โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)
โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือ โรคที่ความหนาแน่นและมวลของกระดูกลดน้อยลง กระดูกเสื่อม เปราะ บาง ผิดรูปและแตกหักได้ง่าย บางรายทำให้ส่วนสูงลดลงเพราะกระดูกผุกร่อน กระดูกจะไม่สามารถทำงานหรือเคลื่อนไหวได้ตามปกติ เช่น การทนรับน้ำหนัก แรงกระแทก หรือแรงกดได้น้อยลง เนื่องจากความเจ็บปวดจากรอยแตกร้าวภายใน ไปจนถึงการแตกหักของกระดูกส่วนสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลทำให้พิการได้ เช่น กระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นศูนย์กลางเส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวเสื่อม บาง แตกร้าว หรือหัก
อาการของโรคกระดูกพรุน
คนที่ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนมักจะทราบว่าตนป่วยเมื่อมีอาการแสดงไปแล้ว และยังมีอาการบ่งชี้อื่น ๆ ที่ควรใส่ใจสังเกตอาการเพื่อให้สามารถรักษาได้ทันการณ์ ดังนี้
กระดูกแตกหักได้ง่ายแม้ถูกกระแทกไม่รุนแรงปวดหลังเรื้อรัง
หลังงอ
ความสูงลดลง
สาเหตุของโรคกระดูกพรุน
กระดูกจะมีเซลล์สร้างกระดูก (Osteoblast) ทำหน้าที่สร้างกระดูกขึ้นมาใหม่จากแคลเซียมและโปรตีน ตามกระบวนการการเจริญเติบโตของร่างกายและทดแทนกระดูกส่วนที่สึกหรอ และมีเซลล์สลายกระดูก (Osteoclast) ทำหน้าที่ย่อยสลายเนื้อกระดูกเก่า
โรคกระดูกพรุนเกิดจากการทำงานที่ไม่สมดุลกันของเซลล์กระดูก ทำให้มีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก อาจเพราะมีปริมาณแคลเซียมในร่างกายไม่เพียงพอต่อกระบวนการสร้างกระดูก หรืออาจมีความผิดปกติของเซลล์กระดูก
อายุ - ด้วยวัยที่เพิ่มมากขึ้น กระบวนการเจริญเติบโตของร่างกายจะเริ่มช้าลง กระบวนการทดแทนกระดูกส่วนที่สึกหรอก็จะเป็นไปได้ช้า หากร่างกายขาดแคลเซียมในปริมาณที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูก ก็จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน เมื่อแก่ตัวลง กระดูกก็จะบาง เปราะ แตกหักง่ายหากได้รับการกระเทือนแม้ไม่รุนแรงก็ตาม เช่น การล้ม การกระแทก
ฮอร์โมน - การลดระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในเพศหญิง อย่างการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระดูกพรุนและเปราะบางลง ส่วนในเพศชายจะมีความเสี่ยงเกิดโรคกระดูกพรุนเมื่อมีการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ลดน้อยลง
กรรมพันธุ์ - ผู้ที่มีญาติใกล้ชิดทางสายเลือดที่มีประวัติป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับพันธุกรรมโรคดังกล่าวไปด้วย
โรคและการเจ็บป่วย - ผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกพรุนอาจเกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ เช่น โรคที่เกี่ยวข้องกับตับ ไต กระเพาะ ลำไส้อักเสบ โรคทางเดินอาหาร กรดไหลย้อน โรคความผิดปกติทางการกิน โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคแพ้กลูเตน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคมะเร็งเม็ดเลือด โรคมะเร็งกระดูก
การบริโภค - กินอาหารที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในการสร้างกระดูกและการเจริญเติบโต กินอาหารที่ทำให้แคลเซียมเสียสมดุล อย่างอาหารจำพวกโปรตีนจากเนื้อสัตว์ซึ่งมีความเป็นกรดสูง น้ำอัดลม ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ติดต่อกันปริมาณมากเป็นเวลานาน
การใช้ยา - ผู้ที่ป่วยและต้องรักษาด้วยการใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์ ก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนเช่นกัน เพราะตัวยาบางชนิดจะออกฤทธิ์ไปรบกวนกระบวนการสร้างกระดูก เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) มีฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน ใช้รักษาอาการอักเสบและใช้รักษาร่วมในหลายโรค อย่างหอบหืดหรือลมพิษ
การใช้ชีวิตประจำวัน - การนั่งหรืออยู่ในอิริยาบถท่าใดท่าเดิมเป็นเวลานาน หรือการทำงานที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายอย่างหักโหมล้วนส่งผลต่อสุขภาพกระดูกทั้งสิ้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ก่อความเสี่ยงให้เกิดโรคสูง
การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน
DEXA Scan (Dual Energy X-ray Absorption) เป็นเครื่องตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก ที่มีความแม่นยำสูง ใช้เวลาในการสแกนน้อย ปริมาณรังสีที่เข้าสู่ร่างกายในขณะสแกนต่ำ ไม่สร้างความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วย ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 20 นาที เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากในการประเมินความหนาแน่นของกระดูก สามารถตรวจพบภาวะกระดูกพรุนประกอบการวินิจฉัยเพื่อการรักษาได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มของโรค
ค่าความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density - BMD) ของคนปกติจะอยู่ที่ >-1.0 คนที่มีภาวะกระดูกบาง (Osteopenia) จะมีค่า BMD อยู่ระหว่าง -1.0 ถึง - 2.5 และผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมีค่า BMD < - 2.5
การรักษาโรคกระดูกพรุน
เนื่องจากโรคกระดูกพรุนเกิดจากภาวะกระดูกเสื่อมที่มาจากหลายสาเหตุ วิธีรักษาคือกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก และลดการทำงานของเซลล์สลายกระดูก ได้แก่ การเพิ่มยาเม็ดเสริมแคลเซียมและการรับวิตามินดีที่ช่วยเสริมการดูดซึมแคลเซียม รวมทั้งรักษาระดับแคลเซียมในกระแสเลือด ช่วยในการรักษามวลกระดูกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งวิตามินชนิดนี้สามารถสังเคราะห์ได้เองทางผิวหนังด้วยการรับแสงแดดอ่อน ๆ ในตอนเช้า
อีกวิธีคือการเพิ่มระดับฮอร์โมนบางชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างกระดูก เช่น การฉีดหรือให้ยาเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจนแก่ผู้ป่วยเพศหญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนหรือผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกไป ทำให้ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ในระดับปกติ เช่น ยาราลอคซิฟีน (Raloxifene) มีฤทธิ์ป้องกันการดูดซึมแคลเซียมออกจากกระดูก ช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้กระดูกแตกหักง่าย รวมถึงอาจมีผลรักษาและป้องกันการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมบางชนิดด้วย แต่ผลข้างเคียงหลังใช้ยานี้ คือผู้ป่วยอาจมีอาการร้อนวูบวาบ ครั่นตัว และเพิ่มความเสี่ยงในการจับตัวของลิ่มเลือดอุดตัน
นอกจากวิธีการรักษาดังกล่าว ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนสามารถดูแลรักษาร่างกายให้กลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงได้ อย่างการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูงเพื่อบำรุงกระดูก หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนและมีค่าความเป็นกรดสูง ซึ่งจะมีผลกระทบทำลายการสร้างกระดูกได้ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวใช้แรงกายอย่างหักโหม รวมถึงควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
ภาวะแทรกซ้อนของโรคกระดูกพรุน
เมื่อกระดูกพรุน ปัญหาที่ตามมาคือ ความเจ็บปวดจากภาวะกระดูกทรุดตัว ปวดหลัง ส่งผลให้เคลื่อนไหวได้อย่างจำกัด มีความสามารถในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ลดลง โดยเฉพาะกิจกรรมนอกบ้านหรือการเข้าสังคม ทำให้อาจเก็บตัวแยกตัวออกจากสังคม ส่งผลให้อาจเกิดภาวะซึมเศร้าต่อไปได้ รวมทั้งกระดูกหัก โดยเฉพาะหากมีการแตกหักของกระดูกสะโพก จะทำให้ผู้ป่วยเดินไม่ได้ ขยับตัวลำบากเพราะความเจ็บปวด ต้องนั่งหรือนอนอยู่กับที่ตลอดเวลา จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคและอาการแทรกซ้อนซึ่งอาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ อย่างการเกิดแผลกดทับ หรือโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
การป้องกันโรคกระดูกพรุน
คนทั่วไปสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ด้วยตนเอง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช้แรงที่หักโหมจนเกินไป รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตามโภชนาการที่ร่างกายควรได้รับ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีซึ่งเป็นสารหลักที่สำคัญต่อการสร้างกระดูก อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นม น้ำส้ม เต้าหู้ งา กุ้งฝอย ปลาตัวเล็ก ถั่วต่าง ๆ และผักใบเขียว อย่างผักคะน้า ผักกระเฉด ใบยอ ใบชะพลู สะเดา กะเพรา ตำลึง เป็นต้น ส่วนอาหารที่มีวิตามินดี ได้แก่ ตับ ไข่แดง นม เนื้อ ปลาทู ฟักทอง เห็ดหอม การรับแสงแดดอ่อน ๆ ในตอนเช้าอาจช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินดีในเลือด และควรได้รับปริมาณโปรตีนที่เหมาะสมทั้งโปรตีนจากพืชและสัตว์
CR :: pobpad.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น