจัยและพัฒนาพฤติกรรมไทย  สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2552.
 
ประพนธ์  เจียรกูล.   “ตอนที่ 1 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการวิจัย”  เอกสารการเรียนรู้การทำวิจัย    ด้วยตนเอง. นนทบุรี :  โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,  2550.
 

 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น