Non-Immigrant Visa รหัส “O-A” (Long Stay) เป็นการตรวจลงตราสำหรับคนต่างชาติซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปีบริบูรณ์ ซึ่งประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อพักผ่อน โดยจะได้รับอนุญาตให้พำนักในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในระหว่างที่พำนักในประเทศไทย
1. คุณสมบัติของผู้ที่สามารถขอรับการตรวจลงตรา
- คนต่างด้าวทุกสัญชาติ อายุ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (นับถึงวันยื่นคำร้อง)
- ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
- ไม่มีประวัติที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้งต่อประเทศไทย และประเทศที่ตนมีสัญชาติหรือประเทศที่ตนมีถิ่นพำนัก
- มีสัญชาติหรือมีถิ่นพำนักถาวรในประเทศที่ตนยื่นคำร้อง
- ไม่เป็นโรคต้องห้ามตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2535) ได้แก่ โรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้าง
โรคยาเสพติดให้โทษ โรคซิฟิลิส ระยะที่ 3
- ไม่อนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย
2. สถานที่ยื่นคำร้อง
คนต่างด้าวที่ประสงค์จะขอรับการตรวจลงตรา Non-Immigrant Visa รหัส “O-A” (Long Stay) สามารถยื่นคำร้องได้ที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยในประเทศที่คนต่างด้าวมีสัญชาติหรือในประเทศที่มีถิ่นพำนักเท่านั้น
. เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง
- หนังสือเดินทางที่มีอายุใช้ได้ไม่น้อยกว่า 18 เดือน
- แบบฟอร์มการขอรับการตรวจลงตรา พร้อมรูปถ่าย และแบบฟอร์มประวัติส่วนตัว จำนวน 3 ชุด (ขอรับแบบฟอร์มได้จากสถานทูตสถานกงสุล)
- หลักฐานด้านการเงิน ได้แก่ สำเนาบัญชีเงินฝาก (Bank Statement) จำนวนเทียบเป็นเงินไทยไม่น้อยกว่า 800,000 บาท
หรือหนังสือรับรองรายได้/เงินบำนาญ (ฉบับจริง) เดือนละไม่น้อยกว่า 65,000 บาท
หรือมีบัญชีเงินฝากและรายได้/เงินบำนาญ (ต่อเดือน X 12) รวมกันไม่น้อยกว่า 800,000 บาท (กรณีแสดงสำเนาบัญชีเงินฝาก ให้แสดงหนังสือรับรองจากธนาคารฉบับจริงด้วย)
(หมายเหตุ ในการแสดงหลักฐานด้านการเงินนั้น ผู้ร้องอาจแสดงหลักฐานบัญชีเงินฝากหรือการมีรายได้ในประเทศที่ตนมีสัญชาติหรือประเทศที่มีถิ่นพำนักก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นบัญชีเงินฝากในประเทศไทย)
- ใบรับรองการสอบประวัติอาชญากรรม (Criminal Record) จากประเทศที่ตนมีสัญชาติหรือจากประเทศที่ตนมีถิ่นพำนัก (ใบรับรองอายุไม่เกิน 3 เดือน)
- ใบรับรองแพทย์จากประเทศที่ยื่นคำร้องที่แสดงว่าไม่เป็นโรคต้องห้ามตามกฎกระทรวงฉบับที่ 14
พ.ศ. 2535 (ใบรับรองมีอายุไม่เกิน 3 เดือน)
- ในกรณีมีความประสงค์จะนำคู่สมรสเข้ามาพำนักในราชอาณาจักรด้วย แต่คู่สมรสไม่มีคุณสมบัติที่จะขอรับการตรวจลงตราประเภท “O-A” (Long Stay) ได้ ให้แสดงหลักฐานทะเบียนสมรส ทั้งนี้ คู่สมรสจะได้รับการพิจารณาให้ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส “O” พำนักได้ 3 เดือน
4. ค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา
Non-Immigrant Visa รหัส “O-A” (Long Stay) อายุวีซ่า 1 ปี ชนิดใช้ได้หลายครั้ง (multiple entries) ค่าธรรมเนียม 5,000 บาท
คำแนะนำสำหรับผู้ที่ได้รับการตรวจลงตรา Non-Immigrant Visa รหัส “O-A” (Long Stay)
- เมื่อคนต่างด้าวที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส “O-A” (Long Stay) เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะประทับอนุญาตให้อยู่ได้ไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่เดินทางเข้า
- เมื่อเดินทางเข้ามาพำนักในราชอาณาจักรครบ 90 วัน จะต้องรายงานตนต่อเจ้าหน้าที่ และครั้งต่อไปต้องรายงานตนทุกๆ 90 วัน ซึ่งสามารถรายงานตนต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ณ ท้องที่ที่ตนพักอาศัย หรือกรณีที่ไม่มีด่านตรวจคนเข้าเมือง ให้รายงานที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่ตนพักอาศัย
การรายงานตนสามารถรายงานโดยส่งทางไปรษณีย์ได้ โดยปฏิบัติดังนี้ (1) ส่งแบบฟอร์มการแจ้งที่กำหนด (แบบ ตม. 47) พร้อมด้วยสำเนาหนังสือเดินทางหน้าที่มีรูปถ่ายและรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลต่างด้าว และหน้าที่ปรากฏการตรวจลงตราประทับขาเข้าครั้งล่าสุด (2) หากเป็นการแจ้งครั้งที่ 2 ขึ้นไป ให้แนบใบตอบรับการแจ้งครั้งก่อนมาแสดงด้วย (3) สอดซองเปล่าติดแสตมป์จ่าหน้าซองถึงบุคคลต่างด้าวผู้แจ้ง (4) ส่งเอกสารทั้งหมดมาทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ภายใน 7 วันล่วงหน้าก่อนครบกำหนดทุก 90 วัน มายังงาน กก. 1 งานตรวจคนเข้าเมือง 120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 7 หลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 ทั้งนี้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะส่งใบตอบรับการแจ้งให้แก่คนต่างด้าวผู้แจ้งไว้ใช้อ้างอิงในครั้งต่อไปด้วย
- เมื่อพำนักในราชอาณาจักรครบ 1 ปี หากประสงค์จะพำนักอยู่ต่อไป ให้ยื่นคำขออยู่ต่อที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยแสดงหลักฐานการโอนเงินหรือการมีเงินฝากในราชอาณาจักร จำนวนไม่น้อยกว่า 800,000 บาท หรือหนังสือรับรองรายได้หรือบำนาญเดือนละไม่น้อยกว่า 65,000 บาท อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกันปีละไม่น้อยกว่า 800,000 บาท หากมีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้อง จะได้รับอนุญาตให้อยู่ต่ออีกคราวละ 1 ปี
http://www.consular.go.th/main/th/services/1286
เรียบเรียงโดย :: ประภัสรา โคตะขุน ; http://prapasara.blogspot.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น