ศูนย์ LifeVantage

ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ LifeVantage : Protandim Nrf1 / Nrf2 / ProBio / TrueScience / TrueRenew ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ โทร ☎️ :: 084-110-5021 📍 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line ค่ะ

22 กันยายน 2561

จอประสาทตาเสื่อม อาการ สาเหตุ การรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม 12 วิธี !

จอประสาทตาเสื่อม อาการ สาเหตุ การรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม 12 วิธี !


จอประสาทตาเสื่อม


จุดภาพชัด (Macula) เป็นจุดที่อยู่ตรงกลางของจอตา (Retina) ซึ่งมีเซลล์ประสาทรับรู้แสงและสี (Cones) จำนวนมาก จึงทำให้เราสามารถมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน แต่ในผู้สูงอายุอาจเกิดภาวะเสื่อมของจุดภาพชัดนี้ได้ ซึ่งจะทำให้สายตาพิการอย่างถาวร

โรคจุดภาพชัดเสื่อมตามวัย, โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม หรือที่มักเรียกว่า “โรคจอประสาทตาเสื่อม” หรือ “โรคจอตาเสื่อม” (Aged-related macular degeneration – AMD) เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของจอประสาทตาในบริเวณจุดภาพชัด (Macula) เป็นเหตุทำให้ผู้ป่วยมีสายตาเลือนรางหรือตาบอด โดยเฉพาะตรงกลางของภาพ (แต่ยังคงมองเห็นขอบด้านข้างของภาพได้ปกติ) ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจเกิดการเสื่อมของจอประสาทตาขึ้นอย่างช้า ๆ จนแทบไม่ทันสังเกตหรือไม่รู้สึกว่าผิดปกติ ในขณะที่บางรายอาจเกิดการเสื่อมของจอประสาทตาอย่างรวดเร็วก็ได้

โรคจอประสาทตาเสื่อม (AMD) เป็นโรคที่เริ่มพบได้ในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี และพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ในปัจจุบันประชากรโลกมีอายุเพิ่มขึ้น จึงพบว่า โรคนี้เป็นปัญหาทางสาธารณสุขมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีการประเมินว่า โรคจอประสาทตาเสื่อมเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอดได้มากกว่าครึ่ง (54%) และคาดการณ์ว่ามีความชุกของโรคนี้อยู่ที่ประมาณ 1.2-1.8% ในประชากรที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป




โรคจอประสาทตาเสื่อมIMAGE SOURCE : nuasupplements.com



ชนิดของจอประสาทตาเสื่อม



โรคนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดแห้ง (Dry) และชนิดเปียก (Wet)

  1. โรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry AMD หรือ Early AMD) เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุดในขั้นเริ่มต้นหรือขั้นปานกลาง ซึ่งจะพบได้ประมาณ 85-90% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ อาการมักจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงทำให้ความสามารถในการมองเห็นของผู้ป่วยลดลงอย่างช้า ๆ โดยพบว่าเกิดจากการเสื่อมสลายและบางลงของจุดภาพชัด (Macula) จากกระบวนการเสื่อมตามอายุ โดยไม่มีรอยแผลเป็นหรือมีเลือดออก
  2. โรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD หรือ Late AMD) เป็นชนิดที่พบได้น้อยกว่าชนิดแห้งมาก คือ พบได้ประมาณ 10-15% และมีความรุนแรงน้อยกว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งนำมาก่อน อาการมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรุนแรง ทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว และอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการตาบอดได้ โดยพบว่าเกิดจากการที่เซลล์จอประสาทตาเสื่อม บางลง และมีหลอดเลือดผิดปกติที่งอกขึ้นใหม่ในผนังลูกตาชั้นกลาง (ชั้นเนื้อเยื่อคอรอยด์) บริเวณใต้จุดภาพชัด ซึ่งหลอดเลือดเหล่านี้จะมีความเปราะบางและแตก/รั่วซึมได้ง่าย เมื่อเกิดการแตกหรือรั่วซึมจึงทำให้มีเลือดและของเหลวค้างอยู่ใต้จอประสาทตา ทำให้จุดภาพชัดบวมและเกิดการทำลายจอประสาทตาอย่างรวดเร็ว และการทำลายนี้อาจทำให้เกิดแผลเป็นที่จอประสาทตาได้ด้วย



ชนิดจอประสาทตาเสื่อมIMAGE SOURCE : www.drgirjesh.com

สาเหตุของโรคจอประสาทตาเสื่อม



ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าโรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เชื่อว่าน่าจะเกิดจากความเสื่อมของเซลล์จอประสาทตามีการบางตัวลงของเซลล์ มีการสะสมของเสียจากเซลล์จอประสาทตา จึงทำให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์รับภาพมากขึ้น และจากการที่มักพบโรคนี้ได้ในผู้สูงอายุ จึงทำให้เชื่อว่าเป็นกระบวนการเสื่อมสภาพของร่างกาย (Aging Process) นอกจากนี้ยังมีอีกหลายภาวะที่จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีอิทธิพลต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม ได้แก่

  • อายุ เพราะมักพบโรคนี้ได้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 50-60 ปีขึ้นไป (อายุยิ่งมากยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น)
  • กรรมพันธุ์/พันธุกรรม เพราะพบว่าในฝาแฝดจะเกิดโรคนี้ได้เหมือน ๆ กัน และพบว่าประมาณ 50% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีประวัติที่คนในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน (จากการวิจัยล่าสุดสามารถค้นพบยีนที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคจอประสาทตาเสื่อม ดึงนั้นจึงมีคำแนะนำให้ผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของผู้ที่เป็นโรคกับญาติสายตรงไปรับการตรวจเช็กจอประสาทตาทุก 2 ปี)
  • เชื้อชาติ เพราะพบอุบัติการณ์ของโรคนี้ได้มากที่สุดในคนผิวขาว (Caucasian)
  • เพศหญิง เพราะมักพบโรคนี้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งรวมถึงโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดแดงแข็ง นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาลดความดันโลหิต และมีระดับของไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงและระดับแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ในเลือดต่ำ จะมีความเสี่ยงสูงมากต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet Dry)
  • โรคอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากอาจทำให้โรคจอประสาทตาเสื่อมเป็นมากขึ้น
  • วัยหมดประจำเดือน หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับประทานยาฮอร์โมนเอสโตรเจนจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากขึ้น (มีหลักฐานพบว่า ฮอร์โมนเอสโตรเจนน่าจะช่วยป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ ดังนั้นในผู้หญิงวัยขาดฮอร์โมนนี้จึงมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้บ่อยกว่า)
  • สายตาสั้นมาก ๆ (Pathologic myopia) แต่บางข้อมูลก็ระบุว่า ผู้ที่มีสายตายาว (Hyperopia) จะมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากกว่าผู้ที่มีสายตาปกติหรือมีสายตาสั้น
  • ม่านตาสีอ่อน (Light iris coloration)
  • ตาได้รับแสงแดดอย่างเรื้อรัง
  • การสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่เรื้อรัง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอย่างหนึ่ง เพราะสารพิษในควันบุหรี่สามารถทำลายเซลล์ประจอสาทตาได้โดยตรง และก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดแข็ง ซึ่งรวมทั้งหลอดเลือดจอประสาทตา นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการวิจัยพบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่อย่างน้อย 6 เท่า และการสูบบุหรี่ยังมีโอกาสทำให้เกิดโรคนี้ได้เร็วกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูบบุหรี่ที่มีประวัติมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคนี้ร่วมด้วยจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นถึง 30 เท่า
  • การดื่มสุรา
  • ขาดอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ และอาจขาดสารต้านอนุมูลอิสระบางชนิด โดยเฉพาะลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin)


อาการของโรคจอประสาทตาเสื่อม



อาการและอาการแสดงของโรคนี้อาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย และเป็นเรื่องยากที่ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นถึงความผิดปกติในการมองเห็นได้ด้วยตัวเองในระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะถ้าตาอีกข้างหนึ่งยังมองเห็นได้ดีอยู่ ผู้ป่วยก็อาจไม่ทันได้สังเกตเห็นถึงความผิดปกติกับตาอีกข้างไปหลายปีก็ได้ แต่ในรายที่จอประสาทตาเสื่อมเกิดขึ้นทั้ง 2 ข้าง ผู้ป่วยจะรู้สึกถึงความผิดปกติในการมองเห็นได้อย่างรวดเร็ว เช่น มองตรงกลางภาพไม่ชัดหรือมืดดำไป มองเห็นภาพบิดเบี้ยว เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้จึงแนะนำให้ “ผู้ที่มีอายุระหว่าง 40-64 ปี ที่ไม่มีอาการผิดปกติในการมองเห็น ควรได้รับการตรวจสุขภาพตา/จอประสาทตาทุก 2-4 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจทุก 1-2 ปี แม้จะไม่พบอาการผิดปกติอะไรก็ตาม” เนื่องจากการที่ผู้ป่วยจะรู้ถึงความผิดปกติในระยะเริ่มแรกเป็นสิ่งที่ยาก แต่ในขณะเดียวกันการตรวจพบและให้การรักษาในระยะแรกเริ่มก็เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เพราะจอประสาทตาที่เสื่อมไปแล้วมีแต่จะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ การรักษาหลักในปัจุบันทำได้เพียงแค่หยุดหรือชะลอการเสื่อมของจอประสาทตาให้ช้าที่สุด และอาจรักษาไม่ได้เลยถ้าเป็นรุนแรง



สำหรับอาการของโรคจอประสาทตาเสื่อมที่อาจพบได้ คือ


  • ในระยะแรกอาจไม่มีอาการผิดปกติหรือผู้ป่วยอาจไม่ทันได้สังเกตเห็น และจักษุแพทย์มักตรวจพบการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของจอประสาทตาได้โดยบังเอิญ เช่น จากการตรวจสุขภาพตาเพื่อวัดสายตา การตรวจสุขภาพตาประจำปี
  • มองเห็นภาพไม่ชัดหรือตามัวลงเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงกลางของภาพ ซึ่งผู้ป่วยอาจมองเห็นได้ไม่ชัด มองเห็นเป็นเงาดำ ๆ บังอยู่ตรงกลางภาพ หรือมองไม่เห็น จึงทำให้ผู้ป่วยมองภาพ อ่านหนังสือ ขับรถ จำหน้าคน หรือทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดได้ยากกว่าปกติ ซึ่งอาจกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในการเดินทางได้ จึงควรระวังในการเดินทางและควรมีคนคอยช่วยดูแลอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม โรคนี้จะทำให้สูญเสียการมองเห็นเฉพาะตรงกลางของภาพเท่านั้น โดยที่ภาพด้านข้างหรือตรงขอบยังมองเห็นได้ดีอยู่ (เกิดความผิดปกติของการมองเห็นตรงส่วนกลางของลานตา แต่ไม่กระทบต่อลานสายตาส่วนรอบนอก) เช่น ผู้ป่วยอาจมองเห็นตัวคน แต่ส่วนของใบหน้าจะเบลอมองเห็นได้ไม่ชัด หรือมองเห็นเฉพาะขอบของนาฬิกา แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเวลาอะไร ดังนั้น โดยตัวของโรคจอประสาทตาเสื่อมแล้วจะไม่ทำให้การมองเห็นมืดสนิทไปหมด แม้แต่ในรายที่เป็นมากก็ตาม ผู้ป่วยจึงยังพอมองเห็นภาพทางด้านขอบข้างของภาพ และพอที่จะช่วยเหลือดูแลตัวเองได้บ้าง
  • มองเห็นภาพบิดเบี้ยว (จะเห็นภาพบิดเบี้ยวชัดเจนมากขึ้นเมื่อมองภาพในระยะใกล้ ๆ) มองเห็นเส้นตรงเป็นคลื่นหรือเป็นเส้นคด มองเห็นป้ายสัญญาณจราจรผิดเพี้ยนไป มองเห็นเส้นตรงเป็นเส้นขาด มองเห็นลดลงไม่ตรงกลางเส้น
  • สายตาไม่ดีเมื่ออยู่ในที่สลัว เวลาอ่านหนังสือหรือทำงานที่ประณีต หรือต้องมองใกล้ ๆ จำเป็นต้องอาศัยแสงสว่างมากขึ้น
  • มองเห็นสีได้ไม่ชัดเจน (สีจางหรือมืดมัวกว่าปกติ) มองเห็นสีผิดเพี้ยนไป เนื่องจากบริเวณจุดรับภาพชัดมีเซลล์ประสาทรับรู้แสงและสี (Cones) อยู่หนาแน่น
  • มองเห็นขนาดภาพเปลี่ยนไป เห็นวัตถุมีขนาดเล็กลงกว่าปกติ หรืออยู่ห่างกว่าปกติ
  • ตามัวลงอย่างฉับพลัน มักพบในผู้ป่วยที่มีเลือดออกเข้าสู่น้ำวุ้นลูกตาและใต้จอประสาทตา หรือเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมที่รุนแรงแล้ว
  • อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นที่ตาข้างหนึ่งก่อน ซึ่งผู้ป่วยอาจไม่ทันได้สังเกตหรือไม่รู้สึกว่าผิดปกติ เนื่องจากตาอีกข้างหนึ่งยังดีอยู่ ต่อมาเมื่อเป็นทั้ง 2 ข้าง ผู้ป่วยจึงจะสังเกตเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน




    จอประสาทตาเสื่อมIMAGE SOURCE : nuasupplements.com, www.eyedocsottawa.com, cv-eye.com


    ภาวะแทรกซ้อนของโรคจอประสาทตาเสื่อม



    โรคนี้มักไม่ทำให้เกิดตาบอด แต่จะทำให้มองเห็นภาพไม่ชัด และ/หรือมองเห็นภาพผิดปกติดังที่กล่าวมา ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานที่ละเอียด อ่านหนังสือ ขับรถ จำหน้าคน และในการมองระยะไกล




    การวินิจฉัยโรคจอประสาทตาเสื่อม



    สามารถตรวจหาภาวะนี้ได้หลายวิธี ดังนี้

    1. ทดสอบจอประสาทตาด้วยตารางตรวจจุดภาพชัด หรือ แผ่นภาพแอมสเลอร์ (Amsler grid) เป็นวิธีการทดสอบจอประสาทตาและการมองเห็นที่ง่ายดาย ซึ่งสามารถตรวจเช็กได้เองที่บ้าน โดยไม่ต้องถอดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ที่ใส่อยู่ออก โดยมีวิธีการทดสอบ คือ ให้ถือแผ่นภาพแอมสเลอร์ในระยะเดียวกับเวลาที่อ่านหนังสือ (ควรมีแสงสว่างที่เพียงพอด้วย) และให้ใช้มือปิดตาข้างหนึ่งเอาไว้ แล้วมองไปที่จุดสีดำตรงกลางแผ่นภาพด้วยตาข้างที่เปิดอยู่ และให้ทำซ้ำแบบเดียวกันกับตาอีกข้างหนึ่ง ถ้าพบว่าสายตามองเห็นเส้นบนแผ่นภาพมีลักษณะเป็นคลื่น หงิกงอ ขาดจากกัน พร่ามัว หรือมีบางพื้นที่หายไป แสดงว่าคุณอาจเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ จึงควรรีบไปพบจักษุแพทย์ทันที
    2. จักษุแพทย์จะทำการตรวจจอประสาทตาโดยการใช้เครื่องตรวจตา (Ophthalmoscopy) และอาจมีการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การถ่ายภาพรังสีจอประสาทตาด้วยการฉีดสี (Fluorescein angiography) การตรวจวิเคราะห์ภาพตัดขวางของจอประสาทตาด้วยเลเซอร์ (Optical coherence tomography) เพื่อดูลักษณะและขอบเขตของความผิดปกติที่เกิดขึ้น และเพื่อใช้ในการกำหนดแนวทางการรักษาและการพยากรณ์การดำเนินโรค





      ทดสอบจอประสาทตาเสื่อมIMAGE SOURCE : www.drleaks.com



      วิธีรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม



      ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่จะทำให้การมองเห็นกลับมาดีดังเดิมหรือรักษาให้หายขาดได้ แต่พอจะมีวิธีการรักษาที่ช่วยชะลอความรุนแรงของโรคเพื่อลดการสูญเสียการมองเห็นได้ ซึ่งการรักษาจะแบ่งไปตามชนิดของโรคดังนี้


      การรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry AMD) ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งให้หายขาดได้ การรักษาจะเป็นเพียงการป้องกันไม่ให้โรคลุกลามมากขึ้นหรือเพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก

      1. ไปพบแพทย์ตามนัด แม้การเสื่อมของจอประสาทตาจะเป็นไปอย่างช้า ๆ และผู้ป่วยยังคงสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่ก็ควรไปพบจักษุแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจเช็กสายตาเป็นระยะ ๆ
      2. ควบคุมปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น (ในหัวข้อสาเหตุ) เพื่อป้องกันการเสื่อมลงของจอประสาทตา หรืออาจใช้อุปกรณ์ช่วยต่าง ๆ สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางด้านสายตาก็ได้
      3. ติดตามการเปลี่ยนแปลงของอาการด้วยตัวเองเป็นระยะ ๆ เพื่อจะได้ทราบถึงอาการที่บ่งว่าโรคลุกลาม เช่น ภาพบิดเบี้ยวมากขึ้น ขนาดภาพเปลี่ยนไป ฯลฯ และหากพบความผิดปกติดังกล่าวจะต้องรีบไปพบจักษุแพทย์ก่อนนัดทันที
      4. หลีกเลี่ยงแสงแดด โดยการใช้แว่นกันแดดที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีได้อย่างน้อย 90% เพราะจะช่วยลดหรือชะลอการลุกลามของโรคนี้ได้
      5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงอย่างผักใบเขียวและผลไม้ต่าง ๆ และอาหารที่มีสารลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) สูง เช่น ผักคะน้า ผักปวยเล้ง ฯลฯ
      6. รับประทานอาหารเสริมที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี, วิตามินอี, เบต้าแคโรทีน สังกะสี และทองแดง ซึ่งอาจช่วยชะลอและลดโอกาสการกลายเป็นโรคจอประสาทตาชนิดเปียกที่รุนแรงกว่าได้
      7. การรักษาด้วยแสงเลเซอร์อาจได้ประโยชน์และมีความจำเป็นในผู้ป่วยบางราย

      การรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD) การรักษามีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายหลอดเลือดที่ผิดปกติซึ่งแตกได้ง่าย (เกิดเลือดออกและทำให้การมองเห็นลดลง) ไม่ให้ลุกลามมากขึ้น

      1. การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ จะเป็นการฉายแสงเลเซอร์ลงบนจอประสาทตาส่วนที่มีพยาธิสภาพเพื่อยับยั้งหรือชะลอเส้นเลือดที่ผิดปกติที่ทำให้เกิดเลือดออกใต้จอประสาทตาได้ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาทำกับผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป ขึ้นอยู่กับว่าหลอดเลือดที่ผิดปกติมีมากน้อยอยู่ในระดับไหนและเกิดขึ้นในบริเวณใด และแม้ว่าการรักษาจะไม่สามารถทำให้การมองเห็นที่เสียไปกลับคืนมาหรือรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ก็สามารถช่วยคงสภาพการมองเห็นที่เหลืออยู่ไว้ได้มากกว่าการที่ไม่ได้รับการรักษาเลย ซึ่งโดยหลัก ๆ จะมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ
        • การรักษาด้วยการฉายแสงเลเซอร์ (Laser Photocoagulation) เป็นวิธีการรักษาที่ใช้มานานแล้ว โดยเป็นการฉายแสงเลเซอร์ที่ก่อให้เกิดความร้อนเพื่อทำลายหลอดเลือดที่ผิดปกติใต้จอประสาทตา ซึ่งนอกจากจะทำลายหลอดเลือดที่ผิดปกติแล้ว ยังทำลายหลอดเลือดที่ปกติและจอประสาทตาปกติด้วย ทำให้กลายเป็นแผลเป็นและเกิดเป็นจุดมืดดำอย่างถาวร การมองเห็นภาพจะลดลงทันทีหลังการรักษา แต่โดยทั่วไปแล้ว การสูญเสียการมองเห็นจะไม่รุนแรงเท่ากับที่เกิดขึ้นเองจากโรคจอประสาทตาเสื่อมที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยการฉายแสงเลเซอร์
        • การรักษาด้วยวิธีโฟโตไดนามิก (Photodynamic therapy – PDT) เป็นการฉีดยาเวอร์ทิพอร์ฟิน (Verteporfin) ที่มีคุณสมบัติเป็น Photosensitizer ซึ่งเป็นสารสีที่ไวแสงเข้าหลอดเลือดดำ เพื่อให้ยาผ่านไปตามระบบไหลเวียนเลือด เข้าสู่จุดภาพชัด (Macular) และจับกับเซลล์ที่มีการแบ่งตัวที่ผนังหลอดเลือดที่ผิดปกติใต้จอประสาทตา แล้วจึงตามด้วยการฉายแสงเลเซอร์ที่ไม่ก่อให้เกิดความร้อนเฉพาะกับเนื้อเยื่อที่จับกับสารสีนี้เท่านั้น (ตัวยาจะทำปฏิกิริยากับแสงเลเซอร์ที่ได้คำนวณระดับความเข้มข้นของยาและปริมาณแสงเลเซอร์ไว้ตั้งแต่แรก เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาที่มากพอจะทำลายหลอดเลือดที่ผิดปกติได้) จึงทำให้แสงเลเซอร์ไม่ไปกระทบกับจอประสาทตาส่วนที่ดีเหมือนการฉายแสงเลเซอร์แบบ Photocoagulation หลังการรักษาผู้ป่วยยังคงมีการมองเห็นได้เหมือนก่อนการฉายแสงเลเซอร์ ซึ่งในบางรายที่โรคยังไม่รุนแรงมากนัก การมองเห็นที่ลดลงก่อนการรักษาอาจฟื้นกลับขึ้นมาใกล้เคียงกับปกติได้ วิธีนี้จึงจัดว่าเป็นการรักษาที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่สารที่ฉีดนั้นก็มีราคาแพงมากและต้องให้การรักษาซ้ำ ๆ หลายครั้งจึงจะเห็นผล
        • สำหรับผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษาด้วยการยิงแสงเซอร์ ก่อนทำควรงดการขับรถมาทำการรักษาด้วยตัวเอง เนื่องจากหลังทำตาจะมัวจากฤทธิ์ของยาขยายม่านตา ส่วนหลังทำให้งดการทำกิจกรรมทุกชนิดที่อาจเกิดความรุนแรงหรือกระทบกระเทือนต่อตาเป็นเวลา 1 เดือน และไปพบแพทย์ตามนัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามอาการหลังการยิงเลเซอร์ สำหรับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการยิงเลเซอร์คือ ปวดตาตุ๊บ ๆ (พบได้เล็กน้อยในผู้ป่วยบางราย) และมีอาการตามัวเท่าก่อนการยิงเลเซอร์ หรือจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายหลังการรักษาหลายเดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นในผู้ป่วยแต่ละราย และการรักษาจะต้องใช้เวลานานและทำหลายครั้ง เพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร และลดปัญหาการเกิดภาวะต้อหินรุนแรง
      2. การรักษาด้วยการฉีดยากลุ่ม Anti-VEGF (Anti-vascular endothelial growth factor) เป็นวิธีรักษาแนวใหม่ที่สามารถยับยั้งสาเหตุของการเกิดโรคได้ตรงจุดมากขึ้น โดยเป็นการใช้นวัตกรรมใหม่ของผลิตภัณฑ์ทางชีววิทยา (Biological Product) ที่นำมาใช้กับตาโดยเฉพาะ ซึ่งแพทย์จะฉีดยาดังกล่าวเข้าไปในน้ำวุ้นลูกตาภายในเยื่อบุตาขาว เพื่อยับยั้งกระบวนการสร้างหลอดเลือดจากหลอดเลือดที่งอกใหม่บริเวณจุดรับภาพนั้น ซึ่งยาในกลุ่มนี้จะทำหน้าที่ไปจับกับสาร VEGF ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรค จึงช่วยลดการงอกของหลอดเลือดใหม่ และลดการอักเสบที่เป็นส่วนหนึ่งของการลุกลามของโรค ในปัจจุบันยากลุ่มนี้มีใช้กันอยู่หลายตัวด้วยกันและยังมีราคาที่แพงมาก ๆ เช่น Pegaptanib sodium ของ MACUGEN® (ยาตัวนี้จับกับสาร VEGF เฉพาะตัวที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรค), Ranibizumab ของ LUCENTIS® (ยาตัวนี้จะจับกับสาร VEGF ทั้งหมด), Bevacizumab ของ Avastin® เป็นต้น ซึ่งจากการวิจัยโดยการฉีดยานี้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกทุก ๆ 4-6 สัปดาห์ ติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี พบว่าผู้ป่วยประมาณ 33% ที่ได้รับการฉีดยากลุ่มนี้มีการมองเห็นที่ชัดขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยเลเซอร์ที่มีเพียง 6% เท่านั้นที่มีการมองเห็นได้ชัดขึ้น 


      การรักษาจอประสาทตาเสื่อม


      1. IMAGE SOURCE : www.drshahidamirza.com


      1. การผ่าตัด Submacular surgery เป็นการผ่าตัดน้ำวุ้นในลูกตา จอประสาทตา เพื่อทำลายหรือนำหลอดเลือดที่ผิดปกติออกจากใต้จอประสาทตา รวมทั้งแก้ไขภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ของโรค เช่น ภาวะเลือดออกใต้จอประสาทตา เป็นต้น (แม้ว่าผลการผ่าตัดจะดี แต่ผู้ป่วยจะมีการมองเห็นลดลงหลังการรักษา เหมือนการฉายแสงเลเซอร์แบบ Photocoagulation)
      2. การใช้เครื่องมือช่วยการมองเห็น (Low vision aids) ในกรณีที่เป็นโรคทั้ง 2 ตา และได้ลองการรักษาต่าง ๆ แล้วไม่ได้ผล ทำให้มีสายตาเลือนราง แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้เครื่องมือช่วยการมองเห็นเพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพการมองเห็น เช่น การใช้แว่นขยาย แว่นตาอ่านหนังสือ กล้องส่องทางไกล การใช้สีต่าง ๆ และการเพิ่มแสงสว่าง เป็นต้น
      3. การพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ ๆ ในปัจจุบันได้มีความพยายามที่จะพัฒนาวิธีการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมให้ได้ผลที่ดีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรักษาทางยา เช่น การพัฒนายาที่มีคุณสมบัติ Photosensitizer ตัวใหม่ที่ให้การรักษาที่ดีกว่าเดิม, การพัฒนายาที่เป็น Angiostasis ที่ใช้ฉีดเข้าด้านหลังลูกตาเพื่อให้ผลในการยับยั้งและรักษาโรคโดยไม่ต้องใช้แสงเลเซอร์ เป็นต้น ส่วนในด้านของการผ่าตัด ได้มีวิธีการผ่าตัดใหม่ ๆ เช่น การผ่าตัดเพื่อย้ายจุดภาพชัดบนจอประสาทตา (Macular translocation), การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อชั้นเซลล์พี่เลี้ยงของจอประสาทตา (RPE transplantation), การใช้แก๊สไล่เลือดที่อยู่ใต้จุดภาพชัดออกไป เป็นต้น แต่วิธีการผ่าตัดเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดและผลข้างเคียงอยู่มาก จึงยังต้องมีการปรับปรุงพัฒนาวิธีการรักษาเพื่อให้ดียิ่งขึ้นต่อไปจนสามารถนำมาใช้รักษาได้จริง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามในการพัฒนาวิธีการรักษามากขึ้น แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคนี้ก็ยังคงมีการสูญเสียการมองเห็นอยู่ไม่มากก็น้อย และมักจะอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะสายตาเลือนราง (Low vision) ดังนั้น การให้ผู้ป่วยพยายามปรับตัวให้ได้กับภาวะสายตาเลือนรางและหัดใช้เครื่องมือช่วยการมองเห็น (Low vision aids) จึงยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้การมองเห็นที่เหลืออยู่ช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้



      การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม เมื่อมีอาการต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาในหัวข้ออาการ ควรรีบไปพบจักษุแพทย์ภายใน 1-2 วัน หรืออาจต้องไปโรงพยาบาลฉุกเฉินถ้าการมองเห็นภาพมีความผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และหากพบว่าเป็นโรคนี้ ในการดูแลตนเองที่สำคัญ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

      1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด ถูกต้อง ครบถ้วน รวมทั้งในการใช้ยาต่าง ๆ และต้องไม่ขาดยา (เมื่อมียาที่แพทย์สั่งจ่าย)
      2. รักษาสุขภาพจิตให้ดี ปรับการใช้ชีวิตให้เข้ากับสายตา เพื่อพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด
      3. ไปพบจักษุแพทย์ตามนัดเสมอ และควรไปพบก่อนนัดถ้าอาการต่าง ๆ เลวลง หรือเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่


      ผลการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิด ตำแหน่ง และความรุนแรงของโรค ถ้าเป็นชนิดเปียกที่เป็นระยะแรก ซึ่งพบว่าเริ่มมีหลอดเลือดผิดปกติในผนังลูกตาชั้นกลาง การรักษาก็มักจะได้ผลดี แต่ถ้าเซลล์ประสาทบริเวณจุดภาพชัดเชื่อมทั้งหมดแล้ว ก็ยากที่จะแก้ให้ดีขึ้นได้

      วิธีป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อม



      ถึงแม้สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด และอาจสัมพันธ์กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุ กรรมพันธุ์ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ ซึ่งการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงหรือชะลอความรุนแรงของโรคได้ เช่น

      1. เข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ โดยอาจเริ่มตรวจได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กอายุประมาณ 2-3 ขวบ แต่หลังจากนั้นให้ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของจักษุแพทย์ หรือเริ่มตรวจได้เลยในทุกอายุถ้ายังไม่เคยพบจักษุแพทย์มาก่อน และหลังจากนั้นความถี่ในการพบจักษุแพทย์ให้เป็นไปตามที่จักษุแพทย์แนะนำ (ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50-60 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีประวัติมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคนี้ ควรได้รับการตรวจจอประสาทตาจากจักษุแพทย์เป็นประจำ เพื่อประเมินว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมหรือไม่)
      2. งดการสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่
      3. ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
      4. หมั่นออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์
      5. หลีกเลี่ยงการได้รับแสงแดดหรือรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) เป็นระยะเวลานาน และป้องกันดวงตาจากการถูกแสงแดดด้วยการใช้แว่นกันแดดที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีได้ตั้งแต่ 90% ขึ้นไป
      6. ป้องกันรักษาหรือควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ดี เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด (รวมถึงโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดแดงแข็งด้วย) และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีเมื่อเริ่มอายุได้ 18-20 ปี เพื่อคัดกรองโรคต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
      7. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) สูง ได้แก่ ผักใบเขียวและผลไม้ต่าง ๆ เมล็ดธัญพืช กินปลาเป็นประจำ (เพราะในเนื้อปลาจะมีกรดไขมันชนิด Omega-3 มาก ซึ่งสามารถช่วยป้องกันภาวะจอประสาทตาเสื่อมได้) และจำกัดการรับประทานอาหารประเภทไขมัน แป้ง น้ำตาล เกลือ และเพิ่มการรับประทานผักผลไม้ให้มาก ๆ ทั้งนี้เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับเซลล์จอประสาทตา และป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน
      8. เน้นการรับประทานอาหารที่มีเบต้าแคโรทีน โดยเฉพาะอาหารที่มีสารลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) สูง เช่น ผักคะน้า ผักปวยเล้ง ผักกาดแก้ว ผักโขม บรอกโคลี ข้าวโพด ฟักทอง ถั่วลันเตา แขนงกะหล่ำ กะหล่ำปลี แตงกวา พริก ส้ม แอปเปิ้ล องุ่น มะม่วง และไข่แดง เป็นต้น
      9. รับประทานอาหารเสริมต้านอนุมูลอิสระ เพราะมีงานวิจัยพบว่า การรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระ (วิตามินซี, วิตามินอี, เบต้าแคโรทีน) และสังกะสี/ซิงค์ (Zinc) ในปริมาณสูงจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมอย่างรุนแรงลงได้ประมาณ 25% ในผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมระยะที่ 3 หรือ 4 (เป็นกลุ่มความเสี่ยงสูง) และช่วยลดความเสี่ยงของการสูญเสียการมองเห็นจากภาวะจอประสาทตาเสื่อมอย่างรุนแรงลงได้ประมาณ 19% อีกด้วย แต่จะไม่สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรค หรือมีประโยชน์ในผู้ป่วยที่เริ่มเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมเล็ก (ระยะที่ 1 หรือ 2)
        • ขนาดของอาหารเสริมที่แนะนำให้รับประทานต่อวัน คือ วิตามินซี 500 มิลลิกรัม, วิตามินอี 400 IU, เบต้าแคโรทีน 15 มิลลิกรัม, สังกะสี/ซิงค์ 80 มิลลิกรัม ของ ซิงค์ออกไซด์ (Zinc oxide) และทองแดง/คอปเปอร์ 2 มิลลิกรัม ของ คอปเปอร์ออกไซด์ (Copper oxide) เพราะคนที่รับประทานซิงค์ในขนาดสูงจะมีการขาดคอปเปอร์ได้
        • อาหารเสริมที่ว่านี้ไม่สามารถป้องกัน รักษา หรือช่วยให้การมองเห็นที่สูญเสียไปแล้วดีขึ้นได้ แต่จะช่วยลดความเสี่ยงที่โรคจะดำเนินไปสู่ระยะรุนแรงจนทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นในผู้ป่วยที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงได้
        • ควรปรึกษาจักษุแพทย์ก่อนว่ามีความจำเป็นที่ต้องรับประทานอาหารเสริมที่ว่านี้หรือไม่
        • ยังไม่พบผลข้างเคียงของการรับประทานอาหารเสริมในระหว่างการศึกษาที่ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 6 ปี แต่การศึกษาในระยะยาวที่มากกว่า 10 ปี ยังไม่ทราบ
        • ผู้ที่สูบบุหรี่ไม่ควรรับประทานอาหารเสริมที่มีเบต้าแคโรทีนรวมอยู่ด้วย เพราะพบความสัมพันธ์ของการเกิดมะเร็งปอดในผู้ที่สูบบุหรี่ที่รับประทานอาหารเสริมที่มีเบต้าแคโรทีนเป็นประจำ


      ลูทีนและซีแซนทีนกับการป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อม



      เมื่อแสงผ่านเข้าสู่ตา แสงจะผ่านกระจกตา (Cornea) และแก้วตา (Lens) โดยกระจกตาจะสามารถช่วยกรองแสงอัลตราไวโอเลตบางส่วนไว้ได้ แต่แสงส่วนใหญ่ที่เหลือจะถูกส่งผ่านไปยังจอประสาทตา (Retina) ซึ่งเราพบว่าในบรรดาคลื่นแสงที่มองเห็นได้นี้ คลื่นแสงสีฟ้าจะมีพลังงานสูงและมีผลเหนี่ยวนำทำให้เกิดการสร้างอนุมูลอิสระในเซลล์ของจอประสาทตาได้สูงเป็น 100 เท่าของคลื่นแสงสีแดงที่มีพลังงานต่ำ สำหรับจอประสาทตานี้จะมีจุดโฟกัสที่เรียกว่าจุดภาพชัด (Macula) ที่มีสารสีที่เป็นสีเหลือง ซึ่งประกอบไปด้วยลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) เราเชื่อว่าสารประกอบทั้ง 2 ตัวนี้มีหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อป้องกันเซลล์รับแสง (Photoreceptor cells) จากอันตรายจากสารอนุมูลอิสระที่เซลล์สร้างขึ้นอันเนื่องมาจากการมีปริมาณของออกซิเจนสูง (Oxygen tension) และจากการถูกแสง นอกจากนี้ยังเชื่อว่า สารประกอบดังกล่าวยังมีหน้าที่ในการช่วยกรองแสงสีฟ้าที่เป็นคลื่นแสงที่มีพลังงานสูงได้ด้วย โดยมีการประมาณกันว่า สามารถช่วยกรองแสงสีฟ้าให้ลดลงได้ถึง 40% ก่อนที่แสงจะตกมาถึงจุดภาพชัด ดังนั้น ลูทีนและซีแซนทีนจึงสามารถช่วยลดสภาวะความเครียดออกซิเดชันต่อจอประสาทตาได้อย่างมีนัยสำคัญ


      ลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) เป็นสารประกอบที่จัดอยู่ในกลุ่มของแคโรทีนอยด์ ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสร้างสารประกอบทั้ง 2 ตัวนี้ได้ และจำเป็นต้องได้รับจากอาหาร โดยลูทีนและซีแซนทีนเป็นแคโรทีนอยด์เพียง 2 ตัวเท่านั้นที่พบอยู่ในจุดภาพชัด (Macula) และที่แก้วตา (Lens)

      จากรายงานการศึกษาส่วนใหญ่พบว่า กลุ่มคนที่รับประทานอาหารที่มีผักและผลไม้ที่มีสารลูทีนและซีแซนทีนสูงสุด หรือกลุ่มคนที่มีระดับลูทีนและซีแซนทีนในเลือดสูงสุด (เปรียบเทียบกับกลุ่มต่ำสุด) จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้น้อยกว่ามาก นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า การได้รับลูทีนและซีแซนทีนไม่ว่าจะอยู่ในอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็มีผลทำให้ระดับของลูทีนในเลือดและในจุดภาพชัด (Macular) สูงขึ้น ทำให้การวัดการมองเห็นต่าง ๆ ดีขึ้น และมีแนวโน้มที่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคนี้ได้

      เนื่องจากสารลูทีนและซีแซนทีนสูงเป็นสารประกอบในกลุ่มแคโรทีนอยด์ จึงสามารถพบสารเหล่านี้ได้ในผักและผลไม้ต่าง ๆ สำหรับแหล่งอาหารที่ให้สารลูทีนที่ดีที่สุด คือ ผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า ผักปวยเล้ง ผักกาดแก้ว บรอกโคลี ข้าวโพด ถั่วลันเตา แขนงกะหล่ำ กะหล่ำปลี เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบได้ในปริมาณไม่สูงมากนักในไข่แดง (แม้จะพบในไข่แดงได้น้อย แต่ลูทีนในไข่แดงนี้ก็เป็นชนิดที่สามารถถูกนำไปใช้ได้ดี)

      สำหรับปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน (DRI) ยังไม่มีการกำหนดไว้แน่ชัด แต่ขนาดที่มีการศึกษา คือ ลูทีนวันละ 2.5-30 มิลลิกรัม และซีแซนทีนวันละ 0.4-2 มิลลิกรัม สำหรับปริมาณที่ใช้ในการศึกษาเกี่ยวกับการมองเห็นต่าง ๆ ในผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อม


      ที่มา

      1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “จุดภาพชัดเสื่อมตามวัด (Aged-related macular degeneration)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 958-960.
      2. ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “กินอะไร…ชะลอจอประสาทตาเสื่อม”.  (รศ.วิมล ศรีศุข).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [14 ธ.ค. 2016].
      3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  “โรคจอประสาทตาเสื่อม”.  (นพ.ณวพล กาญจนารัณย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [15 ธ.ค. 2016].
      4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 395 คอลัมน์ : รักษ์ “ดวงตา”.  “โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม”.  (รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [15 ธ.ค. 2016]
      5. โรงพยาบาลพญาไท.  “โรคจอประสาทตาเสื่อม ชนิด อาการ สาเหตุและการรักษา”.  (นพ.ทวีชัย พิตรปรีชา).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phyathai.com.  [15 ธ.ค. 2016].
      6. หาหมอดอทคอม.  “โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age-related macular degeneration หรือ AMD)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [16 ธ.ค. 2016].

      7.  เว็บไซต์เมดไทย (MedThai)

      ไม่มีความคิดเห็น:

      แสดงความคิดเห็น