สบส.หวัง‘ลองสเตย์วีซ่า’ ดึง 3 หมื่นล้านเข้าไทย
น.พ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจสปริงนิวส์ทีวี" ว่า การเป็นศูนย์กลางสุขภาพและสุขภาวะ หรือ เมดิคัลแอนด์เวลเนสฮับ คือหนึ่งนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลพยายามจะผลักดัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีคณะกรรมการร่วมในการวางนโยบายการท่องเที่ยวและเมดิคัลฮับ เมดิคัลเซอร์วิส และเมดิคัลทัวริซึม เข้าด้วยกัน ที่ทำอย่างไรนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้จ่ายมากขึ้นและอยู่ในประเทศไทยนานขึ้น
จนออกมาเป็นมาตรการ "ขยายระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทย" สำหรับกลุ่มพำนักยาว หรือ ลองสเตย์วีซ่า (Long stay visa) ที่คณะรัฐมนตรีมีอนุมัติในหลักการแล้วเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่จะอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่อายุ 50 ปี ขึ้นไป ในกลุ่ม 14 ประเทศคือ เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอแลนด์ สวีเดน ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ อิตาลี เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่นสามารถพำนักหรืออยู่ในเป็นประเทศไทยได้นานขึ้น รวมระยะเวลา 10 ปี แทนที่เขาจะต้องเดินทางไปๆกลับๆทำให้เขาไม่สะดวก เพราะลองสเตย์วีซ่าแบบเดิมอยู่ได้เพียงปีเดียว
น.พ.ธงชัย บอกอีกว่า ลองคิดดูว่าถ้ามีลองสเตย์ มีคนมาอยู่ในบ้านเรา 1 หมื่นคน จะมีเงินในปีนั้น 3 หมื่นล้านบาท ที่ฝากทิ้งเอาไว้ แต่ใน 1 ปี เขาสามารถถอนได้ครึ่งหนึ่ง ก็จะมีเงินแช่อยู่ 1.5 ล้านบาท และการที่มีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 1 แสนบาท ก็จะมีการใช้จ่าย เงินก็หมุนเวียนไปในระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 3 หมื่นล้านบาท"
ส่วนสิทธิพิเศษสำหรับกลุ่มลองสเตย์วีซ่า รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า สิทธิที่ทำคิดขึ้นมามีการเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ที่เขาทำเรื่องนี้อยู่แล้ว เขาก็ให้ลองสเตย์วีซ่าอยู่ในประเทศได้ 10 ปี ต้องใช้เงินแบบนี้เช่นกันและยังให้ทำงานได้ด้วย แต่ของเราให้ทำงานได้เฉพาะงานจิตอาสา ไม่สามารถทำงานแบบมีรายได้หรือเป็นเงินเดือนได้ เพราะต้องเป็นเรื่องของพระราชบัญญัติแรงงานต่างด้าว ที่ต้องไปขออนุญาตตามกฎหมาย แต่ก็สามารถซื้อรถยนต์และคอนโดมิเนียมได้ และของเราที่ดีกว่าคือสามารถนำครอบครัวเข้ามาได้ด้วย
"คุณพ่อวางเงินไว้ 3 ล้านบาท มีเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท ทำประกันสุขภาพ ลูกที่จะพาเข้ามาไม่ต้องวางเงิน 3 ล้านบาทอีกแล้ว แต่ถ้านำภรรยาเข้ามาต้องวางเงิน 3 ล้านบาท มีรายได้ 1 แสนบาท และทำประกันสุขภาพเหมือนสามี เพราะเรายกเว้นแค่บุตรที่อายุต่ำกว่า 21 ปี ที่ไม่ต้องใช้เงื่อนไขนี้และอยู่กับครอบครัวได้"
เมื่อถามว่าประเมินไว้อย่างไรว่า 14 ประเทศนี้จะมีผู้เข้ามาใช้สิทธิ์ลองสเตย์วีซ่าแบบใหม่กี่คน น.พ.ธงชัย กล่าวว่า มีข้อมูลว่า 14 ประเทศนี้ เคยใช้ลองสเตย์วีซ่าแบบเก่าปีต่อปีประมาณ 1-3 หมื่นคน เป็นกลุ่มประเทศยุโรปเป็นส่วนใหญ่ และแนวโน้มมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งพื้นที่ที่เป็นที่นิยมของกลุ่มลองสเตย์วีซ่า จะเป็นที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดภูเก็ต และเมืองพัทยา
ส่วนขั้นตอนหลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการแล้วจะต้องทำอะไรต่อเพื่อให้มีผลบังคับใช้ น.พ.ธงชัย กล่าวว่า จากนี้จะมีการพูดคุยแต่ละกระทรวงเพื่อออกกฎหมายเอื้อ เช่น กระทรวงมหาดไทย ที่มีพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ ที่ต้องประชาสัมพันธ์ อย่างไรก็ตามคาดว่ามาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้ทันภายในปีนี้
เมื่อถามว่าในมิติความมั่นคงมีกลไกอะไรที่จะคัดกรองไม่ให้มีการแฝงตัวเข้ามาเพื่อสร้างปัญหาความมั่นคงในประเทศ น.พ.ธงชัย กล่าวว่า เราดูจากประเทศ 14 ประเทศ ดูแล้วว่าไม่มีปัญหาเรื่องของความมั่นคง เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และไม่มีปัญหาทางด้านความมั่นคงในประเทศ และเป็นประเทศที่เข้ามาใช้ลองสเตย์วีซ่าในประเทศไทยอยู่แล้ว
"นักท่องเที่ยว 14 ประเทศนี้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้เราอำนวยความสะดวกน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เขาจึงพร้อมที่จะมูฟไปประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นนี่เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเขาเพราะเขาอยากอยู่ในประเทศไทย เพราะเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี การต้อนรับ คนไทยมีจิตใจดีงามอยู่แล้ว เป็นมิตรกับทุกเชื้อชาติ ถ้าเราอำนวยความสะดวกกับเขา เขาก็จะสามารถอยู่ในบ้านเราอย่างมีความสุขและประเทศไทยเราพร้อมทุกอย่าง"
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
เรียบเรียงโดย :: ประภัสรา โคตะขุน ; http://prapasara.blogspot.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น