สงครามโลกครั้งที่สอง (อังกฤษ: World War II หรือ Second World War ; มักย่อว่า WWII หรือ WW2) เป็นความขัดแย้งทางทหารในระดับโลก ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศส่วนใหญ่ รวมทั้งรัฐมหาอำนาจทั้งหมด ประเทศผู้ร่วมสงครามรวมตัวกันเป็นพันธมิตรทางทหารสองฝ่ายอันเป็นคู่ขัดแย้ง: ฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายอักษะ ระหว่างสงครามมีการระดมกำลังทหารมากกว่า 100 ล้านนาย ด้วยลักษณะของ "สงครามเบ็ดเสร็จ" ประเทศมหาอำนาจผู้ร่วมสงครามได้ทุ่มเทขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์เพื่อการสงครามทั้งหมด โดยไม่แบ่งแยกทรัพยากรว่าเป็นของพลเรือนหรือทหาร ประมาณกันว่าสงครามมีมูลค่าราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยประการทั้งปวง สงครามโลกครั้งที่สองจึงนับว่าเป็นสงครามขนาดใหญ่ที่สุด ใช้เงินทุนมากที่สุด และนองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ โดยประมาณกันว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่าง 50 ถึงมากกว่า 70 ล้านคน
โดยทั่วไปมักถือเอาว่าสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้นขึ้นหลังจากการรุกรานโปแลนด์ของเยอรมนี ซึ่งนำไปสู่การประกาศสงครามต่อเยอรมนีของฝรั่งเศสและประเทศส่วนใหญ่ในจักรวรรดิอังกฤษและเครือจักรภพแห่งชาติ ภายในหนึ่งปี เยอรมนีมีชัยเหนือยุโรปตะวันตกเกือบทั้งหมด คงเหลือเพียงสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพที่ยังคงเป็นมหาอำนาจที่ต่อกรกับเยอรมนีทั้งบนเกาะบริเตนและการรบทางทะเลอย่างกว้างขวาง ใน ค.ศ. 1941 เยอรมนีได้ชัยชนะในพื้นที่คาบสมุทรบอลข่านและเกาะครีต รวมทั้งได้ส่งทหารไปช่วยอิตาลีในทวีปแอฟริกา ตลอดจนส่งทหารรุกรานสหภาพโซเวียต ซึ่งนับว่าเป็นยุทธบริเวณภาคพื้นดินที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ฝ่ายจักรวรรดิญี่ปุ่นซึ่งกำลังทำสงครามกับจีนมาตั้งแต่ ค.ศ. 1937 ด้วยความปรารถนาจะสร้างวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา จึงฉวยโอกาสโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์และส่งทหารรุกรานหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้ขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวางอย่างรวดเร็ว
การรุกคืบของฝ่ายอักษะยุติลงใน ค.ศ. 1942 หลังจากความพ่ายแพ้ในญี่ปุ่นในยุทธนาวีมิดเวย์และหลังจากความพ่ายแพ้มหาศาลของฝ่ายอักษะทวีปยุโรปในอียิปต์และสตาลินกราด ใน ค.ศ. 1943 จากความปราชัยของเยอรมนีที่เคิสก์ในยุโรปตะวันออก การรุกรานอิตาลีของฝ่ายสัมพันธมิตร ตลอดจนถึงชัยชนะของสหรัฐอเมริกาในมหาสมุทรแปซิฟิกได้ทำลายการริเริ่มทางยุทธศาสตร์และส่งผลไปสู่การล่าถอยในทุกแนวรบ
ในปี ค.ศ. 1944 ฝ่ายสัมพันธมิตรเปิดแนวรบใหม่ในฝรั่งเศสได้ ซึ่งเมื่อประกอบกับการโจมตีกลับจากทางตะวันออกของสหภาพโซเวียตแล้ว ยิ่งทำให้เยอรมนีสูญเสียดินแดนยึดครองไปมากขึ้นอีก ในขณะเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาสามารถขับไล่ญี่ปุ่นออกจากฟิลิปปินส์และคุกคามที่จะรุกรานแผ่นดินใหญ่ญี่ปุ่น สงครามในทวีปยุโรปยุติลงหลังการยึดครองเบอร์ลินโดยกองทัพโซเวียต และการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขของเยอรมนีเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1945 แม้จะโดดเดี่ยวและตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบอย่างยิ่ง ญี่ปุ่นยังคงปฏิเสธที่จะยอมจำนน จนกระทั่งมีการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์สองลูกถล่มญี่ปุ่น รวมทั้งการรุกรานแมนจูเรีย จึงได้นำไปสู่การยอมจำนนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945
สงครามยุติลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร สหประชาชาติถูกสถาปนาขึ้น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและเพื่อป้องกันความขัดแย้งในอนาคต ในขณะที่สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตกลายเป็นอภิมหาอำนาจของโลก อันเป็นคู่ปรปักษ์กัน ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งบนเวทีแห่งสงครามเย็น ซึ่งได้ดำเนินต่อมาอีก 46 ปีภายหลังสงคราม ในขณะเดียวกัน การยอมรับในหลักการของการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง เป็นตัวเร่งให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา ขณะที่หลายประเทศได้มุ่งหน้าสู่การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจซึ่งอุตสาหกรรมได้รับความเสียหายระหว่างสงคราม และบูรณาการทางการเมืองได้เกิดขึ้นทั่วโลกในความพยายามที่จะสร้างเสถียรภาพอย่างสันติหลังสงคราม
ภูมิหลัง
สงครามโลกครั้งที่หนึ่งนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางการทูตและการเมืองอย่างถอนรากถอนโคนในทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา หลังความพ่ายแพ้ของฝ่ายมหาอำนาจกลาง รวมทั้งการล่มสลายของรัฐจักรวรรดิที่สำคัญ: จักรวรรดิเยอรมัน จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิออตโตมัน และจักรวรรดิรัสเซีย อันเป็นผลให้เกิดรัฐชาติใหม่ ๆ ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ความไม่สงบในทวีปยุโรปปะทุขึ้นจากลัทธิชาตินิยม และความต้องการเรียกร้องดินแดนคืนอย่างใหญ่หลวง ประเทศเยอรมนีถูกบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายส์ อันเป็นผลทำให้เยอรมนีสูญเสียดินแดนไปร้อยละ 13 รวมทั้งอาณานิคมทั้งหมด การรวมชาติเยอรมนีเข้ากับประเทศอื่นถูกสั่งห้าม ซ้ำยังต้องแบกภาระในการชำระค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล และถูกจำกัดขนาดและขีดความสามารถของกองกำลังติดอาวุธอย่างมากสงครามกลางเมืองรัสเซียได้นำไปสู่การก่อตั้งสหภาพโซเวียต นำโดยพรรคบอลเชวิค ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของเลนิน โจเซฟ สตาลินได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจ เขาสั่งยกเลิกนโยบายเศรษฐกิจใหม่ โดยหันไปใช้แผนการห้าปีแทน ในอิตาลี เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำกลุ่มเคลื่อนไหวฟาสซิสต์อิตาลี ได้ยึดอำนาจปกครองประเทศ แล้วตั้งตนเป็นผู้เผด็จการฟาสซิสต์ พร้อมให้คำสัญญาว่าจะสร้าง "จักรวรรดิโรมันใหม่"
ส่วนทางด้านประเทศจีน รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งได้เริ่มการทัพรวมชาติขึ้นต่อต้านเหล่าขุนศึกอิสระ จนนำไปสู่การรวมชาติแต่เพียงในนามราวช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1920 แต่หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลจีนกลับต้องเข้าไปพัวพันในสงครามกลางเมืองเพื่อต่อต้านพันธมิตรเก่า พรรคคอมมิวนิสต์จีน ในปี ค.ศ. 1931 จักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งมีความต้องการจะมีอิทธิพลเหนือประเทศจีนมาเป็นเวลานานแล้ว กำลังเพิ่มกำลังทหารในจีนอย่างขนานใหญ่ เพื่อเป็นแผนการขั้นแรกในการเข้าปกครองทั้งทวีปเอเชีย โดยใช้กรณีมุกเดนเป็นข้ออ้างในการรุกรานแมนจูเรีย และจัดตั้งรัฐหุ่นเชิด แมนจูกัว จีนได้ขอความช่วยเหลือจากสันนิบาติชาติ ญี่ปุ่นจึงลาออกจากองค์กรหลังมีการประณามการรุกรานดังกล่าว หลังจากนั้น ทั้งสองชาติได้เกิดการกระทบกระทั่งขนาดย่อยขึ้นอีกหลายครั้ง จนกระทั่งนำไปสู่การพักรบตางกู ในปี ค.ศ. 1933 แต่ถึงกระนั้น กองกำลังอาสาจีนก็ยังคงต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นต่อไปในอีกหลายพื้นที่ ทั้งในแมนจูเรียและมองโกเลียใน
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้ซึ่งเคยพยายามโค่นล้มรัฐบาลเยอรมันไม่สำเร็จ ในปี ค.ศ. 1923 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคสังคมนิยมกรรมกรแห่งชาติเยอรมัน ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ในปี ค.ศ. 1933 ผลของเหตุการณ์เพลิงไหม้รัฐสภาไรช์สทัก ทำให้เยอรมนีกลายมาเป็นรัฐเผด็จการพรรคการเมืองเดียวที่นำโดยพรรคนาซี ต่อมา ฮิตเลอร์สนับสนุนนโยบายการจัดระเบียบโลกใหม่โดยอาศัยปัจจัยทางด้านเชื้อชาติ และเริ่มเสริมสร้างกำลังทหารครั้งใหญ่ เพื่อรักษาพันธมิตรของตน ฝรั่งเศสจึงยินยอมให้อิตาลียึดครองเอธิโอเปีย ซึ่งอิตาลีมีความต้องการที่จะยึดครองเป็นอาณานิคมอยู่แล้ว เหตุการณ์เริ่มเลวร้ายยิ่งขึ้นเมื่อถึงช่วงต้นปี ค.ศ. 1935 ซาร์ลันด์ได้ถูกยุบรวมเข้ากับเยอรมนีตามกฎหมาย และฮิตเลอร์ได้ฉีกสนธิสัญญาแวร์ซายส์ พร้อมกับเร่งการฟื้นฟูกองทัพและเริ่มให้มีการเกณฑ์ทหารอย่างรวดเร็ว
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1935 สหราชอาณาจักรได้ทำสนธิสัญญาการเดินเรือแยกต่างหากกับเยอรมนี โดยผ่อนปรนต่อข้อบังคับต่าง ๆ มาก่อนหน้านี้ ส่วนสหรัฐอเมริกาก็กังวลต่อเหตุการณ์ซึ่งอุบัติขึ้นในทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย จึงได้ผ่านรัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลาง ในเดือนสิงหาคม ในเดือนตุลาคม อิตาลีรุกรานเอธิโอเปีย โดยมีเพียงเยอรมนีเป็นมหาอำนาจชาติเดียวในทวีปยุโรปซึ่งให้การสนับสนุนการรุกรานดังกล่าว อิตาลีจึงยกเลิกข้อคัดค้านต่อการผนวกออสเตรียของเยอรมนี
เดือนมีนาคม ค.ศ. 1936 ฮิตเลอร์ฝ่าฝืนสนธิสัญญาโลคาร์โนโดยการส่งกองทัพเข้ายึดครองไรน์แลนด์ แต่ก็ได้รับการตอบสนองน้อยมากจากอำนาจยุโรปอื่น ๆ ครั้นเมื่อสงครามกลางเมืองสเปนปะทุขึ้นในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ทั้งฮิตเลอร์และมุสโสลินีได้ให้ความสนับสนุนแก่จอมทัพฟาสซิสต์ ฟรันซิสโก ฟรังโก และกองกำลังฝ่ายชาตินิยมสเปน เพื่อต่อต้านรัฐบาลสาธารณรัฐสเปนที่สอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต ทั้งสองฝ่ายต่างใช้สงครามครั้งนี้เป็นสนามทดสอบอาวุธและยุทธวิธีในการทำสงครามที่คิดค้นขึ้นใหม่ด้วย จนกระทั่งฝ่ายชาตินิยมสเปนได้รับชัยชนะเมื่อต้นปี ค.ศ. 1939 จากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ได้นำไปสู่ความพยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งหรือการรวมกลุ่มระหว่างประเทศขึ้น เยอรมนีได้ร่วมมือกับอิตาลีก่อตั้งแกนโรม-เบอร์ลินขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1936 และทำสนธิสัญญาต่อต้านองค์การคอมมิวนิสต์สากลกับญี่ปุ่นในเดือนถัดมา โดยต่างฝ่ายต่างมีความเห็นตรงกันว่าคอมมิวนิสต์และสหภาพโซเวียตเป็นภัยคุกคามต่อตนเอง ซึ่งอิตาลีก็ได้เข้าร่วมด้วยในปีต่อมา ส่วนในประเทศจีน หลังจากกรณีซีอาน กองกำลังพรรคก๊กมินตั๋งและกองกำลังคอมมิวนิสต์ได้ทำการตกลงหยุดยิงเพื่อร่วมกันสร้างแนวร่วมต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่น
กลางปี ค.ศ. 1937 ภายหลังเหตุการณ์สะพานมาร์โค โปโล ญี่ปุ่นเริ่มการรุกรานจีนอย่างเต็มตัว อันเป็นการลงเอยของการทัพซึ่งมีเป้าหมายในการรุกรานจีนทั้งหมด สหภาพโซเวียตเร่งลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกันกับจีน และเป็นการยุติความร่วมมือกับเยอรมนีของจีนที่มีอยู่ก่อนหน้า กองทัพญี่ปุ่นได้ผลักดันกองทัพจีนให้ล่าถอย โดยเริ่มจากที่เมืองเซี่ยงไฮ้ และสามารถยึดนานกิงได้ในเดือนธันวาคม และกระทำการข่มขืนที่นานกิง เมื่อถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1938 กองทัพจีนสามารถยับยั้งการรุกคืบของกองทัพญี่ปุ่นได้จากเหตุอุทกภัยแม่น้ำหวง ในช่วงนี้ จีนได้เตรียมการป้องกันที่เมืองอู่ฮั่น แต่ก็ยังถูกตีแตกในเดือนตุลาคม
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1938 กองทัพญี่ปุ่นและกองทัพโซเวียตปะทะกันอย่างประปรายที่ทะเลสาบคาซาน จนเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1939 เหตุการณ์ได้บานปลายขึ้นจนกลายเป็นสงครามตามแนวชายแดนที่ร้ายแรง ซึ่งยุติลงด้วยสัญญาหยุดยิงเมื่อวันที่ 15 กันยายน โดยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงดินแดนใด ๆ แต่เป็นครั้งแรกซึ่งกองทัพกวนตงของญี่ปุ่นประสบกับความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ แต่ก็นับว่าเป็นความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญของกองทัพกวนตงของญี่ปุ่น ความพ่ายแพ้ดังกล่าวได้ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นหันไปให้ความสนใจกับแผนการของกองทัพเรือญี่ปุ่นในการต่อต้านสหรัฐอเมริกาแทน เพื่อรับประกันว่าสหภาพโซเวียตจะทำสงครามเพียงด้านเดียวกับนาซีเยอรมนี
ด้านทวีปยุโรป บทบาทของเยอรมนีและอิตาลีเริ่มก้าวร้าวมากขึ้น ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1938 เยอรมนีผนวกออสเตรีย โดยที่ได้รับปฏิกิริยาชาติตะวันตกอื่น ๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ด้วยความฮึกเหิม ฮิตเลอร์จึงอ้างสิทธิครอบครองซูเดเตนแลนด์ ดินแดนของเชโกสโลวาเกียซึ่งมีพลเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวเยอรมัน โดยขัดต่อความต้องการของรัฐบาลเชโกสโลวาเกีย ฝรั่งเศสและอังกฤษยินยอมให้เยอรมนียึดครองซูเดนเตแลนด์ เพื่อแลกกับการหยุดแสวงหาดินแดนเพิ่มเติม ทว่าหลังจากนั้น เยอรมนีและอิตาลีได้บังคับให้เชโกสโลวาเกียยกดินแดนให้กับฮังการีและโปแลนด์เพิ่มเติม และในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1939 เยอรมนีจึงได้รุกรานดินแดนเชโกสโลวาเกียที่เหลือ และแบ่งประเทศออกเป็นรัฐในอารักขาโบฮีเมียและโมราเวียของเยอรมนี และรัฐหุ่นเชิดอิสระนิยมเยอรมนี สาธารณรัฐสโลวัก
เดิมทีสหภาพโซเวียตได้พยายามเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับอังกฤษและฝรั่งเศส ในความพยายามที่จะจำกัดวงของเยอรมนี แต่ทั้งสองชาติก็บอกปฏิเสธ ด้วยความแคลงใจในเจตนาและความสามารถของสหภาพโซเวียต สหภาพโซเวียตเกรงว่าสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสไม่ปรารถนาที่จะให้ความร่วมมือทางการทหารแก่ตน และวิตกว่าอาจจะเกิดสงครามระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต โดยที่ฝ่ายสัมพันธมิตรอาจเอนเอียงเข้ากับฮิตเลอร์ เป็นการทำให้สหภาพโซเวียตลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานระหว่างนาซี-โซเวียต ซึ่งสนธิสัญญาดังกล่าวมีข้อตกลงลับระหว่างทั้งสองที่จะแบ่งกันครอบครองยุโรปตะวันออก โดยยกโปแลนด์ตะวันตกและลิทัวเนียให้อยู่ในเขตอิทธิพลของเยอรมนี และยกโปแลนด์ตะวันออก ฟินแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวียและแคว้นเบสซาราเบียของโรมาเนีย ให้อยู่ในเขตอิทธิพลของสหภาพโซเวียต
ทัศนะโดยทั่วไป
ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้เกิดสงครามในระดับโลกขึ้นถึงสองครั้ง โดยสงครามโลกครั้งแรกเป็นสงครามที่เกิดขึ้นเฉพาะในทวีปยุโรปเป็นสำคัญเท่านั้น แต่ในสงครามโลกครั้งที่สองนับได้ว่าเป็นสงครามที่ลุกลามไปทั่วโลกอย่างแท้จริง และพบว่าสงครามโลกทั้งสองครั้งมีความแตกต่างกันอยู่หลายประการทีเดียว
สงครามโลกครั้งที่สองก่อให้เกิดความร่วมมืออย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในหลายประเทศ เพราะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นการระดมคนจำนวนมากเข้ามาประหัตประหารกัน ที่เรียกว่า "สงครามของคนหมู่มาก" (War of the Masses) แต่ในสงครามโลกครั้งที่สอง ประชาชนทุกคนล้วนเกี่ยวข้องกับสงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า สงครามโลกครั้งที่สองนั้นเป็น "สงครามของประชาชนทุกคน"
สงครามโลกครั้งที่สองกลายเป็นการรบซึ่งตั้งอยู่บนแนวคิดพื้นฐานสองประการซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ฝ่ายหนึ่ง คือ ฝ่ายที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงโลกใหม่ (ฝ่ายอักษะ) และอีกฝ่ายที่พยายามจะรักษาแนวทางเดิมของโลกเอาไว้ (ฝ่ายสัมพันธมิตร) หรืออาจแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มตามอาณานิคมและทรัพยากรธรรมชาติในครอบครองของตน ได้แก่ "กลุ่มประเทศมี" (Have Countries) กับ "กลุ่มประเทศไม่มี" (Have not Countries) อย่างไรก็ตาม พันธมิตรทางทหารทั้งสองฝ่ายก็มิได้ให้ความร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้นมากนัก เพราะทั้งสองฝ่ายเพียงร่วมมือกันระหว่างประทศคู่สงครามเพื่อทำลายอีกคู่สงครามฝ่ายลงอย่างราบคาบเท่านั้น
การรบในสงครามโลกครั้งที่สองนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งยุทธศาสตร์ ยุทโธปกรณ์และยุทธวิธี จนกระทั่งมีนักประวัติศาสตร์ผู้หนึ่งกล่าวไว้ว่า สงครามโลกครั้งที่สอง "เป็นการรบที่กระทำอย่างกระทันหันโดยปราศจากการวางแผนอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์" เพราะว่าสงครามโลกครั้งที่สองไม่อาจกำหนดได้อย่างชัดเจนว่าที่ใดคือจุดแตกหักของสงคราม อาวุธใดโดดเด่นที่สุดในสงครามและข้อสรุปทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ทวีปยุโรปไม่เหลือพลังอำนาจที่จะดำเนินตามนโยบายของตนในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกได้อีกต่อไป ดังที่เห็นได้จากสถานการณ์ของฝ่ายสัมพันธมิตรกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบเหนือฝ่ายอักษะภายหลังการเข้าสู่สงครามสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ดังนั้น สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตจึงได้ก้าวขึ้นเป็นสองประเทศอภิมหาอำนาจใหม่ของโลกในเวลาต่อมา
สงครามโลกครั้งที่สองไม่สามารถกำหนดจุดเริ่มต้นอย่างชี้ชัดแน่นอนได้ เพราะเป็นการไม่ยุติธรรมต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง นักประวัติศาสตร์จึงเลือกหลายช่วงเวลาว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งนี้แตกต่างกันไปตามแนวคิดของตน ซึ่งได้แก่ เหตุการณ์ญี่ปุ่นรุกรานแมนจูเรีย ในปี ค.ศ. 1931 อิตาลีรุกรานเอธิโอเปีย ในปี ค.ศ. 1935 ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของสันนิบาติชาติ สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. 1937 เยอรมนีรุกรานโปแลนด์ ในปี ค.ศ. 1939 ซึ่งนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสงคราม ญี่ปุ่นโจมตีที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ ในปี ค.ศ. 1941 และเยอรมนีรุกรานสหภาพโซเวียต ในปี ค.ศ. 1941 และยังมีนักเขียนบางคนให้ความเห็นว่า สงครามโลกครั้งที่สองเป็นสงครามครั้งเดียวกันกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งด้วยซ้ำไป (ใช้คำว่า "สงครามกลางเมืองยุโรป" หรือ "สงครามสามสิบปีครั้งที่สอง") อย่างไรก็ตาม ในตำราส่วนใหญ่มักถือว่าสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 และยุติเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945
นอกเหนือจากนั้น สงครามโลกครั้งที่สองยังมีกำหนดเวลาสิ้นสุดแตกต่างกันเช่นกัน บ้างก็นับที่การประกาศสัญญาสงบศึกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1945 มากกว่าการยอมจำนนอย่างเป็นทางการเมือ่วันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945; บางประเทศในทวีปยุโรปยึดเอาวันแห่งชัยชนะในทวีปยุโรป (8 พฤษภาคม ค.ศ. 1945) เป็นสำคัญ แต่ว่า สนธิสัญญาสันติภาพกับประเทศญี่ปุ่นก็ยังไม่ได้มีการลงนามจนกระทั่งปี ค.ศ. 1951
สงครามโลกครั้งที่สองก่อให้เกิดความร่วมมืออย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในหลายประเทศ เพราะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นการระดมคนจำนวนมากเข้ามาประหัตประหารกัน ที่เรียกว่า "สงครามของคนหมู่มาก" (War of the Masses) แต่ในสงครามโลกครั้งที่สอง ประชาชนทุกคนล้วนเกี่ยวข้องกับสงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า สงครามโลกครั้งที่สองนั้นเป็น "สงครามของประชาชนทุกคน"
สงครามโลกครั้งที่สองกลายเป็นการรบซึ่งตั้งอยู่บนแนวคิดพื้นฐานสองประการซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ฝ่ายหนึ่ง คือ ฝ่ายที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงโลกใหม่ (ฝ่ายอักษะ) และอีกฝ่ายที่พยายามจะรักษาแนวทางเดิมของโลกเอาไว้ (ฝ่ายสัมพันธมิตร) หรืออาจแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มตามอาณานิคมและทรัพยากรธรรมชาติในครอบครองของตน ได้แก่ "กลุ่มประเทศมี" (Have Countries) กับ "กลุ่มประเทศไม่มี" (Have not Countries) อย่างไรก็ตาม พันธมิตรทางทหารทั้งสองฝ่ายก็มิได้ให้ความร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้นมากนัก เพราะทั้งสองฝ่ายเพียงร่วมมือกันระหว่างประทศคู่สงครามเพื่อทำลายอีกคู่สงครามฝ่ายลงอย่างราบคาบเท่านั้น
การรบในสงครามโลกครั้งที่สองนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งยุทธศาสตร์ ยุทโธปกรณ์และยุทธวิธี จนกระทั่งมีนักประวัติศาสตร์ผู้หนึ่งกล่าวไว้ว่า สงครามโลกครั้งที่สอง "เป็นการรบที่กระทำอย่างกระทันหันโดยปราศจากการวางแผนอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์" เพราะว่าสงครามโลกครั้งที่สองไม่อาจกำหนดได้อย่างชัดเจนว่าที่ใดคือจุดแตกหักของสงคราม อาวุธใดโดดเด่นที่สุดในสงครามและข้อสรุปทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ทวีปยุโรปไม่เหลือพลังอำนาจที่จะดำเนินตามนโยบายของตนในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกได้อีกต่อไป ดังที่เห็นได้จากสถานการณ์ของฝ่ายสัมพันธมิตรกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบเหนือฝ่ายอักษะภายหลังการเข้าสู่สงครามสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ดังนั้น สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตจึงได้ก้าวขึ้นเป็นสองประเทศอภิมหาอำนาจใหม่ของโลกในเวลาต่อมา
การนับเวลา
สงครามโลกครั้งที่สองไม่สามารถกำหนดจุดเริ่มต้นอย่างชี้ชัดแน่นอนได้ เพราะเป็นการไม่ยุติธรรมต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง นักประวัติศาสตร์จึงเลือกหลายช่วงเวลาว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งนี้แตกต่างกันไปตามแนวคิดของตน ซึ่งได้แก่ เหตุการณ์ญี่ปุ่นรุกรานแมนจูเรีย ในปี ค.ศ. 1931 อิตาลีรุกรานเอธิโอเปีย ในปี ค.ศ. 1935 ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของสันนิบาติชาติ สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. 1937 เยอรมนีรุกรานโปแลนด์ ในปี ค.ศ. 1939 ซึ่งนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสงคราม ญี่ปุ่นโจมตีที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ ในปี ค.ศ. 1941 และเยอรมนีรุกรานสหภาพโซเวียต ในปี ค.ศ. 1941 และยังมีนักเขียนบางคนให้ความเห็นว่า สงครามโลกครั้งที่สองเป็นสงครามครั้งเดียวกันกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งด้วยซ้ำไป (ใช้คำว่า "สงครามกลางเมืองยุโรป" หรือ "สงครามสามสิบปีครั้งที่สอง") อย่างไรก็ตาม ในตำราส่วนใหญ่มักถือว่าสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 และยุติเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945
นอกเหนือจากนั้น สงครามโลกครั้งที่สองยังมีกำหนดเวลาสิ้นสุดแตกต่างกันเช่นกัน บ้างก็นับที่การประกาศสัญญาสงบศึกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1945 มากกว่าการยอมจำนนอย่างเป็นทางการเมือ่วันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945; บางประเทศในทวีปยุโรปยึดเอาวันแห่งชัยชนะในทวีปยุโรป (8 พฤษภาคม ค.ศ. 1945) เป็นสำคัญ แต่ว่า สนธิสัญญาสันติภาพกับประเทศญี่ปุ่นก็ยังไม่ได้มีการลงนามจนกระทั่งปี ค.ศ. 1951
เส้นทางของสงคราม
สงครามปะทุ
เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 เยอรมนีและสโลวาเกียเริ่มการรุกรานโปแลนด์ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และบรรดาประเทศในเครือจักรภพแห่งชาติประกาศสงครามกับเยอรมนี แต่ก็ให้ความช่วยเหลือโปแลนด์เพียงแต่การโจมตีขนาดเล็กของฝรั่งเศสเข้าไปในซาร์ลันด์เท่านั้น และเมื่อวันที่ 17 กันยายน หลังจากสงบศึกชั่วคราวกับญี่ปุ่นแล้ว สหภาพโซเวียตจึงเริ่มการรุกรานโปแลนด์ของตนเอง จนถึงต้นเดือนตุลาคม โปแลนด์จึงถูกแบ่งเป็นเขตยึดครองของเยอรมนี สหภาพโซเวียต ลิทัวเนียและสโลวาเกีย อย่างไรก็ตาม โปแลนด์ไม่เคยยอมจำนนอย่างเป็นทางการและยังคงทำการรบต่อนอกประเทศของตน และในเวลาเดียวกับการรบในโปแลนด์ กองทัพญี่ปุ่นก็เปิดฉากโจมตีเมืองฉางซาเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ของจีน แต่ก็ถูกขับไล่ในตอนต้นเดือนตุลาคม
ในยุโรปตะวันตก อังกฤษได้จัดวางกำลังทหารของตนบนยุโรปภาคพื้นทวีป แต่ก็ยังไม่มีการโจมตีทางทหารระหว่างทั้งสองฝ่ายอีก จนกระทั่งเดือนเมษายน ค.ศ. 1940 ทางด้านสหภาพโซเวียตและเยอรมนีได้บรรลุสนธิสัญญาทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งสหภาพโซเวียตได้รับเครื่องประกอบทางทหารและทางอุตสาหกรรมของเยอรมนีเพื่อแลกกับการส่งวัตถุดิบให้กับเยอรมนี ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบจากการถูกปิดล้อมเมืองท่าโดยราชนาวีสหราชอาณาจักร ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1940 เยอรมนีรุกรานเดนมาร์กและนอร์เวย์ เพื่อควบคุมการขนส่งแร่เหล็กจากสวีเดน ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรพยายามที่จะขัดขวาง เดนมาร์กได้ยอมจำนนอย่างรวดเร็ว และถึงแม้ว่านอร์เวย์จะได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายสัมพันธมิตร แต่เยอรมนีก็ยังสามารถพิชิตนอร์เวย์ได้ในเวลาเพียงสองเดือน ความไม่พอใจต่อผลของการทัพนอร์เวย์ของชาวอังกฤษได้นำไปสู่การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจากเนวิลล์ เชมเบอร์แลน เป็นวินสตัน เชอร์ชิลล์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1940
ฝ่ายอักษะเคลื่อนทัพ
ในวันเดียวกัน เยอรมนีรุกรานฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์และลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยมพ่ายแพ้จากผลของยุทธวิธีบลิทซครีกติดต่อกันในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ฝ่ายเยอรมนีใช้อุบายการตีผ่านแนวเทือกเขาอาร์เดนเนส ซึ่งมีป่าปกคลุมหนาแน่น เพื่อโอบล้อมแนวป้องกันแมกิโนต์ของฝรั่งเศส ความผิดพลาดดังกล่าวเป็นเพราะนักวางแผนชาวฝรั่งเศสคาดการณ์ผิดว่าแนวป้องกันตามธรรมชาตที่เชื่อกันว่ากองกำลังยานเกราะจะไม่สามารถโจมตีผ่านได้ เมื่อถึงปลายเดือนพฤษภาคม ทหารอังกฤษถูกบังคับให้ต้องล่าถอยออกจากแผ่นดินใหญ่ยุโรปในยุทธการดันเคิร์ก และทิ้งยุทโธปกรณ์หนักไว้เป็นจำนวนมาก ในวันที่ 10 มิถุนายน อิตาลีเริ่มการรุกรานของตน และประกาศสงครามต่อสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส สิบสองวันหลังจากการยอมจำนนของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสจึงถูกแบ่งเป็นเขตยึดครองของเยอรมนีและอิตาลี และรัฐซึ่งไม่อยู่ภายใต้การยึดครองภายใต้ระบอบวิชี ในวันที่ 14 กรกฎาคม กองทัพเรืออังกฤษก็ทำลายกองทัพเรือฝรั่งเศสในแอลจีเรีย เพื่อป้องกันมิให้กองทัพเยอรมนีนำไปใช้ในกรณีที่เป็นไปได้
เมื่อฝรั่งเศสหลุดจากสงคราม ฝ่ายอักษะก็มีกำลังยิ่งขึ้น กองทัพอากาศเยอรมนีเริ่มการรบในยุทธการแห่งบริเตน เพื่อครองแสงยานุภาพเหนือน่านฟ้าและเตรียมการรบภาคพื้นดินบนเกาะอังกฤษ แต่การทัพดังกล่าวประสบความล้มเหลว และแผนการรุกรานภาคพื้นดินได้ถูกยกเลิกในเดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือเยอรมันประสบความสำเร็จในการจมเรือรบราชนาวีอังกฤษด้วยเรืออู ในมหาสมุทรแอตแลนติก ฝ่ายอิตาลีก็เริ่มการปฏิบัติการทางทะเลของตนในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ด้วยการปิดล้อมมอลต้า ในเดือนมิถุนายน ครอบครองบริติชโซมาลิแลนด์ในเดือนสิงหาคม และเปิดส่งกองทัพเข้าสู่อียิปต์ของสหราชอาณาจักรในตอนต้นเดือนกันยายน ส่วนทางด้านญี่ปุ่นก็เพิ่มการปิดล้อมจีนด้วยการโจมตีฐานทัพหลายแห่ง ทางตอนเหนือของอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งถูกโดดเดี่ยว
ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ฝ่ายสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นกลางได้ออกมาตรการในการช่วยเหลือจีนและสัมพันธมิตรตะวันตก ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1939 รัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลางของสหรัฐอเมริกามีผลตามกฎหมาย การแปรบัญญัติดังกล่าวส่งผลเปิดโอกาสให้ฝ่ายสัมพันธมิตรซื้อสินค้าแบบ "จ่ายเป็นเงินสด" ได้[ ระหว่างปี ค.ศ. 1940 ภายหลังจากการยึดครองกรุงปารีสของเยอรมนี สหรัฐอเมริกาได้เพิ่มเติมขนาดกองทัพเรือของตนขนานใหญ่ และหลังจากการรุกล้ำเข้าไปยังอินโดจีนฝรั่งเศสของญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาก็สนับสนุนการห้ามขนส่งเหล็ก เหล็กกล้า และชิ้นส่วนเครื่องจักรแก่ญี่ปุ่น และในเดือนกันยายน สหรัฐอเมริกาก็ตกลงแลกเปลี่ยนเรือประจัญบานอเมริกันกับฐานทัพอังกฤษเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม สาธารณชนชาวอเมริกันส่วนใหญ่ก็ยังคงต่อต้านการเข้าแทรกแซงความขัดแย้งทางทหารโดยตรง จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1941
ในตอนปลายเดือนกันยายน สนธิสัญญาสามฝ่าย ระหว่างเยอรมนี อิตาลีและญี่ปุ่น ได้เป็นรวมตัวกันก่อตั้งฝ่ายอักษะอย่างเป็นทางการ สนธิสัญญาดังกล่าวได้กำหนดเงื่อนไขว่าทุกประเทศ ยกเว้นสหภาพโซเวียต ซึ่งยังไม่อยู่ในภาวะสงครามและโจมตีรัฐสมาชิกฝ่ายอักษะรัฐใดรัฐหนึ่งจะนำไปสู่สภาวะสงครามกับรัฐสมาชิกทั้งหมด สหภาพโซเวียตแสดงโดยนัยว่ามีตนความสนใจจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายอักษะ โดยในเดือนพฤศจิกายน สหภาพโซเวียตก็ได้ส่งข้อเสนอทางเศรษฐกิจที่เยอรมนีประทับใจมาก ขณะที่เยอรมนียังคงปิดเงียบในตอนแรกแล้วจึงตอบตกลงในตอนหลัง ในช่วงเวลาดังกล่าว สหรัฐอเมริกายังคงสนับสนุนสหราชอาณาจักรและจีนโดยนโยบายให้ยืม-เช่าต่อไป ซึ่งรับหน้าที่ในการจัดหาทรัพยากรสงครามและอื่น ๆ รวมทั้งการสร้างพื้นที่ปลอดภัยแบบหยาบ ๆ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาจะคอยคุ้มกันกองเรือสินค้าของอังกฤษ ผลจากการตัดสินใจดังกล่าว ทำให้เยอรมนีและสหรัฐอเมริกาเผชิญหน้ากันในการทำสงครามทางทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือและตอนกลาง ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1941 สหรัฐอเมริกาจะยังคงดำรงตนเป็นกลางอย่างเป็นทางการอยู่ก็ตาม
ฝ่ายอักษะได้ขยายตัวในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1940 เมื่อฮังการี สโลวาเกีย และโรมาเนีย เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ซึ่งในเวลาต่อมา ประเทศเหล่านี้ได้มีส่วนร่วมในการรุกรานสหภาพโซเวียต แต่โรมาเนียถูกพิจารณาว่ามีบทบาทมากที่สุด เนื่องจากต้องการทวงดินแดนที่ถูกสหภาพโซเวียตยึดครองก่อนหน้า และยังเป็นความปรารถนาส่วนตัวของอิออน อันโตเนสคูที่ต้องการปราบปรามคอมมิวนิสต์
ในเดือนตุลาคม อิตาลีรุกรานกรีซ แต่ภายในไม่กี่วันก็ถูกขับไล่และถูกตีจนต้องถอยร่นเข้าไปในอัลแบเนีย ซึ่งสถานการณ์การรบไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1940 ในทวีปแอฟริกา กองทัพกลุ่มประเทศเครือจักรภพอังกฤษก็ได้โจมตีโต้กลับกองกำลังอิตาลีในอียิปต์และดินแดนแอฟริกาตะวันออกของอิตาลี ในตอนต้นของปี ค.ศ. 1941 เมื่อกองทัพอิตาลีนั้นถูกผลักดันกลับไปยังลิเบียโดยกองทัพกลุ่มประเทศเครือจักรภพ เชอร์ชิลล์ก็ได้ออกคำสั่งให้ส่งกองกำลังจากแอฟริกาเข้าไปเสริมกำลังในกรีซ ในขณะเดียวกัน กองทัพเรืออิตาลีก็ประสบกับความปราชัยครั้งสำคัญ เมื่อราชนาวีอังกฤษสามารถทำลายเรือประจัญบานปลดประจำการของอิตาลีไปได้ถึงสามลำในยุทธนาวีตารันโต และสร้างความเสียหายให้กับเรือรบอิตาลีอีกหลายลำในยุทธนาวีแหลมมะตะปัน
ไม่นานนัก เยอรมนีก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออิตาลี ฮิตเลอร์ได้ส่งกองทัพเยอรมันเข้าสู่ลิเบีย ในเดือนกุมภาพันธ์ และภายในปลายเดือนมีนาคม กองทัพฝ่ายอักษะก็ทำการรุกหนักกับกองทัพของกลุ่มเครือจักรภพที่ลดจำนวนลงไป และภายในหนึ่งเดือน กองทัพเครือจักรภพก็ถูกตีถอยร่นกลับสู่อียิปต์ เว้นแต่เพียงเมืองท่าโทบรุคซึ่งถูกปิดล้อมเอาไว้เท่านั้น กองทัพเครือจักรภพพยายามจะขับไล่กองทัพอักษะออกไปในเดือนพฤษภาคม และอีกครั้งในเดือนมิถุนายน แต่ก็ประสบความล้มเหลวทั้งสองครั้ง ตอนต้นของเดือนเมษายน หลังจากบัลแกเรียเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ กองทัพเยอรมันก็เข้าแทรกแซงในคาบสมุทรบอลข่าน โดยโจมตีกรีซและยูโกสลาเวียภายหลังการรัฐประหาร ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว จนในท้ายที่สุด กองทัพสัมพันธมิตรก็ต้องอพยพหลังจากความพ่ายแพ้ในยุทธการเกาะครีต เมื่อถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม
แต่ในขณะเดียวกัน ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ประสบความสำเร็จในช่วงเวลานี้เช่นเดียวกัน ในตะวันออกกลาง กองทัพเครือจักรภพก็ได้รับชัยชนะในการปราบปรามรัฐประหารในอิรัก ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยกองทัพอากาศเยอรมันจากฐานทัพในซีเรียในอาณัติฝรั่งเศส จากนั้น ด้วยความช่วยเหลือของขบวนการฝรั่งเศสเสรี ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ประสบความสำเร็จในการทัพซีเรียและเลบานอน เพื่อจัดการกับทหารอักษะในพื้นที่ อีกทั้งในมหาสมุทรแอตแลนติก ประชาชนชาวอังกฤษมีขวัญและกำลังใจเพิ่มขึ้นจากการจมจมเรือธงเยอรมัน บิสมาร์ก ลงสู่ก้นทะเลได้สำเร็จ และที่อาจสำคัญสุด กองทัพอากาศอังกฤษสามารถต้านทานการโจมตีของลุควาฟเฟได้ในยุทธการแห่งบริเตน และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 ฮิตเลอร์ต้องยกเลิกการทิ้งระเบิดเหนือเกาะอังกฤษไป
ด้วยสถานการณ์ในยุโรปและเอเชียนั้นค่อนข้างมั่นคงแล้ว เยอรมนี ญี่ปุ่นและสหภาพโซเวียตก็ได้ตระเตรียมการ ด้านทางสหภาพโซเวียตประสบกับความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นจากเยอรมนี และความพยายามของทางญี่ปุ่นที่ใช้ประโยชน์จากสงครามในทวีปยุโรป โดยการยึดเอาอาณานิคมอันอุดมสมบูรณ์ของยุโรปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ญี่ปุ่นและสหภาพโซเวียตก็ได้ตกลงทำสนธิสัญญาความเป็นกลางโซเวียต-ญี่ปุ่น ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1941 ตรงกันข้ามกับเยอรมนีซึ่งตั้งใจอย่างไม่ลดละที่จะวางแผนทำสงครามในสหภาพโซเวียต ได้มีการระดมพลประชิดชายแดนสหภาพโซเวียตเพิ่มมากขึ้น
สงครามลุกลามทั่วโลก
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1941 เยอรมนีรวมไปถึงกลุ่มประเทศฝ่ายอักษะในทวีปยุโรปและฟินแลนด์ ได้โจมตีสหภาพโซเวียตในปฏิบัติการบาร์บารอสซา ซึ่งเป็นการโจมตีที่เหนือความคาดหมาย โดยมีเป้าหมายไปยังรัฐบอลติก มอสโก และยูเครน และเป้าหมายสูงสุดใกล้กับแนวเอ-เอ ซึ่งเป็นแนวที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลสาบแคสเปียนกับทะเลขาว ส่วนวัตถุประสงค์ของฮิตเลอร์ คือ การทำลายอำนาจทางการทหารของสหภาพโซเวียต การกวาดล้างระบอบคอมมิวนิสต์ และสร้าง "พื้นที่อยู่อาศัย" โดยการใช้กำลังแย่งชิงดินแดนมาจากชนพื้นเมืองเดิม และเป็นการรับประกันการสร้างหนทางซึ่งนำไปสู่การยึดครองทรัพยากรที่จำเป็นต่อทำลายคู่แข่งของเยอรมนีที่ยังเหลืออยู่
ถึงแม้ว่าฝ่ายกองทัพแดงจะมีการเตรียมการป้องกันทางยุทธศาสตร์ไว้แล้วก็ตาม แต่ บาร์บารอสซา เป็นปฏิบัติการซึ่งได้บีบบังคับให้กองบัญชาการทหารสูงสุดของโซเวียตต้องปรับใช้แผนการป้องกันทางยุทธศาสตร์แทน ระหว่างช่วงฤดูร้อน กองทัพฝ่ายอักษะได้รับชัยชนะมาตลอด สามารถยึดครองดินแดนอันกว้างใหญ่ และสร้างความเสียหายทั้งทางด้านทรัพยากรและกำลังพลให้แก่สหภาพโซเวียตเป็นอย่างมาก แต่ทว่าในช่วงกลางเดือนสิงหาคม กองบัญชาการกองทัพเยอรมันตัดสินใจที่จะพักการรบของกองทัพกลุ่มกลางเอาไว้ โดยแบ่งกองกำลังยานเกราะบางส่วนไปสมทบกับกองทัพที่กำลังมุ่งหน้าไปยังยูเครนตอนกลางและเลนินกราด ยุทธการเคียฟประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และสามารถปิดล้อมและทำลายกองทัพโซเวียตได้ถึงสี่กองทัพ และทำให้การมุ่งหน้าต่อไปยังคาบสมุทรไครเมียและเขตอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วในยูเครนตะวันออกเป็นไปได้
ในช่วงปฏิบัติการบาร์บารอสซา กองทัพกว่าสามในสี่ของฝ่ายอักษะ และกองทัพอากาศส่วนใหญ่ได้ถูกเคลื่อนย้ายจากฝรั่งเศสและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังแนวรบด้านตะวันออก สหราชอาณาจักรได้รีบทำการพิจารณายุทธศาสตร์หลักใหม่ทันที ในเดือนกรกฎาคม สหราชอาณาจักรและสหภาพโซเวียตก็ได้รวมตัวกันจัดตั้งพันธมิตรทางทหารเพื่อต่อต้านเยอรมนี และในช่วงเวลาสั้น ๆ ระหว่าง การรุกรานอิหร่านร่วมกันเพื่อรักษาฉนวนเปอร์เซียและแหล่งน้ำมันในอิหร่าน ในเดือนสิงหาคม สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือกันตั้งกฎบัตรแอตแลนติก
ต้นเดือนตุลาคม หลังจากที่กองทัพฝ่ายอักษะได้รับชัยชนะในยูเครนและแถบทะเลบอลติก โดยมีเพียงเลนินกราดและซาเวสโตปอลทื่ยังคงรบต้านทานอยู่เท่านั้น ยุทธการแห่งมอสโกก็เริ่มขึ้น หลังจากผ่านการรบอย่างหนักเป็นเวลาสองเดือน กองทัพฝ่ายอักษะเกือบจะเข้าพิชิตกรุงมอสโกแล้ว กองทัพของฝ่ายอักษะที่อ่อนเปลี้ย ถูกบีบบังคับให้ยุติการบุกของตน และถึงแม้ว่าเยอรมนีจะได้ดินแดนมาจำนวนมหาศาล แต่ว่าประสบความล้มเหลวในการบรรลุวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์ นครสองแห่งที่สำคัญของโซเวียตยังไม่แตก และความสามารถของกองทัพแดงยังคงสามารถต้านทานการบุกของฝ่ายอักษะได้ และยังคงเหลือขีดความสามารถทางทหารอยู่มาก โดยหลังจากนี้ ระยะแห่ง การโจมตีสายฟ้าแลบ ในทวีปยุโรปได้ยุติลงอย่างสมบูรณ์
เมื่อถึงต้นเดือนธันวาคม สหภาพโซเวียตได้รับกองหนุนที่ระดมมาจากพรมแดนด้านตะวันออกซึ่งติดกับเขตแมนจูกัวของญี่ปุ่น ทำให้กองทัพโซเวียตมีปริมาณกำลังพลที่เทียบได้กับกองทัพฝ่ายอักษะ ซึ่งเมื่อประกอบกับการยืนยันจากข้อมูลข่าวกรองแล้วว่า กองทัพโซเวียตในภาคพื้นตะวันออกไกลมีปริมาณเพียงพอที่จะสามารถต้านทานกองทัพกวนตงของญี่ปุ่นได้ ในวันที่ 5 ธันวาคม กองทัพโซเวียตก็ทำการโจมตีกลับครั้งใหญ่ ตามแนวรบที่ยาวต่อเนื่องกันกว่า 1,000 กิโลเมตร และสามารถผลักดันกองทัพอักษะได้เป็นระยะทางถึง 100-250 กิโลเมตร
ญี่ปุ่นได้วางแผนในการยึดครองอาณานิคมของชาติยุโรปในทวีปเอเชียอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะสร้างแนวป้องกันขนาดใหญ่ซึ่งลากยาวผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง เพื่ออำนวยความสะดวกในการแสวงหาทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ในเอเชียอาคเนย์อย่างอิสระ ในขณะที่ทำสงครามป้องกันประเทศจนทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรอ่อนแอลง และเพื่อการป้องกันการเข้าแทรกแซงของภายนอก ญี่ปุ่นจึงพยายามวางแผนที่จะทำลายกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับแรก ในวันที่ 7 ธันวาคม ญี่ปุ่นได้โจมตีเอเชียอาคเนย์และมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางในเวลาเดียวกัน รวมไปถึงโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ล และยกพลขึ้นบกในไทยและมาลายา
จากการโจมตีครั้งนี้ ทำให้สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย จีนและฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกประกาศสงครามกับญี่ปุ่นทันที ส่วนทางด้านเยอรมนี อิตาลีและกลุ่มประเทศตามสนธิสัญญาสามฝ่ายก็ได้ตอบสนองโดยการประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาเช่นกัน ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1942 สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพโซเวียตและจีน ร่วมด้วยยี่สิบสองรัฐบาลซึ่งเป็นประเทศเล็กหรือเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น ได้ร่วมกันก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ รวมไปถึงการรับรองกฏบัตรแอตแลนติก เป็นการสร้างพันธมิตรเพื่อต่อต้านอำนาจของฝ่ายอักษะ แต่สหภาพโซเวียตมิได้ยึดมั่นตามการเปิดเผยใด ๆ และการคงความเป็นกลางกับญี่ปุ่น และดำเนินการตัดสินใจตามหลักการพิจารณาของตนเพียงฝ่ายเดียว
ทางด้านเยอรมนีก็สามารถทำการรุกต่อได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากทหารเรือสหรัฐอเมริกาไม่ค่อยมีประสบการณ์จากการบังคับเรือดำน้ำ กองทัพเรือเยอรมันสามารถทำลายทรัพยากรฝ่ายสัมพันธมิตรใกล้ชายฝั่งด้านตะวันออกของสหรัฐอเมริกาได้ ถึงแม้ว่าจะประสบความสูญเสียเป็นจำนวนมาก แต่กองทัพฝ่ายอักษะก็สามารถหยุดยั้งการรุกครั้งใหญ่ของโซเวียตได้ทางตอนกลางและตอนใต้ และยังคงถือครองดินแดนเพิ่มเติมที่ได้รับเข้ามาเมื่อปีที่แล้วอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนในแอฟริกาเหนือ ฝ่ายอักษะได้ทำการบุกอีกครั้งในเดือนมกราคม ค.ศ. 1942 เป็นการผลักดันให้กองทัพสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพกลับไปยังแนวกาซาลาในตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนในแนวรบด้านตะวันออก การตีโต้ของกองทัพโซเวียตได้ยุติลงเมื่อเดือนมีนาคม ตามด้วยการยุติการรบชั่วคราวของเยอรมนี ซึ่งใช้เวลาเพื่อวางแผนในการโจมตีในครั้งหน้าต่อไป
จุดเปลี่ยนของสงคราม
ต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1942 ญี่ปุ่นได้เริ่มวางแผนยึดพอร์ตมอร์สบีในปฏิบัติการโม โดยการโจมตีแบบสะเทินน้ำสะเทินบก เพื่อเป็นการตัดเส้นทางการติดต่อสื่อสารระหว่างสหรัฐอเมริกากับออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถเข้าขัดขวางและโจมตีทัพเรือญี่ปุ่นได้ในยุทธนาวีทะเลคอรอล และสามารถขัดขวางการโจมตีดังกล่าวได้ ส่วนแผนการขั้นต่อไปของญี่ปุ่น อันเกิดจากการกระตุ้นหลังกรุงโตเกียวถูกทิ้งระเบิด คือ การยึดครองหมู่เกาะมิดเวย์ เพื่อเป็นการปิดช่องโหว่ในแนวป้องกันทั่วมหาสมุทรแปซิฟิกของญี่ปุ่น และเป็นฐานปฏิบัติการสำหรับแผนขั้นต่อไป รวมไปถึงการทำลายเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันที่ยังคงเหลืออยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อทำตามแผนการ ญี่ปุ่นได้ส่งกองทัพไปยึดครองหมู่เกาะอลูเตียน ในต้นเดือนมิถุนายน ญี่ปุ่นก็ได้งัดเอาแผนของตัวเองออกมาปฏิบัติ แต่ก็ถูกสกัดกั้น เนื่องจากกองทัพสหรัฐอเมริกาสามารถถอดรหัสลับกองทัพเรือญี่ปุ่นได้เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาจึงได้เตรียมตัวรับมือกับการบุกของญีปุ่น และจัดวางกำลังพล รวมไปถึงใช้ความรู้ดังกล่าวจนได้รับชัยชนะเด็ดขาดในยุทธนาวีมิดเวย์เหนือกองทัพเรือญี่ปุ่น
ในประเทศพม่า กองทัพเครือจักรภพได้รบในสองปฏิบัติการ หนึ่งคือการรุกเข้าไปในแคว้นอาระกันระหว่างการทัพพม่า ในปลายปี ค.ศ. 1942 แต่ก็ประสบความหายนะอย่างร้ายแรง และจำเป็นต้องถอยทัพกลับเข้าสู่อินเดีย ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1943 และปฏิบัติการที่สอง ก็คือ การส่งกองกำลังนอกแบบเข้าทางด้านหลังแนวรบของญี่ปุ่นในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเมื่อปลายเดือนเมษายน ก็ได้รับผลที่ไม่แน่นอนเท่าใดนัก
ขณะที่เหตุการณ์ในแนวรบด้านตะวันออก กองทัพเยอรมันและพันธมิตรฝ่ายอักษะ ยังคงเอาชนะกองทัพโซเวียตที่ยุทธการคาบสมุทรเคิร์ชและยุทธการคาร์คอฟครั้งที่สอง ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้เปิดฉากรุกหนักในฤดูร้อนในกรณีสีน้ำเงินในแถบสหภาพโซเวียตตอนใต้ ระหว่างเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1942 เพื่อยึดครองแหล่งขุดเจาะน้ำมันทุกแห่งในแถบคอเคซัส กองทัพโซเวียตได้ตัดสินใจที่จะตั้งรับที่สตาลินกราด ซึ่งอยู่ในเส้นทางเดินทัพของฝ่ายอักษะพอดี ตอนกลางเดือนพฤศจิกายน กองทัพอักษะเกือบจะพิชิตสตาลินกราดในการรบในเมืองอันขมขื่นได้แล้ว แต่กองทัพโซเวียตก็ทำการโจมตีโต้ในฤดูหนาวเป็นครั้งที่สอง โดยเริ่มจากการล้อมกองทัพเยอรมันในเมืองสตาลินกราด ตามด้วยการโจมตีสันเขารีจเฮฟ ใกล้กรุงมอสโก แม้ว่าในภายหลังจะปราชัยย่อยยับก็ตาม
ในตอนต้นของเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 กองทัพเยอรมันประสบกับความสูญเสียมหาศาล กองทัพเยอรมันในสตาลินกราดถูกบีบบังคับให้ยอมจำนน จึงทำให้แนวรบด้านตะวันออกผลักดันไปยังจุดก่อนการรุกในฤดูร้อน กลางเดือนกุมภาพันธ์ 1943 ภายหลังจากการโจมตีโต้กลับของโซเวียตหยุดชะงัก กองทัพเยอรมันได้โจมตีที่ยุทธการคาร์คอฟครั้งที่สาม โดยสร้างเป็นแนวรบที่ยื่นเข้าไปในดินแดนของโซเวียตรอบเมืองเคิร์สก์
ทางด้านทิศตะวันตก ด้วยความวิตกกังวลว่าญี่ปุ่นอาจใช้เกาะมาดากัสการ์ ซึ่งเป็นฐานทัพของวิชี่ฝรั่งเศส กองทัพอังกฤษจึงสั่งดำเนินการโจมตีเกาะมาดากัสการ์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1942 และทางด้านการทัพแอฟริกาเหนือ การโจมตีครั้งล่าสุดของฝ่ายอักษะที่ยุทธการกาซาลา ได้ผลักดันให้กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรให้กลับเข้าสู่อียิปต์ จนกระทั่งการบุกต้องหยุดชะงักที่เอล อาลาเมน ระหว่างการรบในช่วงนี้ บนยุโรปภาคพื้นทวีป หน่วยคอมมานโดของฝ่ายสัมพันธมิตรได้ลอบโจมตีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ และจบลงด้วยการปล้นป้อมดิเอปเป อันเป็นความหายนะ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่สามารถของฝ่ายพันธมิตรตะวันตกในการออกปฏิบัติการรุกรานยุโรปภาคพื้นทวีปโดยปราศจากการเตรียมการ ยุทโธปกรณ์และความมั่นคงทางปฏิบัติการมากกว่านี้
ในเดือนสิงหาคม กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถผลักดันแนวรบฝ่ายอักษะให้ถอยไปในยุทธการเอล อาลาเมนครั้งที่สอง และด้วยการสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างสูงลิบ ก็สามารถขนทรัพยากรที่ต้องการไปให้เมืองมอลต้าที่ถูกปิดล้อมเอาไว้ได้ในปฏิบัติการฐานเสาหิน จากนั้น ไม่กี่เดือนหลังจากยุทธการเอล อาลาเมนครั้งที่สองในอียิปต์ ทางด้านอังกฤษและประเทศเครือจักรภพก็เริ่มเคลื่อนทัพไปทางทิศตะวันตกสู่ประเทศลิเบีย ไม่นานหลังจากที่การรุกรานแอฟริกาเหนือของฝรั่งเศสของสหรัฐอเมริกา-สหราชอาณาจักร ซึ่งก็ได้ชัยชนะ และเป็นผลให้ดินแดนดังกล่าวเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ฮิตเลอร์ได้ตอบสนองต่อการเอาใจออกห่างของอาณานิคมฝรั่งเศสโดยการออกคำสั่งยึดครองวิชีฝรั่งเศส ถึงแม้ว่าวิชีฝร่งเศสจะไม่ละเมิดเงื่อนไขในข้อตกลงหยุดยิง แต่กระทรวงทหารเรือของวิชีฝรั่งเศสได้จัดการจมกองทัพเรือของตนเพื่อมิให้ตกอยู่ในมือของฝ่ายเยอรมนี เมื่อถูกบีบจากกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้กองทัพฝ่ายอักษะต้องถอยร่นไปตั้งรับในตูนิเซีย ซึ่งนำไปสู่ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1943
ฝ่ายสัมพันธมิตรตั้งหลักได้
ภายหลังจากการทัพเกาะกัวดาร์คาแนล ฝ่ายสัมพันธมิตรก็เริ่มปฏิบัติการทางทหารมากมายต่อกองทัพญี่ปุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิก ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1943 กองทัพอเมริกันถูกส่งออกไปโจมตีกองทัพญี่ปุ่นจากหมู่เกาะอลูเตียน และเริ่มต้นปฏิบัติการหลักในการโดดเดี่ยวเมืองราบูล โดยการยึดครองเกาะรอบ เพื่อตัดขาดกำลังสนับสนุน และการฝ่าช่องโหว่ในแนวป้องกันในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 1944 กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรก็สามารถประสบความสำเร็จทั้งในสองปฏิบัตการ และยังสามารถทำลายฐานทัพเรือหลักของกองทัพเรือญี่ปุ่นได้ในบริเวณหมู่เกาะแคโรไลน์ เมื่อถึงเดือนเมษายน กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรก็ได้เริ่มปฏิบัติการที่จะยึดครองเกาะนิวกินีตะวันตก
ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1943 พันธมิตรตะวันตกเริ่มต้นการรุกรานอิตาลีของฝ่ายสัมพันธมิตร ตามด้วยการสงบศึกระหว่างอิตาลีกับกองทัพสัมพันธมิตร เยอรมนีมีปฏิกิริยาตอบสนองโดยการส่งกองทัพเข้าไปดำเนินการปลดอาวุธกองกำลังอิตาลี และควบคุมอำนาจทางทหารในพื้นที่อิตาลีทั้งหมด จากนั้นก็ได้สร้างแนวป้องกันขึ้นมาหลายชั้นด้วยกัน เมื่อวันที่ 12 กันยายน กองกำลังพิเศษเยอรมันสามารถช่วยเหลือตัวมุสโสลินี และสร้างสาธารณรัฐสังคมนิยมอิตาลีขึ้นมาเป็นรัฐบริวารในการปกครองของเยอรมนี ทางด้านกองทัพสัมพันธมิตรก็ได้ทะลวงผ่านแนวป้องกันเยอรมันได้จนมาถึงแนวป้องกันหลักของเยอรมนี เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน
ทางด้านการรบทางทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติก กองทัพเรือเยอรมันประสบความสูญเสียอย่างหนักในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1943 จนถูกเรียกว่า "พฤษภาอนธการ" ความสูญเสียกองเรือดำน้ำของฝ่ายเยอรมนีเป็นจำนวนมาก ทำให้การดักทำลายกองทัพเรือฝ่ายสัมพันธมิตรต้องหยุดชะงัก ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1943 แฟรงกลิน รูสเวลล์และวินสตัน เชอร์ชิลล์ ได้เดินทางไปพบกับเจียง ไคเช็ค ระหว่างการประชุมกรุงไคโร และอีกครั้งกับโจเซฟ สตาลินระหว่างการประชุมกรุงเตหะราน และผลจากการประชุมทั้งสองครั้งได้ข้อตกลงที่ว่า ฝ่ายพันธมิตรตะวันตกจะรุกรานทวีปยุโรปภายในปี ค.ศ. 1944 และสหภาพโซเวียตจะประกาศสงครามกับญี่ปุ่นภายในเวลาสามเดือนหลังจากเยอรมนียอมแพ้เรียบร้อยแล้ว
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1944 กองทัพสัมพันธมิตรได้โจมตีหลายครั้งที่ยุทธการมอนเต คาสสิโน และพยายามตีโอบด้วยการยกพลขึ้นบกที่อันซิโอ เมื่อถึงปลายเดือนมกราคม กองทัพโซเวียตก็สามารถขับไล่กองทัพเยอรมันจากการปิดล้อมเลนินกราด ส่วนปฏิบัติการรุกในเวลาต่อมาของโซเวียตก็ผลักดันแนวรบไปจนถึงพรมแดนเอสโตเนียก่อนสงคราม ซึ่งกองทัพกลุ่มเหนือของเยอรมนีได้รับความช่วยเหลือจากชาวเอสโตเนีย ด้วยความหวังที่จะสร้างเอกราชของชาติขึ้นมาใหม่ ซึ่งความล่าช้านี้ได้ส่งผลกระทบต่อปฏิบัติการในแถบทะเลบอลติกของโซเวียตเช่นกัน
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1944 กองทัพโซเวียตปลดปล่อยคาบสมุทรไครเมีย โดยสามารถขับไล่กองทัพอักษะออกจากยูเครนขนานใหญ่ และเริ่มทำการรุกเข้าไปยังโรมาเนีย ซึ่งถูกขับไล่โดยกองทัพอักษะ พร้อมกับที่การรุกอิตาลีของฝ่ายสัมพันธมิตรประสบความสำเร็จ และบังคับให้กองทัพเยอรมันต้องล่าถอยไป และในวันที่ 4 มิถุนายน โรมก็ตกอยู่ในมือของฝ่ายสัมพันธมิตร
ทางภาคพื้นทวีปเอเชีย ญี่ป่นได้ออกการโจมตีครั้งใหญ่สองครั้ง ครั้งแรก เริ่มในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1944 ได้แก่ การโจมตีตำแหน่งของอังกฤษในรัฐอัสลัม ประเทศอินเดีย และในไม่นานก็สามารถล้อมตำแหน่งของกองทัพเครือจักรภพได้ที่เมืองอิมพัลและเมืองโคฮีมา อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1944 กองทัพอังกฤษได้ตอบโต้กองทัพญี่ปุ่นถอยกลับไปยังพม่า และกองทัพจีนซึ่งเข้าโจมตีพม่าตอนเหนือเมื่อปลายปี ค.ศ. 1943 ได้โอบล้อมกองทัพญี่ปุ่นอีกแห่งหนึ่งที่เมืองมยิตตยินา ส่วนการโจมตีครั้งที่สองเกิดขึ้นในประเทศจีน โดยมีเป้าหมายที่จะทำลายกองกำลังต่อสู้หลักของจีน ให้ความปลอดภัยแก่รางรถไฟระหว่างดินแดนในยึดครองของญี่ปุ่น และตีฐานบินของฝ่ายสัมพันธมิตรกลับคืน ส่วนในเดือนมิถุนายน กองทัพญี่ปุ่นสามารถพิชิตมณฑลเหอหนานและเข้าโจมตีฉางชาอีกครั้งในมณฑลหูหนาน
ฝ่ายสัมพันธมิตรรุกคืบ
6 มิถุนายน ค.ศ. 1944 ฝ่ายพันธมิตรตะวันตกได้ยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดีในปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด และหลังจากการมอบหมายหน้าที่ให้กับกองทัพสัมพันธมิตรหลายกองพลในอิตาลีแล้ว จึงเริ่มการรุกเข้าสู่ฝรั่งเศสตอนใต้ในเดือนสิงหาคม จนสามารถปลดปล่อยกรุงปารีสได้ในวันที่ 25 สิงหาคม และในช่วงเวลาต่อมากระทั่งสิ้นปี กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรได้ผลักดันให้กองทัพเยอรมันในยุโรปตะวันตกถอยร่นไปจนถึงแม่น้ำไรน์ แต่ความพยายามที่จะรุกเข้าสู่เยอรมนีตอนเหนือ ซึ่งนำโดย ปฏิบัติการพลร่มครั้งใหญ่ในเนเธอร์แลนด์ ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสัมพันธมิตรยังคงดำเนินการรุกต่อไปในอิตาลีจนกระทั่งกองทัพเยอรมันถูกตีถอยร่นไปยังแนวป้องกันสุดท้าย
ในเดือนกันยายน 1944 กองทัพแดงได้เคลื่อนทัพไปยังยูโกสลาเวีย ทำให้กองทัพกลุ่มอีและกองทัพกลุ่มเอฟต้องถอยร่นอย่างต่อเนื่องในกรีซ อัลเบเนียและยูโกสลาเวียต้องถอนกำลังออกไป เพื่อป้องกันตนเองจากการถูกตัดออกจากกองกำลังส่วนอื่น ๆ เมื่อถึงจุดนี้ พลพรรคชาวยูโกสลาฟวิก ภายใต้การนำของจอมพลโยเรียน เซ็กเซียนโต ซึ่งได้ครอบครองดินแดนจำนวนมากในยูโกสลาเวียและโจมตีกองทัพเยอรมันต่อไปทางทิศใต้ ในเซอร์เบีย กองทัพแดงได้มีส่วนช่วยเหลือพลพรรคในการปลดปล่อยกรุงเบลเกรด เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ไม่กี่วันหลังจากนั้น กองทัพแดงได้โจมตีฮังการีครั้งใหญ่ในการรุกบูดาเปสต์ ซึ่งกินเวลานานก่อนที่กรุงบูดาเปสต์จะแตกในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหภาพโซเวียตจะประสบความสำเร็จในคาบสมุทรบอลข่าน แต่การต่อต้านของฟินแลนด์ต่อปฏิบัติการของโซเวียตบนคอคอดแครีเลียน ได้ปฏิเสธการยึดครองของสหภาพโซเวียต ก่อนจะมีการนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกด้วยเงื่อนไขที่เสียเปรียบเพียงเล็กน้อย และทำให้ฟินแลนด์เปลี่ยนมาอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตรแทน
ถึงต้นเดือนกรกฎาคม กองทัพเครือจักรภพ ซึ่งตั้งมั่นอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถคลายวงล้อมของกองทัพญี่ป่นที่รัฐอัสลัมลงได้ และสามารถผลักดันให้กองทัพญี่ปุ่นถอยไปได้จนถึงแม่น้ำชินด์วินด์ ขณะที่กองทัพจีนสามารถยึดเมืองมยิตคยินาในประเทศพม่าได้ ส่วนทางด้านประเทศจีน กองทัพญี่ปุ่นเริ่มได้รับชัยชนะอย่างมาก จากการยึดเมืองฉางชาไว้ได้ในที่สุดในตอนกลางเดือนมิถุนายน และยึดเมืองเหิงหยางได้เมื่อต้นเดือนสิงหาคม จากนั้นจึงได้เคลื่อนทัพต่อไปยังมณฑลกวางสี สามารถเอาชนะกองกำลังจีนได้ที่กุ้ยหลินและหลิวโจว เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน และประสบความสำเร็จในการเชื่อมต่อกองทัพญี่ปุ่นในจีนและในคาบสมุทรอินโดจีนในกลางเดือนธันวาคม
ด้านมหาสมุทรแปซิฟิก กองทัพอเมริกันยังคงกดดันแนวป้องกันของญี่ปุ่นตามหมู่เกาะต่าง ๆ ต่อไป ราวกลางเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1944 กองทัพอเมริกันได้เริ่มต้นการโจมตีหมู่เกาะมาเรียน่าและปาเลา และได้รับชัยชนะเด็ดขาดต่อราชนาวีจักรวรรดิญี่ปุ่นในยุทธนาวีทะเลฟิลิปปินส์ภายในเวลาไม่กี่วัน และผลของความปราชัยนี้นำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นของพลเอกโตโจ และทำให้สหรัฐอเมริกามีฐานทัพอากาศซึ่งสามารถรองรับเครื่องบินทิ้งระเบิดหนักเพื่อโจมตีแผ่นดินใหญ่ญี่ปุ่นได้ ปลายเดือนตุลาคม กองทัพอเมริกันยกพลขึ้นบกที่เกาะเลย์เต และหลังจากนั้นไม่นาน กองทัพเรือของสัมพันธมิตรก็ได้รับชัยชนะครั้งใหญ่ต่อกองทัพญี่ปุ่นอีกครั้งในยุทธนาวีอ่าวเลย์เต ซึ่งนับว่าเป็นยุทธนาวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
ฝ่ายอักษะล่มสลาย ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัย
วันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1944 กองทัพเยอรมันได้พยายามอย่างเข้าตาจนเพื่อความสำเร็จโดยการเรียกระดมกองหนุนเยอรมัน และโจมตีโต้ครั้งใหญ่ที่ป่าอาร์เดนเนส เพื่อที่จะแบ่งแยกฝ่ายพันธมิตรตะวันตก โอบล้อมกองกำลังฝ่ายพันธมิตรตะวันตกขนาดใหญ่และยึดครองเมืองท่าเสบียงที่สำคัญที่อันท์เวิร์พ เพื่อที่จะรักษาความสงบทางการเมือง ซึ่งกินเวลาจนถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 1945 โดยไม่บรรลุวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์แต่อย่างใดเลย ส่วนในแนวรบด้านตะวันออก กองทัพโซเวียตโจมตีถึงฮังการี และกองทัพเยอรมันจำเป็นต้องทิ้งกรีซและยูโกสลาเวีย ขณะที่ในอิตาลี กองทัพสัมพันธมิตรยังคงไม่สามารถโจมตีผ่านแนวป้องกันของเยอรมันได้ และกลางเดือนมกราคม ค.ศ. 1945 สหภาพโซเวียตโจมตีโปแลนด์ สามารถผลักดันกองทัพเยอรมันจากแม่น้ำวิซตูล่าถึงแม่น้ำโอเดอร์ในเยอรมนี และยึดครองปรัสเซียตะวันออก เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพโซเวียตได้เข้าร่วมการประชุมที่ยอลต้า ซึ่งได้ข้อสรุปถึงการแบ่งปันดินแดนของเยอรมนีภายหลังสงคราม และกำหนดเวลาที่สหภาพโซเวียตจะเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 เมษายน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา แฟรงกลิน โรสเวลต์ ถึงแก่อสัญกรรมขณะดำรงตำแหน่ง ผู้ที่มารับตำแหน่งต่อคือ รองประธานาธิบดี แฮร์รี เอส. ทรูแมน ขณะที่เบนิโต มุสโสลินีถูกสังหารโดยขบวนการกู้ชาติอิตาลี เมื่อวันที่ 28 เมษายน และอีกสองวันให้หลัง ฮิตเลอร์ก็ยิงตัวตาย และสืบทอดอำนาจต่อให้กับจอมพลเรือ คาร์ล เดอนิตช์
หลังจากนั้น กองทัพเยอรมันในอิตาลีได้ยอมแพ้ในวันที่ 29 เมษายน ส่วนเยอรมนีได้ยอมแพ้ในยุโรปตะวันตกเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม แต่ทว่ากองทัพเยอรมันยังคงรบกับกองทัพโซเวียตในแนวรบด้านตะวันออกต่อไปจนกระทั่งวันที่ 8 พฤษภาคม ส่วนกองทัพเยอรมันที่เหลือเพียงเล็กน้อยได้ทำการสู้รบต้านทานกับกองทัพโซเวียตในกรุงปรากต่อไป จนกระทั่งยอมจำนนเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม
กองทัพอเมริกันยังคงมุ่งหน้าเข้าสู่ญี่ปุ่น สามารถยึดเกาะอิโวะจิมะได้ในเดือนมีนาคม และเกาะโอกินาวาในเดือนมิถุนายน ในขณะที่เครื่องบินทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาได้ทำลายเมืองต่าง ๆ ของญี่ป่น และเรือดำน้ำอเมริกันก็เข้าปิดล้อมเกาะญี่ปุ่น ตัดขาดการนำเข้าจากภายนอก
วันที่ 11 กรกฎาคม เหล่าผู้นำของฝ่ายสัมพันธมิตรได้เข้าประชุมกันที่เมืองพอตสดัม ประเทศเยอรมนี ได้ข้อสรุปว่าที่ประชุมให้การรับรองเกี่ยวกับข้อตกลงต่าง ๆ กับเยอรมนีก่อนหน้านี้ และย้ำถึงความจำเป็นของญี่ปุ่นที่จะต้องยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำกล่าวที่ว่า "อีกทางเลือกหนึ่งของญี่ปุ่นก็คือหายนะเหลือแสน" ("the alternative for Japan is prompt and utter destruction") ภายหลังจากการประชุมนี้ สหราชอาณาจักรได้มีการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 1945 และคลีเมนต์ แอตลีย์ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรแทน วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีคนเดิม
เมื่อญี่ปุ่นได้ปฏิเสธข้อเสนอที่พอตสดัม สหรัฐอเมริกาจึงตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณูทั้งสองลูกบนแผ่นดินญี่ปุ่น ที่เมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ ในตอนต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 ในช่วงระหว่างการทิ้งระเบิดปรมาณูทั้งสองลูก ด้านสหภาพโซเวียตก็ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น และโจมตีแมนจูเรียของญี่ปุ่น ตามข้อตกลงยอลตา ญี่ปุ่นได้ตัดสินใจยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 หลังจากนั้นในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 ญี่ปุ่นได้เซ็นสัญญาในเอกสารยอมจำนนอย่างเป็นทางการ และเป็นจุดจบของสงครามด้วยเช่นกัน
หลังสงคราม
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรได้ก่อตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น ด้วยความพยายามที่จะรักษาสันติภาพทั่วโลก โดยมีผลอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1945 และปรับใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในปี ค.ศ. 1948 อันเป็นมาตรฐานสามัญซึ่งทุกชาติสมาชิกจะต้องบรรลุ
ผลจากสงครามโลกครั้งที่สองมิได้เปลี่ยนแปลงพรมแดนของประเทศใดประเทศหนึ่งมากนัก ไม่มีชาติใดสิ้นสภาพหรือเกิดรัฐขึ้นมาใหม่ในระยะแรก ผู้ชนะสงครามได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพลเรือนแทนการเปลี่ยนแปลงพรมแดน ซึ่งก็ได้ทำให้เกิดโศกนาฎกรรมแก่ชาวเยอรมันในสหภาพโซเวียตและชาวญี่ปุ่นในสหรัฐอเมริกา
ความสัมพันธ์ระหว่างสัมพันธมิตรตะวันตกและสหภาพโซเวียตได้เสื่อมลงตั้งแต่ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะจบลงแล้ว และชาติอภิมหาอำนาจแต่ละฝ่ายต่างก็เริ่มสร้างเขตอิทธิพลของตนเองอย่างรวดเร็ว ทวีปยุโรปได้ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ด้วยอิทธิพลของฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกและสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า "ม่านเหล็ก" ซึ่งได้ลากผ่านประเทศเยอรมนีและประเทศออสเตรีย สหภาพโซเวียตได้สร้างค่ายตะวันออกขึ้น โดยการผนวกดินแดนหลายประเทศซึ่งถูกยึดครองอยู่ในลักษณะของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ซึ่งเดิมจะต้องผนวกรวมเข้ากับเยอรมนี ตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอป อย่างเช่น โปแลนด์ตะวันออก รัฐบอลติกทั้งสาม บางส่วนของฟินแลนด์ตะวันออก และโรมาเนียตะวันออกเฉียงเหนือ
ส่วนรัฐอื่นที่สหภาพโซเวียตยึดครองในระหว่างสงครามก็ถูกเปลี่ยนเป็นรัฐบริวารของสหภาพโซเวียต อย่างเช่น สาธารณรัฐประชาชนโปแลนด์ สาธารณรัฐประชาชนฮังการี สาธารณรัฐสังคมนิยมสโลวัก สาธารณรัฐประชาชนโรมาเนีย สาธารณรัฐประชาชนอัลเบเนีย และเยอรมนีตะวันออกภายใต้การยึดครองของสหภาพโซเวียต
ในทวีปเอเชีย สหรัฐอเมริกาได้เข้ายึดครองญี่ปุ่น และดำเนินการปกครองหมู่เกาะต่าง ๆ ของญี่ปุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก ขณะที่สหภาพโซเวียตก็เข้ายึดครองหมู่เกาะซาฮาลินและหมู่เกาะคูริล ส่วนเกาหลีภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นนั้น ก็ถูกแบ่งแยกและถูกยึดครองโดยสองขั้วอำนาจ จากความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ทำให้สหรัฐอเมริกาได้ก่อตั้งพันธมิตรนาโต้ และทางสหภาพโซเวียตก็ได้ก่อตั้งสนธิสัญญาวอร์ซอขึ้น ทั้งสององค์การทางทหารนี้อาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็น
ในพื้นที่หลายส่วนของโลก ความขัดแย้งต่าง ๆ ยังคงดำเนินต่อไปเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองปิดฉากลง ในประเทศจีน พรรคชาตินิยมก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้กลับมาทำสงครามกลางเมืองอีกครั้ง ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ผู้ชนะ ได้ก่อตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนบนจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนพรรคชาตินิยมผู้พ่ายแพ้ก็ได้ล่าถอยไปยังเกาะไต้หวัน ซึ่งยังอยู่ภายใต้การปกครองของตนเอง ในประเทศกรีซก็ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นเช่นกันระหว่างฝ่ายนิยมกษัตริย์ ซึ่งได้ความช่วยเหลือจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ โดยฝ่ายนิยมกษัตริย์เป็นฝ่ายได้ชัย
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นไม่นาน เกิดเหตุการณ์เกาหลีเหนือรุกรานเกาหลีใต้ขึ้น ระหว่างเกาหลีเหนือซึ่งได้รับการหนุนหลังโดยจีนและสหภาพโซเวียต กับเกาหลีใต้ภายใต้ความช่วยเหลือของสหประชาชาติ ซึ่งทึ่สุดแล้วจบลงด้วยการเสมอกันและสัญญาหยุดยิง หลังจากนั้น ผู้นำเกาเหลีเหนือ คิม อิล ซุง ได้สร้างรูปแบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างมาก รวมทั้งก่อให้เกิดลัทธิบูชาบุคคลอันน่าเกรงขาม
หลายประเทศซึ่งถูกชาติตะวันตกยึดครองเป็นอาณานิคม ได้ประกาศเอกราชและแยกตัวออกมาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากความสูญเสียทรัพยากรของชาติตะวันตก ทำให้อิทธิพลจากภายนอกอ่อนแอลง โดยการแยกตัวดังกล่าวได้เกิดขึ้นอย่างสันติในหลายประเทศ ยกเว้นในเวียดนาม มาดากัสการ์ อินโดนีเซีย และอัลจีเรีย ในอีกหลายพื้นที่ในโลก ทำให้เกิดเป็นประเทศใหม่ขึ้นมามากมาย ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมและศาสนา การประกาศเอกราชที่โดดเด่นมาก คือ ปาเลสไตน์ในอาณัติอังกฤษ อันนำไปสู่การก่อตั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ และในอินเดียก็เกิดการแตกออกเป็นสองประเทศ คือ อินเดียและปากีสถาน
ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองมีความแตกต่างกันในหลากหลายภูมิภาคของโลก และพบว่าในหลายประเทศมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในทางบวก เช่น เยอรมนีตะวันตก ซึ่งเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจนอยู่ในสถานะก่อนสงครามได้ในคริสต์ทศวรรษ 1950 อิตาลี ซึ่งออกจากสงครามด้วยสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ในคริสต์ทศวรรษ 1950 เศรษฐกิจของอิตาลีก็มีอัตราการเติบโตสูงและมีเสถียรภาพ สหราชอาณาจักรออกจากสงครามด้วยเศรษฐกิจตกต่ำเช่นกัน แต่สภาพทางเศรษฐกิจของอังกฤษยังคงถดถอยอีกเป็นเวลากว่าทศวรรษ
ฝรั่งเศสก็มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างรวดเร็วเช่นกัน และมีอัตราการเจริญเติบโตสูงและมีการดำเนินตามสมัยนิยม สหภาพโซเวียตก็มีอัตราการผลิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังสงคราม และญี่ปุ่น ซึ่งมีอัตราการเติบโจทางเศรษฐกิจสูงมาก จนกระทั่งก้าวขึ้นเป็นอภิมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980
จีน ซึ่งเป็นประเทศล้มละลายจากผลของสงครามกลางเมือง แต่ในปี ค.ศ. 1953 เศรษฐกิจก็มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว และมีอัตราการผลิตกลับมาเป็นปกติเหมือนก่อนสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกาที่มีผลผลิตทางอุตสาหกรรมคิดเป็นครึ่งหนึ่งของโลก แต่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาก็ถดถอยอย่างหนัก
ผลกระทบของสงคราม
ความสูญเสียและอาชญากรรมสงคราม
ได้มีการประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่สองไว้อย่างหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่ได้เสนอว่าคิดเป็นจำนวนมากกว่า 60 ล้านคน ประกอบไปด้วยทหารอย่างน้อย 22 ล้านคน และพลเรือนอย่างน้อย 40 ล้านคน สาเหตุเสียชีวิตของพลเรือนส่วนใหญ่นั้นมาจากโรคระบาด การอดอาหาร การฆ่าฟัน และการทำลายพืชพันธุ์ ด้านสหภาพโซเวียตสูญเสียประชากรราว 27 ล้านคนระหว่างช่วงสงคราม คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของความสูญเสียทั้งหมดระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
จากความสูญเสีย 85% เป็นของฝ่ายสัมพันธมิตร (ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและชาวโซเวียต) และ 15% เป็นของฝ่ายอักษะ มีการประมาณว่ามีพลเรือนราว 12 ล้านคนเสียชีวิตในค่ายกักกันนาซี 1.5 ล้านคนจากการทิ้งระเบิด และสาเหตุอื่นๆ ในยุโรปอีก 7 ล้านคน รวมไปถึงอีก 7.5 ล้านคนในจีน โดยเหตุการณ์ที่โด่งดัง ได้แก่ การสังหารหมู่ที่นานกิง โดยสาเหตุที่ตัวเลขความสูญเสียมีความแตกต่างกันมากนั้นมีสาเหตุมาจากว่าการตายส่วนใหญ่ไม่ได้มีการจดบันทึกเอาไว้
จำนวนการเสียชีวิตจำนวนมากเป็นผลมาจากการล้างชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นในดินแดนภายใต้การยึดครองของฝ่ายอักษะ และอาชญากรรมสงครามอื่น ๆ ซึ่งถูกกระทำโดยชาวเยอรมันและชาวญี่ปุ่น โดยเหตุการณ์ที่เป็นที่รู้จักกันดีของอาชญากรรมสงครามชาวเยอรมัน ได้แก่ การล้างชาติโดยนาซี ซึ่งเป็นการล้างชาติอย่างเป็นระบบในเขตยึดครองของเยอรมนีและพันธมิตร โดยนอกจากชาวยิวแล้ว ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มความคิดอื่น ๆ ถูกสังหารอีกเป็นจำนวนกว่า 5 ล้านคน และด้านทหารญี่ปุ่นก็ได้สังหารพลเรือนราว 3 - 10 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ระหว่างสงครามโลกครั้งทีสอง
นอกจากนั้น เรื่องของการใช้อาวุธชีวภาพและอาวุธเคมียังได้ถูกนำมาตัดสินด้วย ทหารอิตาลีได้ใช้แก๊สมัสตาร์ดในการรุกรานเอธิโอเปีย ส่วนญี่ปุ่นได้ใช้อาวุธดังกล่าวในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง และในสงครามชายแดนโซเวียต-ญี่ปุ่น โดยทั้งเยอรมนีและญี่ปุ่นได้มีการทดลองอาวุธกับพลเรือนและเชลยสงครามจำนวนมาก
ขณะที่การตัดสินคดีความอาชญากรรมสงครามของฝ่ายอักษะถูกชำระความในศาลชำระความระหว่างประเทศแห่งแรก แต่ว่าอาชญากรรมของฝ่ายสัมพันธมิตรกลับตรงกันข้าม ตัวอย่างอาชญากรรมสงคราม เช่น การถ่ายเทพลเรือนในสหภาพโซเวียต ค่ายใช้แรงงานของโซเวียต การกักกันชาวญี่ปุ่น-อเมริกันในสหรัฐอเมริกา ปฏิบัติการคีลฮาล คำสั่งแผนกบริหารที่ 9066 การสังหารพลเรือนอย่างโหดร้ายของทหารโซเวียตในโปแลนด์ และการทิ้งระเบิดใส่โตเกียว หรือที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ได้แก่ เมืองเดรสเดน
นอกจากนั้น ยังมีความสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าบางประการที่เป็นผลทางอ้อมของสงคราม อย่างเช่น ทุพภิกขภัยในแคว้นเบงกอล ค.ศ. 1943 เป็นต้น
ค่ายกักกันและการใช้แรงงานทาส
การล้างชาติพันธุ์โดยนาซีได้สังหารชาวยิวในทวีปยุโรปเป็นจำนวนอย่างน้อย 6 ล้านคน รวมไปถึงเชื้อชาติอื่นๆ อีกที่ถูกพวกนาซีลงความเห็นว่าเป็นพวกที่ "ไม่คู่ควร" หรือ "ต่ำกว่ามนุษย์" (รวมไปถึงผู้ที่ทุพพลภาพ ผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต เชลยสงครามโซเวียต พวกรักร่วมเพศ สมาคมฟรีเมสัน ผู้นับถือลัทธิพยานพระเยโฮวาห์และชาวยิปซี) โดยเป็นส่วนหนึ่งของถอนรากถอนโคนอย่างจงใจ และได้รับการดำเนินการโดยรัฐบาลฟาสซิสต์นาซี นำโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มีกรรมกรและคนงานราว 12 ล้านคน ซึ่งโดยส่วนมากมาจากยุโรปตะวันออก ได้ถูกว่าจ้างให้มาทำงานให้เศรษฐกิจสงครามของนาซีเยอรมนี
นอกเหนือจากค่ายกักกันของนาซีแล้ว ยังมีค่ายกูลัก หรือค่ายแรงงานของสหภาพโซเวียต ซึ่งได้นำไปสู่ความตายของพลเรือนจำนวนมากในดินแดนยึดครองของฝ่ายนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียต ได้แก่ โปแลนด์ ลิธัวเนีย แลตเวียและเอสโตรเนีย รวมไปถึงเชลยสงครามของเยอรมัน และยังมีชาวโซเวียตบางส่วนที่คาดว่าเป็นผู้สนับสนุนของฝ่ายนาซี จากหลักฐานพบว่าเชลยสงครามของโซเวียตกว่า 60% ของทั้งหมดได้เสียชีวิตระหว่างสงคราม ริชาร์ด โอเวรีได้บันทึกตัวเลขเชลยศึกชาวโซเวียตไว้ 5.7 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ 57% เสียชีวิต คิดเป็น 3.6 ล้านคน เชลยศึกโซเวียตที่รอดชีวิตและหลบหนีเข้าสู่มาตุภูมิจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศ
ค่ายเชลยสงครามของญี่ปุ่นเองก็มีผู้เสีบชีวิตเป็นจำนวนมาก และยังมีการตั้งเป็นค่ายแรงงาน ภายหลังจากการตัดสินของศาลทหารพิเศษนานาชาติแห่งภาคพื้นตะวันออกไกล (เดิมชื่อ ศาลพิเศษโตเกียว) ได้ลงมติว่าอัตราการเสียชีวิตของเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรคิดเป็น 27.1% (ในจำนวนนี้เป็นทหารสหรัฐอเมริกา 37%) คิดเป็นเจ็ดเท่าของอัตราเดียวกันของค่ายแรงงานของนาซีเยอรมนีและอิตาลี แต่จำนวนดังกล่าวนั้นมีสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชลยศึกชาวจีน ซึ่งจากคำสั่งที่ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1937 โดยจักรพรรดิฮิโรฮิโต ได้ระบุว่า ชาวจีนไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายระหว่างประเทศ หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารสหราชอาณาจักรได้รับการปล่อยตัว 37,853 นาย ทหารเนเธอร์แลนด์ 28,500 นาย ทหารสหรัฐอเมริกา 14,473 นาย แต่พบว่าทหารจีนถูกพบว่าได้รับการปล่อยตัวเพียง 56 นาย
อ้างอิงจากการศึกษาร่วมกันของนักประวัติศาสตร์ ได้สรุปว่า มีชาวจีนมากกว่า 10 ล้านคนถูกเกณฑ์โดยกองทัพญี่ปุ่น และถูกใช้แรงงานอย่างทาส เพื่อวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา ทั้งในแมนจูกัวและทางภาคเหนือของประเทศจีน ห้องสมุดรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาได้ประมาณว่าในเกาะชวาว่าชาวอินโดนีเซียกว่า 4 ถึง 10 ล้านคนต้องถูกบังคับให้ทำงานแก่กองทัพญี่ปุ่นระหว่างสงคราม ชาวอินโดนีเซียบนเกาะชวากว่า 270,000 คนได้ถูกส่งไปทำงานในดินแดนที่ญี่ปุ่นยึดครองอยู่ในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งมีเพียง 52,000 คนเท่านั้นที่สามารถกลับคืนสู่ถิ่นเดิมได้
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942 ประธานาธิบดีรูสเวลล์ได้ลงนามในแผนการหมายเลข 9066 ซึ่งได้ทำการกักตัวชาวญี่ปุ่น ชาวอิตาลี ชาวเยอรมัน และผู้อพยพบางส่วนจากหมู่เกาะฮาวาย ซึ่งหลบหนีหลังจากการโจมตีที่ฐานทัพเรือเพริ์ล ฮาเบอร์ในช่วงเวลาระหว่างสงครามเป็นจำนวนมาก ชาวญี่ปุ่น-อเมริกันถูกกักตัวโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเป็นจำนวนกว่า 150,000 คน รวมไปถึงชาวเยอรมันและชาวอิตาลีซึ่งอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาเกือบ 11,000 คน
ขณะเดียวกัน ก็การใช้แรงงานโดยฝ่ายสัมพันธมิตรเช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นในดินแดนตะวันออก อย่างเช่น ในโปแลนด์ แต่ยังมีผู้ใช้แรงงานอีกกว่าล้านคนในตะวันตก ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1945 หลักฐานของฝรั่งเศสได้ระบุว่ามีเชลยสงครามชาวเยอรมันกว่า 2,000 คน ตายหรือพิการทุกเดือนในอุบัติเหตุการเก็บกวาดทุ่นระเบิด
แนวหลังและอุตสาหกรรม
ในทวีปยุโรป ตอนช่วงเวลาเริ่มต้นของสงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรนั้นมีความได้เปรียบทั้งทางด้านจำนวนประชากรและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในปี 1938 ฝ่ายสัมพันธมิตรมีประชากรมากกว่าฝ่ายอักษะ 30% และอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมากกว่าฝ่ายอักษะ 30% ซึ่งทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้เปรียบทางยุทธศาสตร์มากกว่า 5:1 ในด้านจำนวนประชากรและอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็น 2:1
ในทวีปเอเชีย จีนนั้นมีประชากรเป็นหกเท่าของญี่ปุ่น และมีอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมากกว่าญี่ปุ่นไป 89% แต่ถ้าหากรวมเอาอาณานิคมของญี่ปุ่นเข้าไปด้วย ความแตกต่างของจำนวนประชากรจะลดลงเหลือเพียงสามเท่าและความก้าวหน้าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศลดลงเหลือ 38%
ถึงแม้ว่าความแตกต่างระหว่างทั้งสองฝ่ายจะมีมาก แต่ว่าฝ่ายอักษะก็สามารถตัดกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรได้ด้วยการโจมตีสายฟ้าแลบหลายครั้ง จนลดลงต่ำสุดในปี 1940 แต่ว่าหลังจากที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเข้าสู่สงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรก็มีความได้เปรียบอย่างมากจนสิ้นสงครามช่วงท้ายสงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถช่วงชิงความได้เปรียบทางเศรษฐกิจได้ด้วยการเข้ายึดแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ การที่เยอรมนีและญี่ปุ่นไม่เต็มใจที่จะต้องเกณฑ์สตรีเพื่อใช้แรงงาน และการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจสงครามในตอนปลาย เยอรมนีและญี่ปุ่นนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้เตรียมการอย่างเหมาะสมสำหรับการรบแบบยืดเยื้อและไม่มีขีดความสามารถใด ๆ เลยที่จะทำเช่นนั้น] เพื่อที่จะเพิ่มการผลิต เยอรมนีและญี่ปุ่นจำเป็นต้องอาศัยแรงงานจากประเทศที่ตนเองสามารถยึดครองได้มาใช้แรงงานนับล้าน โดยพบว่าเยอรมนีได้มีการใช้แรงงานทาสกว่า 12 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากยุโรปตะวันออก และญี่ปุ่นได้มีการใช้แรงงานทาสเอเชียตะวันออกไกลกว่า 18 ล้านคน
ดินแดนที่ถูกยึดครองระหว่างสงคราม
ในทวีปยุโรป การยึดครองถูกแบ่งออกเป็นสองประเภทที่แตกต่างกัน บริเวณยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือและยุโรปกลาง เยอรมนีได้ออกนโยบายทางเศรษฐกิจซึ่งได้ผลตอบแทนกว่า 69.5 ล้านล้านไรซ์มาร์กจนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม ซึ่งยังไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ยุทโธปกรณ์ทางทหาร วัตถุดิบและสินค้าอื่น ๆ ซึ่งเรียกกันว่า การปล้นของนาซี รายได้ของนาซีเยอรมนีในดินแดนยึดครองนั้นคิดเป็นกว่า 40% ของรายได้จากภาษีในแผ่นดินเยอรมนี และเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 40% ของรายได้ทั้งหมดของเยอรมนีในช่วงระหว่างสงคราม
ส่วนในทางยุโรปตะวันออก ซึ่งคนทั้งหลายต่างก็หวังต่อผลประโยชน์จากนโยบายแสวงหาพื้นที่อยู่อาศัยไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากแนวรบซึ่งไม่มีความแน่นอน และผลจากนโยบาย "เผาให้ราบ" ของโซเวียต ซึ่งเป็นการปฏิเสธมิให้ทรัพยากรทั้งหลายตกอยู่ในเงื้อมมือของชาวเยอรมัน ไม่เหมือนกับทางยุโรปตะวันตก นโยบายเชื้อชาติของพรรคนาซีนั้นได้ก่อให้เกิดความเลวร้ายต่าง ๆ กับ "ชนชั้นต่ำกว่ามนุษย์" ในแนวรบด้านตะวันออก จึงเต็มไปด้วยการฆาตกรรมและการสังหารหมู่ และถึงแม้ว่าจะมีขบวนการกู้ขาติเกิดขึ้นมากมายในประเทศที่ถูกยึดครอง แต่ก็ยังไม่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบโดยรวมต่อการขยายตัวของนาซีเยอรมนีได้ จนกระทั่งถึงปลายปี ค.ศ. 1943
ในทวีปเอเชีย ญี่ปุ่นได้พยายามจะสร้างวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพาขึ้น และมีจุดประสงค์ที่จะครองความเป็นใหญ่ โดยอ้างการปลดปล่อยชาติที่ต้องตกเป็นอาณานิคมของชาติอภิมหาอำนาจในทวีปยุโรป ถึงแม้ว่ากองทัพญี่ปุ่นนั้นจะได้รับการต้อนรับจากนักต่อสู้เพื่อเอกราชในหลายดินแดน แต่ว่าเนื่องจากการกระทำที่โหดร้ายได้เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อญี่ปุ่นไปเสียภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์] ระหว่างการยึดครองของญี่ปุ่นในช่วงแรกนั้นได้รับน้ำมันกว่า 4 ล้านแกลลอนจากการล่าถอยของฝ่ายสัมพันธมิตร และในปี ค.ศ. 1943 ญี่ปุ่นได้ผลผลิตจากหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์กว่า 50 ล้านแกลลอน กว่า 76% ของอัตราการผลิตของญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1940
การพัฒนาเทคโนโลยีและรูปแบบการทำสงคราม
ระหว่างสงคราม อากาศยานยังคงดำรงบทบาทของตนทั้งในการลาดตระเวนสำรวจ เครื่องบินขับไล่ เครื่องบินทิ้งระเบิด และการสนับสนุนภาคพื้นดินมาจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ถึงแม้ว่าอากาศยานทั้งหลายจะได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมากแล้ว บทบาทที่สำคัญของอากาศยานอีกสองประการนอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ได้แก่ การขนส่งทางอากาศ เป็นความสามารถที่จะเคลื่อนย้ายเสบียง เครื่องยุทธภัณฑ์และหน่วยทหารได้อย่างรวดเร็วตามลำดับความสำคัญ ถึงแม้ว่าจะยังมีปริมาณที่รองรับได้ต่ำอยู่ก็ตาม และการทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นการทิ้งระเบิดถล่มเป้าหมายพลเรือนด้วยความหวังที่จะทำลายอุตสาหกรรมและขวัญกำลังใจของข้าศึก อาวุธต่อต้านอากาศยานเองก็มีการพัฒนาขึ้นเช่นกัน รวมไปถึงอุปกรณ์ป้องกันภัยที่สำคัญ เช่น เรดาร์ และปืนใหญ่ต่อต้านอากาศยานที่ได้รับการพัฒนาเป็นอย่างสูง อย่างเช่น ปืนใหญ่ 88 มม. ของเยอรมนี อากาศยานเจตก็ปรากฏให้เห็นเป็นครั้งแรกในการออกปฏิบัติการจำนวนหนึ่งระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และถึงแม้ว่าอากาศยานเจตจะถูกนำเข้าสู่สงครามในตอนปลาย และปรากฏให้เห็นเพียงจำนวนน้อย หมายความว่าพวกมันไม่มีผลกระทบต่อสงครามโดยตรงด้วยตัวเอง และจำนวนน้อยถูกพบเห็นในการบริการขนส่งขนาดใหญ่หลังจากสงครามส่วนในทะเล ในขณะที่การพัฒนาเกิดขึ้นในการทำสงครามทางทะเลในเกือบทุกรูปแบบ แต่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในการพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือดำน้ำ ถึงแม้ว่าในตอนต้นของสงคราม การทำสงครามการบินประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อยก็ตาม แต่ปฏิบัติการในตารันโต อ่าวเพิร์ล ทะเลจีนใต้และทะเลคอรัล ได้ทำให้เรือบรรทุกเครื่องบินก้าวขึ้นมากมีบทบาทสำคัญแทนที่เรือประจัญบาน ในมหาสมุทรแอตแลนติก เรือบรรทุกเครื่องบินถูกพิสูจน์แล้วว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในระบบกองเรือคุ้มกันฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ประสิทธิภาพรัศมีในการป้องกันเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และมีส่วนช่วยในการอุดช่องว่างแอตแลนติกตอนกลาง นอกเหนือจากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นแล้ว เรือบรรทุกเครื่องบินยังประหยัดกว่าเรือประจัญบานเนื่องจากเครื่องบินมีราคาต่ำ และลำเรือไม่จำเป็นจะต้องหุ้มเกราะหนา เรือดำน่ำ ซึ่งถูกพิสูจน์ว่าเป็นอาวุธอันทรงประสิทธิภาพระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้มีการคาดการณ์ล่วงหน้าโดยทุกฝ่ายว่าจะมีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายอังกฤษมุ่งเน้นไปยังอุปกรณ์และยุทธวิธีในการต่อต้านเรือดำน้ำ อย่างเช่น โซนาร์ และระบบกองเรือคุ้มกัน ในขณะที่เยอรมนีมุ่งเน้นไปยังการพัฒนาความสามารถในการรุก ด้วยการออกแบบเรือดำน้ำไทป์ 7 และยุทธวิธีฝูงหมาป่า และการพัฒนาเทคโนโลยีของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างช้า ๆ ก็ได้พิสูจน์ถึงชัยชนะ
ส่วนรูปแบบการรบภาคพื้นดินได้เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากแนวรบอยู่กับที่ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เปลี่ยนมาเป็นการรบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นแนวคิดมาจากรูปแบบการทำสงครามระหว่างเหล่าทัพ ซึ่งเป็นการประสานงานกันระหว่างคุณสมบัติของกองกำลังทหารที่หลากหลาย รถถัง ซึ่งถูกใช้สนับสนุนทหารราบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้พัฒนาจนกลายมาเป็นอาวุธพื้นฐานของกองกำลังทั้งหมดในสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 การออกแบบรถถังได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมากในทุกด้าน เมื่อเทียบกับเมื่อครั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และยังได้มีการพัฒนาความเร็ว เกราะและกำลังยิงที่เพิ่มมากขึ้น ยังได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระหว่างสงคราม ในช่วงแรกของสงคราม กองทัพส่วนใหญ่พิจารณาว่ารถถังเป็นอาวุธที่ดีที่สุดในการต่อต้านรถถังด้วยกัน จึงได้พัฒนารถถังที่มีจุดประสงค์พิเศษขึ้นเพื่อบรรลุผลนั้น แต่แนวคิดดังกล่าวได้รับการพิสูจน์ว่าผิดในการปฏิบัติของรถถังค่อนข้างเบาในช่วงแรกในการต่อกรกับรถถัง และหลักนิยมของเยอรมันในการหลีกเลี่ยงการรบแบบรถถังต่อรถถัง และอีกปัจจัยนหนึ่ง จากการใช้กองกำลังผสมของเยอรมนี อันเป็นปัจจัยหลักของยุทธวิธีการโจมตีสายฟ้าแลบซึ่งประสบความสำเร็จทั้งในโปแลนด์และฝรั่งเศส และปรากฏหลายวิธีในการทำลายรถถัง รวมทั้งปืนใหญ่ทางอ้อม ปืนต่อต้านรถถัง ทุ่นระเบิด อาวุธพิสัยใกล้ต่อต้านรถถังสำหรับทหารราบ และการใช้รถถังได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ แม้กระทั่งในหลายกองทัพจะได้มีการเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรอย่างกว้างขวาง แต่ทหารราบก็ยังคงเป็นกระดูกสันหลังสำหรับกองกำลังทั้งหมด และตลอดช่วงเวลาของสงคราม ยุทธภัณฑ์ของทหารราบส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกับที่เคยใช้ประโยชน์ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่มีการใช้ไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติเป็นประเทศแรก ซึ่งก็คือ เอ็ม-1 กาแรนด์ นอกจากนี้ การพัฒนาบางประการยังเกี่ยวกับปืนกลพกพาได้ ตัวอย่างที่โดดเด่นเช่น เอ็มจี 42 ของเยอรมนี และปืนกลมืออีกหลายประเภท ซึ่งมีความเหมาะสมสำหรับการรบในเมืองและในป่า ปืนเล็กยาวจู่โจม ซึ่งเป็นพัฒนาการในตอนปลายของสงคราม เป็นการรวมข้อดีของปืนไรเฟิลและปืนกลมือเข้าไว้ด้วยกัน และได้กลายมาเป็นอาวุธพื้นฐานสำหรับทหารราบในกองกำลังติดอาวุธเกือบทั้งหมดภายหลังสงคราม
ในแง่ของการติดต่อสื่อสาร ผู้เข้าร่วมสงครามส่วนใหญ่พยายามที่จะแก้ไขปัญหาของความซับซ้อนและการรักษาความปลอดภัย โดยการใช้ประโยชน์จากคู่มือลงรหัสขนาดใหญ่สำหรับวิทยาการเข้ารหัส ประกอบกับการสร้างเครื่องรหัสขึ้นมาหลายแบบ ซึ่งที่เป็นรู้จักกันกว้างขวางที่สุด ได้แก่ เครื่องอินิกมาของเยอรมนี ข่าวกรองทางสัญญาณ ซึ่งเป็นกระบวนการตอบโต้เครื่องถอดรหัส ซึ่งตัวอย่างที่โดดเด่น ได้แก่ อัลตราของอังกฤษ และการถอดรหัสกองทัพเรือญี่ปุ่นของฝ่ายสัมพันธมิตร ส่วนอีกทิศทางหนึ่งที่สำคัญของข่าวกรองทางทหาร ได้แก่ การใช้ปฏิบัติการการหลอกลวง ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรได้ประสบความสำเร็จในหลายโอกาสจนได้ผลดี อย่างเช่น ปฏิบัติการเนื้อสับและปฏิบัติการบอดีการ์ด นอกจากนี้ ในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมยังได้แก่ คอมพิวเตอร์ซึ่งสามารถโปรแกรมได้เป็นครั้งแรก (แซด 3 คอมพิวเตอร์โคลอสซัสและอีนิแอก) ขีปนาวุธนำวิถี และจรวดสมัยใหม่ การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ อันเป็นผลมาจากโครงการแมนฮัตตัน การสร้างท่าเรือประดิษฐ์ และการสร้างท่อน้ำมันลอดผ่านช่องแคบอังกฤษ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น