ศูนย์ LifeVantage

ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ LifeVantage : Protandim Nrf1 / Nrf2 / ProBio / TrueScience / TrueRenew ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ โทร ☎️ :: 084-110-5021 📍 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line ค่ะ

22 กันยายน 2561

โรคหลอดเลือดสมองตีบ รีบรักษา ลดปัญหาเสี่ยงอัมพาต

โรคหลอดเลือดสมองตีบ รีบรักษา ลดปัญหาเสี่ยงอัมพาต




























ภัยใกล้ตัว...โรคหลอดเลือดสมองตีบ


โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือโรคอัมพฤกษ์อัมพาตที่ได้ยินกันคุ้นหู เกิดกับคนรู้จักใกล้ตัว และยังมีแนวโน้มของอัตราการเสียชีวิตและความพิการจากโรคนี้สูงขึ้นทุกปี จนต้องมีการกำหนด "วันอัมพาตโลก" (29 ตุลาคมของทุกปี) ขึ้นมาเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้ตื่นตัว เนื่องจากผู้ป่วยที่พิการจะต้องเป็นภาระของครอบครัวในระยะยาว และตัวผู้ป่วยเองก็มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง ฉะนั้นหากเราได้เรียนรู้ถึงสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคแล้ว จะพบว่ามีหนทางหลีกเลี่ยงให้ห่างไกลต่อภาวะอัมพฤกษ์อัมพาตได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน

สถานการณ์ของโรคหลอดเลือดสมองในไทย


จากสถิติพบว่าในปี 2552 ประชากรไทยทั้งเพศหญิงและชายเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองเป็นอันดับ 1 และเป็นสาเหตุสำคัญของความพิการอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน คิดเป็นร้อยละ 70–80 และเลือดออกในสมองร้อยละ 20–30 และภาวะความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุที่สำคัญและพบบ่อยที่สุดของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมองตีบเกิดได้อย่างไร?


นพ.สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายถึงสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองตีบว่า เกิดจากความเสื่อมของผนังหลอดเลือด โดยมีไขมันเกาะที่ผนังหลอดเลือดด้านใน พบได้ทั้งหลอดเลือดในสมองและหลอดเลือดใหญ่ที่คอ มีผลทำให้รูของหลอดเลือดตีบแคบลง เลือดไหลไปเลี้ยงสมองไม่พอเพียง มักพบในผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และผู้ที่สูบบุหรี่จัด

นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังเกิดได้กับผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจชนิดที่เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจ อันเป็นเหตุให้ลิ่มเลือดหลุดจากหัวใจไหลไปตามกระแสเลือดไปอุดตันหลอดเลือดสมอง จนขัดขวางการไหลของเลือดที่จะไปเลี้ยงสมอง

จากสาเหตุ 2 ประการนี้ ทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมองไม่พอ หรือมีการอุดตันจนเลือดไหลไปเลี้ยงสมองไม่ได้ ทำให้เซลล์สมองบริเวณนั้นขาดเลือดและสูญเสียหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย จึงมีอาการผิดปกติ ที่เราเรียกว่า อัมพฤกษ์ อัมพาตนั่นเอง

ปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง เป็นหนทางสู่โรคหลอดเลือดสมองตีบ?


 ภาวะโรคหลอดเลือดสมองตีบนั้น มีปัจจัยเสี่ยงที่สนับสนุนให้เกิดโรคได้จากหลายปัจจัย โดยอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้


  • อายุ เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุด ในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ยิ่งอายุมากขึ้นอัตราเสี่ยงยิ่งเพิ่มขึ้น เนื่องจากหลอดเลือดเสื่อมสภาพ
  • เชื้อชาติ คนผิวดำมีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนผิวขาว
  • พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป

ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถหลีกเลี่ยงได้


  • ภาวะความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญเป็นอันดับ 2 รองจากอายุ
  • โรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคหัวใจที่สามารถทำให้มีการหลุดของลิ่มเลือดจากหัวใจไปอุดตันหลอดเลือดสมอง ได้แก่ หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Atrial Fibrillation , โรคลิ้นหัวใจ , โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น
  • โรคเบาหวาน เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้หลอดเลือดแข็งตัวได้ทั่วร่างกาย
  • ไขมันในเลือด พบว่าระดับไขมัน Cholesterol ในเลือดสูง มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ
  • การสูบบุหรี่ เกี่ยวข้องกับการเกิดหลอดเลือดเปราะ ผู้ที่สูบบุหรี่จัดมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนที่ไม่สูบ
  • การดื่มสุรา พบว่าผู้ที่ดื่มปานกลางจนถึงดื่มจัด จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าผู้ที่ไม่ดื่ม
  • การออกกำลังกาย น้อยหรือไม่ออกกำลังกาย พบว่ามีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าผู้ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

สังเกตอาการอย่างไร สัญญาณเตือนแบบไหน ต้องสงสัยโรคหลอดเลือดสมองตีบ?



คุณหมอได้อธิบายถึงอาการของโรคหลอดเลือดสมองตีบว่า อาการผิดปกติสามารถเกิดได้หลายอาการ ขึ้นอยู่กับว่าสมองเสียหายไปมากน้อยแค่ไหนและเกิดที่บริเวณใดของสมอง เนื่องจากสมองแต่ละส่วนทำหน้าที่แตกต่างกัน
โดยอาการผิดปกติที่สามารถสังเกตได้มี ดังนี้

  • ปากเบี้ยว มุมปากตก จะสังเกตได้ชัดเมื่อให้ผู้ป่วยยิงฟันหรือยิ้ม
  • แขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง หรืออ่อนแรงทั้งแขนและขาในซีกเดียวกัน
  • การพูดผิดปกติ พูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้ อาจพูดไม่ได้ คิดไม่ออก ฟังไม่เข้าใจ
  • ตามัว หรือมองเห็นข้างเดียว
  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะทันที

ทั้งนี้ อาการผิดปกติดังกล่าวมักเกิดขึ้นทันที บางรายมีอาการผิดปกติเพียงชั่วคราวแล้วกลับมาดีเป็นปกติ เป็นภาวะที่สมองขาดเลือดชั่วคราว เรียกว่า Mini stroke บางรายมีอาการผิดปกติเพียงอาการเดียวหรือหลายอาการ เมื่อพบว่าตัวเราเองหรือญาติมีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจมีอาการผิดปกติเพียงชั่วคราวแล้วดีขึ้นเองก็ตาม อย่าได้ปล่อยไว้เพื่อดูอาการ ควรรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

มีวิธีการอย่างไร วินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองตีบ?


จำเป็นอย่างยิ่งที่แพทย์จะต้องตรวจวินิจฉัยหลายๆ วิธี เพื่อเป็นข้อมูลประกอบกัน อันจะทำให้การวินิจฉัยแยกโรคแม่นยำ และวางแผนการรักษาที่เหมาะสม ดังนี้  

  • ซักประวัติจากผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย ในเรื่องของอาการและระยะเวลาที่เริ่มมีอาการ เพราะเป็นข้อมูลสำคัญของการเลือกแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ซักประวัติโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาประจำ
  • การตรวจร่างกาย ตรวจสัญญาณชีพ ได้แก่ วัดความดันโลหิต การหายใจ อุณหภูมิของร่างกาย การเต้นของชีพจร การฟังเสียงหัวใจเต้น เพื่อหาความผิดปกติของหัวใจ การทดสอบระดับความรู้สึกตัว โดยสังเกตจากการพูดคุยโต้ตอบ การทดสอบกำลังของกล้ามเนื้อ แขนขา ทดสอบประสาทรับความรู้สึกที่ผิวหนังว่ามีอาการชาหรือรับความรู้สึกได้มากน้อยเพียงใด เป็นต้น
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือการเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นการตรวจที่จำเป็น สามารถแยกประเภทของโรคหลอดเลือดสมองได้ชัดเจน สามารถบอกขนาดและตำแหน่งของเนื้อสมองที่ถูกทำลายได้
  • การอัลตราซาวนด์หลอดเลือดคาโรติด (CAROTID DUPLEX ULTRASOUND) เป็นการตรวจหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อประเมินภาวะตีบตันของหลอดเลือด เป็นวิธีตรวจที่ง่ายและไม่มีผลข้างเคียง มีความแม่นยำสูง ยังสามารถใช้สำหรับตรวจคัดกรองสำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีโรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการของภาวะสมองขาดเลือด
  • CT ANGIOGRAPHY เป็นการฉีดสีและเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ดูพยาธิสภาพของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง หากพบว่ามีการตีบของหลอดเลือดเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ อาจรักษาด้วยการทำบอลลูนเพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงกว่าเดิม
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ  การเอกซเรย์ทรวงอก  การตรวจเลือดต่างๆ เพื่อหาสาเหตุของการเกิดโรค และประเมินสภาพของผู้ป่วยสำหรับให้การรักษาต่อไป

ทั้งนี้ ผลลัพธ์จากวิธีการตรวจวินิจฉัยข้างต้น จะนำไปสู่แนวทางการรักษาผู้ป่วยที่เหมาะสม และตรงกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์จะทำการเลือกวิธีที่ปลอดภัยและเหมาะสมที่สุด เพื่อผลลัพธ์ในการรัษาที่ดีที่สุด


โรคหลอดเลือดสมองตีบ รักษาได้อย่างไร?


คุณหมอได้อธิบายถึงแนวทางการรักษาของโรคหลอดเลือดสมองตีบว่า เป้าหมายของการรักษาโรคสมองขาดเลือด หรือ ภาวะหลอดเลือดสมองตีบนั้น คือการทำให้เลือดสามารถไหลกลับไปเลี้ยงสมองได้อีกครั้งด้วยวิธีการดังนี้

  • การให้ยาละลายลิ่มเลือด การรักษาด้วยวิธีนี้จะได้ผลดีต้องทำภายในเวลา 3 ชั่วโมง นับตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ ซึ่งในปัจจุบันให้เวลาถึง 4.5 ชั่วโมง หลังเกิดอาการผิดปกติ โดยการให้ยาทางหลอดเลือดดำ จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการได้ ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็ว ก็จะยิ่งมีโอกาสหายหรืออาการดีขึ้น ก่อนให้การรักษาวิธีนี้ แพทย์จะต้องตรวจอย่างละเอียดถึงข้อบ่งชี้ และผลเสียของการให้ยา พร้อมทั้งอธิบายให้ญาติทราบเพื่อตัดสินใจ และลงนามในหนังสืออนุญาตให้รักษาด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือด

  • การให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดแดง เป็นการให้ตัวยาสัมผัสกับลิ่มเลือดโดยตรง เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาในกรณีที่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลช้าเกินกว่าจะรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำได้ แพทย์จะฉีดสารทึบรังสี เพื่อให้เอกซเรย์เห็นพยาธิสภาพของหลอดเลือด แล้วฉีดยาไปยังลิ่มเลือดโดยตรง การฉีดยาจะทำผ่านทางสายสวน การรักษาวิธีนี้จะได้ผลดีต้องทำภายใน 6 ชั่วโมง หลังผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ

  • การให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (HEPARIN) เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำในผู้ป่วยที่มีภาวะสมองขาดเลือด ที่มีสาเหตุมาจากลิ่มเลือดจากหัวใจ

การรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอตีบ (Carotid Stenosis) ทำได้อย่างไร?


หลอดเลือดคาโรติด เป็นหลอดเลือดแดงใหญ่อยู่บริเวณคอด้านซ้ายและขวา ทำหน้าที่ลำเลียงเลือดจากหัวใจไปเลี้ยงสมอง ถ้าหากมีคราบตะกรันไขมันพอกพูนที่ผนังหลอดเลือดด้านใน จนทำให้รูของหลอดเลือดตีบแคบลงจนกระทั่งส่งเลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่พอเพียง ทำให้สมองขาดเลือด การรักษามีเป้าหมายเพื่อให้เลือดสามารถไหลไปเลี้ยงสมองได้สะดวกด้วยการเปิดรูของหลอดเลือดให้กว้างขึ้น ด้วยวิธีการรักษาดังนี้

  • การผ่าตัด (Carotid Endarterectomy) เป็นการรักษาโดยการผ่าตัดเอาคราบ ตะกรัน (Plaque) ในหลอดเลือดแดงออก จะทำการรักษาวิธีนี้ต่อเมื่อผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดคาโรติดตีบรุนแรง จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดคาโรติดตีบมากกว่าร้อยละ 60 สามารถลดการเกิดสมองขาดเลือดได้ดีกว่าการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว 

ในการผ่าตัด แพทย์อาจให้ดมยาสลบหรือฉีดยาชาเฉพาะที่ แล้วผ่าตัดบริเวณคอตรงตำแหน่งหลอดเลือดคาโรติด แล้วผ่าเปิดหลอดเลือดเลาะเอาคราบตะกรันที่พอกตัวอยู่ในหลอดเลือดออก หลังจากนั้นก็ทำการเย็บปิด ใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 1–2 วัน

ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด ที่อาจพบได้คือภาวะสมองขาดเลือดหรือเสียชีวิต แต่มีอัตราการเกิดต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำการผ่าตัดโดยแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่มีความชำนาญและสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน

  • บอลลูนถ่างขยายหลอดเลือด สำหรับกรณีผู้ป่วยบางรายมีข้อห้ามของการผ่าตัด การรักษาด้วยบอลลูนถ่างขยายหลอดเลือดก็เป็นอีกทางเลือกของการรักษา โดยแพทย์จะฉีดยาแล้วแทงสายสวนทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบ ไปจนถึงหลอดเลือดคาโรติดที่ตีบ ฉีดสารทึบรังสีแล้วทำให้บอลลูนถ่างออกให้คราบตะกรันเบียดชิดผนังหลอดเลือด เปิดทางรูของหลอดเลือดให้กว้างขึ้น แล้วใส่ขดลวดเล็กๆ (Stent) ค้ำหลอดเลือดบริเวณนั้นไว้ป้องกันการตีบซ้ำ ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านไปเลี้ยงสมองได้สะดวกขึ้น หลังทำจะใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 วัน

คุณหมอได้อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ป่วยสมองขาดเลือดจากสาเหตุโรคหลอดเลือดสมองตีบตันนั้น บางรายสามารถรักษาแล้วหายเป็นปกติ ในขณะที่บางรายรักษาแล้วยังมีความพิการหลงเหลือ การทำกายภาพบำบัดจึงเข้ามามีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต ให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่เป็นปกติ หรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด

ทั้งนี้ การทำกายภาพบำบัดสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับปัญหาของผู้ป่วยเฉพาะราย เช่น

  • ฝึกยืน
  • ฝึกเดิน
  • ฝึกการเคลื่อนย้ายลงนั่งรถเข็นด้วยตัวเอง
  • ฝึกการพูด การสื่อสาร
  • ฝึกการกลืน

















นวัตกรรมใหม่...หุ่นยนต์ช่วยฝึกเดิน และฝึกการเคลื่อนไหวของมือ แขน และขา


นอกเหนือจากการกายภาพด้วยวิธีปกติแล้ว ในปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่สำหรับการกายภาพบำบัด โดยใช้หุ่นยนต์เป็นเครื่องช่วยฝึกหลัก ซึ่งหุ่นยนต์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายในด้านการเคลื่อนไหวของขา แขนและมือ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อแขนขาที่อ่อนแรง สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ การกายภาพบำบัดด้วยนวัตกรรมหุ่นยนต์ช่วยฝึก มีข้อดี ดังนี้

  • บอกลาการฝึกเดินในแบบเดิม ที่ต้องอาศัยนักกายภาพบำบัดช่วยพยุง หากต้องการฝึกให้มีประสิทธิภาพสูงสุดจะต้องฝึกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเมื่อยล้า และบาดเจ็บของกล้ามเนื้อที่ใช้งานมากเกินไป อีกทั้งยังไม่สามารถกำหนดความเร็วของการเดินที่เหมาะสมได้
  • บอกลาข้อจำกัดของการฝึกเดินแบบเดิม ที่กล่าวมาข้างต้น จึงทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ของการฝึกเดินด้วยหุ่นยนต์เพื่อลดข้อจำกัดต่างๆ ช่วยให้การฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ข้อดีของการฝึกเดินด้วยหุ่นยนต์ มีหลายประการ คือ ผู้ป่วยสามารถฝึกเดินได้นานขึ้นอย่างเหมาะสมกับสภาวะของผู้ป่วย อีกทั้งมีระบบคอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลการฝึกของผู้ป่วยในแต่ละครั้ง ทำให้ผู้เชี่ยวชาญที่ควบคุมการฝึกเดิน สามารถนำข้อมูลไปพัฒนาการรักษาในครั้งต่อไป อีกทั้งยังสามารถกำหนดความเร็ว และแรงที่หุ่นยนต์ขาช่วยพยุงในการก้าวเดินได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยเฉพาะราย ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีภาวะอ่อนแรงของกล้ามเนื้อหรือไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ด้วยตัวเองได้ มีโอกาสเข้าร่วมฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย
  • ประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับ ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการนอนติดเตียง ช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการฝึกเดินไม่น่าเบื่อ และเมื่อยล้าเกินไปจากการฝึกเดินแบบเดิม ส่งผลให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการฟื้นฟูสมรรถภาพของตนเองมากขึ้น

ต้องเตรียมตัวอย่างไร ก่อนฝึกด้วยหุ่นยนต์กายภาพ?


  • แพทย์จะต้องประเมินสภาพผู้ป่วยว่าไม่มีโรคที่เป็นอันตราย เช่น โรคหัวใจ โรคปอดชนิดรุนแรง มีภาวะข้อติดแข็ง เป็นต้น
  • ก่อนที่จะเข้าฝึกด้วยหุ่นยนต์ ผู้ป่วยต้องพักผ่อนให้เพียงพอและรับประทานอาหารก่อนมาครึ่งชั่วโมง
  • ควรสวมเสื้อผ้าให้รัดกุม สวมรองเท้าหุ้มส้น

ภายหลังจากการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบแล้ว ผู้ป่วยที่มีอาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง โดย คุณหมอได้แนะนำแนวทางในการปฏิบัติเพื่อการดูแลผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต เมื่อกลับไปอยู่บ้าน ไว้ดังนี้

  • จัดเตรียมสถานที่ ให้สะดวกและปลอดภัยเหมาะกับสภาพของผู้ป่วย เช่น ห้องนอนควรอยู่ชั้นล่าง สะดวกในการเดิน ห้องน้ำมีราวจับยึดไม่มีธรณีประตู 
  • การกระตุ้นให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันได้เอง เช่น แปรงฟัน ขับถ่าย การตักอาหารรับประทาน โดยญาติหรือผู้ดูแลคอยช่วยเหลือเป็นกรณีไป ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรด้วยตนเองได้ ควรทำให้ เช่น การเช็ดตัว การทำความสะอาดช่องปากและฟัน 
  • จัดอาหารให้เหมาะกับโรค เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หากกลืนลำบากควรให้อาหารอ่อน ระวังการสำลัก
  • ป้องกันแผลกดทับ ถ้าหากผู้ป่วยเคลื่อนไหวด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องช่วยพลิกตะแคงตัวให้ผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง
  • การออกกำลังกาย กระตุ้นการออกกำลังกาย หรือการฝึกเดิน เพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อและป้องกันโรคแทรกซ้อนจากการนอนติดเตียงนานๆ
  • ดูแลเรื่องขับถ่าย หากท้องผูกควรให้รับประทานอาหารที่มีกากใย ดื่มน้ำให้เพียงพอ กระตุ้นให้เคลื่อนไหวร่างกาย ถ้าผู้ป่วยใส่สายสวนปัสสาวะคาไว้ ต้องดูแลถุงน้ำปัสสาวะให้อยู่ต่ำกว่ากระเพาะปัสสาวะเสมอ และพาผู้ป่วยไปเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะที่โรงพยาบาลตามที่แพทย์หรือพยาบาลกำหนด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • การสื่อสาร ผู้ป่วยอาจมีปัญหาพูดไม่ชัด ฟังคำพูดไม่เข้าใจ พูดไม่ได้ ญาติและผู้ดูแลต้องทำความเข้าใจปัญหาของผู้ป่วย และไม่แสดงความรำคาญ ควรหาทางช่วยเหลือโดยใช้วิธีสื่อสารอื่นๆ แทน เช่น การเขียน การอ่าน รูปภาพสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจได้
  • มาพบแพทย์ตามนัด ดูแลให้รับประทานยาถูกต้องครบถ้วนตามคำสั่งแพทย์
  • สังเกตอาการผิดปกติ ควรพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ก่อนถึงวันนัด หากผู้ป่วยมีไข้ ปัสสาวะขุ่น แขนขาอ่อนแรงมากขึ้น ง่วงซึมมากขึ้น สับสนพูดไม่เข้าใจมากกว่าเดิม เป็นต้น

สภาพจิตใจของผู้ป่วยกับบทบาทของญาติ...สำคัญในการช่วยฟื้นฟูร่างกาย


เมื่อผู้ป่วยมีความบกพร่องทางด้านร่างกาย ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง พูดไม่ได้หรือสื่อสารไม่เข้าใจ ทำให้ผู้ป่วยมีความเครียดกังวล รู้สึกเป็นภาระ บางรายแสดงออกด้วยการแยกตัว ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม บางรายโกรธง่าย ก้าวร้าว ปฏิเสธการรักษา ไม่ยอมรับประทานอาหาร ญาติและครอบครัวควรสังเกตและทำความเข้าใจปัญหาของผู้ป่วย ให้อภัย ให้กำลังใจ ส่งเสริมให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมที่ชอบบ่อยๆ จัดสิ่งแวดล้อมให้รู้สึกผ่อนคลาย แสดงความห่วงใย หลีกเลี่ยงการตำหนิ หากพูดไม่ได้ควรหาทางสื่อสารด้วยวิธีอื่น 

ป้องกันโรคหลอดเลือดสมองตีบอย่างไร เพื่อหนีให้ไกลอัมพาตอัมพฤกษ์?


คุณหมอได้อธิบายว่า ถึงแม้ภาวะโรคหลอดเลือดสมองตีบจะเป็นอันตรายที่อาจทำให้ผู้ป่วยพิการและเสียชีวิตได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีแนวทางในการป้องกัน โดยแนวทางการดูแลตัวเอง เพื่อให้ปลอดภัยจากภาวะโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือหลีกหนีจากการเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตนั้น มีดังนี้

  • เราสามารถป้องกันโรคหลอดเลือดสมองตีบ ได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง โดยการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าอย่างเหมาะสม ลดอาหารประเภท หวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้พอเพียง ไม่เครียด งดการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์
  • ควรตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจวัดความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์และรับการรักษา
  • เมื่อท่านมีโรคประจำตัว ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองตีบ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ควรรักษาสม่ำเสมอ ควบคุมโรคให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หากเป็นโรคหัวใจที่เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด ก็ควรรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น รักษาด้วยยาลดการเกิดลิ่มเลือด 
  • เมื่อท่านมีอาการผิดปกติ มีสัญญาณของสมองขาดเลือด ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจรักษาให้เร็วที่สุด จะช่วยลดอัตราความพิการและการเสียชีวิต

ทั้งนี้ การป้องกันตามที่ได้กล่าวมาข้างตัน เป็นหนทางที่สามารถหลีกหนีอัมพาตและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคหลอดเลือดสมอง และเป็นวิธีปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลกรณรงค์สนับสนุน เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตที่มีคุณภาพ มีความสุข ไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม  



“โรคหลอดเลือดสมอง” อย่าประมาท : ตีบ ตัน แตก ตาย




























ตีบ & ตัน : หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมอง อุดตัน / ไหลเวียนลดลง
แตก : มีเลือดออกในหรือรอบๆ เนื้อสมอง
หากเกิดอาการ ถึงมือหมอภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง โอกาสพิการลดลง

สัญญาณเตือน!! โรคหลอดเลือดสมอง
1.ปากเบี้ยว ทันทีทันใด  2.แขนขาอ่อนแรง  ทันทีทันใด  3. พูดไม่ชัดหรือพูดไม่ออก ทันทีทันใด
หากสังเกตเห็นอาการดังกล่าวแล้วมารักษาทันท่วงที โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ จะมีแนวโน้มในการรักษาฟื้นฟูให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างเดิมได้
ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง : ความเครียด  โรคเบาหวาน  โรคความดันโลหิตสูง  โรคหัวใจ  โรคอ้วน  สูบบุหรี่  ดื่มสุรา เป็นต้น

สิทธิการรับบริการโรคหลอดเลือดสมอง ของ 3 กองทุน
บัตรทอง   
- มีการดูแลเฉพาะเพิ่มเติมจากค่าเหมาจ่ายรายหัว
- รักษาผู้ป่วยด้วยยาสลายลิ่มเลือดตามที่กำหนด
- จ่ายค่าบริการเพิ่ม กรณีค่าเอ็กซเรย์สมอง ค่าทำกายภาพบำบัด     

ประกันสังคม
- ไม่มีการดูแลเฉพาะเพิ่มเติม ค่ารักษาเหมารวมอยู่ในค่าเหมาจ่ายรายหัวของสิทธิประกันสังคมแล้ว
- รักษาผู้ป่วยด้วยยาสลายลิ่มเลือดตามที่กำหนด    

ข้าราชการ
- ไม่มีการดูแลเฉพาะเพิ่มเติม
- ใช้สิทธิตามระเบียบการเบิกจ่ายของกรมบัญชีกลาง






ที่มา ::   เว็บไซต์ phyathai.com


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น