เวย์โปรตีนกับคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ
เวย์โปรตีน คือ โปรตีนหลักชนิดหนึ่งซึ่งเป็นส่วนประกอบอยู่ในน้ำนม โดยปกติในน้ำนมต่าง ๆ นั้นประกอบด้วยโปรตีน 2 ชนิดหลัก คือ เวย์โปรตีน (Whey Protein) และเคซีนโปรตีน (Casein Protein) เช่น ในน้ำนมแม่จะมีสัดส่วนของเวย์โปรตีนต่อเคซีนโปรตีนเป็น 80:20 ในขณะที่นมวัวทั่วไปจะมีสัดส่วนเวย์โปรตีนต่อเคซีนโปรตีน 20:80
เวย์โปรตีนนั้นอุดมด้วยกรดอะมิโนจำเป็นสูง นอกจากน้ำนมแล้ว อาหารที่อาจมีเวย์โปรตีนเป็นส่วนประกอบยังได้แก่ ไอศกรีม ขนมปัง นมสูตรโปรตีนเวย์ที่ผ่านการย่อยบางส่วน และอาหารอื่น ๆ ซึ่งแต่ละอย่างอาจผ่านกระบวนการปรุงที่หลากหลาย ทำให้มีระดับโปรตีน น้ำตาล แร่ธาตุ และไขมันที่แตกต่างกันออกไป
นอกจากนี้ เวย์โปรตีนยังเป็นโปรตีนที่ร่างกายย่อยได้ง่าย และมักนำมาใช้ในรูปแบบอาหารเสริมโปรตีนเพราะเชื่อกันว่า จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและเบาหวาน รวมทั้งการสูญเสียมวลกระดูก และอีกสารพัดประโยชน์ด้านสุขภาพ
ประโยชน์เหล่านี้ของเวย์โปรตีนจะน่าเชื่อถือได้เพียงใด ฐานข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการแพทย์ทางธรรมชาติ (Natural Medicines Comprehensive Database) แบ่งระดับความน่าเชื่อถือของการใช้การรักษาทางเลือกจากธรรมชาติเป็น 7 ระดับ ได้แก่ ได้ผล (Effective) น่าจะได้ผล (Likely Effective) อาจได้ผล (Possibly Effective) อาจไม่ได้ผล (Possibly Ineffective) น่าจะไม่ได้ผล (Likely Ineffective) ไม่ได้ผล (Ineffective) และยังมีหลักฐานไม่เพียงพอต่อการบ่งบอกประสิทธิภาพ (Insufficient Evidence to Rate) โดยระบุประสิทธิภาพของเวย์โปรตีนต่อการรักษาโรคต่าง ๆ ตามหลักฐานการศึกษาวิจัยที่พบในปัจจุบันไว้ดังต่อไปนี้
การรักษาที่อาจได้ผล
ป้องกันการเกิดผื่นผิวหนัง ลักษณะผื่นผิวหนังที่ก่อให้เกิดอาการแดงหรือคันในทารกอาจป้องกันได้ด้วยการใช้ประโยชน์จากเวย์โปรตีน มีการศึกษาหนึ่งทดลองกับทารกจำนวน 216 คน ที่มีความเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ผิวหนังจากอาหารสูง โดยแบ่งกลุ่มให้รับนมสูตรเวย์โปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วน (Partial Whey Hydrolysate Formula) นมวัวธรรมดา หรือนมถั่วเหลืองแทนนมแม่จนอายุ 6 เดือน ผลพบว่าภาวะผื่นผิวหนังมีความรุนแรงน้อยลงในกลุ่มรับประทานนมโปรตีนเวย์ที่ผ่านการย่อยบางส่วน เมื่อเทียบกับทารกอีก 2 กลุ่ม จึงคาดว่าการรับประทานเวย์โปรตีนนั้นมีความเชื่อมโยงกับอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้และอาการแพ้อาหารในเด็กที่ลดลง
ป้องกันโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังจากอาหาร ซึ่งเป็นโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะผื่นผิวหนังข้างต้น เพราะอาจทำให้เด็กมีอาการแพ้จนเกิดผื่นบนผิวหนังขึ้น นอกจากงานวิจัยที่ชี้ว่าการรับประทานนมสูตรเวย์โปรตีนในทารกอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ยังมีข้อสรุปจากการทบทวนและวิเคราะห์งานวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิภาพของนมวัวและนมสูตรเวย์โปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วนต่อทารกที่เสี่ยงมีอาการแพ้อย่างเป็นระบบ กล่าวว่าทารกกลุ่มที่ได้รับนมสูตรเวย์โปรตีนมีอัตราการเกิดโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ในช่วงอายุก่อน 3 ปีลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
เช่นเดียวกับการศึกษาถึงประสิทธิภาพของการใช้นมสูตรเวย์โปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วนกับทารกที่มีความเสี่ยงต่ออาการแพ้สูง จำนวน 58 รายในช่วง 6 เดือนแรกจนถึงอายุ 12 เดือน ผลปรากฏว่าอาการผิวหนังแดงหรือคันลดน้อยลงในกลุ่มที่รับประทานเวย์โปรตีนอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังมีอัตราการแพ้โปรตีนนมวัวลดลง ทว่าแม้การรับประทานนมเวย์โปรตีนจะลดความเสี่ยงการเกิดโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ แต่อาจไม่ได้ช่วยรักษาเมื่ออาการของโรคพัฒนาขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ตาม วิธีป้องกันโรคภูมิแพ้ผิวหนังจากอาหารในเด็กที่ดีที่สุดก็คือการให้รับประทานนมแม่ โดยมีคำแนะนำว่าเด็กแรกเกิดควรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวเพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อโรคนี้ เพราะนอกจากในปัจจุบันจะยังไม่สามารถรับรองได้ว่าเวย์โปรตีนช่วยป้องกันอาการแพ้ได้จริง การให้ทารกรับประทานเวย์โปรตีนอาจเสี่ยงทำให้เกิดโรคผื่นผิวหนังในเด็กเสียเอง นมสูตรเวย์โปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วนจึงควรนำมาใช้เป็นทางเลือกในการลดความเสี่ยงกรณีที่ไม่สามารถรับประทานนมแม่ได้เท่านั้น
เสริมคุณค่าทางสารอาหาร มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์แนะนำว่าการให้ผู้สูงอายุหรือหญิงที่ออกกำลังกายเสร็จใหม่ ๆ รับประทานเวย์โปรตีน เพราะเชื่อว่า เวย์โปรตีนอาจมีประโยชน์ต่อการบำรุงรักษามวลกระดูกและกล้ามเนื้อ นอกจากนั้น มีการวิจัยพบว่าเวย์โปรตีนช่วยเพิ่มระดับกรดอะมิโนจำเป็นในเลือดและสร้างโปรตีนที่ช่วยในการทำงานของกล้ามเนื้อ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังคาดว่าเวย์โปรตีนเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีเยี่ยม และหากมีการศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของเวย์โปรตีนในด้านนี้เพิ่มเติมต่อไปก็อาจช่วยยืนยันได้อย่างแน่ชัดยิ่งขึ้น
เพิ่มน้ำหนักตัวในผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์ เนื่องจากเป็นแหล่งอุดมด้วยโปรตีนที่ดี จึงเชื่อว่าโปรตีนเวย์จะช่วยเสริมโภชนาการให้แก่ผู้ป่วยโรคนี้ที่มักมีปัญหาน้ำหนักตัวลดลง การทดลองหนึ่งพบว่าการรับประทานเวย์โปรตีนโดยเน้นให้เป็นส่วนสำคัญของโปรตีนที่ร่างกายได้รับทั้งหมด ด้วยการผสมผงโปรตีนเวย์ลงในเครื่องดื่มของผู้ป่วยในปริมาณ 8.4 กรัมต่อวัน และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง 39.2 กรัมต่อวัน ให้แก่ผู้ป่วยโรคเอดส์ จำนวน 3 คนที่รับประทานอาหารซึ่งมีแคลอรีพอประมาณและมีน้ำหนักตัวคงที่อยู่แล้ว มีส่วนช่วยเพิ่มน้ำหนักตัวและเพิ่มระดับสารกลูต้าไธโอนของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันให้เป็นปกติ ทว่างานวิจัยดังกล่าวยังในวงแคบเกินกว่าที่จะยืนยันผลการศึกษาได้อย่างชัดเจน แต่ก็นับเป็นแนวทางที่ดีต่อการศึกษาในวงกว้างกว่านี้ต่อไปในอนาคต
ผิวหนังแดง ตกสะเก็ด จากโรคสะเก็ดเงิน งานวิจัยหนึ่งที่มีผู้เข้าร่วมเป็นผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน(https://www.pobpad.com/โรคสะเก็ดเงิน)จำนวน 7 คน และจากการให้ผู้เข้าร่วมทั้งหมดรับประทานเวย์โปรตีนชนิดเข้มข้น (Whey Protein Isolate) ที่ไม่ถูกแปรสภาพในปริมาณ 20 กรัมทุก ๆ วัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ เพิ่มเติมจากการรักษาโรควิธีปกติ พบว่าผู้ป่วยต่างมีอาการดีขึ้น ไม่ว่าผู้ป่วยรายนั้น ๆ จะเคยได้รับการรักษาใด ๆ มาก่อนหรือไม่ก็ตาม แต่หลักฐานดังกล่าวยังไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ คาดว่าหากในอนาคตมีการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพด้านนี้ของเวย์โปรตีนโดยไม่ใช้การรักษามาตรฐานเข้าช่วยอาจช่วยยืนยันผลลัพธ์ได้แน่ชัดกว่านี้
การรักษาที่อาจไม่ได้ผล
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง คุณประโยชน์ในการช่วยรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่กล่าวกันนั้นอาจไม่มีประสิทธิภาพใช้ได้จริง จากการศึกษาที่ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารเสริมเวย์โปรตีนทุกวัน เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ผลลัพธ์พบว่าเวย์โปรตีนอาจช่วยให้อาการหายใจหอบดีขึ้น แต่ไม่ได้ส่งผลดีต่อการทำงานของปอด ส่วนงานวิจัยอีกงานหนึ่งก็สรุปผลไปในทิศทางเดียวกันว่าการรับประทานเวย์โปรตีนไม่ได้ส่งผลต่อการทำงานของปอด การทำงานของกล้ามเนื้อ หรือสมรรถภาพในการออกกำลังกายของผู้ป่วยโรคนี้แต่อย่างใด
นอกจากนี้ ในการทดลองเปรียบเทียบว่าระหว่างโปรตีนเวย์และโปรตีนเคซีนเกี่ยวกับประสิทธิภาพต่อการเผาผลาญโปรตีนขณะออกกำลังกายของผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้อรัง ยังพบว่าเคซีนโปรตีนให้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์มากกว่าเวย์โปรตีน
โรคกระดูกพรุน ผลการวิจัยหนึ่งทดลองประสิทธิภาพของอาหารเสริมเวย์โปรตีนในหญิงอายุ 70-80 ปีที่มีสุขภาพแข็งแรงจำนวน 219 คน เป็นเวลานาน 2 ปี กลุ่มหนึ่งรับประทานเครื่องดื่มโปรตีนสูงที่มีส่วนผสมของเวย์โปรตีน 30 กรัม กับอีกกลุ่มที่รับประทานยาหลอกที่มีส่วนผสมของโปรตีน 2.1 กรัม ปรากฏว่าหญิงกลุ่มที่รับประทานเวย์โปรตีนมีสารกระตุ้นการเจริญเติบโตที่มีโครงสร้างคล้ายอินซูลินเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับไม่พบว่ามีผลดีหรือผลเสียต่อมวลกระดูกและความแข็งแรงของกระดูกแต่อย่างใด
การลดน้ำหนัก งานวิจัยส่วนใหญ่แนะนำว่าการรับประทานเวย์โปรตีนเพียงอย่างเดียว รับประทานควบคู่ไปกับอาหารอื่น ๆ หรือมีการออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย อาจไม่มีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือมีภาวะอ้วน และจากการให้วัยรุ่นที่มีน้ำหนักเกินดื่มเครื่องดื่มจากเวย์โปรตีนเป็นเวลานาน 12 สัปดาห์ก็ดูเหมือนว่าเวย์โปรตีนจะส่งผลให้มีน้ำหนักและดัชนีมวลกายเพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่สนับสนุนคุณประโยชน์ด้านการลดน้ำหนักของเวย์โปรตีนนั้นมีอยู่ แต่ไม่หนักแน่นเพียงพอ การศึกษาหนึ่งทดลองกับผู้ที่สุขภาพดีแต่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินจำนวน 90 คน โดยแบ่งกลุ่มให้รับประทานอาหารเสริมโปรตีนเวย์ นมถั่วเหลือง และคาร์โบไฮเดรต เมื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ ปรากฏว่ากลุ่มที่บริโภคเวย์โปรตีนมีน้ำหนักตัวและมวลไขมันต่ำกว่ากลุ่มที่บริโภคคาร์โบไฮเดรต รวมถึงรอบเอวและระดับฮอร์โมนความอยากอาหารที่ลดลงกว่าอีก 2 กลุ่ม ทว่างานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากผู้ผลิตในอุตสาหกรรมนม จึงไม่อาจมั่นใจได้ว่าผลการศึกษาว่าจะเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่พบหรือมีเจตนาเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือไม่
การรักษาที่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอต่อการระบุประสิทธิภาพ
สมรรถภาพของร่างกายทางกีฬา นับเป็นสรรพคุณของเวย์โปรตีนที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย โดยงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าการรับประทานเวย์โปรตีนควบคู่ไปกับการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงและขนาดของกล้ามเนื้อ เช่น การทดลองหนึ่งที่เปรียบเทียบประสิทธิภาพของอาหารเสริมเวย์โปรตีนกับเคซีนโปรตีนต่อการเพิ่มกล้ามเนื้อและองค์ประกอบของร่างกายในผู้ทดลองเป็นเพศชายจำนวน 13 คน ที่แบ่งกลุ่มให้รับประทานเวย์โปรตีนชนิดเข้มข้น (Whey Protein Isolate) หรือเคซีนโปรตีนวันละ 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม นาน 10 สัปดาห์ ผลลัพธ์ปรากฏว่าเมื่อเทียบกันแล้วกลุ่มที่รับประทานเวย์โปรตีนมีกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นและมวลไขมันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทว่างานวิจัยอื่น ๆ ที่ชี้ว่าการใช้เวย์โปรตีนไม่ได้ส่งผลต่อความแข็งแรงหรือมวลของกล้ามเนื้อก็มีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ที่พอจะยืนยันได้ชัดเจนที่สุดนั้นดูเหมือนจะเป็นประโยชน์ของเวย์โปรตีนต่อการฟื้นฟูร่างกายหลังจากการออกกำลังกายที่ให้ผลดีกว่าการรับประทานอาหารเสริมคาร์โบไฮเดรตในนักกีฬาที่ไม่ได้มีการฝึกฝน
เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ จากการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ทางด้านนี้ การรับประทานเวย์โปรตีนหลังการออกกำลังกายอาจเป็นประโยชน์ต่อทั้งชายและหญิงในด้านการเพิ่มการเผาผลาญโปรตีนและระดับของกรดอะมิโนจำเป็นในเลือด โดยมีการทดลองระยะสั้นบางงานแนะว่าเวย์โปรตีนอาจช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ผลการวิจัยที่โต้แย้งเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเวย์โปรตีนต่อองค์ประกอบของร่างกายที่อาจไม่ได้ผลเองก็มีเช่นกัน การสรุปด้านนี้คงต้องรอให้มีการศึกษาในระยะยาวที่จะช่วยยืนยันได้อย่างแน่ชัดยิ่งขึ้นกันต่อไป
โรคหืด คุณประโยชน์ของเวย์โปรตีนในด้านนี้ มีการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ทดลองกับเด็กอายุประมาณ 9-16 ปี จำนวน 11 คน พบว่าการรับประทานเวย์โปรตีนเสริมช่วยลดการหลั่งของสารไซโตไคน์ (Cytokine) ซึ่งเป็นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของเด็กที่ป่วยเป็นโรคหืดจากภูมิแพ้ลงได้ปานกลาง อย่างไรก็ดี หลักฐานต่าง ๆ ที่มียังเป็นที่โต้แย้งและหาข้อสรุปไม่ได้ชัดเจน โดยมีงานวิจัยเมื่อนานมาแล้วชิ้นหนึ่งกล่าวถึงผลลัพธ์ในทางตรงข้ามหลังจากพบว่าการรับประทานเวย์โปรตีนบางชนิดทุกวันติดต่อกัน 30 วัน ไม่ได้ส่งผลดีต่อการทำงานของปอดในเด็กที่ป่วยเป็นโรคหืดแต่อย่างใด
โรคหืดจากการออกกำลังกาย ด้านโรคหืดที่มีสาเหตุมาจากการออกกำลังกายนั้นได้มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการรักษาด้วยโปรตีนเวย์ออกมาให้เห็นบ้างเช่นกัน โดยงานวิจัยหนึ่งเผยว่าการให้ผู้ป่วยโรคหืดที่มีสาเหตุจากการออกกำลังกายรับประทานเวย์โปรตีนทุกวันอย่างต่อเนื่องนาน 10 วัน เป็นผลดีต่อการทำงานของปอดของผู้ป่วย ทั้งนี้ เวย์ประตีนจะมีประสิทธิภาพรักษาหรือบรรเทาอาการโรคหืดได้มากน้อยเพียงใดนั้นยังคงต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปที่อาจช่วยให้ระบุได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
มะเร็ง การศึกษาบางงานกล่าวว่าเวย์โปรตีนอาจส่งผลให้ขนาดเนื้องอกของผู้ป่วยโรคมะเร็งในระยะที่มะเร็งแพร่กระจายแล้วลดลงได้ โดยงานวิจัยหนึ่งที่มีผลสนับสนุนคุณประโยชน์ของเวย์โปรตีนในด้านนี้ ชี้ว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งที่รับประทานเวย์โปรตีนวันละ 30 กรัมติดต่อกันนาน 6 เดือน มีเซลล์เนื้องอกกลูตาไธโอนลดน้อยลงและช่วยให้เนื้องอกถูกกำจัดได้ง่ายขึ้นเมื่อทำเคมีบำบัด ซึ่งคาดการณ์ว่าในเซลล์เนื้องอกส่วนใหญ่ที่มีความเข้มข้นของกลูตาไธโอนสูงนั้นอาจเป็นปัจจัยสำคัญให้เซลล์มะเร็งมีความต้านทานต่อยาฆ่ามะเร็ง หากเวย์โปรตีนมีคุณสมบัติลดกลูตาไธโอนได้จริงจึงอาจมีประโยชน์ในการใช้รักษาโรคมะเร็ง แต่ก็เช่นเดียวกับคุณสมบัติข้ออื่น ๆ ของเวย์โปรตีนที่ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมและปัจจุบันยังไม่อาจนำมาใช้จริง
โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อปอด ระบบย่อยอาหาร และอวัยวะอื่น ๆ จากเสมหะเหนียวข้นที่อุดตันในปอด ตับอ่อน และท่อในส่วนต่าง ๆ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่าการรับประทานเวย์โปรตีนทุกวันนาน 28 วัน มีประโยชน์ต่อการทำงานของปอดในเด็กที่ป่วยด้วยโรคนี้ ทว่าผลการศึกษาในผู้ใหญ่กลับไม่พบว่าทำให้เกิดผลดีแต่อย่างใด
โรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (NASH) จากการทดลองหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยโรคนี้จำนวน 38 คนรับประทานเวย์โปรตีนเข้มข้น วันละ 20 กรัม เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ผลลัพธ์ชี้ว่าผู้ป่วยมีการทำงานของตับที่ดีขึ้น โดยมีปริมาณกลูตาไธโอนในพลาสมาและความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น รวมถึงไขมันพอกตับที่ลดน้อยลง ซึ่งนับว่าน่าสนใจและอาจเป็นแนวทางไปสู่การศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อยืนยันประโยชน์ด้านนี้ของเวย์โปรตีน
ไวรัสตับอักเสบ เป็นอีกโรคที่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอจะระบุว่าเวย์โปรตีนมีประสิทธิภาพในการช่วยรักษาหรือไม่ แต่ก็มีงานวิจัยที่ระบุถึงผลลัพธ์ในการใช้เวย์โปรตีนกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง จากการทดลองกับผู้ป่วยจำนวน 25 คน ที่กลุ่มหนึ่งรับประทานเวย์โปรตีนชนิดเข้มข้น (Whey Protein Isolate) และทำให้บริสุทธิ์โดยไม่ใช้ความร้อน ครั้งละ 12 กรัม วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ส่วนอีกกลุ่มรับประทานแบบเดียวกันแต่เปลี่ยนจากเวย์โปรตีนเป็นเคซีนโปรตีน ปรากฏว่าการได้รับเวย์โปรตีนส่งผลให้การทำงานของตับในผู้ป่วยโรไวรัสตับอักเสบบีดีขึ้น แต่ในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีนั้นไม่พบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ
โรคติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ โรคที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีสารไตรเปปไทด์ กลูตาไธโอน (Tripeptide Glutathione) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดสำคัญในร่างกายไม่เพียงพอ สาเหตุที่เชื่อว่าเวย์โปรตีนอาจส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคนี้ มีที่มาจากการศึกษาหนึ่งที่กล่าวว่าเวย์โปรตีนจะช่วยเพิ่มระดับกลูตาไธโอนในพลาสมาแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เริ่มแสดงการพัฒนาของโรคอย่างต่อเนื่อง เมื่อรับประทาน 45 กรัมต่อวัน นาน 2 สัปดาห์ ทว่าในอีกงานวิจัยที่ให้ผู้ป่วยบริโภคเวย์โปรตีนนาน 4 เดือน กลับไม่พบว่าเวย์โปรตีนส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีงานวิจัยขนาดใหญ่และเชื่อถือได้มากกว่านี้ในอนาคต
คอเรสเตอรอลสูง การทดลองในอาสาสมัครทั้งหมด 70 คนที่มีน้ำหนักมากเกินหรือมีภาวะอ้วน โดยแบ่งกลุ่มรับประทานเวย์โปรตีน เคซีนโปรตีน หรือกลูโคสเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ปรากฏว่า กลุ่มที่รับประทานเวย์โปรตีนมีระดับอินซูลินและไขมันในเลือดที่ดีขึ้น ทั้งนี้ผลการศึกษาที่เป็นไปในทางตรงกันข้ามก็ปรากฏให้เห็นเช่นกัน โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งกล่าวว่าการรับประทานเวย์โปรตีนร่วมกับการออกกำลังกายแบบแรงต้าน ไม่ได้มีประโยชน์ในการช่วยให้ระดับคอเลสเตอรอลหรือไขมันในร่างกายของผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินลดลง
เบาหวาน ปัจจุบันมีโปรตีนหลากหลายชนิดที่ถูกนำมาทดสอบเรื่องประสิทธิภาพในการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน ไม่เว้นแม้แต่โปรตีนเวย์ที่ผลการวิจัยบางงานพบว่าสามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ทั้งในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 หรือแม้กระทั่งในผู้ที่มีสุขภาพดีเองก็ตาม ซึ่งคุณประโยชน์ของเวย์โปรตีนด้านนี้จะได้ผลจริงเท็จอย่างใด จำเป็นต้องมีการศึกษาที่น่าพึงพอใจมากกว่าในปัจจุบันจึงอาจพอจะระบุได้
ความดันโลหิตสูง มีการกล่าวถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เวย์โปรตีนรักษาภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นการทดลองหนึ่งที่พบว่าการผสมเวย์โปรตีนลงในเครื่องดื่มเพื่อรับประทานเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ไม่ได้มีส่วนช่วยให้ระดับความดันโลหิตของผู้ป่วยภาวะนี้ลดลง อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งกลับพบว่าการรับประทานนมเวย์โปรตีนทุกวันนาน 6 สัปดาห์ สามารถลดระดับความดันโลหิตให้ต่ำลงได้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่กล่าวว่าการรับประทานเวย์โปรตีนเป็นเวลา 12 สัปดาห์ อาจช่วยปรับระดับความดันโลหิต และส่งผลให้หลอดเลือดทำงานได้ดีกว่าเดิมในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินหรือมีภาวะอ้วน การรักษาภาวะความดันโลหิตสูงจึงเป็นอีกหนึ่งประโยชน์ของเวย์โปรตีนที่ยังเป็นปริศนาและหาข้อสรุปไม่ได้
การติดเชื้อที่เกิดขึ้นขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาล เว็บเอ็มดี (Web MD) กล่าวถึงการศึกษาชิ้นหนึ่งที่แนะนำว่าการรับประทานอาหารเสริมเวย์โปรตีนบางชนิดทุก ๆ วันติดต่อกันนาน 28 วัน ให้ผลดีต่อการรักษาอาการติดเชื้อขณะพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเทียบเท่ากับการใช้ยาที่ประกอบด้วยสังกะสี (Zinc) ซีลีเนียม (Selenium) กลูตามีน (Glutamine) และเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) แต่เป็นงานวิจัยเมื่อนานมาแล้ว และยังไม่มีการศึกษาใหม่ ๆ สนับสนุนคุณประโยชน์ข้อนี้ได้เพียงพอ
โรคทางพันธุกรรมที่ส่งผลให้เกิดปัญหาทางจิตหรือพัฒนาการ สำหรับคุณประโยชน์ของเวย์โปรตีนในด้านนี้ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์งานหนึ่งเผยว่าการรับประทานอาหารเสริมเวย์โปรตีนเป็นประจำทุกวันอย่างต่อเนื่องนาน 1 เดือน ไม่ได้ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคนี้มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นหรือช่วยให้อาการดีกว่าเดิมแต่ประการใด
โรคถุงน้ำรังไข่ (ซีสต์) มีการกล่าวถึงงานวิจัยเมื่อนานมาแล้วที่แนะนำว่าการรับประทานอาหารเสริมที่ประกอบด้วยเวย์โปรตีนทุกวัน นาน 2 เดือนอาจช่วยลดน้ำหนักและมวลไขมัน รวมถึงระดับคอเลสเตอรอลในผู้ป่วยโรคถุงน้ำรังไข่ ทว่างานวิจัยเดียวกันพบว่าเวย์โปรตีนนั้นไม่อาจช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีขึ้น และดูเหมือนจะยิ่งส่งเสริมให้ระดับไขมันชนิดดีในเลือดลดน้อยลงด้วย คุณสมบัติของเวย์โปรตีนกับการรักษาโรคนี้จึงยังคลุมเครืออยู่มาก
อาการเจ็บและเมื่อยที่เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ (โรคกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนเหตุอักเสบเรื้อรัง) ผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องเผยว่าการรับประทานเวย์โปรตีนวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ไม่ส่งผลใด ๆ ต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ ความเร็วในการเดิน หรือการทำแบบทดสอบการเคลื่อนไหวชนิดอื่น ๆ ในผู้ป่วยที่กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนเกิดการอักเสบเรื้อรัง ทว่าผลการศึกษาที่เป็นไปในทางที่ดีนั้นมีให้เห็นบ้างเช่นกัน โดยพบว่าการรับประทานเวย์โปรตีนควบคู่ไปกับการออกกำลังกายเบา ๆ อาจมีประสิทธิภาพในการรักษาหรือบรรเทาอาการอักเสบของกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุ ช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อและส่งผลให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ของการใช้เวย์โปรตีนกับภาวะนี้จะเป็นไปในทางที่ให้ประโยชน์หรือไม่เกิดประโยชน์ยังไม่อาจยืนยันได้ จึงไม่มีการแนะนำให้ใช้เป็นมาตรฐานการรักษาในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากโรคต่าง ๆ ข้างต้น ยังมีการกล่าวถึงคุณประโยชน์ของเวย์โปรตีนในด้านอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งต่างไม่สามารถระบุถึงประสิทธิภาพที่แท้จริงได้ เพราะในปัจจุบันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมที่จะช่วยยืนยันได้อย่างชัดเจนต่อไปในอนาคต ผู้ใช้จึงไม่ควรปักใจเชื่อและก่อนตัดสินใจใช้ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลจากเวย์โปรตีนที่อาจกระทบต่อโรคหรือภาวะที่เป็นอยู่ด้วย
ความปลอดภัยในการบริโภคเวย์โปรตีน
การรับประทานเวย์โปรตีนนั้นน่าจะปลอดภัยต่อเด็กและผู้ใหญ่โดยทั่วไป หากรับประทานอย่างเหมาะสม โดยกรณีที่ควรต้องระมัดระวัง มีดังนี้
- การได้รับเวย์โปรตีนในปริมาณสูงอาจเป็นเหตุให้เกิดผลข้างเคียงตามมา เช่น กระหายน้ำ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หัวใจเต้นผิดปกติ ระดับคอเลสเตอรอลไม่คงที่ เกิดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โรคกระดูกพรุน กระดูกหักมากขึ้น ไตวาย ตับเสียหาย รวมถึงอาการเกี่ยวกับกระเพาะหรือลำไส้ เช่น คลื่นไส้ ท้องอืด ท้องผูก ปวดบีบที่ท้อง ท้องเสีย มีแก๊สในกระเพาะ กรดไหลย้อน ลำไส้มีการเคลื่อนตัวมากขึ้น อยากอาหารน้อยลง ปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว แขนขาบวม
- หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรที่ยังไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้เพียงพอต่อการรับรองว่าจะสามารถบริโภคเวย์โปรตีนได้อย่างปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการใช้จะดีที่สุด
- ผู้ที่มีอาการแพ้นมวัวไม่ควรรับประทานเวย์โปรตีน
- เวย์โปรตีนอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ รวมทั้งผู้ที่กำลังรับประทานยา สมุนไพร วิตามินหรืออาหารเสริมใด ๆ ที่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดควรระมัดระวังในการใช้เวย์โปรตีน และอาจจำเป็นต้องคอยตรวจวัดระดับน้ำตาลโดยแพทย์หรือมีการปรับการใช้ยาบางชนิด
- เวย์โปรตีนอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออก ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการมีเลือดออกผิดปกติหรือรับประทานยาที่ทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดออกควรระมัดระวัง โดยแพทย์อาจจำเป็นต้องปรับปริมาณการใช้ยาของผู้ป่วย
- ปฏิกิริยาต่อยาชนิดอื่น
- เวย์โปรตีนอาจทำปฏิกิริยากับยาบางชนิดทำให้ร่างกายดูดซึมยาไปใช้ได้น้อยลง ส่งผลให้ยามีประสิทธิภาพไม่เต็มที่ ไม่ควรรับประทานเวย์โปรตีนร่วมกับยาเลโวโดปา และอัลเบนดาโซล และไม่ควรรับประทานเวย์โปรตีนหลังจากใช้ยาอะเลนโดเนท ภายใน 2 ชั่วโมง
- ยาปฏิชีวนะกลุ่มควิโนโลน สามารถเกิดปฏิกิริยากับเวย์โปรตีนและทำให้ร่างกายดูดซึมยาไปใช้ได้น้อยลงเช่นกัน หลังรับประทานยากลุ่มนี้ควรรอให้ผ่านไปอย่างน้อย 1 ชั่วโมงจึงจะรับประทานเวย์โปรตีนตามได้
- ยาปฏิชีวนะกลุ่มเตตราไซคลีน เนื่องจากในเวย์โปรตีนประกอบด้วยแคลเซียมที่สามารถยึดติดกับยากลุ่มนี้และลดการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกาย ควรรับประทานเวย์โปรตีน 2 ชั่วโมงก่อนรับประทานยาหรือหลังรับประทานยาแล้ว 4 ชั่วโมง
ปริมาณที่ปลอดภัยต่อการใช้
ปริมาณการรับประทานเวย์โปรตีนที่เหมาะสมและปลอดภัยกับโรคแต่ละชนิด มีดังนี้
- ใช้เพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกาย รับประทานวันละ 1.2-1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ควบคู่กับการออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อเป็นเวลา 6-10 สัปดาห์
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวลดลงจากการติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ รับประทานเวย์โปรตีนวันละ 8.4-84 กรัมต่อวัน หากเป็นสูตรแคลอรี่สูง (High-Calorie Formula) รับประทาน 2.4 กรัมต่อวัน หรือ 42-84 กรัมต่อวัน ในกรณีที่เป็นสูตรกลูตามีนสูง (Glutamine-Enriched Formula)
- การใช้เพื่อเสริมความหนาแน่นของมวลกระดูก หากเป็นนมที่มีโปรตีนนมในสัดส่วนพื้นฐานให้รับประทานวันละ 30-40 มิลลิกรัม นาน 6-8 เดือน นมที่มีโปรตีนเวย์เป็นส่วนหลัก รับประทานวันละ 30-60 มิลลิกรัม ทุกวันนาน 6 เดือน หรือรับประทานนมขาดมันเนย 250 มิลลิลิตรที่ประกอบด้วยเวย์โปรตีน 30 กรัม ทุกวัน เป็นเวลานาน 2 ปี
- สำหรับสรรพคุณด้านโรคปอด ควรรับประทานเวย์โปรตีน 12 กรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์
- ผู้ป่วยโรคมะเร็ง รับประทานเวย์โปรตีนวันละ 30 กรัม นาน 6 เดือน
ที่มา :: pobpad.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น