ศูนย์ LifeVantage

ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ LifeVantage : Protandim Nrf1 / Nrf2 / ProBio / TrueScience / TrueRenew ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ โทร ☎️ :: 084-110-5021 📍 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line ค่ะ

03 ตุลาคม 2561

สาเหตุอะไรนะ...ที่ลูกไม่อยากไปโรงเรียน พร้อม 10 คำแนะนำช่วยแก้ปัญหา



สาเหตุอะไรนะ...ที่ลูกไม่อยากไปโรงเรียน พร้อม 10 คำแนะนำช่วยแก้ปัญหา (School Refusal Problem in Children)


ลูกไม่อยากไปโรงเรียน (School Refusal Problem in Children) เป็นอาการที่มักเกิดขึ้นเมื่อเริ่มภาคการศึกษาใหม่ เนื่องจากเด็กๆ ต้องเปลี่ยนการดำเนินชีวิต จากที่เคยนอนดึก ตื่นสาย ไปเที่ยวกับครอบครัว ไปว่ายน้ำ หรือทำกิจกรรมต่างๆ กับพ่อแม่ และเพื่อนๆ กลายเป็นต้องไปโรงเรียนแต่เช้า เพื่อไปเรียนหนังสือ และมีการบ้านมากมายกลับมาทำที่บ้าน
สำหรับเด็กส่วนใหญ่ เด็กจะรู้สึกลำบาก หรือรู้สึกยุ่งยากเพียงช่วงเวลาสั้นๆ และพวกเขาจะกลับไปสู่กิจวัตรประจำวันที่ต้องไปโรงเรียนได้อย่างรวดเร็ว แต่สำหรับเด็กบางคน ความกลัว และความกังวลที่ต้องกลับไปเรียนนั้นอาจเพิ่มมากขึ้น และสามารถนำไปสู่การไม่อยากไปโรงเรียนได้ในที่สุด เด็กบางคนอาจถึงกับพูดว่า “เกลียดโรงเรียน” หรือ “วันนี้ไม่อยากไปโรงเรียน”

เด็กที่ไม่อยากไปโรงเรียนอาจร้องไห้คร่ำครวญ ส่งเสียงกรีดร้อง หรืออ้อนวอนพ่อแม่เป็นชั่วโมงเพื่อที่จะขออยู่บ้านแทนการไปโรงเรียน เด็กอาจบ่นว่าไม่สบาย หรือหนีออกจากโรงเรียนเพื่อกลับมาที่บ้าน หากเด็กถูกบังคับให้ไปโรงเรียน หรือเด็กอาจขาดเรียนเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน
ปัญหาของการที่ลูกไม่อยากไปโรงเรียนอาจเกิดขึ้นจากหลายๆ สาเหตุ แต่ปัจจัยโดยทั่วไป อาจมีสาเหตุมาจาก การเริ่มต้นของภาคเรียนใหม่ การย้ายไปเรียนโรงเรียนแห่งใหม่ หรือการที่โรงเรียนปิดเทอมเป็นเวลานาน แล้วมีการเริ่มภาคการศึกษาใหม่ ความเจ็บป่วย หรือ การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ก็อาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เด็กปฏิเสธการไปโรงเรียน
ตามการรายงานพิเศษเกี่ยวกับสุขภาพชิ้นล่าสุดที่มีชื่อว่า การจัดการกับความกังวล และความกลัว (Coping with Anxiety and Phobias) ของวิทยาลัยแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่า การปฏิเสธการไปโรงเรียนมักจะเกิดจากความกังวล โดยสาเหตุที่ซ่อนอยู่ภายในอาจมาจากโรคกลัวสังคม (social phobia) คือ ความกลัวที่เกิดจากสภาพทางสังคม หรือการแสดงออกต่อหน้าสาธารณชน หรือโรควิตกกังวลไปทั่ว (generalized anxiety disorder) กล่าวคือ การกลัวเกินเหตุ และกังวลไปกับหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่าง หรือโรควิตกกังวลเกี่ยวกับการแยกจาก เช่น กลัวการแยกจากพ่อแม่ผู้ปกครอง บางครั้งต้นตอของปัญหาก็เกิดจากความกลัวที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง เช่น กลัวถูกเรียกในชั้นเรียน กลัวครู กลัวการโดนแกล้ง เป็นต้น
เมื่อลูกปฏิเสธการไปโรงเรียนเป็นประจำ พ่อแม่ผู้ปกครองควรขอความช่วยเหลือจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต การบำบัดอาจเป็นหนทางที่จะช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครอง บุคลากรในโรงเรียน และแม้แต่ตัวเด็กเองในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
โดยปกติ เทคนิคการบำบัดด้วยการปรับความคิดและพฤติกรรม หรือ CBT (Cognitive Behavioral Therapy) ได้ถูกใช้เป็นตัวจัดการสาเหตุของปัญหาความกังวล นอกจากการใช้ CBT จะมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคกังวล ในเด็ก และในวัยรุ่นแล้ว ยาต้านอาการซึมเศร้า โดยเฉพาะยากลุ่ม SSRIs หรือ Selective Serotonin Reuptake Inhibitors ซึ่งประกอบไปด้วย fluoxetine (Prozac) และ sertraline (Zoloft) ก็ถูกใช้ในการรักษาโรคนี้เช่นกัน ในการรักษาแบบ CBT จะมีการใช้วิธีต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันไปในการเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมด้านลบ ให้กลายเป็นด้านบวก
แต่หนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การค่อยๆ ให้เด็กรู้สึกคุ้นเคยกับสิ่งที่กลัว ซึ่งในที่นี้ก็คือ โรงเรียน ตัวอย่างเช่น อาจให้เด็กเรียนแค่ 1-2 วิชาในวันแรก แล้วให้พ่อแม่ผู้ปกครองรอข้างนอก และค่อยๆ เพิ่มวิชาเรียนให้เด็กต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าเด็กจะสามารถเรียนที่โรงเรียนทั้งวันได้ วิธีอื่นๆ ที่พอจะช่วยได้ก็คือสอนให้เด็กสูดลมหายใจเข้าลึกๆ หรือสอนวิธีผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพื่อให้เด็กใจเย็นลง

ปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียน...มีลักษณะอย่างไร?

เด็กที่ปฏิเสธการไปโรงเรียน มักมีอายุระหว่าง 3 ปี ถึง 6 ปี เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่เด็กเพิ่งจะเริ่มไปโรงเรียน และเพิ่งจะเรียนชั้นอนุบาล นอกจากเด็กจะมีลักษณะพฤติกรรมที่มีอารมณ์เกรี้ยวกราด และร้องไห้เมื่อถึงเวลาไปโรงเรียน เด็กที่ไม่อยากไปโรงเรียน อาจยังมีอาการต่างๆ ดังนี้
• ปวดท้อง
• ปวดศีรษะ
• มีอาการคลื่นไส้อาเจียน
• มีอาการวิงเวียนศีรษะ
• มีอาการเจ็บหน้าอก
• มีอาการปวดตามข้อ
แม้ว่าอาการเหล่านี้อาจพบได้ในเด็กที่มีปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ แต่หากอาการเหล่านี้เกิดกับเด็กที่ไม่อยากไป โรงเรียน เราสามารถสังเกตได้ง่ายๆ ว่า เมื่อเด็กไม่อยากไปโรงเรียน เด็กจะเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น แต่เมื่อเด็กรู้ว่าจะได้พักอยู่บ้าน อาการของเด็กก็จะดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีอาการ หรือลักษณะพฤติกรรมอื่นๆ ที่เกิดกับเด็กที่ไม่อยากไปโรงเรียน ดังนี้
• เด็กน้ำหนักขึ้น
• เด็กไม่มีไข้ ไม่อาเจียน หรือไม่ท้องเสีย
• เด็กไม่มีอาการใดๆ เมื่อไม่ต้องไปโรงเรียน
• เมื่อพาเด็กไปพบกุมารแพทย์ จะไม่ปรากฏอาการเจ็บป่วยที่เห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น เด็กอาจมีอาการเจ็บข้อ แต่ข้อบริเวณที่เด็กรู้สึกเจ็บนั้นไม่มีอาการบวม
โดยทั่วไปแล้ว เด็กจะเกิดความกลัว หรือเกิดอาการที่แสดงถึงความกังวล เช่น เด็กอาจมีพฤติกรรมแปลกๆ มีความกังวลมากเกินเหตุ หรือเด็กอาจฝันร้าย

ปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียน...มีสาเหตุมาจากอะไร? 

• สถานการณ์ ใหม่ๆ หรือสังคมใหม่ๆ มักจะก่อให้เกิดความกังวล และบางครั้งก่อให้เกิดความกลัว เด็กบางคนอาจกลัวประสบการณ์ใหม่ๆ ในขณะที่เด็กบางคนตื่นเต้นไปกับมัน เด็กหลายๆ คนจะเกิดความกังวลตอนเริ่มภาคการศึกษาใหม่ จนเป็นเหตุให้เด็กไม่ยอมไปโรงเรียน
• ในเด็กก่อนวัยเรียน สาเหตุที่เด็กไม่อยากไปโรงเรียนอาจเกิดจาก การที่เด็กกลัวที่ต้องแยกจากแม่ไป เด็กจะร้องไห้ และขอพ่อแม่อยู่บ้านแทนการไปโรงเรียน และเด็กอาจไม่ร่วมกิจกรรมใดๆ หรือเข้ากลุ่มกับใครในโรงเรียน
เด็กเหล่านี้จะแสดงออกถึงความกังวลจากการแยกจาก บางครั้งเด็กอาจจะเกิดความกังวล หากทิ้งให้เด็กอยู่กับพี่เลี้ยงที่ไม่คุ้นเคย หรือหากทิ้งให้อยู่ที่บ้านของคนอื่น และบางทีก็มีกรณีที่เด็กไม่ยอมนอนคนเดียว หากเด็กก่อนวัยเรียนมีความไม่สะดวกใจที่จะไม่ได้อยู่กับแม่ในช่วงแรกของปี ก็ยังไม่น่ากังวลมากนัก อย่างไรก็ตาม หากปัญหานี้กินเวลายาวนาน ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าเป็นกังวล และควรหาวิธีแก้ไขต่อไป
• เด็กอาจถูกเพื่อนที่โรงเรียนแกล้ง
• อาจมีเพื่อนบางคนที่เด็กไม่ชอบ ไม่อยากคบหาสมาคมด้วยมายุ่งกับเด็ก
• เด็กอาจกลัวคุณครูที่โรงเรียน หรือเข้ากับคุณครูที่โรงเรียนไม่ได้
• บางครั้ง เมื่อเด็กมีเพื่อนน้อย หรือการที่เด็กไม่มีเพื่อนเลย เด็กอาจรู้สึกกังวล จนไม่อยากไปโรงเรียน
• บางครั้งสาเหตุอาจเกิดจากวิชาเรียน และการบ้านต่างๆ ซึ่งวิชาเรียนอาจง่ายเกินไป ทำให้เด็กเกิดความเบื่อ หรือ วิชาเรียนอาจยากจนเกินไป ทำให้เด็กเกิดความกดดันว่าไม่ฉลาดเท่าเด็กคนอื่นๆ
• เด็กอาจประสบกับความกังวลในเรื่องอื่นๆ จนไม่มีสมาธิเรียนหนังสือ และไม่อยากไปโรงเรียน

ปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียน...นั้นเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างไร?
• การช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียนนั้นถือว่ามีความสำคัญมาก เมื่อลูกพูดว่าเกลียดโรงเรียน หรือ ไม่อยากไปโรงเรียน บางครั้งสิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นไม่นาน แต่หากเด็กมีความรู้สึกแบบนี้มากเกินไป ก็จะเกิดปัญหาขึ้นต่อตัวเด็ก เพราะโรงเรียนถือเป็นสิ่งจำเป็น และการได้รับการศึกษาสามารถช่วยสร้างอนาคตที่ดีให้แก่เด็กได้
• อีกทั้ง เมื่อเด็กเกิดความเครียดเกี่ยวกับโรงเรียน ก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายของเด็กได้ เด็กที่เครียดเกี่ยวกับการไปโรงเรียนอาจมีอาการปวดศีรษะ หรือปวดท้อง เด็กอาจรู้สึกท้องไส้ปั่นป่วน จนอยากอาเจียน นอกจากนี้ การที่เด็กนอนไม่หลับ ก็เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความเครียด และหากเด็กไม่ได้รับการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ ก็จะทำให้เด็กรู้สึกอารมณ์เสีย และรู้สึกเหนื่อยระหว่างวัน การที่เด็กรู้สึกเหนื่อย ก็ยิ่งทำให้ช่วงเวลาที่เด็กเรียนที่โรงเรียนแย่ขึ้นไปอีก
• หากเด็กรู้สึกเครียด ก็จะทำให้เด็กประสบปัญหาในเรื่องการตัดสินใจ เด็กอาจตัดสินใจไม่ได้ว่าจะกินอะไร หรือจะใส่อะไร เด็กจะผัดวันประกันพรุ่งในเรื่องการจัดกระเป๋าไปโรงเรียน จนทำให้เด็กไปเรียนไม่ทัน การให้เด็กได้อยู่บ้าน อาจเป็นทางเลือกที่ดี แต่ก็จะทำให้เด็กไปโรงเรียนได้ยากขึ้นในวันถัดไป ด้วยเหตุนี้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูไม่ควรละเลยต่อปัญหาเด็กไม่อยากไปโรงเรียน และควรร่วมมือกันหาวิธีแก้ไขปัญหา

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียนได้อย่างไร?


• หากลูกแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเริ่มเปิดภาคการศึกษาใหม่ พ่อแม่ก็ควรตามลูกไปที่โรงเรียนด้วย และเข้าพบกับครูก่อนการเริ่มเรียน
• การขอความช่วยเหลือจากโรงเรียนเพื่อทำให้เด็กรู้สึกเป็นกังวลน้อยลง ก็เป็นวิธีที่ช่วยได้มาก โดยขอความช่วยเหลือจากครู ในการสนับสนุนให้ลูกเอาชนะความกังวลต่างๆ
• อย่าละเลยหรือปฏิเสธความกังวลของลูก แต่ควรยอมรับ และให้ความเชื่อมั่นแก่ลูก เช่น อาจพูดกับลูกว่า “พ่อรู้ว่าลูกกลัวว่าพ่อจะไม่ไปรับ แต่ไม่มีเหตุผลที่ลูกต้องกังวลเลย พ่อจะไปรับลูกแน่นอน”
• เด็กที่มีความกลัวในเรื่องการแยกจากพ่อแม่ผู้ปกครอง อาจทำให้พ่อแม่รู้สึกสงสารลูก จนยอมให้ลูกไม่ต้องไปโรงเรียน แต่วิธีรักษาอาการดังกล่าวที่ดีที่สุดคือ การช่วยไม่ให้เด็กยอมแพ้ต่อความกังวลได้โดยง่าย
• พ่อแม่ควรพยายามหาวิธีที่สามารถทำให้ลูกไปโรงเรียน ตัวอย่างเช่น เด็กอาจได้รับการยืนยันว่าจะโทรหาแม่ได้เมื่อใดบ้างในตอนอยู่ที่โรงเรียน ในกรณีที่หนักที่สุด แม่อาจไปอยู่ที่โรงเรียนกับลูก แต่อยู่กับลูกเพียงแค่ในระยะเวลาที่กำหนด และค่อยๆ ลดเวลาการอยู่กับลูกที่โรงเรียนไปทีละนิด
• สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การบอกเด็กไปตรงๆ ว่าต้องไปเรียนนานเท่าใด ทั้งนี้ ไม่ควรมีกลวิธีหลอกล่อเด็กให้ไปโรงเรียน ที่จะทำให้เด็กไม่เชื่อใจพ่อแม่ผู้ปกครองอีกต่อไป ตัวอย่างเช่น พ่อแม่ผู้ปกครองอาจบอกกับเด็กว่า เด็กอาจต้องไปเรียนที่โรงเรียนเพียงแค่ชั่วโมงเดียว แต่เมื่อเด็กไปเรียนที่โรงเรียนแล้ว ครูก็จะบอกให้เด็กอยู่เรียนต่อไปทั้งวัน สิ่งนี้จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกตรงข้ามกับสิ่งที่เคยตั้งใจเอาไว้ ผลสุดท้าย เด็กอาจปฏิเสธการไปโรงเรียนครั้งต่อไป เพราะเกิดความกังวลว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นที่โรงเรียนอีก
• การลงโทษเด็กไม่เป็นการช่วยอะไร แต่ความใจดี บวกกับแรงกระตุ้นที่มีเหตุผล และการสนับสนุนเด็ก จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกอยากไปโรงเรียนได้ในที่สุด
• อย่าถามเด็กว่าทำไมถึงกลัวการไปโรงเรียน เนื่องจากเด็กมักจะไม่รู้คำตอบ เมื่อเด็กไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร ก็จะเป็นการทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเครียดแทน ทั้งนี้พ่อแม่ผู้ปกครองควรบอกเด็กว่าความกลัวไม่ช่วยอะไร หากแต่เด็กควรเอาชนะความกลัวให้ได้
• ควรเปิดใจให้กว้างในการรับฟังความรู้สึกของเด็ก อย่างไรก็ตาม การพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาของเด็ก โดยใช้เวลานานๆ นั้นไม่เป็นการช่วยแต่อย่างใด ตรงกันข้าม สิ่งนี้อาจทำให้เด็กรู้สึกเป็นภาระ พ่อแม่ผู้ปกครองควรเน้นย้ำว่าต้องการช่วยให้ลูกปราศจากความกังวล และความกลัวซึ่งไม่มีอยู่จริง
การที่เด็กไม่อยากไปโรงเรียน อาจทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเกิดความรำคาญ การแสดงออกถึงความขุ่นเคือง และความโกรธนั้นไม่เป็นผลดี และพ่อแม่จะไม่เกิดความรู้สึกอยากทำแบบนั้น หากมีกลวิธีเฉพาะในการช่วยเหลือลูกให้ไปโรงเรียน


ขอบคุณที่มา  ::   เว็บไซต์  friendforkids

เรียบเรียงโดยประภัสรา โคตะขุน  
















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น