ศูนย์ LifeVantage

ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ LifeVantage : Protandim Nrf1 / Nrf2 / ProBio / TrueScience / TrueRenew ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ โทร ☎️ :: 084-110-5021 📍 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line ค่ะ

03 ตุลาคม 2561

ลูกโดนแกล้ง ที่โรงเรียน พ่อแม่จะรับมืออย่างไร?

ลูกโดนแกล้ง ที่โรงเรียน พ่อแม่จะรับมืออย่างไร?



ลูกโดนแกล้ง ที่โรงเรียนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อยู่บ่อยๆ ตั้งแต่เด็กระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงเด็กโต เด็กบางคนถูกเพื่อนแกล้ง จนเก็บกดไม่กล้าบอกพ่อแม่ คุณครู จนทำให้เกิดความเครียดสะสม และคิดฆ่าตัวตายก็มีข่าวให้เห็นอยู่บ่อยๆ เลยค่ะ ทีมงาน เรา  มีประสบการณ์จากคุณแม่ท่านหนึ่งที่ลูกถูกแกล้งที่โรงเรียน พร้อมวิธีรับมือมาฝากค่ะ



ลูกโดนแกล้ง ที่โรงเรียน!!


มีคุณแม่สมาชิกกระทู้ดังพันทิปได้แชร์ประการณ์ ลูกโดนแกล้ง ที่โรงเรียน ซึ่งคุณแม่ท่านนี้เมื่อก่อนตอนเป็นเด็กก็เคยถูก เพื่อนที่โรงเรียนแกล้งมาก่อน จนแต่งงานมีครอบครัวมีลูก ก็มาเกิดเหตุการณ์ลูกคนเล็กถูกเพื่อนๆ ที่โรงเรียนแกล้ง เช่นเดียวกัน คุณแม่จึงอยากมาแชร์ข้อมูลพร้อมวิธีรับมือให้กับอีกหลายๆ ครอบครัวได้ทราบกันค่ะ

คุณแม่  ลูกเราคนเล็กโดนเพื่อนๆ แกล้งเหมือนกัน คือ โดนมารุมว่าจนทำให้เครียด กดดัน ทุกข์ใจจนไม่อยากมาโรงเรียนตัวอย่างข้างล่างนี้เป็นสิ่งที่เราประมวลมาจากปัญหาลูกเรา ตัวเราเองตอนเด็กๆ และสิ่งที่เราเคยได้ยินได้ฟังมานะคะ

รูปแบบของการแกล้ง

  1. การทำร้ายจิตใจกัน – อันนี้ เจอบ่อยที่สุดค่ะ

– การว่ากันด้วยคำพูด แรงบ้าง เบาบ้าง หยาบคายหรือสุภาพบ้าง ขึ้นอยู่กับพื้นฐานครอบครัวที่เด็กคนนั้นๆ โตมา

– การแสดงกริยารังเกียจเดียดฉันท์ หัวเราะเยาะ ทำให้ผู้ที่ถูกแกล้งรู้สึกแย่

  1. การแสดงอำนาจเหนือกว่า – ใช้อำนาจของตัวเอง (เช่น การเป็นคนมีเสน่ห์ เรียนเก่ง หน้าตาดี ที่เพื่อนๆ ชื่นชม) กับเพื่อน อาทิ เช่น ใช้ให้ไปซื้อน้ำให้ ถือกระเป๋าให้ หรือ ใช้ให้ไปว่าเพื่อนๆ คนอื่นที่ตัวเองไม่ชอบ
  2. การข่มขู่ – การขู่ด้วยกริยาท่าทาง วางอำนาจ หรือ อวดเบ่งว่า ตัวเองมีคุณสมบัติบางอย่างที่อาจจะทำร้ายเพื่อนได้  เช่น พี่สาวเราตอนเด็ก ๆ โดนเพื่อนไถเงินทุกวัน โดยขู่ว่า ยายเลี้ยงผี ถ้าไม่ให้เงินเค้า  จะให้ยายปล่อยผีมาฆ่าให้ตาย  (ฟังมาถึงตอนนี้ ทุกคนอาจหัวเราะ  แต่สำหรับเด็กเล็ก ๆ ที่เปิดทีวีไทย เจอแต่เรื่องผีๆ ที่หลอกหลอนกันแบบเป็นจริงเป็นจังมาก  นี่ทำให้ถึงกับต้องคิดมากเลยนะคะ)
  3. การทำร้ายร่างกาย – อันนี้ เลวร้ายที่สุด และผู้ใหญ่จะต้องคอยระมัดระวังอย่างมากด้วย เพราะบางครั้ง อาจเลยเถิดไปจนทำให้พิการได้
  4. การใช้อำนาจที่มีคว่ำบาตรเพื่อนที่ถูกแกล้ง – อันนี้ ไม่เจ็บกายแต่เจ็บหัวใจนะคะ   ถ้าคุณเคยโดนมาเฟียน้อยในห้องสั่งทุกคนให้ทำท่ารังเกียจคุณ หรือ ไม่พูดกับคุณ  ในวัย 5-6 ขวบ หรือ กระทั่งในวัยรุ่นก็เถอะ  คุณอาจจะรู้สึกเครียดจัดไปจนถึงตั้งป้อมไม่สามารถรักใครได้อีกเลย หากคุณไม่รู้เท่าทันอารมณ์พอ

เชื่อว่าพออ่านกันมาถึงตรงแล้ว น่าจะมีเด็กๆ ส่วนหนึ่งที่เคยถูกเพื่อนแกล้งที่โรงเรียนด้วยสาเหตุเหล่านี้ เพราะอย่างผู้เขียนเองก็เจอเพื่อนๆ มาเล่าให้ฟังบ่อยๆ ว่าลูกเคยถูกเพื่อนแกล้งตอนอยู่ชั้นประถม 2 โดยเพื่อนที่โรงเรียนแกล้งล้อเลียนหนักอยู่เหมือนกัน เนื่องจากเป็นเด็กต่างจังหวัดแล้วต้องย้ายมาอยู่กับพ่อแม่ที่กรุงเทพฯ ทำให้ต้องเปลี่ยนโรงเรียนใหม่ เพื่อนใหม่สังคมใหม่ๆ ทำให้เด็กดูแตกต่างเลยถูกเพื่อนล้อ ซึ่งกว่าจะปรับตัวได้ก็ใช้เวลาไปเทอมกว่าๆ เลยค่ะ แต่ที่น่าดีใจคือคุณครูประจำชั้นมาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ให้ด้วย สุดท้ายเด็กที่มาล้อก็ยอมเปิดใจกับเพื่อนใหม่ กลายเป็นเพื่อนซี้กันไปแล้วค่ะ  





ทำไมถึงโดนรังแก  


คุณแม่ เด็กๆ แกล้งกันด้วยหลายเหตุผลค่ะ  ที่น่าเศร้าคือ บางครั้งเป็นบาปบริสุทธิ์  รู้เท่าไม่ถึงการณ์ คิดว่าทำเล่นๆ เพราะ สนุก (โดยลืมไปว่า คนโดนแกล้ง ไม่ได้สนุกไปด้วยหรอกนะคะ) ที่เราเห็นและได้ยินมาบ่อยๆ คือ

  1. หมั่นไส้ อิจฉา – ยอมรับเถอะค่ะ  มนุษย์เรามีด้านดาร์คทั้งนั้น  เพียงแต่เด็กน้อยอาจยังจัดการกับความรู้สึกดิบเถื่อนด้านนี้ของตัวเองได้ไม่ดี  ก็เลยแสดงออกมาในรูปแบบของการแกล้ง  ทีนี้ level ของความเป็นอันธพาลจะเป็นระดับไหน ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานจิตใจเด็ก และการอบรมเลี้ยงดู การถูกบ่มเพาะ จากพ่อแม่และครูอาจารย์นะคะ

การแกล้งกันเพราะหมั่นไส้นี้ เจอบ่อยที่สุด  เด็ก ๆ หมั่นไส้กันเพียงเพราะยังไม่สามารถยอมรับความแตกต่างระหว่างกัน และกันได้ และหลายครั้ง ความรู้สึกแบบนี้ยึดโยงกับความรู้สึกอิจฉาอย่างเหนียวแน่นค่ะ

เช่น “ทำไมเพื่อนคนนี้  มี Sanrio ครบชุดเลย  ?

“อี๋ ทำเป็นเป็นคุณหนู ต้องมีคนมาส่งถึงห้อง”

“ทำไมคุณครูถึงรักคนนี้เป็นพิเศษ  ทีเราล่ะตีซะแรงเชียว”

“ม้วนกระโปรงขึ้นมาซะเต่อเชียว ปากก็แดงแจ๋  หน้าเทามวากกกกก  สก๊อยนี่หว่า”

“เชอะ … นังเด็กแว่น  นึกว่าเรียนเก่ง แล้วจะมองคนอื่นแบบนี้ได้เหรอ ?”

บางครั้ง ความหมั่นไส้ เกิดจากการอยากได้ อยากมี อยากเป็นแบบเพื่อน แต่ตัวเองไม่กล้ายอมรับ ไม่กล้าทำ  พอมันต่างกันมากนักก็เลยเกิดอาการหมั่นไส้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มแกล้งกันค่ะ

  1. อยากแสดงอำนาจ – อันนี้ ก็ธรรมดาอีกค่ะ สำหรับมนุษย์เราเป็นกันตั้งแต่เด็กยันผู้ใหญ่ บางคนจบมาตั้งหลายปีแล้ว ยังเก็บงำการแสดงอาจแบบเถื่อนๆ ไม่ได้ ก็มีให้เห็นทั่วไปนะคะ ตัวใหญ่ แข็งแรง ก็อยากจะลองเตะ ต่อยพวกตัวเล็กๆ แล้วเอามาเข้าพวกเป็นลูกกระจ๊อกอวดความยิ่งใหญ่เสียหน่อย
  2. มีเรื่องบาดหมางกันเรื่องอื่นที่จบไม่ลง – บางที เด็กมีเรื่องทะเลาะหรือขัดแย้งกันบางอย่างมาก่อน สะสมไว้ไม่เคลียร์ให้หมด เจอดอกหนึ่ง ดอกสอง ดอกสาม ไปเรื่อยๆ เข้า ก็ผูกขาดจองเวรกันไปตลอด

ใครมีแนวโน้มที่จะเป็นเหยื่อ และใครมีแนวโน้มจะแกล้งบ้าง

  1. เด็กที่มีแนวโน้มว่าจะโดนแกล้ง คือ เด็กที่พิเศษจากเพื่อน อาจเป็น ความพิเศษได้ทั้งในทางลบและทางบวก เช่น ตัวเล็ก ดูท่าทางแหย ๆ เชื่องช้า แต่งตัวใช้ของดีเกินหน้าเพื่อน หรือซอมซ่อกว่าเพื่อน ๆ ในชั้นเดียวกัน  เก่งหรือได้รับความสนใจจากครูมากกว่าเพื่อนในระดับเดียวกันอย่างมาก
  2. เด็กที่มีแนวโน้มว่าจะแกล้งคือ เด็กที่มั่นใจในตัวเอง ได้รับการตามใจ รู้สึกว่ามีคนปกป้อง (รู้ไหม ข้าลูกใคร ?) ตลอดจนถึงเด็กที่มีปมด้อยลึกๆ ที่ตัวเองพยายามฝังกลบแต่มันกลับสำแดงตัวเองออกมาในรูปแบบของการแสดงอำนาจ

ลูกโดนแกล้ง ถูกรังแก ถามว่าพ่อแม่เจ็บปวดใจไหม ก็เจ็บปวดใจกันทั้งสองฝ่าย นั่นคือ ฝั่งครอบครัวที่ลูกถูกแกล้ง และฝั่งครอบครัวที่ลูกไปแกล้ง รังแกเพื่อน ผู้เขียนเชื่ออย่างหนึ่งค่ะ ว่าครอบครัวมีการอบรมสั่งสอนลูกหลานตั้งแต่เป็นเด็กตัวเล็กๆ ให้เห็นว่าอะไรทำแล้วดี กับทำแล้วไม่ดีส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง บวกกับพ่อแม่ ผู้ปกครองเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก หลานเห็น เขาก็จะซึมซับแต่สิ่งที่ดีไปปฏิบัติค่ะ และที่สำคัญเราต้องไม่ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าเขาขาดความอบอุ่น รากฐานที่มั่นคงจากคนในครอบครัวจะช่วยหล่อหลอมให้พวกเขาเป็นเด็กดี (คิดทำดี) ได้ค่ะ




เชื่อว่ามีหลายครอบครัวเลยที่เพิ่งมารู้มาลูกตัวเองถูกเพื่อนแกล้งมาได้สักระยะหนึ่ง และพอรู้ก็เกิดคำถามว่า “ทำไมลูกถูกเพื่อนแกล้งที่โรงเรียน ถึงไม่บอกพ่อกับแม่ละลูก?” อยากรู้เหตุผลไหมคะว่าทำไม ลูกถึงไม่ปริปากบอก…




ทำไมเด็กถึงไม่กล้าต่อสู้


คุณแม่ ตอบได้ง่ายๆ คำตอบเดียวเลยค่ะว่า “ไม่มั่นใจ กลัว”  พอถามต่อว่ากลัวอะไร  คำตอบหลากหลายค่ะ

  1. กลัว – มีเรื่องแล้วพ่อแม่ดุ พ่อแม่บางคนตีซ้ำนะคะ ถ้าลูกมีเรื่องกับคนอื่น เพราะขี้เกียจมาโรงเรียนเวลาโดนเชิญขึ้นห้องปกครอง
  2. กลัว – การใช้กำลัง มีเพื่อนผู้ชายคนหนึ่งเคยเล่าให้เราฟังว่า ตอน ม.ปลาย เคยมีเรื่องกับเพื่อนกลุ่มหนึ่งแล้วตัวเองไม่ลงมือ ไม่ใช่เพราะไม่กล้า  แต่เพราะกลัวอีกฝ่ายเจ็บ (อันนี้ หลายคนอาจจะบอกว่า ตรรกะแปลก)  แต่จริงๆ ค่ะ  บางคนไม่กล้าใช้กำลัง เพราะไม่รู้ว่าใช้แล้ว ถ้าอีกฝ่ายปางตายจะเป็นอย่างไร  ผลคือ ตัวเองถูกเพื่อนในห้องเดียวกันรุมเรียกว่า “ไอ้ลูกหมา”  อ้อ … ห้องนี้ เรียนภาษา เค้าเรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสด้วยนะว่า le chien ยิ่งเจ็บเข้าไปอีก
  3. กลัว – สู้ไม่ได้ อันนี้ ธรรมดาค่ะ ทุกคนมีสัญชาตญาณนี้อยู่ในตัวทั้งนั้น เราไม่ควรตำหนิ
  4. กลัว – กลัวเพราะกลัว หาสาเหตุไม่ได้ ครอบครัวไทยๆ จีนๆ แบบเรา เน้นการสอนเรื่องเชื่อฟัง เด็กว่าง่ายเด็กหัวอ่อน คือ เด็กน่ารัก  เพราะงั้น เด็กๆ ส่วนใหญ่ที่ไม่แก่นกล้าพอที่จะเถียงหรือโต้แย้งในบ้าน ก็มักจะหัวอ่อนพอที่จะยอมรับการโดนรังแกไปด้วยค่ะ

วิธีสังเกตอาการของเด็กที่ถูกรังแก


1. ซึมเศร้า


หมกมุ่น  ไม่อยากตื่นไปโรงเรียน ไม่กระตือรือร้น ไม่มีชีวิตชีวา  บางครั้งเด็กจะหนีจากโลกความเป็นจริงด้วยการหันไปอ่านหนังสือ อยู่ในโลกส่วนตัว จมอยู่กับเกมส์ หรือ หากโตหน่อย ก็อาจจะเพ้อสร้างตัวตนปลอม ๆ ในโซเชียลเพื่อให้ได้รับการยอมรับ

2. ผลการเรียนแย่ลง


ข้อนี้ เข้าใจได้ไม่ยากค่ะ ในเมื่อไม่มีชีวิตชีวา และความกระตือรือร้น จะให้เรียนดี คงเป็นไปไม่ได้

เด็กๆ ต้อใช้ชีวิตอยู่รั้วโรงเรียนไปจนโตถึงเรียนมหาวิทยาลัย รวมๆ แล้วก็ 20 กว่าปีได้ค่ะ ดังนั้นแนะนำว่าให้พ่อแม่พูดคุย สังเกตดูลูก ซึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือช่วงเย็นรับประทานอาหารร่วมกัน พูดคุยแลดเปลี่ยนเรื่องที่แต่ละคนไปเจอมาใน 1วัน อะไรดี อะไรสนุก หรือใครมีปัญหาตรงไหน เปิดใจมาแชร์กัน ครอบครัวผู้เขียนก็ทำแบบนี้ค่ะ เด็กๆ ที่บ้านจะบอกทุกวันว่าเรียนเป็นยัง วันนี้โดนครูดุเพราะ… วันนี้มีปัญหากับเพื่อนคนนี้เพราะ… เราในฐานะพ่อแม่เมื่อได้รับฟังลูกแล้ว ก็ต้องชี้แนะให้แนวทางที่เป็นพลังบวกให้กับลูกๆ ด้วยนะคะ



ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องที่ลูกโดนเพื่อนแกล้ง ก็ต้องได้รับการแก้ไขค่ะ เพราะหากปล่อยไว้ผลกระทบร้ายๆ อาจเกิดขึ้นกับเด็กที่ถูกแกล้งได้ค่ะ ไปดูกันว่าคุณแม่จะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร…




แก้ยังไงดี และ วิธีการแก้ของเรา


คุณแม่ – เราจะเล่าเรื่องของลูกคนเล็กของเรานะคะ ลูกสาวคนเล็กเราโดนเพื่อนๆ รุมว่ามานาน ว่าซ้ำๆ จนเครียด ไม่อยากไปโรงเรียน  ทุกครั้งเวลาไปส่งที่โรงเรียนจะไม่อยากเข้าแถว เพราะไม่มีใครเล่นด้วยและไม่อยากเล่นกับใคร  ด้วยความที่ตัวเล็ก และลูกเรามีพัฒนาการที่ช้าไปนิดถ้าเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน ทำให้ทำงานช้า  ส่งงานไม่ทัน โดนครูตี และครูบางคนก็ฉีกผลงานที่ทำไปด้วย

ลูกเราความนึกคิดจะยังเด็กกว่าอายุ  ยังชอบอะไรง้องแง้งน้องแน้งแบบเด็ก เช่น อายุ 10 ขวบแล้ว ยังชอบเล่น เป่ายิ้งฉุบ หรือ เล่มเกมแบบเด็กๆ

เหตุการณ์แบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแบบเป็นเรื่องใหญ่ครั้งเดียวนะคะ  แต่สะสมมาเรื่อยๆ ทีละนิด จนถึงจุดที่ทนการไปโรงเรียนไม่ได้อีกต่อไป

เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะลูกอยู่ที่นี่ปีนี้เป็นปีที่ 8 (อยู่ตั้งแต่เนอสเซอรี่ จนปีนี้ขึ้น ป.4)  ถามว่า เราเอง ได้พยายามให้ลูกแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อนไหม ?

แน่นอนค่ะ  คติส่วนตัวเราคือ เราฝึกให้ลูกเราพยายามพึ่งตัวเองให้มากที่สุด  เราบอกให้ลูกเข้มแข็ง อดทน ลองแก้ปัญหาเอง ยอมรับข้อบกพร่องของตัวเอง

ลูกเราก็พยายามนะคะ เวลาเพื่อนว่ามากๆ เข้าก็โต้ไปบ้างว่า “ไร้สาระ” แล้วก็ไม่พูดกับเพื่อน หรือบางทีลูกเราก็พยายามจะเอาชนะใจเพื่อนด้วยการให้เงินหรือให้ยืมเงิน  ทีนี้ ที่ลูกเสียใจคือ เวลาทวงเงินเพื่อน เพื่อนกลับทำไม่รู้ไม่ชี้แล้วไม่สนใจไม่พูดด้วย  อันนี้ ทำให้เธอเสียใจเป็นสองเท่า ประมาณว่า “ชั้นพยายามทำดีแล้ว แต่คงดีไม่พอ”

สิ่งที่ทำคือ


  1. ไลน์หาคุณแม่ของน้องที่เป็นหัวโจกชอบว่าลูกเราบ่อย ๆ เราขออนุญาตโทรหา และเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และเราก็ไม่ลืมที่จะบอกว่า “เราไม่แน่ใจว่า ลูกเราไปทำอะไรน้อง*** ก่อนรึเปล่า ? ถ้าใช่ เราขอโทษแทนด้วย ฝากคุณแม่ช่วยถามน้องนิดนึงนะคะ ว่ามีเรื่องอะไรกันรึเปล่า ? อยากให้เด็กๆ เล่นกัน รักกันเหมือนเดิม”
  2. ไปพบคุณครูประจำชั้นที่ห้องเลยค่ะ เล่าให้ฟังถึงปัญหาทั้งหมด อันที่จริง ตอนต้นปี ทุกครั้งที่เปลี่ยนครูประจำชั้น  เราจะไปบอกคุณครูว่า ลูกเรามีปัญหาเรื่องช้าบ้างเพราะตอนเด็กๆ เคยไม่สบาย  เราไม่ได้มาพูดเพื่อขอสิทธิพิเศษ  คุณครูจะดุ จะตีบ้างตามเหตุผล  เราไม่ติดใจ  แต่แค่อธิบายให้ฟังว่า ทำไม ลูกเราถึงทำงานบางอย่างเสร็จไม่ทันเพื่อน เราเองก็พยายามฝึกหัดเค้าเพิ่มเติมอยู่แล้ว

แต่ตอนเกิดเรื่องขึ้น เราก็ไปหาครูประจำชั้นอีกครั้ง  ขอให้คุณครูช่วยตะล่อมถามเด็กๆ นิดหนึ่งว่า เกิดอะไรขึ้น  คุณครูก็น่ารักมาก  เรียกเด็กมาถามเป็นรายคน และเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้ทราบเรื่องราวรอบด้านแบบ 360 องศา  จากนั้น ก็สอนเด็ก ๆ โดยไม่ชี้เฉพาะเจาะจงลงไป  (ซึ่งอันนี้ เราขอชมเชยครูจริงๆ เพราะหากคุณครูดุคู่กรณี แบบขานชื่อ ทีนี้ แทนที่จะมีลูกเราเป็นเด็กน่าสงสารคนเดียว  ก็จะมีเด็กน่าสงสารถึงสองคน)  ให้ยอมรับความแตกต่างของเพื่อน และให้อยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ

จะว่าไปเด็กๆ หลายคนก็ยังใสอยู่มากค่ะ  เราบอกครูว่า เราเข้าใจว่า ถ้าเด็กๆ ยังไม่เข้าใจบางเรื่องมากนัก เช่น บางคนก็ข้องใจแกมหมั่นไส้ว่า ทำไมลูกเราถึงใส่รองเท้าไม่เหมือนเพื่อน (คือ ต้องใส่รองเท้าดัดรูปเท้า เนื่องจากรูปเท้าผิดปกติ) และสามารถใส่รองเท้าเข้าห้องได้ (คุณหมอให้ใส่วันละ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ) จริงๆ ลูกเราก็อธิบายแล้วแต่เพื่อนก็ยังไม่เข้าใจ ไม่เชื่อ  เรายินดีจะเข้าไปอธิบายให้เด็กๆ ฟัง เพื่อให้เลิกสงสัยประเด็นนี้ จนเป็นเหตุให้ตั้งข้อรังเกียจกัน

  1. เราโทรหาผู้ปกครองของเพื่อนลูก และคุยกับเพื่อนลูก ทั้งที่เป็นคู่กรณีและไม่ใช่คู่กรณี ค่อยๆ ตะล่อมถามคุยดีๆ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ก็พบว่ามีคนเพียง 2-3 คนเท่านั้นที่ชอบว่าลูก และแสดงอำนาจกับลูกซ้ำๆ แต่คนอื่นๆ ไม่ได้ทำอะไร แต่เวลาลูกเราโดนว่าบ่อยๆ เข้า ก็เลยเซ็ง และพลอยไม่อยากคุยไปหมด

เช่น เด็กหญิง ก. ข. ค. ชอบว่า ลูกเรา  แล้ว เด็กหญิง ก.ข.ค. ก็ไปคุยและไปเล่นกับเด็กหญิง A, B, C ทำให้ลูกเราพลอยไม่อยากเล่นกับ เด็กหญิง A,B,C ไปด้วยเพราะคิดว่า เป็นพวกเดียวกับ เด็กหญิง ก.ข.ค.  ทั้งที่ เด็กหญิง A, B, C เขาก็ยังอยากเล่น และรักลูกเราเหมือนเดิม

  1. หลังจากไล่เลียงทั้งหมดแล้ว เราก็เรียกลูกเรามาคุย ปรับทัศนคติ เล่าให้ฟังว่า แม่ได้ดำเนินการอะไรไปบ้างเพื่อช่วยลูก ขอให้ลูกลองเปิดใจอีกครั้ง กลับไปโรงเรียน จะพบว่า เรื่องบางเรื่องที่เพื่อนเข้าใจลูกผิดไป (เช่นการใส่รองเท้าที่ต่างจากเพื่อน)  หม่ามี้อธิบายให้คุณครูและคุณแม่เขาฟังแล้ว  คิดว่าเขาเข้าใจ  หม่ามี้ไม่อยากให้ลูกซื้อใจเพื่อนด้วยเงิน  เรื่องการมีน้ำใจหม่ามี้สนับสนุน แต่อย่าให้เงินเขาหรือให้เขายืมเพียงเพราะกลัว หรือ ต้องการจะชนะใจ

ผลที่ได้รับ


ผ่านไปอาทิตย์กว่า  เมื่อวาน ลูกคนเล็กกลับมาคุยเจื้อยแจ้วเหมือนเดิมแล้ว  และบอกว่า มีเพื่อนดี ๆ มากมายที่โรงเรียน   อยากไปโรงเรียนเร็ว ๆ จะได้ไปซ้อม show ตอน Christmas กับเพื่อน  อ้อ … แล้วเพื่อนที่ยืมตังค์ไป คืนตังค์แล้วด้วยนะคะ  ยืมไป 4 คืนมา 6 ซึ่งเราก็บอกลูกว่า ให้เอาอีก 2 บาทไปคืนเพื่อน เพราะเราไม่ได้ทำธุรกิจเงินกู้จ้ะ

วิธีป้องกัน


  1. หมั่นคุยกับลูกบ่อยๆ และสังเกตลูกบ่อยๆ
  2. ติดต่อสื่อสารกับคุณครูและกลุ่มผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด
  3. แสดงตัวบ้างที่โรงเรียนเพื่อให้ลูกรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย
  4. ปลูกฝังทัศนคติให้ลูกยอมรับความแตกต่าง และไม่ด่วนตัดสินใครง่ายๆ

มาถึงท้ายต้องขอชื่นชมแนวคิด และวิธีการรับมือแก้ปัญหาของคุณแม่มากๆ ค่ะ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังเผชิญกับเรื่องลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน ลองนำวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ไปปรับใช้กันดูนะคะ เชื่อเสมอว่าจะผ่านไปได้ด้วยดี เด็กๆ อยากไปโรงเรียน และมีเพื่อนที่น่ารัก เรียนอย่างมีความสุขกันค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย






ขอบคุณที่มา   ::       เว็บไซต์  Amarin Baby&Kids 
เรียบเรียงโดยประภัสรา โคตะขุน  





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น